‘วิถีอินเดีย’ : จาก ‘ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ มาเป็น ‘ฝักใฝ่ทุกฝ่าย’ | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ระหว่างผมกำลังศึกษาเคล็ดลับของนโยบายต่างประเทศอินเดียที่ปรับเปลี่ยนจาก “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ในยุคสงครามเย็นมาเป็น “ฝักใฝ่ทุกฝ่าย” ในยุคสงครามยูเครนนั้น ผมก็ได้อ่านหนังสือเล่มนี้

ชื่อ The India Way, Strategies for an Uncertain World หรือ “วิถีอินเดีย…ในภาวะโลกรวน”

เขียนโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย S. Jaishankar (เอส. ใจชันการ์)

ในบทวิเคราะห์บทบาทของอินเดียในเวทีโลกนั้น ใจชันการ์มองการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนว่าเป็นเรื่องการแข่งขันทั้งด้านความใฝ่ฝัน (ambition), ความตั้งใจ (intention) และผลประโยชน์ (interests)

อินเดียจึงต้องสร้างแนวทางที่จะต้องไม่ถูกดึงเข้าไปหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ด้านหนึ่งอินเดียต้องเสริมความเข้มแข็งของการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกเพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่จากการค้าและการลงทุนของโลก

แต่ขณะเดียวกัน “เราก็ต้องสร้างศักยภาพในประเทศ…เพื่อพึ่งพาตนเองมากขึ้น”

นั่นไม่ได้หมายความว่าอินเดียจะหันหลังให้โลก

ในทางตรงกันข้าม อินเดียกลับจะต้องเตรียมตัวเพื่อจะมีส่วนร่วมในห่วงโซ่ของโลกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่สำคัญคือเมื่อโลกมีความผันผวนปรวนแปรหนักขึ้น อินเดียก็ต้องสร้างความเป็นตัวตนที่ชัดเจนขึ้นอีก

S. Jaishankar (Photo by MAXIM SHIPENKOV / POOL / AFP)

บทบาทของอินเดียในช่วงวิกฤตโควิดสะท้อนถึงความสามารถในการตอบโจทย์ความขาดแคลนของโลกที่อินเดียสามารถถมให้เต็มได้

เช่น เมื่อโลกเผชิญวิกฤตโรคระบาด อินเดียก็ลงมือสร้างเสริมความสามารถของตนด้วยการผลิตยาเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกว่า 120 ประเทศ

โดยที่ 2 ใน 3 ของยานั้นเป็นการให้เปล่ากับประเทศที่มีความต้องการเป็นพิเศษ

นี่คือบทบาทของความเป็น “สากล” ของอินเดีย ขณะที่บางประเทศลดบทบาทของตัวเองในประชาคมโลกเพราะต้องดูแลคนของตัวเองก่อน

ในแง่ความมั่นคง อินเดียก็สวมบทบาทที่คึกคักในเวทีสากล รวมถึงเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน

อินเดียกลายเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นในกรณีนี้ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น

(Photo by Money SHARMA / AFP)

อินเดียตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วของโลกทางด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี

โลกกำลังเผชิญกับการถกแถลงถึงประเด็นของความขัดแย้งต่างๆ อย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ขณะเดียวกันโลกทั้งใบก็มีความเห็นตรงกันประการหนึ่ง

นั่นคือโลกกำลังเข้าสู่ “การเปลี่ยนผ่าน” อย่างแท้จริง

และไม่มีอะไรมาหยุดยั้งกระแสของความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างแน่นอน

หากมองความสัมพันธ์ของอินเดียกับประเทศที่กำลังมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้ง เช่น สงครามยูเครน ก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะมองว่าอินเดียมีความสนิทสนมกับรัสเซียและจีนอย่างมีนัยยะสำคัญ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเดียผนึกกำลังเพิ่มขึ้นกับจีนและรัสเซียซึ่งนำไปสู่การสร้าง “ระเบียบยูเรเซียน” ขึ้นใหม่

ขณะเดียวกันอินเดียก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อนโยบาย “หมุนไปทางตะวันออก” ของปูติน

แม้ ณ วันนี้จะเป็นเพียงวาทกรรมที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าในแง่ปฏิบัติจะมีเนื้อหาสาระอะไรจริงจังในวันข้างหน้าหรือไม่

(Photo by Handout / PIB / AFP)

อินเดียคบหาจีนด้วยเหตุผลแห่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ

ความผูกพันกับจีนสำหรับอินเดียนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการถ่วงดุลอิทธิพลตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเพื่อตอบสนองบทบาทเพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชียผ่านโครงการ Belt and Road Initiative

การที่รัสเซียกับจีนรวมตัวกันเพื่อต้านตะวันตกย่อมจะสร้างความกังวลสำหรับอินเดีย

เพราะสองยักษ์ใหญ่ที่มีระบบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจกำลังเผชิญหน้าระเบียบประชาธิปไตยทั่วโลกที่อิงตามกฎที่มีอยู่ซึ่งอินเดียเชื่อมั่น

แต่ที่ทำให้อินเดียต้องกังวลต่อเนื่องก็คือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่รัสเซียร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านด้านนิวเคลียร์อีกด้วย

อีกด้านหนึ่ง อินเดียต้องจับตาเฝ้ามองการที่รัสเซียเพิ่มความสัมพันธ์กับปากีสถาน เช่น ผ่านโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลงนามเมื่อปีที่แล้วและอาจเริ่มดำเนินการในปีหน้า

(Photo by BAY ISMOYO / POOL / AFP)

ด้านหนึ่ง อินเดียจับมือกับทั้งจีนและรัสเซีย

อีกด้านหนึ่ง อินเดียก็ยกระดับความใกล้ชิดกับสหรัฐ

เป็นคำอธิบายว่าทำให้รัฐบาลอินเดียตัดสินใจไม่ประณามรัสเซียในกรณีบุกยูเครน

อินเดียต้องการจะเล่นไพ่หลายใบพร้อมๆ กัน

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ก็เป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศที่มีไม่กี่ประเทศนักที่จะเล่นได้โดยให้เป็นที่ยอมรับของมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

แม้ว่าอินเดียกับรัสเซียจะมีประวัติศาสตร์ด้านความมั่นคงที่เห็นคล้อยกัน แต่ทั้งสองประเทศก็มีจุดยืนกันคนละแนวในหลายประเด็น

เช่น เรื่องโครงสร้างอินโด-แปซิฟิกและ “จตุภาคี” หรือ Quad รัสเซียมองว่าเป็นแผนการของสหรัฐที่จะสกัดจีน

แต่นิวเดลีก็พยายามชักชวนรัสเซียให้เล่นบทเป็น “มหาอำนาจแปซิฟิกที่มีผลประโยชน์ในมหาสมุทรอินเดีย”

และให้เข้าร่วมการถกแถลงประเด็นที่เกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิก

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ยูเรเซีย” หรือ Eurosia (ยุโรปบวกเอเชีย) มีความสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศของอินเดียไม่น้อยเลย

เหตุผลหนึ่งก็คืออินเดียหวั่นว่าจีนจะเพิ่มอิทธิพลมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ซึ่งลึกๆ แล้วอินเดียก็มองว่าเป็นภัยต่อตนเองหากปล่อยให้แนวโน้มเช่นนี้เดินหน้าต่อ

อินเดียจึงจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ของตนในยูเรเซียอย่างเป็นทางการ

เช่นเดียวกับในแนวทางของอินเดียในอินโด-แปซิฟิก

ในขณะที่จีนกับอินเดียผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นมากขึ้นทุกขณะ

วิกฤตแห่งสงครามยูเครนยิ่งเพิ่มความเร่งด่วนและร้อนแรงสำหรับอินเดียที่จะต้องกำหนดนโยบายด้านนี้

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่เห็นอินเดียกับรัสเซียมีบทบาทในเวทีพหุภาคี เช่น สหประชาชาติ (ซึ่งรัสเซียสนับสนุนสถานภาพของอินเดียในคณะมนตรีความมั่นคง)

อินเดียเข้าร่วม Shanghai Cooperation Organization (SCO), BRICS (บราซิล-รัสเซีย-อินเดีย-จีน-ไตรภาคีแอฟริกาใต้) และรัสเซีย-อินเดีย-จีน (RIC)

เหล่านี้คือความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้อินเดียไม่แสดงจุดยืนในเวทีสากลที่ถูกมองว่าต่อต้านรัสเซีย

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน (เอเอฟพี)

รัสเซียชื่นชมจุดยืนของอินเดียในฐานะที่มีความ “สมดุลและเป็นอิสระ” ในขณะที่ยูเครนแสดงความ “ไม่พอใจอย่างยิ่ง” ต่อท่าทีของอินเดีย

เหตุเพราะนายกรัฐมนตรีโมดีของอินเดียและประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียมีความสัมพันธ์สนิทแนบแน่น

รัฐบาลอินเดียยืนยันว่าโดยหลักการแล้วไม่สนับสนุนการรุกรานของรัสเซียเพราะเท่ากับเป็นการให้ความชอบธรรมกับเผด็จการ

แต่ขณะเดียวกัน โมดีก็มีคำถามต่อบทบาทขององค์การ NATO ที่อาจมีส่วนหนุนเนื่องให้เกิดสงครามยืดเยื้อ

อินเดียต้องมีความระแวดระวังจุดยืนประเด็นนี้เป็นพิเศษเพราะมีอีกด้านหนึ่งนิวเดลีก็เคยกล่าวหาจีนว่ามากระทำการรุกรานอินเดียตรงชายแดนเช่นกัน

ในอีกมุมหนึ่ง อินเดียก็ได้พยายามยกระดับความสัมพันธ์กับยุโรป (โดยเฉพาะยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก) เพื่อการขยับขยายบทบาทของตนในภูมิภาคนั้นเช่นกัน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐเคยแสดงความหงุดหงิดกับท่าทีของอินเดียกรณีสงครามยูเครน

แต่เมื่อวอชิงตันเห็นว่าไม่อาจจะขัดขวางแนวทางของนิวเดลีได้ ก็จำต้องประคับประคองความสัมพันธ์กับโมดีไว้

จึงเห็นได้ว่าแม้ว่าสหรัฐจะไม่สนับสนุนให้อินเดียจัดหาขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซีย แต่ก็มีข้อบ่งชี้ว่าสหรัฐกำลังมองหาจุดสมดุลและยกเว้นอินเดียจากข้อจำกัดนั้น

โดยอ้าง “ข้อพิจารณาทางภูมิศาสตร์” ของอินเดียเป็นทางออกเพื่อยังเหนี่ยวรั้งอินเดียไว้ในค่าย “อินโด-แปซิฟิก”

เห็นไหมว่า “การทูตแบบภารตะ” นี้ทำให้อินเดียได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง…แม้จะหมายถึงการต้องรักษาไว้ซึ่งความคล่องแคล่วในการ “ไต่เส้นลวด” ตลอดเวลาก็ตาม