โลกที่ไร้อภิมหาอำนาจ | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
(Photo by Dimitar DILKOFF / AFP)

สมรรถภาพของกองทัพรัสเซียในการรบกับยูเครน สะท้อนความจริงซึ่งอุบัติมาหลายทศวรรษแล้วว่า อภิมหาอำนาจนั้นไม่มีอีกแล้ว

นี่เป็นความเห็นของคุณ Andrew Mitrovica ซึ่งแสดงผ่านสำนักข่าวอัล จาซีรา

ประเทศที่ถูกจัดเป็น “อภิมหาอำนาจ” ล้วนเคยประสบความหน้าแตกทางทหารในสงคราม (ที่ไม่ประกาศ) กับประเทศเล็กๆ มาแล้วทั้งนั้น สหรัฐในเวียดนาม, อิรัก, อัฟกานิสถาน และอีกหลายประเทศในละตินอเมริกา อังกฤษ-ฝรั่งเศสในอียิปต์ ยุโรปในโคโซโว, โซเวียตในอัฟกานิสถาน, ยุโรปตะวันออกหลายประเทศ และแน่นอนยูเครนซึ่งยังไม่ชนะสักที, จีนในเวียดนามครั้งทำสงครามสั่งสอน ถึงเวียดนามไม่ชนะ และกองทัพจีนทำความเสียหายให้แก่เมืองเล็กๆ ทางเหนือเพื่อสั่งสอนได้ แต่ความสูญเสียที่เกิดกับกองทัพจีนมีมากจนไม่คุ้ม ฯลฯ

(ไม่แต่เพียงอำนาจทางทหารของอภิมหาอำนาจให้ผลจำกัดเท่านั้น หากดูความสำเร็จของอินโดนีเซียกับอินเดีย ในการผลักดันให้การประชุม G 20 ที่บาหลีในปีนี้ สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ผิดความคาดหมายของประเทศต่างๆ ที่เห็นว่าความแตกร้าวของอภิมหาอำนาจจะทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมได้ หรือการที่อินโดนีเซียถูกกดดันจากสหรัฐและนาโตมิให้เชิญประธานาธิบดีรัสเซียเข้าร่วมประชุม แต่ในที่สุดอินโดนีเซียก็เชิญอย่างเป็นทางการ แลกเปลี่ยนกับการเชิญให้ประธานาธิบดียูเครนได้ปราศรัยทางไกลกับที่ประชุม ล้วนแสดงว่าอำนาจของประเทศที่ไม่ใช่อภิมหาอำนาจมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับสมัยสงครามเย็น… หากไม่ใช่อำนาจชี้ขาด แต่เป็นอำนาจต่อรอง)

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตอยู่สองอย่าง หนึ่งก็คือ ในกรณีที่อภิมหาอำนาจหน้าแตกล้วนเป็นด้านการทหาร ทั้งๆ ที่อภิมหาอำนาจก้าวหน้าไกลสุดทางเทคโนโลยีด้านนี้ แต่ก็มีเงื่อนไขบางอย่างในทุกกรณีที่ควรเข้าใจไว้ก่อน

ประการแรกก็คือจะพูดว่าประสบความสำเร็จทางด้านการทหารก็ได้ เพราะต่างล้วนสามารถยึดครองดินแดนได้ไพศาลหรือทำร้ายฝ่ายตรงข้ามได้อย่างย่อยยับทั้งสิ้น (สิ่งที่รัสเซียกำลังทำอย่างไร้มนุษยธรรมในยูเครนเวลานี้ สหรัฐเคยทำมาแล้วในเวียดนาม) แต่ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าเลยก็คือ ไม่อาจเปลี่ยนประเทศเล็กให้เป็นไปตามความปรารถนาของตน ไม่ว่าในด้านนโยบาย, สถานะ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ยึดครองอิรักหรืออัฟกานิสถานเพื่อเปลี่ยนให้เป็นประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยสร้างรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อประชาชนสักหน่อย แต่ในที่สุดก็ต้องถอนทัพกลับ ไม่ในเร็ววันก็ไม่นาน

ทั้งนี้เพราะสงครามไม่ได้มีเป้าหมายในตัวของมันเองนะครับ ยอมสูญเสียมหาศาลก็เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างที่ไม่ใช่เพียงแค่ชัยชนะด้านการทหาร การรบเป็นเพียงเครื่องมือให้ได้มาซึ่งอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับการรบ อภิมหาอำนาจทั้งหลายที่กล่าวข้างต้น ไม่ได้สิ่งที่ต้องการจากประเทศเล็กๆ เหล่านั้นเลย เช่น จีนไม่อาจทำให้เวียดนามถอนทหารจากกัมพูชาได้ อังกฤษ-ฝรั่งเศสไม่อาจล้มระบอบปกครองของนัสเซอร์ได้ และด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องยอมรับการสูญเสียสิทธิเหนือคลองสุเอซ รัสเซียไม่สามารถทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นบริวารโซเวียตได้อย่างยั่งยืน สหรัฐไม่อาจทำให้เวียดนามเหนือยุติการแทรกแซงทางทหารในเวียดนามใต้

ยึดครองทิเบตนั้นเรื่องเล็ก แต่จะครอบงำทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเท่ากับมณฑลหูหนาน ไม่อาจทำได้ด้วยกำลังทหารเพียงอย่างเดียว หืดทิเบตยังขึ้นคอจีนอยู่เป็นระยะจนถึงทุกวันนี้

(Photo by AHMAD AL-RUBAYE / AFP)

ประการที่สองก็คือ ความล้มเหลวของอภิมหาอำนาจไม่ได้เกิดขึ้นจากสมรรถภาพด้านการทหารของประเทศเล็กโดยตรงเสียทีเดียว แต่เพราะประเทศเล็กได้รับการหนุนช่วยจากอภิมหาอำนาจอื่นต่างหาก โดยเฉพาะการหนุนช่วยด้านกำลังทรัพย์, อาวุธ และการกดดันผ่านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ดังนั้น จะสรุปง่ายๆ ว่า “Superpowers are no more” อย่างคุณแอน-ดรูว์ ก็อาจจะไม่เชิงเสียทีเดียว

เป็นเพราะเหตุ (โชคดีของโลก) ที่อภิมหาอำนาจไม่เคยมีฝ่ายเดียวต่างหาก ทำให้เกิดการถ่วงดุลกันเองและทำให้พลานุภาพเหนือประเทศเล็กของอภิมหาอำนาจถูกจำกัดลง (อย่างได้ผล ยิ่งกว่ากฎบัตรสหประชาชาติเสียอีก)

ถ้ากระนั้น เราจะพูดได้ไหมว่า “สงครามเย็น” ได้กลับมาอีกในรูปแบบใหม่

ผมก็ไม่รู้คำตอบแน่ชัดนัก แต่รูปแบบอะไรก็ตามที่เปลี่ยนไปมากๆ ก็มีผลถึงเนื้อหาด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งสิ้น ผมคิดว่าความขัดแย้งระหว่างอภิมหาอำนาจปัจจุบันแตกต่างจากครั้งสงครามเย็นเป็นอันมาก

ประการแรก อุดมการณ์ไม่มีความสำคัญอะไรในกระบวนการตัดสินใจธำรงความขัดแย้งกับใคร ในขณะที่อุดมการณ์เป็นเป้าหมายสำคัญสุด (กระมัง) ในการแบ่งข้างระหว่างกัน

บางท่านอาจเห็นว่าอุดมการณ์เป็นแต่ข้ออ้าง เช่น ในระหว่างสงครามเย็น สหรัฐเรียกเผด็จการทหารที่ตัวตั้งขึ้นทั้งหมดว่าประชาธิปไตย ข้อนั้นก็จริง แต่อุดมการณ์ทำให้การเลือกอยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกลายเป็นเรื่องค่อนข้างถาวร ดำรงอยู่นาน แม้จะเปลี่ยนผู้มีอำนาจในแต่ละประเทศไปแล้วก็ตาม

ความขัดแย้งที่ไม่มีอุดมการณ์จึงทำให้พันธมิตรถาวรหายไป กลายเป็นการสร้างพันธมิตรหรือการเกาะกลุ่มชั่วคราว ตามแต่ละสถานการณ์ สหรัฐกับเวียดนามรบกันแทบเป็นแทบตายมาเป็นทศวรรษ แต่เพื่อคานอำนาจจีน ก็พร้อมจะจับมือกันในเวลานี้ ถึงกระนั้นเวียดนามก็ไม่ใช่บริวารของสหรัฐ เพราะจะให้ลงมติประณามรัสเซียกรณียูเครน เวียดนามก็ไม่ทำ เพราะอย่างน้อยรัสเซียก็เป็นอีกอภิมหาอำนาจหนึ่งที่อาจถ่วงดุลกับจีนได้ เป็นศัตรูกับรัสเซียไม่มีผลดีอะไรกับเวียดนาม

ประการที่สอง การพึ่งพาอาศัยกันในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในทุกวันนี้มีมาก ไม่เว้นแม้แต่อภิมหาอำนาจกันเอง ผมคิดว่ามากเสียจนไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งตัดขาดการพึ่งพาดังกล่าวตลอดไป ประเทศที่ส่งยุทโธปกรณ์ไปช่วยยูเครนเวลานี้ ล้วนรอเวลาสงครามสงบเพื่อจะได้กลับไปซื้อขายกับรัสเซียดังเดิม ไม่ใช่เฉพาะด้านพลังงานอย่างเดียวนะครับ แต่รวมถึงการลงทุนอีกหลายอย่างในรัสเซียด้วย ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมอีกมากในรัสเซียเอง ก็อยากให้สงครามจบๆ เสียที เพื่อจะได้นำเข้าชิ้นส่วนสำคัญอีกหลายอย่างจากต่างประเทศได้สะดวก (เช่น ชิพคอมพิวเตอร์) ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าในโลกปัจจุบันมันไม่มี “ค่าย” ไปนานแล้วนี่ครับ

(และผมให้สงสัยด้วยว่า คนทั้งสองฝ่ายที่รอสงครามยูเครนจบ ต่างคิดคล้ายๆ กันว่า ใครจะแพ้ใครจะชนะก็ได้ กูไม่เกี่ยง)

เอาแค่สองปัจจัยนี้ ก็ทำให้การแบ่ง “ค่าย” เป็นสองหรือสาม “ค่าย” ไม่อาจใช้เป็นฐานการวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศได้อีกแล้ว เพียงแค่นี้ “สงครามเย็น” ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว

ผมคิดว่า ผลจากความเปลี่ยนแปลงในการเมืองระหว่างประเทศดังกล่าว ยังทำให้อานุภาพทางทหารของอภิมหาอำนาจลดลงด้วย นิวเคลียร์กลายเป็นอาวุธที่ใช้ไม่ได้ ยกเว้นแต่ต้องแน่ใจว่า การโจมตีก่อนของฝ่ายตน ต้องสามารถปิดการตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ของศัตรูลงได้อย่างสิ้นเชิง ผมเข้าใจว่าโดยทางเทคนิคแล้ว ไม่มีใครทำได้ แม้แต่เกาหลีเหนือซึ่งดื้อรั้นกับอภิมหาอำนาจทุกฝ่ายและมีนิวเคลียร์ไม่มากนัก รวมทั้งประสิทธิภาพยังเป็นที่น่าสงสัย เพราะเกาหลีเหนือคงมีหัวรบอีกหลายลูกที่อยู่ใต้ดิน และพร้อมจะยิงตอบโต้แม้ทุกอย่างในประเทศถูกทำลายจนราบไปแล้วก็ตาม

หรืออย่างอิหร่าน ซึ่งคงครอบครองอาวุธนิวเคลียร์แล้ว หรือถ้ายัง ก็จะได้ครอบครองในอนาคตอันใกล้ หากจะขวางอิหร่าน ก็ต้องโจมตีก่อนตั้งแต่เพิ่งตั้งไข่ในตอนนี้ แต่อิหร่านผูกอยู่กับความมั่นคงของตอนใต้รัสเซียแน่ ยังไม่นับการผูกทางสนธิสัญญาอื่นๆ ฉะนั้น โจมตีอิหร่านก่อนนั้นเป็นเรื่องเล็ก แต่จะไม่ให้รัสเซียตอบโต้เลยเป็นเรื่องยาก และทำนายไม่ถูก

(ผมจึงเชื่อมานานว่า อาวุธนิวเคลียร์นั้นมีไว้สำหรับครอบครอง ไม่ใช่ไว้สำหรับใช้)

ความไม่มี “ค่าย” กลับทำให้ประเทศเล็กๆ มีพื้นที่ให้ดีดดิ้นได้มากกว่าสมัยสงครามเย็น (ผมหมายความว่า มีพื้นที่ในการต่อรองได้มากขึ้น) การมีเงาของจีนทาบลงบนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับน่าจะเสริมอิสรภาพ (ในด้านต่างๆ) ของประเทศอาเซียนกว่าที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจทางทหาร, ทางตลาด, ทางการลงทุน, ทางเทคโนโลยี, ทางการศึกษา ฯลฯ ของค่าย “โลกเสรี” ซึ่งมีสหรัฐเป็นผู้นำอย่างไม่มีทางเลือก

แต่ก็ต้องระวังว่า ในทางตรงกันข้ามปล่อยให้จีนเป็นผู้มีอำนาจฝ่ายเดียวอย่างเด็ดขาด ก็ย่อมกระเทือนต่ออิสรภาพเหมือนกันกับสมัยที่สหรัฐมีอำนาจเด็ดขาดฝ่ายเดียว นี่คือเหตุผลที่หลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์พยายามเรียกร้องให้สหรัฐรักษาอิทธิพลของตนในภูมิภาคนี้เอาไว้ ไม่ใช่เพื่อรบกับจีน (เพราะรู้อยู่แล้วว่า ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรบกันได้แล้ว เพราะผลของการรบจะทำให้ทั้งสองฝ่ายแพ้ทั้งคู่) แต่เพื่อรักษาพื้นที่เสรีสำหรับการดีดดิ้นของประเทศเล็กอย่างสมาชิกอาเซียนต่างหาก

มีแต่เผด็จการทหารในพม่าและไทยเท่านั้น ที่ไม่เข้าใจโลกที่ไร้อภิมหาอำนาจในปัจจุบัน หันไปสยบจีนและทำตัวเป็นศัตรูกับฝ่ายตะวันตกอย่างเปิดเผย นี่เป็นการดำเนินนโยบายสมัยสงครามเย็น คือเลือกข้างไปให้ชัดเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ที่ได้จากการเลือกข้าง (ส่วนใหญ่ก็เป็นประโยชน์ที่ตกแก่ผู้มีอำนาจมากกว่าแก่ประเทศ)

(Photo by Alexandr Demyanchuk / SPUTNIK / AFP)

อย่างไรก็ตาม คงมีสักวันหนึ่งที่จีนและสหรัฐจะยอมรับอำนาจของกันและกันในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เช่น อย่างไรเสียอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย่อมต้องเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในอดีตจีนก็เคยมีบทบาทเป็นผู้รักษากติกาของจีนในภูมิภาคนี้ ซึ่งในสายตาปราชญ์ขงจื๊อย่อมเป็นชายขอบอันป่าเถื่อน ที่อาจทำความวุ่นวายในเขตของตนให้กระฉอกเข้าไปในศูนย์กลางอารยธรรมของโลกได้ จึงต้องขยายอิทธิพลทางอารยธรรมของตนลงมาควบคุมไว้ในระดับหนึ่งตลอดมา

แต่นับตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จีนไม่มีกำลังทั้งทางเศรษฐกิจและทหารพอจะรักษาบทบาทของตนในภูมิภาคนี้ได้ แม้แต่หลัง 1949 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้แต่อุดหนุนเพื่อนบ้านให้ขับไล่จักรวรรดินิยมตะวันตกไปพ้นชายแดนตน (ในเวียดนาม, ลาว และพม่าเหนือ) เท่านั้น บัดนี้จีนกลับมีกำลังทั้งทางเศรษฐกิจและทหารเท่าหรือยิ่งกว่าในอดีตสมัยจักรวรรดิเสียอีก จึงเป็นธรรมดาที่จีนจะต้องขยายอิทธิพลของตนกลับลงมายังภูมิภาคนี้

ผมอยากสรุปว่า เป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐจะ contain หรือกักอิทธิพลจีนไว้ที่ชายแดนตอนใต้อย่างในสมัยสงครามเย็น อย่างน้อยก็เพราะเอเชียอาคเนย์อยู่ไกลจากสหรัฐ อีกทั้งไม่เป็นผลประโยชน์ขั้นถึงเป็นถึงตายของสหรัฐด้วย ในที่สุดสหรัฐก็จะยอมรับ “เขตอิทธิพลจีน” ในด้านตะวันตกของแปซิฟิค เลยฟิลิปปินส์และไต้หวันไปไกลแค่ไหนผมไม่ทราบ ในขณะที่จีนก็จะยอมรับความเป็นทะเลหลวงหรือเขตเดินเรือเสรีในเขตอิทธิพลของตนด้วยเช่นกัน

เมื่อจีนและสหรัฐยอมรับอิทธิพลของกันและกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป อาเซียนก็ต้องปรับแนวทางในนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของตนใหม่ แม้อำนาจการต่อรองอาจไม่เท่ากับอภิมหาอำนาจ แต่พื้นที่การต่อรองก็ยังอยู่ เพราะถึงอย่างไร จีนและสหรัฐก็ยังคงต้องแข่งขันกันในหลายชั้นหลายเชิงต่อไป

(Photo by Stefani Reynolds / AFP)

ผมได้ยินนักวิชาการไทยหลายท่านพูดถึงนโยบายต่างประเทศใหม่ของไทย ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐว่า เราควรรักษา equi-distance หรือระยะห่างที่เท่ากันระหว่างสองอภิมหาอำนาจนั้น

ฟังดูดีนะครับ เพราะฟังดูหลวมดีจนปลอดภัยแก่ผู้พูด แต่ในทางปฏิบัติคือให้ทำอะไรผมก็ไม่ทราบ

ผมจึงขอเสนอหนึ่งในวิถีทางปฏิบัติที่อาจรักษาระยะห่างให้เท่ากันได้ นั่นก็คือหันมายึด “หลักการ” ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มากขึ้น

คนไทยที่มีการศึกษามักเชื่อในนโยบายไผ่ลู่ลม เพราะรับการศึกษาจากชนชั้นนำมาจนเซื่องแล้ว นโยบายไผ่ลู่ลมคือนโยบายที่ไม่มีหลักการใดๆ เลยนะครับ ดังนั้น ก็คงคัดค้านว่าประเทศเล็กๆ อย่างไทยจะยึดมั่นใน “หลักการ” ได้อย่างไร

ในสมัยสงครามเย็น อาจเป็นเช่นนั้นจริงก็ได้ (ผมไม่แน่ใจ) แต่ในสถานการณ์ใหม่ดังกล่าวข้างต้น ผมกลับคิดว่า ไม่มีอะไรจะปกป้องประเทศเล็กๆ ได้ดีไปกว่า “หลักการ” คุณต้องร่วมประณามรัสเซียที่ใช้กำลังทหารบุกรุกยูเครน เพราะบุรณภาพทางดินแดนเป็นหลักการที่ต้องเคารพ ไม่อย่างนั้นประเทศเล็กๆ อยู่ไม่ได้

เช่นเดียวกับการที่รัสเซียผนวกดินแดนของยูเครนก็เป็นการละเมิดหลักการที่ปกป้องประเทศเล็กๆ อย่างน่าวิตกอย่างยิ่ง ไทยจะงดออกเสียงไม่ได้

ตรงกันข้าม หากมีญัตติให้ถอดรัสเซียออกจากคณะมนตรีความมั่นคงถาวร (อย่างที่ยูเครนเสนอ) ไทยควรลงมติไม่เห็นด้วย จะเป็นเพราะเราเชื่อในอภิสิทธิ์บางอย่างของมหาอำนาจที่ปกป้องสันติภาพของโลก หรือเพราะเราไม่เชื่อซึ่งต้องยกเลิกสมาชิกถาวรทั้งหมดก็ตาม เพราะนี่เป็นหลักการ

เพราะเป็นประเทศที่มีหลักการต่างหาก ที่ทำให้การรุกรานหรือรังแกประเทศไทย ยิ่งทำให้ประเทศผู้กระทำถูกต่อต้านจากโลกมากขึ้น และความช่วยเหลือจากต่างประเทศแก่ไทยในการต่อสู้ป้องกันตนเอง มีความชอบธรรมมากขึ้น