แกะรอยพรรคบิ๊กตู่ จาก ศอฉ.2553 สู่ ศอฉ.2565 ราบ 11 คอนเน็กชั่น จับตา ‘จันทร์โอชา’ ขั้วใหม่

แกะรอยพรรคบิ๊กตู่ จาก ศอฉ.2553 สู่ ศอฉ.2565 ราบ 11 คอนเน็กชั่น จับตา ‘จันทร์โอชา’ ขั้วใหม่ ไทยแลนด์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกลาโหม ไม่ได้ปฏิเสธข่าวที่จะย้ายไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เพียงแค่ยังไม่ได้เอ่ยปากยอมรับ แต่เปรยไว้ว่า หลังจัดประชุมเอเปคให้เรียบร้อยก่อน จะให้คำตอบเรื่องอนาคตทางการเมือง

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า หลังจบเอเปค พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีหัวหน้าตุ๋ย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้า จะส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ให้มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมนำเสนอนโยบายพรรค ประกอบการพิจารณา

ที่อาจเรียกได้ว่า พอเป็นพิธี ให้เป็นหลักเป็นการ เหมือนเมื่อครั้งที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นำทีมไปเชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 นั่นเอง

แต่ความแตกต่างคือ เป็นที่รู้กันดีว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตอนนี้ถูกเรียกว่าเป็น “พรรคบิ๊กตู่” นั้น พล.อ.ประยุทธ์มีบทบาทสำคัญในการตั้งพรรค โดยในเวลานั้น มอบให้ “แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ ผช.รมต.ประจำนายกฯ ไปจัดตั้งพรรคไว้ เพื่อไม่ให้เป็นเป้าใหญ่ ให้บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผิดสังเกต ว่านายกฯ ตั้งพรรคเอง

แต่ในเวลานั้น แรมโบ้ก็ประกาศชัดว่า ตั้งพรรคเพื่อจองชื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์เอาไว้ก่อน และพร้อมหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หากพรรคพลังประชารัฐไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ

หากย้อนดูที่มาจะพบว่าการตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่แตกต่างจากพรรคพลังประชารัฐ เพราะจะเริ่มจากการเอามาเป็นนโยบายของรัฐบาล เช่น นโยบายประชารัฐ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. จนมาถึงรวมไทยสร้างชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ใช้เป็นนโยบายในรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

ไม่แค่นั้น หากย้อนดูได้พบว่า นายเสกสกล ไม่ใช่เป็นคนตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่เป็นแค่คนออกหน้าเท่านั้น แต่คนที่อยู่เบื้องหลังตัวจริงคือ นายพีระพันธุ์นั่นเอง

ในห้วงที่นายเสกสกลยังปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และมีสำนักงานอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลนั้น มีรายงานว่า นายพีระพันธุ์ และ “ขิง” นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ แกนนำ กปปส. ลูกชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปพบปะหารือกับนายเสกสกลอยู่เนืองๆ แบบเงียบๆ ลับๆ

ก่อนที่นายเสกสกลจะประกาศผ่านสื่อ เชิงน้อยใจว่า จะถอนตัวออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อให้คนที่มีภาพลักษณ์ดี คุณสมบัติดีๆ มาทำต่อไป เพราะถือว่าตนเองเป็นคนที่สร้างตอม่อไว้ให้แล้ว

ความเคลื่อนไหวในการตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างจริงจังจากที่เคยถูกมองว่าเป็นพรรคสำรองไว้รองรับสถานการณ์นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งนายพีระพันธุ์เป็นที่ปรึกษานายกฯ และส่งไปเป็นที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ แต่ปรากฏว่า พล.อ.ประวิตรไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีบทบาทใดๆ ในพรรค เสมือนส่งสัญญาณว่า พรรคนี้เป็นของ พล.อ.ประวิตรคนเดียว

จนในที่สุด นายเสกสกลที่ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง หลังลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ แล้วก็ต้องลาออกจาก พปชร.อีกครั้ง ไปตั้งพรรคเทิดไทเพื่อเป็นพันธมิตรกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

กล่าวกันในหมู่คนรอบตัว พล.อ.ประวิตร ว่า ใจจริง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ต้องการจะแยกพรรคกับ พล.อ.ประวิตร แต่เพราะมี “คนยุ” ให้แยกตัวออกมา หลังเกิดเรื่องระหองระแหงจากปัญหาระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และบิ๊กป๊อด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตรเอง จนทำให้ พล.อ.ประวิตรในสายตาของ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนไป

ประกอบกับกระแสข่าวบิ๊กดีลกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มั่นใจในจุดยืนของพี่ใหญ่

แต่หากพิจารณาที่สไตล์ของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วคาดกันว่า นี่เป็น “แพลนบี” ที่ พล.อ.ประยุทธ์คิดไว้ล่วงหน้านานแล้ว เพื่อเป็นหนทางสำรอง เพราะรู้ว่าวันหนึ่งต้องเกิดปัญหา

ด้วยเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกนายพีระพันธุ์มาเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนายพีระพันธุ์ กับบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการ และอดีต ผบ.ทบ. น้องรักนายกฯ ที่เป็นเสมือนผู้ช่วยคนสำคัญของนายกฯ มาตลอด ถูกพูดถึงอีกครั้ง

ในฐานะรุ่นพี่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ที่คบหารู้จักกันเสมือนเป็นเพื่อนเพราะอายุห่างกันปีเดียว และเป็นลูกทหารเหมือนกัน พล.อ.อภิรัชต์ชื่นชมนายพีระพันธุ์ว่าเป็นคนเก่ง คนดี เป็นนักการเมืองน้ำดี และคุณสมบัติเพียบพร้อม จึงสนับสนุนให้มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ

กล่าวกันว่า ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์เริ่มมีแนวคิดที่จะตั้งพรรคการเมืองของตัวเองขึ้นมาแล้ว

จนที่สุด สถานการณ์ความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร และคนรอบข้างพาไปจนทำให้ตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติขึ้นมา และมีการวัดพลังเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และสูตรหารด้วย 100 และ 500 มีการวัดพลังกันในหมู่ 250 ส.ว.สายวงษ์สุวรรณและสายจันทร์โอชา ที่สุด พล.อ.ประวิตรเป็นฝ่ายชนะ ได้อย่างที่ต้องการ

แต่ทว่า เกมนี้ยังไม่จบ ต้องรอดูการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งว่าจะตีความให้ขัดธรรมนูญหรือไม่ และจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายลูกใหม่ หรือให้ กกต.ออกกติกาเฉพาะ หรือในที่สุดจะถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญ

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

แต่จุดพีกที่ทำให้ 2 พี่น้องร้าวฉาน คือ การต่อสู้ วัดพลังกัน กรณีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พบว่ามีความพยายามที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัสในเวลานั้น

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่ยอม มีการต่อสู้วัดพลังกัน จนที่สุด คำวินิจฉัยก็ออกมาทางสายกลาง คือ พล.อ.ประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี โดยให้เริ่มนับเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมษายน 2560 และตีความกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้าได้อีกแค่ 2 ปี ถึง 2568 เท่านั้น

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงตัดสินใจแน่วแน่ที่จะมีทางเดินบนถนนการเมืองเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพิง พล.อ.ประวิตรอีกต่อไป

 

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ติดหนี้บุญคุณที่ พล.อ.ประวิตรสนับสนุนดูแลมาตลอด ตั้งแต่เข้ามารับราชการในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) และกินนอนอยู่บ้าน พล.อ.ประวิตร ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสายสัมพันธ์พี่น้อง 3 ป.นั่นเอง

แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ที่อยู่ในอำนาจมาต่อเนื่องตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการทหารบก 4 และเป็นนายกรัฐมนตรีมาอีกถึง 8 ปี ถือว่ามีทั้งอำนาจและบารมี แข็งแกร่ง

ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้ร่มเงาของ พล.อ.ประวิตรอีกต่อไป

แม้จะแยกพรรคกันเดิน แต่ความสัมพันธ์พี่น้องอันยาวนานยังคงอยู่ ไม่ได้ขัดแย้งหรือแตกหัก แต่ในเมื่อแนวทางทางการเมืองแตกต่างกัน และพลพรรครอบข้างมีปัญหากัน จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจแยกทางเดิน

จากขั้วอำนาจ 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” ที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นพี่ใหญ่ จึงกำลังจะตัดขั้วออกไปเป็น 1 ป.ป้อม กับ 2 ป.ประยุทธ์-ป๊อก เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็จะมาอยู่เป็นกุนซือให้ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

ขั้วอำนาจวงษ์สุวรรณ แห่งบ้านป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร กำลังถูกจับตามองว่า จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างไรหากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

ส่วนขั้วอำนาจจันทร์โอชาแห่งบ้าน ร.1 รอ. มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่ ที่เติบโตมาจนพอที่จะยืนได้ด้วยตนเอง และเดินไปบนถนนการเมืองของตนเอง โดยมีผู้สนับสนุนที่เป็นพรรคพวกเดิม

จนบอกกันว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจใช้ “ป๋าเปรมโมเดล” ในการเป็นนายกฯ คนกลาง คนนอก แต่มีพรรคสนับสนุนอย่างพรรคประชาธิปัตย์ แต่ พล.อ.ประยุทธ์มีพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มาจากคนประชาธิปัตย์ และจะดูด ส.ส.ประชาธิปัตย์มาอยู่ด้วยอีกหลายคน

ทั้งนายพีระพันธุ์ และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษานายกฯ จนทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ถูกเรียกว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์น้อย หรือพรรคประชาธิปัตย์ สาขา 2

หากมองย้อนไปในปี 2552-2553 เมื่อครั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เจอม็อบเสื้อแดง จนต้องเข้าไปหลบใน ร.11 รอ. และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) บัญชาการปราบม็อบเสื้อแดง

โดยในขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ที่มีความสนิทสนมแนบแน่นกับฝ่ายทหารทั้ง 3 ป. โดยมี พล.อ.ประวิตรเป็น รมว.กลาโหม ตอนนั้น พล.อ.อนุพงษ์เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรอง ผบ.ทบ.

นายพีระพันธุ์เป็น รมว.ยุติธรรม และนายเอกนัฏก็ติดตามนายสุเทพ กินนอนอยู่ใน ร.11 รอ. ที่มี พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ร.11 รอ.

กล่าวได้ว่า เมื่อครั้งที่ร่วมเผชิญวิกฤตการเมือง สู้ม็อบเสื้อแดงด้วยกันในนาม ศอฉ. ที่ ร.11 รอ. เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของนายสุเทพกับพี่น้อง 3 ป. จนมีส่วนที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิดระหว่างฝ่ายผู้นำม็อบกับผู้นำกองทัพในเวลานั้น

(Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

มาวันนี้ ทีม ศอฉ.2553 กลับมารวมตัวกันหนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้ไปต่อ แยกทางกับพี่ใหญ่ ทั้งแบบเปิดหน้า เบื้องหน้า และอยู่เบื้องหลัง

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ในระยะหลัง นายสุเทพก็ไม่แฮปปี้กับบทบาทของ พล.อ.ประวิตร แต่ยังคงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เช่นเดิม

แม้แต่นายเอกนัฏ ที่ตอนนี้เป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็อยู่ในทีม ศอฉ.ด้วย และเป็นจุดที่ทำให้ได้สนิทสนมใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้ง พล.อ.อภิรัชต์

แม้จะมีกระแสข่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์จะมาร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ที่จะมาอยู่ด้วย จะมาเป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่มีรายงานข่าวว่า มี “สัญญาณ” ให้นายเอกนัฏเป็นเลขาธิการพรรคต่อไป โดยมีการเตรียมการรองรับต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ไว้แล้ว รวมทั้งการวางแผนในการปรับภาพลักษณ์และแนวทางทางการเมืองให้ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะต้องเป็นนักการเมืองเต็มตัว มากกว่าความเป็นทหาร

ท่ามกลางการจับตามองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรค และนั่งเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือไม่

หรือจะเป็นแค่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเท่านั้น เพื่อรักษาสถานภาพว่าไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะหากวางมือทางการเมืองในอนาคต ก็อาจจะได้ไปทำงานสำคัญอีกงานหนึ่ง

ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มั่นใจว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ย้ายมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้ ส.ส.มากกว่า 25 คน และสามารถเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ และมีสมาชิกวุฒิสภา 250 คน พร้อมที่จะช่วยโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

แม้ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติอาจจะไม่ได้จำนวน ส.ส.มาเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่เชื่อได้ว่า พรรคภูมิใจไทย ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็พร้อมที่จะหลบทางให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีก่อน 2 ปี และหวังว่านายอนุทินจะได้เป็นนายกฯ ต่ออีก 2 ปีหลัง ตามสูตร “ตู่-หนู”

แต่ทว่า ก็ไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะนั่งแค่ 2 ปี หรือเมื่อครบ 2 ปีแล้ว จะลุกให้นายอนุทินนั่งนายกฯ ต่อ

เพราะน่าคิดว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจที่จะแยกทางเดินกับ พล.อ.ประวิตร มาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติเช่นนี้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อแค่ 2 ปี หรือเพราะการจัดทัพใหม่เช่นนี้ คงไม่ได้ต้องการจะไปต่อแค่ 2 ปี แต่จะมีกลยุทธ์ใดในการเป็นนายกฯ ได้ยาวครบเทอมถึงปี 2570 หรือนานกว่านั้น โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนายกฯ 8 ปี

จึงไม่แปลกที่นายอนุทินจะยังไม่ผูกมัดตัวเองว่า จะอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือจะหนุน พล.อ.ประวิตร โดยให้รอดูหลังการเลือกตั้ง

เพราะโอกาสที่พรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร และพรรคภูมิใจไทย จะร่วมรัฐบาลกันก็ยังคงมีอยู่ แบบที่เรียกว่า แยกกันเดิน รวมกันตี แต่เมื่อแยกพรรคกันอยู่ ความห่างเหินก็จะตามมา

และจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของแผงอำนาจ 3 ป.ที่เคยแข็งแกร่ง และต้องกลายเป็นแค่ตำนานในที่สุด