เด็กทุกคนมีพรสวรรค์ในตัวเอง | เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

เด็กทุกคนมีพรสวรรค์ในตัวเอง

 

ชื่อตอนๆ นี้ เป็นประโยคมัดรวมของหนังอินเดียที่ชื่อ Taare Zameen Par หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Like Stars on Earth พร้อมคำโปรยที่ว่า Every Child is special

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอายุ 15 ปีแล้ว ได้นำออกฉายเมื่อปี 2007 โดยฝีมือการสร้าง การกำกับการแสดง และนำแสดง ของพระเอกชื่อดังของอินเดีย Aamir Khan ที่ผมจะพูดถึงเขาในช่วงหลัง

หนังเล่าเรื่องของตัวเอกที่เป็นเด็กชายอายุ 8 ปี เขาชื่อ “อิชาน อวัสตี” เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มีบ้านอยู่อาศัยได้สบาย มีสุขอนามัยที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี โดยมีพ่อที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อครอบครัว และแม่ที่เป็นแม่บ้าน ทำทุกอย่างเพื่อดูแลสามี และลูก 2 คน ที่นอกจากอิชานแล้วยังมีพี่ชายที่เรียนชั้นมัธยมอีกคน ชื่อ “โยฮาน”

ปัญหาคือ อิชานไม่ใช่เด็กปกติธรรมดา แต่มีอาการที่เรียกว่า ภาวะ “ดิสเร็กเซีย” ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขา ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ เพราะภาพในหัวของเขา ตัวอักษร และตัวเลขต่างๆ มันผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง รวมถึงพฤติกรรมปกติในชีวิต เช่น การกะระยะ การหยิบจับสิ่งของ

ในครอบครัวไม่มีใครรู้ว่าเขามีอาการนี้ ทุกคนจึงผิดหวังตั้งแต่พ่อ แม่ และครูที่โรงเรียน ที่ไม่ว่าจะเคี่ยวเข็ญอย่างไร อิชานก็ไม่สามารถ “ทำได้ดังใจ” ที่ทุกคนหวัง เขาจึงถูกคนรอบข้าง โดยเฉพาะครูและเพื่อนๆ บอกว่าเขาเป็นไอ้โง่ ไอ้ห่วย ไอ้เลว ซึ่งจะหันมาขอความช่วยเหลือจากครอบครัวก็ไม่ได้ เพราะครอบครัวก็เดินตามกรอบของสังคม ที่อยู่กับการแข่งขัน ทุกคนต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องชนะ เพื่อจะได้ดีในอนาคต ไม่เฉพาะเรื่องการศึกษา รวมถึงการทำงานของพ่อของอิชานก็ด้วย

ยิ่งโยฮานสอบได้ที่ 1 ทุกวิชา เล่นเทนนิสก็เก่ง จึงเกิดการเปรียบเทียบกับอิชานอย่างช่วยไม่ได้

ซึ่งไอ้ “การเปรียบเทียบ” นี่แหละที่ฆ่าคนมานักต่อนักแล้ว

คําโปรยของหนังบอกว่า “เด็กทุกคนมีพรสวรรค์ในตัวเอง” สำหรับอิชานแล้วเขารักและมีฝีมือในการวาดรูปมาก นั่นมาจากสิ่งที่เติมเต็มและตอบสนองจินตนาการของเขาได้ แต่การวาดรูปไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่คิดว่าจะได้ประโยชน์อะไรในอนาคต

มีเหตุให้พ่อต้องส่งอิชานไปอยู่โรงเรียนประจำเพื่อดัดสันดาน โดยหารู้ไม่ว่านั่นยิ่งเป็นการฝังลูกชายคนนี้ทั้งเป็น ที่นั่นเต็มไปด้วยกฎระเบียบและการบังคับ ซึ่งไม่ถูกโรคกับอิชานอย่างแรง

ผลคือ เขาก็ยังเป็นไอ้งี่เง่าไม่เอาไหน ในสายตาของครูและเพื่อนที่นั่นเช่นเดิม

ซ้ำยังเหมือนถูกทอดทิ้งจากครอบครัวที่เขารักที่สุด นั่นทำให้โลกทั้งใบพังทลายลง เพราะแม้แต่การวาดรูปที่เขาชื่นชอบ เขาก็ไม่มีใจจะทำมันอีกเลย

ฉากที่แม่โทรศัพท์มาคุยกับอิชานเพื่อบอกว่าเสาร์อาทิตย์นี้จะไม่ได้ไปเยี่ยม เพราะต้องอยู่ดูโยฮานแข่งเทนนิสรอบชิงชนะเลิศ โดยที่เขาเป็นฝ่ายฟังอย่างเดียว ไม่พูดอะไรสักคำ ก่อนจะวางหูโทรศัพท์ลงกับโต๊ะ

สีหน้าแววตาของเขาแสดงออกถึงความผิดหวัง น้อยใจ สูญเสียแม้แต่กับครอบครัวที่มี ผู้แสดงเป็นอิชาน คือ Darsheel Safary นั้นทำได้อย่างยอดเยี่ยม รวมทั้งในการแสดงตลอดทั้งเรื่องที่เขาแสดงออกถึงความทุกข์ ความเก็บกดข้างใน ที่ออกมาทางดวงตาและสีหน้าได้อย่างดี

ยามทุกข์และหม่นหมอง เราก็จะดำดิ่งไปกับเขา และยามที่เขาสดใส ก็เหมือนโลกทั้งใบเปล่งประกายความสุขออกมา

และที่นี่เขาได้พบกับครูผู้เปลี่ยนชีวิตเขา เป็นครูสอนศิลปะคนใหม่ที่ชื่อ “นิคุมบ์” แสดงโดย Aamir Khan เอง เขาเป็นครูที่เด็กๆ จะต้องรักและชื่นชอบ เพราะมีการสอนสมัยใหม่ และเปิดกว้างต่อจินตนาการของเด็กๆ นั่นเพราะเขาทำงานเป็นครูที่โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษด้วย ยิ่งทำให้เขาเข้าใจเด็กๆ ได้อย่างดี โดยเฉพาะกับเด็กพิเศษอย่างอิชาน

แต่ถึงกระนั้นอิชานก็เก็บตัวเงียบ ไม่แม้แต่จะวาดเส้นสักเส้น ไม่พูดไม่ตอบคำถามใดๆ จนครูนิคุมบ์ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการย้อนไปศึกษาความเป็นอิชานจากสมุดการเรียนของเขา และไปพูดคุยกับพ่อแม่ถึงที่บ้าน เพื่อบอกว่าอิชานมีภาวะ “ดิสเร็กเซีย”

“ผมอยากรู้ปัญหาของเขา ไม่ใช่อยากรู้อาการของเขา” ครูนิคุมบ์ย้อนกลับเมื่อผู้เป็นพ่อพร่ำระบายถึงความไม่ดีต่างๆ ของลูกชาย

การสนทนาระหว่างครูกับพ่อในฉากนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างกันในความเชื่อ และความคิด พ่อนั้นอยู่ในกรอบและติดอยู่กับวิถีสังคมที่กำหนดให้ ในขณะที่ครูไม่สนใจกรอบ แต่สนใจที่ตัวเด็ก ที่จำต้องมีวิธีการพัฒนาที่ต่างจากเด็กทั่วไป ไม่ใช่ทำไม่ได้

แต่ต้องทำด้วยความเข้าใจ

และครูนิคุมบ์ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเด็กน้อยอย่างจริงจัง เริ่มด้วยการพูดคุยกับเด็กๆ ในห้องเรียนถึงบุคคลที่มีปัญหาในการเรียนในวัยเด็ก อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นเด็กโง่ของชั้นเรียน แต่เด็กทุกคนมีพรสวรรค์ในตนเอง ในที่สุดคนเหล่านั้นก็ไม่ยอมแพ้ แต่ใช้พรสรรค์ที่เขามีทำผลงานออกมาให้โลกได้รับรู้ บุคคลที่ว่านี้ เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ลีโอนาโด ดาวินชี, ปิคาสโซ่, อกาธา คริสตี้ หรือแม้แต่นักร้องดัง นีล ไดมอนด์ และพระเอกหนังชื่อดัง อภิเษก บาคจัน

นั่นเป็นประตูบานแรกที่เขาเปิดเข้าไปในใจของอิชาน และอิชานก็ยอมให้ครูนิคุมบ์ก้าวเข้ามาในชีวิตเขา ครูใช้วิธีการสอนที่นำจินตนาการของอิชานมาใช้ในการเรียนรู้ การอ่าน การเขียน และพฤติกรรมในชีวิตต่างๆ นั่นทำให้ชีวิตชีวาของเด็กน้อยคนนี้กลับมาอีกครั้ง และค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นทีละนิดๆ

วันหนึ่งพ่อแวะมาที่โรงเรียน ได้เข้ามาพบกับครูนิคุมบ์เหมือนจะแก้ตัวว่า ตนเองกับภรรยามี “ความใส่ใจ” ในอิชานนะ ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ภรรยาของเขายังเข้าไปศึกษาในอินเตอร์เน็ตเรื่องภาวะดิสเร็กเซียเลย ครูนิคุมบ์ตอบกลับว่า

“ความใส่ใจ น่าจะเป็นการแค่โอบกอดเขา จูบเขาบ้างนานๆ ที เพื่อให้เห็นว่าเราใส่ใจ บอกรักเขา บอกเขาว่าถ้ามีอะไรที่กลัว มาหาฉันได้ จะสะดุดพลาดอะไรบ้างก็ไม่เป็นไร ฉันจะคอยช่วยอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เหรอ”

ตัวพ่อได้ฟังก็ละอายใจ จนต้องลุกออกมาเอง และก่อนจะออกจากโรงเรียน ก็เหลือบเห็นลูกชายยืนอยู่ที่บอร์ด พยายามอ่านออกเสียงถึงป้ายประกาศตรงหน้าอย่างมุ่งมั่น ยิ่งทำให้เขาสะเทือนใจต้องรีบออกไปให้เร็วที่สุด

สุดท้ายครูนิคุมบ์ก็เปิดโลกใหม่กับอิชานได้สำเร็จ และไม่ใช่แค่เปิดตัวตนของอิชานเอง แต่นำไปสู่การได้รับการยอมรับจากคนทั้งโรงเรียนอีกด้วย ฉากนี้ใครดูก็ต้องร้องไห้ ยิ่งเมื่ออิชานได้รับรางวัลจากการประกวดวาดภาพในงานที่ครูจัดขึ้นนี้

เขาวิ่งเข้าไปกอดครูและร้องไห้สะอึกสะอื้นออกมาเหมือนกับทำนบแตก เป็นการระบายความทุกข์ ความอัดอั้นตันใจทุกอย่างในตัวออกมา และวันนี้โลกได้กลับเข้ามาอยู่ในมือเขาแล้ว

หนังเรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับ Aamir Khan อย่างมากที่ลุกขึ้นมาสร้างงานที่สะท้อนสังคมและเด็กพิเศษได้ดีเช่นนี้ การแสดงในบทครูนิคุมบ์ของเขาก็เอาอยู่ ยิ่งเคมีที่ไปกันได้กับผู้แสดงเป็นอิชานแล้วก็ทำให้คนดูคล้อยตามได้ง่ายดาย

หนังไม่ได้เล่าเรื่องสลับซับซ้อนอะไร แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคืองานด้านโปรดักชั่นภายใต้ชื่อ Aamir Khan Production ของเขาเอง งานภาพนั้นสวย แปลกตา สื่อความหมายและอารมณ์ได้อย่างดี มีการใช้แอนิเมชั่นมาช่วยเล่าเรื่องในจินตนาการของอิชานได้อย่างน่าสนใจ

ที่อยากพูดถึงเป็นพิเศษคือ ดนตรีและเพลง ที่ใครๆ ก็รู้ว่าหนังอินเดียกับเพลงและการเต้นรำนั้นเป็นเหมือนแพ็กเกจที่ต้องมี แต่ดนตรีและเพลงในเรื่องนี้แตกต่างจากหนังอินเดียทั่วไป ด้วยการเรียบเรียงที่ทันสมัย เป็นสากล และวิธีการนำเสนอนั้นเหมือนจะเป็น music video กลายๆ แต่ได้ทำหน้าที่เดินเรื่องไปพร้อมกับนำอารมณ์ของผู้ชมได้อย่างดี แปลกหูแปลกตากว่าเคย

 

Aamir Khan นั้นในด้านการแสดง แฟนภาพยนตร์อินเดียคงคุ้นฝีมือเขาดี เพราะมีผลงานเด่นหลายเรื่องอย่างเช่นเรื่อง P.K. ที่เล่นกับเรื่องศาสนา, 3 Idiots ที่หลายคนประทับใจ รวมทั้งเรื่อง Lagaan จากการสร้างของเขาก็เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศในปี 2001 มาแล้ว

เขาได้รับรางวัลจากหลายเวที ทั้งจากงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง การแสดงของเขานั้นเป็นแบบ “Method Acting” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเข้าถึงบทบาทนั้นจริงๆ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนักแสดงรุ่นพี่ เช่น Sanjeev Kumar, Rajesh Khanna เป็นต้น

ด้วยความทุ่มเทตั้งใจในงานที่ทำ Aamir Khan จึงได้รับการฉายาว่าเป็น “Mr. Perfectionist of Bollywood”

มันได้สะท้อนออกมาจากคุณค่าในหนังที่เขาสร้างหรือแสดง เหมือนเช่นเรื่อง Taare Zameen Par นี้ ที่ทำให้ผู้ชมเรียนรู้และเข้าถึงความเป็นเด็กพิเศษมากขึ้น

ประโยคที่ครูนิคุมบ์พูดกับอิชานสองต่อสองในห้องเรียนว่า

“ตอนเป็นเด็ก ครูเองก็มีปัญหาการเรียนรู้ พ่อครูไม่เคยเข้าใจ เขาคิดว่าครูเกเร หาข้ออ้างเพื่อจะไม่ต้องเรียนหนังสือ เขาเลิกหวังกับครู ไอ้โง่เง่าไร้สมองคนนี้จะทำอะไรได้ แต่ไม่ว่าทุกวันนี้ครูจะเป็นอะไร ก็มาอยู่ต่อหน้าเธอแล้ว อิชาน”

เป็นการเอาอดีตอันขมขื่นของตนเองและปัจจุบันที่เขาก้าวข้ามมาได้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเด็กชายตรงหน้า เชื่อว่าหนังเรื่องนี้ก็จะเป็นกำลังใจอันวิเศษให้กับเด็กพิเศษและครอบครัวของพวกเขาได้อย่างดี •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์