มีด – พร้า (3) | ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

มีด – พร้า (3)

 

วรรณคดีใช่จะกล่าวถึง ‘พร้าโต้’ เท่านั้น ยังมี ‘พร้าเสียม’ และ ‘พร้าขอ’

นิทานคำกลอนเรื่อง “สิงหไตรภพ” ตอนที่ท้าวอินณุมาศและพระมเหสีตกยากมาพึ่งพาพรานเพิก เมียพรานให้ไปพักที่กระท่อมปลายนา คอยเฝ้าพืชไร่มิให้เสียหาย นางกำชับให้เอาเครื่องมือเครื่องใช้ไปให้พร้อม

“หม้อเข้าปลาพร้าเสียมเอาไปด้วย แล้วพรานช่วยเอาไปส่งทั้งสองศรี

มึงอยู่เฝ้าเต้าแตงกูให้ดี อย่าให้มีอันตรายที่ปลายนา”

‘พร้าเสียม’ เป็นตัวช่วยงานในไร่นา หน้าตาเป็นอย่างไร อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ให้ความกระจ่างไว้ในหนังสือ “วัฒนธรรมพื้นบ้าน : คติความเชื่อ” ว่า

“พร้าเสียม ใบพร้าเป็นรูปแบนยาว ปลายผายออกไปและตีให้เป็นรูปมนกลม พร้าเสียมนี้ใช้สำหรับผ่าไม้ หรือใช้ขุดดินแทนเสียมก็ได้”

ในเรื่อง “สิงหไตรภพ” ท้าวอินณุมาศใช้พร้าเสียมดายหญ้าฟันดิน

“พระถากทายดายหญ้ารักษาผัก เย็นแล้วตักน้ำรดทุกพรรณผล”

ตอนพระมเหสีใกล้คลอดก็กำลังทำงานอยู่

“พระทรงธรรม์ฟันดินอยู่กลางร่อง ได้ยินร้องหวีดวิ่งประหวั่นไหว”

หนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5 เรียก ‘พร้าเสียม’ ว่า ‘พร้าหัวเสียม’ เป็นพร้าชนิดเดียวกัน

“พร้าหัวเสียม คือ พร้าข้างปลายแบนโต, มีคมสำหรับขุดดินได้, จึ่งเรียกพร้าหัวเสียม’

ทั้ง ‘พร้าเสียม’ และ ‘พร้าหัวเสียม’ มีชื่อสอดคล้องกับการใช้งาน

 

นอกจาก ‘พร้าเสียม’ ยังมี ‘พร้าขอ’ ดังที่บทละครเรื่อง “ระเด่นลันได” ชมโฉมนางประแดะว่า “จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ”

พร้าขอ มีปลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสมชื่อ ดังที่อาจารย์จุลทัศน์อธิบายไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน

“พร้าขอ ใบพร้าเป็นรูปแบนยาว สันหน้าปลายงุ้มเล็กน้อย ด้ามทำด้วยลำไม้ไผ่หรือไม้จริงเป็นท่อนกลมยาว พร้าขอนี้ใช้สำหรับตัดไม้ ไม่จำเพาะแต่ไม้ไผ่เท่านั้น”

รูปร่างหน้าตาพร้าขอเห็นถนัดชัดเจนในหนังสือ “ร้อยคำร้อยความ”

“มีดขอ มีดขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 ศอกหรือกว่านี้เล็กน้อย ใบมีดแบนยาว ส่วนปลายทำเป็นของอลง ด้ามโดยมากทำเป็นบ้องต่อออกแต่โคนมีด ด้ามด้วยไม้ก็มี มีดขอนี้ใช้สำหรับตัด ลิด หรือรานกิ่งไม้ บางแห่งเรียกว่า ‘พร้าขอ'”

การเปรียบจมูกของนางประแดะกับพร้าขอ ให้ภาพจมูกโด่งปลายงองุ้มแบบจมูกแขก สมกับมีเชื้อแขกปัตตานี ดังที่นางรำพันว่า “โคตรพ่อโคตรแม่ก็ไม่มี อยู่ถึงเมืองตานีเขาตีมา”

สมัยโบราณการดับไฟต้องใช้ทั้ง ‘พร้า’ ‘ขอ’ และ ‘ตะกร้อน้ำ’ หรือ ‘กระตร้อน้ำ’ ในที่นี้มิใช่ ‘พร้า’ ที่เรียกว่า ‘พร้าขอ’ แต่เป็น ‘พร้า’ และ ‘ขอ’ แม้กวีจะเขียนติดกันก็ตาม บ้าน วัด วัง สมัยก่อนทำด้วยไม้ เป็นเชื้อไฟที่ดีเวลาไฟไหม้ จึงต้องเตรียมอุปกรณ์ดับไฟให้พร้อม

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่นางเทพทองตื่นตระหนกคิดว่าเกิดไฟไหม้ขึ้นจริงๆ ก็ลนลานเรียกบ่าวไพร่เตรียม ‘พร้า’ และ ‘ขอ’ จ้าละหวั่น

“เทพทองตกใจว่าที่ไหนพ่อ เด็กเอ๋ยหาพร้าขอสำหรับบ้าน

ลุกขึ้นเสือกสนอยู่ลนลาน นายสอนว่าท่านมิใช่ไฟ”

 

นอกจาก ‘พร้า’ และ ‘ขอ’ ยังมี ‘ตะกร้อน้ำ’ หรือ ‘กระตร้อน้ำ’ บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เล่าถึงตอนอิเหนาเผาเมือง ผู้คนอลหม่านดับไฟ

“บ้างขึ้นหลังคาเอาผ้าฟาด ตะกร้อน้ำซ้ำสาดแล้วตักส่ง”

เราจะเห็นภาพคนปีนหลังคาเอาผ้าชุบน้ำฟาดดับไฟ ตามด้วยการเอาตะกร้อน้ำสาดใส่ไฟที่กำลังลุกไหม้

งานพระเมรุเมืองหมันหยา พลบค่ำจุดดอกไม้ไฟตามช่องระทาพร้อมๆ กัน คนดูสนุกสนาน เจ้าพนักงานดับเพลิงเตรียมพร้อมเครื่องมือดับไฟเพราะเครื่องพระเมรุล้วนทำขึ้นจากไม้ไผ่และกระดาษติดไฟง่ายทั้งสิ้น ดังที่กวีบรรยายว่า

“บัดนั้น พนักงานด้านพระเมรุเจนจบ

พร้าขอตะกร้อน้ำเตรียมครบ หน้าพลับพลาจุดคบรายไป”

‘พร้า’ และ ‘ขอ’ ใช้ดับไฟคู่กับ ‘กระตร้อน้ำ’ ดังที่นายมี มหาดเล็กพรรณนาถึงรัชกาลที่ 3 ไว้ใน “กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่าทรงเป็นผู้นำดับไฟไหม้วัดระฆังโฆสิตาราม

“เสด็จไปไฟยังกำลังเหลิง

ให้พร้าขอกระตร้อน้ำเข้าร่ำเปิง เข้าตัดเชิงไฟมอดลงวอดวาย”

อุปกรณ์ดับไฟเหล่านี้สอดคล้องกับ ‘กฎมณเฑียรบาล’ ในหนังสือ “กฎหมายตราสามดวง” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2 บันทึกว่า

“อนึ่งถ้าไฟไหม้วังก็ดี ใกล้วังก็ดี กลางวันกลางคืนไซ้ ให้เอาพลทลวงฟันมาตั้งอยู่ในสนามแลบังคับบัญชาเอา ช้างดี

ม้าดี } ที่ใกล้ไฟนั้นออกอย่าให้ฉุกละหุกแลให้ตรวจเอา พร้าขอกระตร้อน้ำ จงทุกที่พนักงานให้สรัพไว้ เมื่อท่านให้หาไซ้จึ่งไป” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ใช้พร้า ขอ และกระตร้อน้ำ (ตะกร้อน้ำ) ดับไฟอย่างไร คำอธิบายมีอยู่ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 16” คุรุสภาจัดพิมพ์

“พร้า นั้นรูปร่างคล้ายกับเคียวเกี่ยวข้าวมีคมสำหรับตัดเครื่องผูกหลังคา ‘ขอ’ นั้นเป็นเหล็กแหลมปลายงอเรียงกันอย่างเรียกว่ามือเสือ สำหรับเกี่ยวรื้อแย่งสรรพสัมภาระตรงที่ไฟติดหรือใกล้จะติดเอาลงเสีย ‘ตะกร้อน้ำ’ นั้นสานด้วยไม้ไผ่เอาชันยาอย่างครุ (ภายหลังมาเปลี่ยนทำด้วยสังกะสี) สำหรับเอาน้ำขึ้นไปเทดับไฟ ของที่กล่าวมานี้ย่อมมีด้ามไม้รวกต่อให้ยาวถึงหลังคา มีอย่างละหลายๆ อันปักราวเรียงไว้ทุกบ้าน”

สารพัดพร้า ขอ และตะกร้อน้ำ ล้วนสะท้อนภูมิปัญญาไทย •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร