วิรัตน์ แสงทองคำ : “ตุลาคม” กับสังคมธุรกิจไทย (3)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเป็นไปช่วงสำคัญเมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่แล้ว จากภาพ “ชิ้นส่วน” หลากหลายมิติว่าด้วยแรงปะทะจากโลกภายนอก ไปสู่การปรับเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมธุรกิจไทย

ภาพ “ชิ้นส่วน” สำคัญบางชิ้น สะท้อนแรงปะทะครั้งใหญ่ เกี่ยวกับโครงสร้างการผลิตพื้นฐาน “เกษตรกรรมไทยได้เข้าสู่ช่วงใหม่ เข้าสู่วงจรพึ่งพิงเครือขายธุรกิจระดับโลกมากขึ้น” (จากตอนแรก) ยกบางกรณีอ้างอิง โดยเฉพาะให้ความสำคัญว่าด้วยวิวัฒนาการและการบุกเบิกเกษตรกรรมแบบใหม่

เช่น Plantation ในกรณี Dole และโมเดลฟาร์มพันธสัญญา (Contract Farming) กรณีซีพีกับ Arber Acer ถือเป็นเพียงบางปรากฏการณ์เชื่อมโยงกับอิทธิพลระดับโลก ซี่งใช้เวลาบ่มเพาะในสังคมไทยพอสมควรจากนั้น

ขณะที่ในบางงมิติ เป็นกระแสและแนวโน้มอันเชี่ยวกรากวงกว้างในสังคมเกษตรกรรมไทย

ดังตัวอย่าง กรณี “การใช้สารเคมี-ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช สามารถอ้างอิงบางสถิติที่น่าตื่นเต้นได้ด้วย” ในปี 2497 ปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมียังน้อยกว่า 10,000 ตัน ต่อมาในปี 2513 การนำเข้าปุ๋ยมีจำนวนมากมายถึง 2,650,000 ตัน” (จากข้อเขียนของผม “เกษตรกรรมไทย” มติชนสุดสัปดาห์ ต้นปี 2555)

ภาพที่ใหญ่กว่านั้นมากๆ คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมธุรกิจไทย ซึ่งพลิกโฉมไปมากทีเดียว

พื้นฐานเกษตรกรรมไทย ระบบเศรษฐกิจหลักทำงานอย่างแข็งขันในเวลานั้น คือการทำนาผลิตข้าว ขยายตัวครอบคลุมอาณาบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง รวมทั้งมีการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ในรัศมีห่างออกไป ข้าวและพืชเศรษฐกิจสำคัญ เป็นสินค้าส่งออกอันดับแรกของประเทศ เป็นวงจรเศรษฐกิจที่กว้างและส่งผลกระทบไปทั่ว

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มาจากยุคอิทธิพลสหรัฐก่อนหน้าสงครามเวียดนามไม่นาน ตั้งแต่ปี 2490 องค์การอาหารเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) แนะนำให้รัฐบาลไทยลงทุนในโครงการชลประทานเพื่อควบคุมระดับน้ำในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ต่อมาปี 2495 ธนาคารโลกให้เงินกู้ในโครงการเจ้าพระยาใหญ่ (The Greater Chaophraya Project) ด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ตอนบนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวงจรตั้งต้น

ตามมาด้วยการขุดคลองกั้นน้ำ สร้างประตูน้ำ เขื่อนดิน และอ่างเก็บน้ำเป็นระยะๆ เพื่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อขยายเนื้อที่ปลูกข้าวออกไปในเขตใหม่ๆ

เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ สร้างเมื่อปี 2495 แล้วเสร็จเมื่อปี 2500 ใช้เพื่อทดน้ำส่งน้ำให้พื้นที่รวม 17 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี กทม. นครนายก สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา

ว่าไปแล้วถือเป็นพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในประวัติศาสตร์รัฐไทยยุคกรุงเทพฯ นับเป็นครั้งที่สอง จากครั้งแรกซึ่งห่างกันเกือบศตวรรษ คือการขุดและสร้างเครือข่ายคลองรังสิตในรัชกาลที่ 5 (ด้วยระบบสัมปทานให้กับชาวต่างชาติ)

ภาพดังกล่าวสะท้อนพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐานระบบเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด นั่นคือการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีตลาดกว้างมากขึ้น

ขณะเดียวกันสะท้อนพัฒนาการว่าด้วยเมือง หัวเมือง และชุมชน ซึ่งขยายฐาน เพิ่มพลังปัจเจกมากขึ้นๆ ไม่เพียงการขยายตัวแรงงาน จากหัวเมืองและชนบท สู่ภาคอุตสาหกรรมในเมืองหลวงและชานเมือง หากรวมถึงภาคเกษตรกรรมพื้นฐานที่ขยายตัวอย่างมากๆ ด้วย แต่อย่างไรเสีย แรงกระเพื่อมและผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจอันซับซ้อน ยังคงกระจุกในหัวเมืองใหญ่และที่ราบลุ่มภาคกลาง

ขณะที่ชนบทห่างไกล ยังห่างไกลความเป็นไปของสังคมไทยอยู่ดี

 

ระบบการส่งออกที่พลิกผัน

ในภาพใหญ่ว่าด้วยการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว มีช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลายช่วงในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

ที่สำคัญเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทข้าวไทยกำเนิดขึ้น เป็นข้อต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกข้าว แต่เดิมอยู่ในมือเอกชน มาอยู่ในอำนาจเด็ดขาดของรัฐ อ้างความจำเป็นของสถานการณ์ต้องขายข้าวให้ญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดสำคัญมากๆ ในช่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่พ่อค้าชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งคุมการค้าข้าว ส่วนใหญ่แอนตี้ญี่ปุ่น

บริษัทข้าวไทยเข้าดำเนินการผูกขาดค้าข้าว ยึดกิจการ ทั้งเป็นของคนไทยเชื้อสายจีน และเป็นของชาวยุโรปซึ่งถอนตัวออกไปเมื่อเกิดสงคราม

ต่อมาเมื่อสงครามโลกยุติ ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม โดยเฉพาะอังกฤษ ซึ่งมีผลประโยชน์โดยตรงเกี่ยวข้องกับบริษัทบอร์เนียว หรือแองโกลไทย ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการค้าข้าวและโรงสี ก่อนที่บริษัทข้าวไทยยึดกิจการมา พยายามกดดันให้รัฐบาลไทยยุบบริษัทข้าวไทย

ถือเป็นจุดเริ่มต้นการทำลายการผูกขาดการค้าข้าวของรัฐ

ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระบบการส่งออกข้าวได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จากค่อนข้างเสรีเข้าสู่ยุคระบบโควต้า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มกระเตื้องขึ้น

สินค้าหลักของไทย เช่น ข้าว ยางพารา ดีบุกส่งออกได้มากขึ้น แต่ก็มีการแข่งขันตัดราคากันเองอย่างรุนแรง

จากระบบโควต้า นำมาซึ่งการรวมกลุ่มในรูปสมาคมการค้า

ขณะที่ผู้ส่งออกบางกลุ่มรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และครองส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างมากไว้ ท่ามกลางตลาดการส่งออกข้าวไทยจำกัดตัวเองอยู่ในตลาดย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยสายสัมพันธ์ “พี่น้องชาวจีนโพ้นทะเล”

ข้อต่อสำคัญการเปลี่ยนแปลงการค้าส่งออกสินค้าพืชไร่อีกครั้ง มาจากผู้ส่งออกบางรายกระโจนออกนอกตลาดเดิม ซึ่งพึ่งพิงอาศัยสายสัมพันธ์ “พี่น้องชาวจีนโพ้นทะเล” มุ่งสู่ประเทศในประเทศแอฟริกา หรือตะวันออกกลาง

บรรดาผู้ส่งออกข้าวไทยดังกล่าว ได้เข้ามาแข่งขันในฐานะ “ผู้มาใหม่”

ส่วนใหญ่มีพื้นฐานธุรกิจจากโรงสีต่างจังหวัด พร้อมๆ กับโอกาสที่แตกต่างอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์กับโบรกเกอร์ซึ่งสำนักงานใหญ่อยู่ที่ยุโรป กับบรรษัทการค้าระหว่างประเทศจากญี่ปุ่น ซึ่งโตวันโตคืนในตลาดโลก

ในช่วงปลายสงครามเวียดนาม การค้าสินค้าพืชไร่ทั่วโลกอยู่ในความควบคุมของโบรกเกอร์ตะวันตก ซึ่งเข้ามาวางรากฐานธุรกิจในเมืองไทยตั้งแต่ช่วงต้นสงครามเวียดนาม

อาทิ โบรกเกอร์ยุโรป-Krohn & Co แห่งเยอรมนีเข้ามาเมืองไทยปี 2509 มีบทบาทควบคุมกระบวนการส่งออกมันสำปะหลังไปยุโรป ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่ใหญ่มากในเวลานั้น

เพียงปี 2510 มันสำปะหลังไทยสามารถส่งออกไปตลาดร่วมยุโรปทะลุ 2 ล้านตัน

ในช่วงเดียวกัน กิจการค้าพืชไร่รายใหญ่จากสหรัฐ-Cargill และ Continental grain เข้ามาเปิดสำนักงานในเมืองไทย (ในปี 2511 และ 2512 ตามลำดับ) ในฐานะผู้ส่งออกข้าวและข้าวโพดไปยังตลาดโลกที่กว้างขึ้น

ความเคลื่อนไหวข้างต้น เป็นดัชนีว่าด้วยดีมานด์สินค้าพืชไร่ไทยที่เพิ่มขึ้น มีตลาดกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ในเวลาเดียวกันอธิบายได้ว่าการค้าพืชไร่ไทยเข้าสู่วงจรการค้าโลกแล้ว

ผู้ส่งออกไทยได้กลายเป็น “ซัพพลายเออร์” คอยป้อนสินค้าตามข้อผูกพันกับโบรกเกอร์ ไปยังตลาดซึ่งบางครั้งไม่ทราบด้วยว่าที่ไหน

ทั้งนี้ โบรกเกอร์เหล่านั้นมี

หนึ่ง-ตัวแทนหรือสำนักงานตัวแทนในประเทศผู้ซื้อซึ่งห่างไกลจากประเทศไทยมาก คอยส่งข่าวสารความต้องการ ทั้งเจรจาซื้อขาย

สอง-มีธนาคารสนับสนุนด้านการเงิน และออกเอกสารการค้าที่จำเป็น

ทว่า สถานการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างรวดเร็ว ภายหลังสงครามเวียดนามไม่นานนัก กิจการค้าส่งออกพืชไร่ไทยได้ยกระดับขึ้น ดำเนินธุรกิจอย่างยืดหยุ่นขึ้น ขณะเดียวกันมีความผันแปรมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เวลานั้นธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งมีบุคลิกเฉพาะ มีอิทธิพล มีพลังอย่างเหลือเชื่อ พร้อมๆ กับระบบเศรษฐกิจไทยเปิดกว้างเชื่อมกับระบบโลกมากขึ้น

ก่อนที่กิจการค้าพืชไร่เหล่านั้นได้ลดอิทธิพลลงไปพอสมควร ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซึ่งกำลังขยายตัวครั้งใหญ่ หลังจากช่วงวิกฤตการณ์น้ำมัน สู่ภาคธุรกิจอื่นๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

 

อิทธิพลโรงสีต่างจังหวัด

ภาพที่ควรย้อนกลับไป ภาพนั้นยังมีร่องรอยอยู่จนถึงปัจจุบัน

พัฒนาการเกี่ยวกับบทบาทโรงสีกับการส่งออกข้าว เป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและน่าสนใจอย่างยิ่ง โฉมหน้าพลิกไปครั้งสำคัญในช่วงต้นสงครามเวียดนามเช่นกัน จากโรงสีเคยตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ ได้ขยายตัวออกไปตั้งในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เนื่องจากค่าแรงถูกกว่า จากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ข้าวเปลือกประมาณ 95% จะผ่านโรงสีในกรุงเทพฯ ก่อนเป็นข้าวสารเพื่อการส่งออก แต่หลังสงคราม ข้าวสารเกือบ 100% มาจากโรงสีจากต่างจังหวัด ราวๆ ปี 2500 พ่อค้าข้าวในกรุงเทพฯ ทำหน้าที่เพียงผู้ค้าและผู้ส่งออกข้าวเท่านั้น

ในช่วงสงครามเวียดนาม กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีที่ราบลุ่มเจ้าพระยา สามารถสะสมความมั่งคั่ง ก้าวเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของประเทศ

อย่างกรณี ซุ้นฮั่วเซ้ง ธนาพรชัย และ แสงทองค้าข้าว เป็นกรณีตัวอย่างของการกระจายโอกาส ผู้ประกอบการ “หน้าใหม่” กำเนิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นระลอกคลื่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเปิดกว้างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน (มาอีกช่วงหนึ่ง สามารถสะสมทุน ปรับตัวอีกครั้ง ซุ้นฮั่วเซ้ง เข้าสู่อุตสาหกรรมกระดาษ ธนาพรชัย สู่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ แสงทองค้าข้าว มีกิจการประกันชีวิต) ขณะที่อีกบางกลุ่มรวมตัวกัน สร้างพลัง สร้างอำนาจต่อรองมากขึ้น ในฐานะสมาคมโรงสีข้าวไทย ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายสงครามเวียดนาม (ปี 2521)

กิจการโรงสีขยายฐาน ขยายเครือข่ายออกไปมากกว่าเดิม ไปไกลมากขึ้น ที่สำคัญยังคงเป็น “ห่วงโซ่” สำคัญของระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน คงมีอิทธิพลและผลกระทบในภาพกว้าง ทั้งทางสังคมและการเมือง อยู่จนถึงทุกวันนี้