‘The Playlist’ : อดีต ปัจจุบัน อนาคตของ ‘สปอติฟาย’ | คนมองหนัง

คนมองหนัง

‘The Playlist’ : อดีต ปัจจุบัน อนาคตของ ‘สปอติฟาย’

 

“The Playlist” เป็นซีรีส์เน็ตฟลิกซ์จากสวีเดนที่บอกเล่าเรื่องราวว่าด้วยการก่อร่างสร้างตัวและ “อนาคต” ของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงระดับโลก คือ “สปอติฟาย (Spotify)” ได้อย่างสนุกสนาน มีสไตล์ และมีประเด็นน่าสนใจแฝงอยู่

ซีรีส์ที่มีทั้งหมด 6 อีพี เริ่มต้นด้วยการถ่ายทอดจุดกำเนิดของ “สปอติฟาย” ซึ่งก่อตัวขึ้นในบริบท-ยุคสมัยที่น่าสนใจ หลังผ่านพ้นสหัสวรรษใหม่มาได้ราวครึ่งทศวรรษ

ด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมดนตรีก็กำลังอยู่ในช่วงขาลงและเจอทางตัน เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มไม่ฟัง/ซื้อเพลงผ่านวัตถุสื่อกลางอย่างซีดีกันแล้ว อีกด้านหนึ่ง ในประเทศสวีเดนเองก็เกิดเว็บไซต์ออนไลน์ “เดอะไพเรตเบย์” ที่เป็นช่องทางดาวน์โหลดเพลงมาฟังได้ฟรีๆ อย่างผิดกฎหมาย

“The Playlist” ค่อยๆ ไล่เรียงวิถีความสำเร็จและทางเดินอันท้าทายของ “สปอติฟาย” ผ่านเรื่องราว มุมมอง และโลกทัศน์ของผู้มีส่วนได้-เสียรวมทั้งสิ้น 6 ฝ่าย/คน

เริ่มจาก (1) ผู้ก่อตั้งที่เป็นหนุ่มไอทีบุคลิกเนิร์ดๆ ชื่อ “แดเนียล เอ็ก” (2) ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมดนตรี ที่เป็นอริกับแนวคิดเรื่องการบริโภคเพลงฟรีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะเปลี่ยนข้างมาเป็นพันธมิตรกับ “สปอติฟาย”

(3) ทนายความ-นักกฎหมายที่รับบทบาทเป็นผู้ต่อรองเรื่องธุรกิจ-ลิขสิทธิ์เพลงกับบรรดานายทุน (4) โปรแกรมเมอร์เบื้องหลังความสำเร็จแรกเริ่มของแพลตฟอร์ม ที่มองประดิษฐกรรมของตนเองในฐานะ “สิ่งบริสุทธิ์” และไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโลกธุรกิจ/ระบบทุนนิยมที่ปลาใหญ่มักกินปลาเล็กอยู่เสมอ

(5) ผู้ร่วมก่อตั้ง/นายทุนคนแรกของ “สปอติฟาย” ที่เป็นคนมีลูกบ้า มีบุคลิกทีเล่น (ยิ่งกว่า) ทีจริง กล้าได้กล้าเสีย จนดูแตกต่างจากนักธุรกิจและคนสวีเดนทั่วไป และ (6) ตัวแทนศิลปิน ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยมัธยมของแดเนียล ที่ร่วมเผยแพร่เพลงของเธอผ่านแพลตฟอร์มนี้ในยุคบุกเบิก ก่อนจะพบว่านี่อาจไม่ใช่วิถีทางอันถูกต้องเจริญงอกงาม ดังที่เธอและเพื่อนร่วมวิชาชีพเคยคาดหวัง

“The Playlist” เปิดประเดิมเรื่องราวด้วยประกายความหวังและทิศทางใหม่ๆ ของธุรกิจสตาร์ตอัพและสื่อใหม่ในโลกดิจิทัล ซึ่งผลิบานขึ้นบนโลกใบเก่าที่กำลังพังทลายลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อซีรีส์เคลื่อนหน้าไปเรื่อยๆ ด้วยมุมมอง-วิธีคิดของบุคคลแต่ละรายที่ผิดแผกแตกต่างกัน เราจึงค่อยๆ เห็นว่า “สปอติฟาย” ถือกำเนิดขึ้นมาจากความหลากหลาย

เพราะลำพังแค่ความฝันของเด็กหนุ่มที่ปรารถนาจะปลดปล่อยคนรุ่นตนเองออกจากอุตสาหกรรมบันเทิงและวิถีการบริโภคแบบดั้งเดิม นั้นยังไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกมากพอ หากไร้ซึ่งบรรดาทีมงานเบื้องหลัง และบุคลากรมืออาชีพที่รู้จักมองหาหนทางประนีประนอมระหว่างคนที่ยึดกุมทรัพยากรต่างๆ ในโลกใบเก่า กับคนที่มีความรู้-วิสัยทัศน์แบบใหม่

ยิ่งกว่านั้น ซีรีส์เรื่องนี้ยังมิได้ฉายภาพแต่เพียงผลลัพธ์ที่สำเร็จลุล่วงของการทำงานเป็นทีม หากยังแสดงให้เห็นความขัดแย้ง-การแยกตัว และปรากฏการณ์ที่ “ธุรกิจ-แพลตฟอร์มใหม่” อาจจะล่วงถลำและกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบทุนนิยม-การผูกขาดการค้าแบบเดิมๆ” ในอนาคต

ตลอดจนภาวะโดดเดี่ยวเดียวดายไร้มิตรแท้ของผู้ก่อตั้งธุรกิจ ซึ่งเคยแวดล้อมด้วย “เพื่อนร่วมงาน” ที่ไว้วางใจและโต้เถียงกันได้อย่างมีเหตุผล

โดยส่วนตัวรู้สึกชอบอีพีที่สามของซีรีส์ ที่เล่าเรื่องราวจากมุมมองของทนายความหญิง ซึ่งเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงและแนวทางการจัดเก็บรายได้ให้แก่ “สปอติฟาย”

อีพีถูกนำเสนอด้วยรูปแบบคล้าย “ละครเวที” โดยกำหนดให้ตัวละครหลักเดินไปมาอยู่บน “ทางเดินในอาคาร” (คอร์ริดอร์) เส้นหนึ่ง ซึ่งสองข้างทางจะเต็มไปด้วยประตูห้อง/ทางเลือกจำนวนมาก

บางครั้ง ทนายความสาวก็จะเปิดประตูเข้าไปยังลอว์เฟิร์มยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นอดีตของเธอ บางคราว เธอก็เปิดประตูเข้าไปในออฟฟิศ “สปอติฟาย” ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพที่เต็มไปด้วยโปรแกรมเมอร์เด็กเนิร์ดจำนวนมาก และก็มีบางหนที่เธอเปิดประตูเข้าไปในห้องประชุม ซึ่งมีการเผชิญหน้า/เจรจาต่อรองระหว่างตัวแทนของแพลตฟอร์มใหม่กับผู้บริหารค่ายเพลง

แปลกมากที่จากทั้งหมด 6 อีพี กลับมีแค่อีพีว่าด้วยทนายความหญิงเพียงตอนเดียว ที่เลือกนำเสนอเรื่องราวด้วยกลวิธี “ไม่สมจริง” เช่นนี้ อย่างไรก็ดี กลวิธีดังกล่าวกลับช่วยอธิบายให้คนดูสามารถทำความเข้าใจกับกระบวนการซับซ้อนของโลกธุรกิจได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง

ขณะที่ตอนที่น่าทึ่งไม่แพ้กันคืออีพีสุดท้าย ซึ่งเล่าเรื่อง (การทำนาย-พยากรณ์) “อนาคต” ของ “สปอติฟาย” ผ่านสถานการณ์ในจินตนาการที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2024 และ 2025

ซีรีส์อีพีนี้ฉายภาพของ “แดเนียล เอ็ก” ในฐานะนักธุรกิจใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยผู้ชำนัญการและล็อบบี้ยิสต์ใกล้ตัว (ซึ่งล้วนไม่ใช่คนทำงานรุ่นแรกของ “สปอติฟาย”) เขาต้องนำพาธุรกิจที่ตนเองก่อตั้งขึ้น ไปชี้แจงแก้ต่างข้อกล่าวหาเรื่อง “ผูกขาดการค้า” กับรัฐสภาสหรัฐ (เข้าใจว่าซีรีส์ได้รับแรงบันดาลใจจากชะตากรรมของ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” และ “เฟซบุ๊ก” ในช่วงไม่กี่ปีหลัง)

“The Playlist” คล้ายกำลังทำตัวเป็น “ศาสดาพยากรณ์” ที่ทำนายอนาคตว่า “สปอติฟาย” จะค่อยๆ พลิกผันจากการเป็นสตาร์ตอัพไฟแรงที่พยายามปลดแอกตนเองจากโลกการค้าแบบเก่าเพื่อแผ้วถางหนทางให้แก่วิถีการบริโภคแบบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ไปสู่การเป็นผู้เล่นหลักรายล่าสุดของอุตสาหกรรมบันเทิง ที่กดขี่ขูดรีดศิลปินไม่แพ้ค่ายเพลงในยุคก่อน

แดเนียลต้องเผชิญหน้ากับเพื่อนเก่า ซึ่งผันตัวจากการเป็นศิลปินรุ่นแรกที่ยอมเผยแพร่ผลงานลงบน “สปอติฟาย” มาเป็นแกนนำกลุ่มต่อต้านผู้ขูดรีดรายใหม่ เฉกเช่นเดียวกับที่ “สปอติฟาย” และ “เดอะไพเรตเบย์” เคยท้าทายอำนาจของนายทุนในอุตสาหกรรมดนตรีมาก่อน

อีพีที่ 6 ของ “The Playlist” ปิดฉากลงด้วยบทสรุปที่ช็อกการรับรู้ของคนดูอยู่ไม่น้อย บทสรุปดังกล่าวคือ การทุบทำลายสถานะ “ศาสดาพยากรณ์” ของตัวซีรีส์ลงอย่างสิ้นเชิง และลดทอนบทบาทของตนเองให้กลายเป็นเพียงแค่ “ผู้กล่าวเตือนสปอติฟายด้วยความปรารถนาดี” ว่าอย่าก้าวเดินไปบนเส้นทางที่ผิดพลาดในอนาคต •

 

| คนมองหนัง