ชัยชนะของคนแพ้? | ปราปต์ บุนปาน

แม้บางฝ่ายที่คิดว่าพวกตนเข้าใจ “การเมืองไทย” อย่างถ่องแท้มากกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศ อาจหัวเราะขำขันกับผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในกรุงเทพฯ โดยนิด้าโพล ซึ่งระบุว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล นั้นเป็นผู้นำทางการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุด

หรือบางคนอาจสบประมาทว่าความคิดทางการเมืองของคน กทม. ไม่ใช่ภาพแทนที่แท้จริงของประชาชนทั้งประเทศ

แต่หากพิจารณาคะแนนนิยมในโพลของพิธา โดยเปรียบเทียบกับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เราก็อาจมองเห็นแง่มุมบางประการที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

การวิเคราะห์ชัยชนะของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” และความสำเร็จของกลยุทธ์ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” นั้นทำได้ในหลายแนวทาง

การวิเคราะห์ที่เป็นกระแสหลักแนวหนึ่ง มักมองว่าชัชชาติได้รับคะแนนเสียงระดับฉันทามติอย่างถล่มทลาย เพราะการมีภาพลักษณ์ที่ดู “เป็นกลาง” น่าจะประสานงานได้กับทุกฝ่าย ไล่ตั้งแต่รัฐบาลที่เสื่อมคะแนนนิยมลงทุกวัน ไปจนถึงกลไกระบบราชการที่ถูกมองว่าล่าช้าอืดอาด

พูดอีกอย่างได้ว่าชัชชาติชนะ ด้วยท่าทีที่ไม่ได้มุ่งท้าชน แตกหัก หรือตั้งเป้าจะเข้าไปประสานงากับระบอบระเบียบ-โครงสร้างดั้งเดิม ผ่านจุดยืนทางการเมืองที่รุนแรงสุดขั้ว

แต่หากวิเคราะห์ในอีกมุมหนึ่ง เราก็คงปฏิเสธได้ยากว่าสโลแกน “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” นั้นสื่อถึงการทำงานหนักในฐานะผู้รับอาสาเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ เมืองหลวง อันต่อเนื่องยาวนานของชัชชาติ

โดยทุกฝ่ายต่างตระหนักกันได้ว่า ชัชชาติเริ่มต้นเดินเข้าสู่สนามแข่งขันดังกล่าวอย่างหนักแน่นจริงจังก่อนหน้าแคนดิเดตรายอื่นๆ และก่อนหน้าจะมีความแน่ชัดเรื่องวันเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯ เสียด้วยซ้ำ

นี่คือจุดแข็งแกร่งจริงๆ ของผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่ทิ้งห่างคู่แข่งคนอื่นๆ ชนิดไม่เห็นฝุ่น ไม่ว่าคู่แข่งรายนั้นๆ จะมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน หรือมีทักษะบางด้านที่เหนือกว่าชัชชาติเพียงใด

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

คําถามคือ แล้วชัยชนะของชัชชาติจะโยงมาถึงคะแนนนิยมของพิธาในนิด้าโพลได้อย่างไร?

คำตอบมีอยู่ว่า ถ้าชัชชาติประสบความสำเร็จ เพราะการได้ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาล่วงหน้าก่อนบรรดาผู้ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ ซึ่งทยอยเปิดตัวภายหลัง

พิธาในฐานะผู้นำพรรคก้าวไกล และนักการเมืองรุ่นใหม่ผู้โดดเด่นของฝ่ายค้าน ก็มีโอกาสได้ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ในสนามชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาอย่างต่อเนื่องจริงจังก่อนหน้าผู้แข่งขันคนอื่นๆ เหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ที่ได้โอกาสบริหารอำนาจรัฐ แต่กลับไม่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯ อย่างเป็นชิ้นเป็นอันนัก

หรือหากเทียบกับผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันในสภา ก็ต้องยอมรับว่าพิธามีภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางการเมือง มีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ดูมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง และมีความมุ่งมาดปรารถนาจะเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เด่นชัดกว่าหัวหน้าหรือผู้นำพรรคฝ่ายค้านรายอื่น

ขณะเดียวกัน ผู้นำนอกสภาของพรรคเพื่อไทยอย่าง “แพทองธาร ชินวัตร” ก็ยังไม่มีโอกาส “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ในฐานะแคนดิเดตฯ นายกฯ มากและเข้มข้นเท่าพิธา

จึงมิใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ ที่แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีคะแนนนิยมสูงกว่าพรรคก้าวไกล ทว่า ในเชิงตัวบุคคลแล้ว พิธากลับยังมีความป๊อปปูลาร์สูงกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แพทองธาร ตลอดจนผู้นำการเมืองอีกมากมาย

คําถามต่อเนื่องก็คือ การเตะสกัดพรรคก้าวไกลและพิธา ผ่านการคว่ำ “กฎหมายสุราก้าวหน้า” ในวาระที่ 3 ซึ่งดูเป็นการสมประโยชน์กันระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มทุนบางกลุ่มนั้น จะ “เป็นโทษ” หรือ “เป็นคุณ” ต่อฝ่ายถูกเตะสกัดมากกว่ากัน?

หากมองปรากฏการณ์ในระยะสั้น ชะตากรรมของ “กฎหมายสุราก้าวหน้า” อาจถือเป็นอีกหนึ่งความล้มเหลว อีกหนึ่งความพ่ายแพ้ อีกตัวอย่างของความอ่อนด้อยประสบการณ์ ของ “นักการเมืองเด็กๆ” กลุ่มหนึ่ง

แต่หากพิจารณาถึงการต่อสู้ในระยะยาว นี่อาจไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของพรรคก้าวไกลและพิธาเสียทีเดียว

โดยเฉพาะเมื่อนำการคว่ำ “กฎหมายสุราก้าวหน้า” ไปวางเทียบเคียงกับการเตะสกัดโปรเจ็กต์ “รถไฟความเร็วสูง” หรือ “พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน” ในครั้งกระโน้น

แน่นอนว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตอนต้นปี 2557 คือการทำลายบิ๊กโปรเจ็กต์ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-เพื่อไทย” และการตัดตอน “การทำงานการเมืองเชิงสร้างสรรค์” ของ รมว.คมนาคม ชื่อชัชชาติ

ซึ่งกลายเป็นความชอบธรรมที่นำไปสู่การรัฐประหารในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

ทว่า เมื่อสังคมการเมืองไทยค่อยๆ สั่งสมความเปลี่ยนแปลงเพียงไม่เกินหนึ่งทศวรรษ ความแค้นและความเสียดายโอกาสจากการเตะสกัด “โครงการรถไฟความเร็วสูง” ก็กลับกลายเป็นคะแนนเสียงเกินหลักล้านที่ประชาชน กทม. เทมาสนับสนุนผู้ว่าฯ ชัชชาติ

ผิดกับประโยค “รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเป็นไปได้ ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน” ที่กลายสภาพเป็นสิ่งตกสำรวจทางประวัติศาสตร์ไปแล้วเรียบร้อย

บางที การโหวตคว่ำ “กฎหมายสุราก้าวหน้า” ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 อาจส่งผลลัพธ์แบบเดียวกันในอนาคตข้างหน้า

คือการถูกแปรสภาพเป็นความสำเร็จทางการเมืองของฝ่ายนำเสนอร่างกฎหมาย และเป็นความล้มเหลวของฝ่ายต่อต้านการเปลี่ยนแปลง •