วิกฤตเมียนมา วิกฤตอาเซียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

วิกฤตเมียนมา

วิกฤตอาเซียน

 

ท่ามกลางวิกฤตการณ์มากมายที่กำลังเผชิญหน้าเราอยู่ ได้แก่ โรคระบาดโควิด-19 วิกฤตการณ์พลังงานอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาไต้หวัน และการเผชิญหน้าด้านการทหารระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังมีวิกฤตการณ์ภายในภูมิภาค นั่นคือ วิกฤตเมียนมา มีการใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนด้วยอาวุธสงคราม ระเบิดและเผาหมู่บ้าน วัด โรงเรียน การจับกุมคุมขังฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ฯ

หลายฝ่ายอาจคิดว่า นี่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองภายในเมียนมา การรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2021 เป็นปัญหาการเมืองภายใน (domestics politics)

ประเทศเมียนมายังมีความซับซ้อน นั่นคือ การเมืองเรื่องชาติพันธุ์ (Ethnic politics) ความขัดแย้งนี้เป็นความจริง

แต่เป็นความจริงด้านเดียว เพราะวิกฤตการเมืองในเมียนมา ที่มีการเข่นฆ่าด้วยกำลังอาวุธจากรัฐบาลทหารเมียนมา กำลังบานปลายและลุกลามเป็นปัญหาต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทความนี้จะชี้ถึงพัฒนาการล่าสุดของวิกฤตการณ์การเมืองเมียนมา ที่มีผลต่อภูมิภาค

เมียนมากับอาเซียน

ปี 1995 ปีที่เมียนมาสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน หากยังจำกันได้ มีนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงในอาเซียนไม่น้อยที่คัดค้านการสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ด้วยเหตุผลคร่าวๆ ว่า เมียนมาปกครองโดยระบอบเผด็จการ อาเซียนจะยุ่งยากมากมายด้วยไม่สามารถร่วมงานกับผู้นำเมียนมาได้ เพราะผู้นำเมียนมาแข็งกร้าว ขาดความชอบธรรมทางการเมือง

แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่านี่เป็นโอกาส กล่าวคือ เมียนมาเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ปิดประเทศมานาน ดังนั้น หากใครเข้าถึงเมียนมาได้ ย่อมได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ การลงทุนขั้นพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจ

ดังนั้น วาทกรรมการทูต ความผูกพันอย่างสร้างสรรค์ (Constructive engagement) อันหมายความว่า ลดความสำคัญของการปกครองในระบอบเผด็จการ ด้วยการยืดหยุ่นให้เมียนมาก้าวเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศ เพื่อให้เมียนมาโดยเฉพาะผู้นำทหารเห็นความก้าวหน้าของโลกภายนอกและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ประชาชนจะได้รับผลพวงจากการเปิดประเทศ และไปมาหาสู่กับโลกภายนอก ได้รับประโยชน์จากการค้า การลงทุน การศึกษา ฯ

เป็นความจริง นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 หลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมโลก เมียนมาเปลี่ยนแปลงไปมาก การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความเป็นเมือง (urbanization)

ผู้คนเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์มีรายได้มากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ตาม ความมั่งคั่งก็ตกอยู่ในมือของกลุ่มคนชั้นนำ โดยเฉพาะผู้นำทหารเมียนมาเหมือนเดิม

ในเวลาเดียวกัน เกิดกระบวนการเป็นประชาธิปไตย (Democratization) มีการร่างรัฐธรรมนูน จัดตั้งพรรคการเมือง การเลือกตั้งทั่วไป สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มีองค์กรภาคประชาสังคมตื่นตัวและเคลื่อนไหวมากขึ้น

แต่ทุกอย่างก็จบสิ้นลง เนื่องจากการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021

 

ความสำคัญของเมียนมา

มีความพยายามจากหลายฝ่าย ที่เสนอแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา แต่อุปสรรคสำคัญคือ ฉันทานุมัติของอาเซียนว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Non Interference Consensus) ที่ตกลงไว้ตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนในปี 1967

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของอาเซียนหลายประเทศสมาชิกเปลี่ยนไป มีการวิจารณ์ถึงปัญหาเมียนมานับตั้งแต่มีนาคม 2021 เป็นต้นมา ได้แก่ คำแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศบรูไนดารุสซาลาม ที่ว่า เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง แม้ไม่ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวเมื่อไร

ให้สังเกตว่า นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง แห่งสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า “…การใช้กำลังอาวุธกระทำการต่อพลเรือนและผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธ ผมคิดว่ามันไม่อาจยอมรับได้… การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความพินาศแก่นานาชาติเท่านั้น ความพินาศยังมีต่อภายในอีกด้วย…”

ในที่สุด เมื่อปีที่แล้ว อาเซียนจึงนำเสนอมาตรการพิเศษแก่เมียนมา นั่นคือ ฉันทามติ 5 ข้อ (Five points consensus for Myanmar1) คือ

1. จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมา และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของประชาชน

3. ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวก เป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ด้านการจัดการภัยพิบัติ (ANA)

5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในการประชุมอาเซียนเมื่อ 23 เมษายน 2021 จากรายงานของสำนักข่าว Reuter รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย Muhyidelin Yassin บอกกับบรรดานักข่าว ในที่ประชุมอาเซียน ที่มี พล.อ.มิน อ่อง ลาย นายกรัฐมนตรีของเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วยนั้น “…มันเหนือความคาดหมายของพวกเรา เขา (มิน อ่อง ลาย – ขยายความโดยผู้เขียน) ตกลงว่าความรุนแรงต้องยุติ…”2

แต่หลังจากการประชุมอาเซียนนัดประวัติศาสตร์ครั้งนั้น มิน อ่อง ลายก็ไม่ได้ร่วมประชุมอาเซียนอีกเลย แล้วรัฐบาลทหารเมียนมาก็ปราบปรามประชาชนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างหนัก ที่รัฐกะเหรี่ยง เมือง Kawkareik เมืองเมียวดี ตรงข้ามกับเมืองแม่สอด จ.ตาก รัฐบาลเมียนมาสั่งทิ้งระเบิด เป้าหมายเพื่อทำลายกลุ่ม Karen National Unity – KNU มีชาวบ้านเสียชีวิต บาดเจ็บ วัดและโรงเรียนถูกโจมตี ทำลาย3

ที่รัฐคะฉิ่น ตอนเหนือของเมียนมา มีการใช้เครื่องบินเจ็ต 3 ลำ ทิ้งระเบิดการจัดงานคอนเสิร์ต ที่หมู่บ้านในงานฉลองครบรอบการจัดตั้ง 62 ปี ของ Kachin Independence Army อันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำลังทหารและอาวุธที่เข้มแข็งที่สุดในการต่อกรกับรัฐบาลเมียนมา4

 

ข้อเสนอใหม่

มีข้อเสนอ รูปแบบยูเครน น่าสนใจ มีการหยิบยก รูปแบบยูเครน เข้ามาพิจารณาในวิกฤตเมียนมา Tom Andrews ที่เป็น Special Rapporteur ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ อ้างว่า ชนิดอาวุธของรัสเซียที่ใช้ในยูเครน นำมาใช้ฆ่าประชาชนในเมียนมาด้วย เขายืนยันว่า อาวุธหลายชนิดที่กำลังฆ่าประชาชนในเมียนมา มาจากแหล่งเดียวกัน มาจากรัสเซีย5

ข้อเสนอที่เชื่อมโยงกันของเขา เสนอให้ประเทศต่างๆ ในยูเครนที่รวมตัวกันเหมือนกับที่ประเทศต่างๆ ทำหลังรัสเซียรุกรานยูเครน กดดันรัสเซีย ให้รวมตัวทำการกดดันกับทหารเมียนมา นั่นคือ ห้ามการส่งอาวุธให้ทหารเมียนมา6

ในเวลาเดียวกัน ผมวิเคราะห์ว่า เขาเสนอให้ชาติต่างๆ สนับสนุนด้านอาวุธให้กับฝ่ายต่อต้านด้วย

ข้อเสนอใหม่นี้ ผมตีความว่า อาจเป็นข้อเสนอให้ชาติมหาอำนาจกดดันเพิ่มขึ้น เช่น เสนอให้ชาติต่างๆ แซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจรัฐบาลเมียนมา ซึ่งจริงๆ ได้ทำแล้ว เช่น อายัดทรัพย์สิน ห้ามบุคคลเดินทางเข้าประเทศ แต่การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ เช่น การส่งมอบอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค พลังงาน จะกระทบต่อคนที่อาศัยอยู่ในเมียนมามากกว่า อีกทั้งเมียนมาเองเคยปิดประเทศ นับตั้งแต่ปี 1962 มาแล้ว

การให้อาวุธยุทโธปกรณ์แก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร เรื่องนี้ยาก กองกำลังติดอาวุธที่เป็นฝ่ายต่อต้าน ไม่มีความสามารถในการใช้อาวุธเหล่านั้น จำเป็นต้องมีการฝึกฝน

ข้อเสนอจาก Hpone Myat ที่เขียนลงใน The Irrawaddy ว่าอาเซียนควรคิดถึง ฉันทานุมัตินอกเหนือ นั่นคือ อาเซียนต้องไม่ให้ความชอบธรรมต่อการกระทำต่างๆ ของรัฐบาลเมียนมา คือ แผนการเลือกตั้งในปีหน้า

มีข้อเสนอว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนควรระงับการใช้ 2 มาตรฐานต่อประเด็นเมียนมา โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาที่เป็นสมาชิกอาเซียน ควรพิจารณาผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่เป็นผลมาจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและสังคมของเมียนมา ด้วยพวกเขาจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไร้เสถียรภาพเป็นอันดับแรกและโดยทันที บางประเทศพร้อมต่อต้านเมียนมา ก่อนที่ภูมิภาคทั้งหมดจะได้รับความเสียหาย

ข้อเขียนของ Hopne Myat น่าสนใจตรงไหน น่าสนใจคือ เขาเน้นไปที่ ไทย

แต่เราจะเห็นการขับเคลื่อนใหม่ๆ และมากขึ้นจากไทยหรือครับ

1 อ้างจาก พิสิษฐ คงคุณาตระกูล “ผู้นำ-ผู้แทนชาติอาเซียนบรรลุฉันทามติ 5 ข้อ” The Standard 25 พฤษภาคม 2021.

2 Tom Allard et all, “SE Asian nations say consensus reached on ending Myanmar crisis” Reuter 24 April 2021.

3 “Heavy Fighting Between Myanmar Junta” The Irrawaddy 21 October 2022.

4 Hein Htoo Zan, “Death Toll from Junta’s Air strike” The Irrawaddy 27 October 2022.

5 “Ukraine-type approach required for Myanmar’s military : UN expert” Aljazeera, 27 October 2022.

6 Ibid.,