ตะกายไปใน ‘ความสิ้นหวัง’ | เมนูข้อมูล

ประเทศจะพัฒนาไปทางไหนให้ดูที่ความหวังของประชาชน คนส่วนใหญ่ในประเทศตั้งความหวังของตัวเองไว้อย่างไร

ระหว่างความหวังใจการพัฒนาตัวเอง การมีส่วนร่วมกับการทำให้ประเทศดีขึ้น หรือการวิงวอนเรียกร้องเพื่อรับการดูแลจากรัฐบาล จากสังคม

เมื่อเร็วๆ นี้ “กรุงเทพโพลล์” สำรวจเรื่อง “ชีวิตแรงงานไทยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5%” ความน่าสนใจอยู่ที่คำถาม “ความหวังที่อยากบอกกับนายจ้าง”

คำตอบร้อยละ 30.6 อยากให้เพิ่มเงินรายวันให้มากขึ้น, ร้อยละ 23.7 อยากให้มีการจ้างงานทุกวัน, ร้อยละ 10.6 อยากให้เพิ่มสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล, ร้อยละ 8.2 อยากขอให้ทำงานหนักแต่ได้เงินคุ้มค่ามากขึ้น, ร้อยละ 7.9 อยากให้เพิ่มการทำงานนอกเวลา (OT) มากกว่านี้, ร้อยละ 7.0 อยากให้เพิ่มโบนัสมากกว่านี้, ร้อยละ 1.9 อยากขอให้ทำงานเบาลงกว่านี้, ร้อยละ 1.9 อยากให้เพิ่มการอบรมวิชาชีพพัฒนาทักษะการทำงาน, ที่เหลือร้อยละ 2.8 เป็นความหวังอื่นๆ เช่น ไม่มีความหวัง, อยากให้เงินเข้าตรงเวลา

และเมื่อถามถึง “เรื่องที่อยากขอจากรัฐบาล” โดยตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ร้อยละ 75.8 อยากให้ช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง ช่วยลดค่าครองชีพ, ร้อยละ 41.9 อยากให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี, ร้อยละ 27.2 อยากให้มีสวัสดิการต่างๆ ที่ดีขึ้น, ร้อยละ 26.3 อยากให้มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น คนละครึ่ง, ร้อยละ 9.8 อยากให้รัฐบาลจัดอบรมทักษะแรงงาน ที่เหลือร้อยละ 2.4 เป็นความต้องการอื่นๆ เช่น ไม่มี, ตรวจสอบการเอาเปรียบแรงงานของนายจ้าง

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และปริมณฑล 3 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

 

ประเทศไทยเราส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมมายาวนาน ให้ประชากรแทบจะส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้ใช้แรงงาน เมื่อทิศทางการพัฒนาประเทศได้สร้างความเหลื่อมล้ำในทุกด้านให้เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นอย่างมากตลอดมา คนกลุ่มหนึ่งมีเหลือเฟือในทุกเรื่อง ขณะที่คนส่วนใหญ่ขาดแคลนไปทุกอย่าง

ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาประเทศแบบนี้สะท้อนมาในผลโพลดังกล่าว

ประเทศพัฒนาไปได้ดี สังคมที่เข้มแข็ง ประชาชนจะต้องรู้สึกพึ่งพาตัวเองได้ อยู่อย่างมีความเชื่อมั่นในอนาคตที่รับประกันชีวิตที่ดีให้ตัวเองได้

ผิดกับประเทศที่อ่อนแอ จะสะท้อนมาในผู้คนที่สู้ชีวิตไม่ไหว โหยหาความช่วยเหลือ เรียกร้องการดูแล

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

จากผลโพลนี้จะพบว่าทั้ง “ความหวังต่อนายจ้าง” และ “ที่อยากขอจากรัฐบาล” ล้วนแล้วแต่ละสะท้อนถึงชีวิตที่ยังโหยหาความช่วยเหลือ ยังให้ค่ากับการพัฒนาตัวเองเพื่อยืนหยัดด้วยลำแข้งให้พึ่งพาตัวเองได้น้อยเอามากๆ

สังคมและประเทศที่ปล่อยให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ด้วยความรู้สึกว่าชีวิตขึ้นอยู่กับการเรียกร้อง โหยหาความช่วยเหลือเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะสร้างประเทศชาติให้เข้มแข็งได้

เพราะความเข้มแข็งจะต้องเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าต้องดิ้นรนพึ่งพาตัวเอง

ที่ทำให้ประชาชนจิตใจอ่อนปวกเปียก หมดพลังที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับตัวเอง นอกจากนั่งรอความหวังจากการหยิบยื่นมาให้จากผู้มีอำนาจ มีฐานะเหนือกว่าเช่นนี้ มีสาเหตุที่ซับซ้อน

แต่ถึงที่สุดแล้วคือการทำให้เกิดความสิ้นหวัง ประชาชนส่วนใหญ่มองไม่เห็นความหวังอื่นที่จะเยียวยาชีวิตได้ นอกจากการร้องขอ

สภาพเช่นนี้จะส่งผลต่อการพัฒนาในทุกด้าน

 

ด้านเศรษฐกิจจะขาดแคลนบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ เพราะความใส่ใจในการพัฒนาตัวเองมีน้อยมาก แต่แรงกดดันต่อเจ้าของธุรกิจจะเพิ่มขึ้นด้วยเสียงเรียกร้อง

ทางการเมือง อำนาจประชาชนซึ่งคือการใช้สิทธิออกเสียงจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่าจะมุ่งที่การพัฒนาประเทศ และโอกาสของแต่ละคนในระยะยาว

ในทางสังคมแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะการขับเคลื่อนไปด้วยความสิ้นหวังเช่นนี้ ย่อมมีแต่ความอ่อนแอ และดิ้นรนเอาตัวรอด เป็นสังคมที่ไร้พลังสร้างสรรค์การพัฒนาส่วนรวม

ฟังดูแล้วคล้ายประชาชนเป็นภาระต่อการพัฒนาประเทศ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย

เพราะคำถามที่ต้องตอบก่อนคือ “ใครทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้”