หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “ในโลกที่มองไม่เห็น”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ในโลกที่มองไม่เห็น”

ในการทำงาน เลนส์เทเลโฟโต ความยาวสูง เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของผม

มันทำให้ระยะระหว่างผมกับสัตว์ป่าใกล้ขึ้น

“ใกล้” โดยไม่ต้องเข้าไปใกล้สัตว์ป่าเกินระยะที่พวกมันจะอนุญาต

หลายครั้ง ผมใช้เลนส์นั่นถ่ายภาพสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ

และมีสัตว์อีกมากมายที่ถ้าผมอยากบันทึกภาพพวกมันให้ได้ดี ผมจำเป็นใช้เครื่องมือให้เหมาะสม

แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนจากเลนส์สำหรับถ่ายในระยะไกล

มาใช้เลนส์ถ่ายระยะใกล้ เพื่อบันทึกภาพสิ่งเล็กๆ ซึ่งแทบมองไม่เห็นโดยใช้สายตาเปล่าๆ

ผมจำเป็นต้องเชื่อว่า สิ่งที่จะบันทึกภาพนั้นมีอยู่

เหมือนอย่างที่เรามักพูดกันเสมอๆ

“ไม่เห็น” ไม่ได้หมายความว่า ไม่มี

ครั้งที่อยู่ร่วมกับทีม “สื่อความหมายธรรมชาติ” บนดอยอินทนนท์

ผู้ชายสูงวัยชาวสวิสคนหนึ่ง ทำให้ผมเริ่มรู้จักชีวิตในโลกที่เรามักมองไม่เห็น

ดร.ฮันน์ มาพูดคุยถึงงานที่เขาทำมากว่าค่อนชีวิต คือ ตระเวนไปตามป่าทั่วโลกเพื่อบันทึกภาพดอกไม้กับแมลง

“โครงสร้างของดอกไม้ และกลวิธีล่อแมลงมาใช้งานเป็นการออกแบบที่ล้ำหน้า และลงตัวชนิดหาที่ติไม่ได้เลยครับ”

ดร.ฮันน์ ตอบ เมื่อผมถามว่าทำไมจึงสนใจเรื่องนี้

เขาให้ดูรูปที่เขาบันทึกมา ดูเผินๆ มันก็เป็นเพียงเรื่องของแมลงและดอกไม้

ส่วนใหญ่เขาบันทึกภาพดอกไม้ประเภทกล้วยไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้ชนิดหายาก อย่าง รองเท้านารีอินทนนท์ ซึ่งเหลือจำนวนน้อย

แม้ว่ากล้วยไม้ชนิดนี้เลือกที่จะอยู่ตามคบไม้สูงจากพื้น 20-30 เมตรก็เถอะ

แต่เพราะมีมูลค่าสูงในตลาดค้ากล้วยไม้ ทำให้ไม่รอดพ้นจากการถูกพรากไปจากแหล่งอาศัย

เขาอธิบายและให้ดูรูปโครงสร้างอันซับซ้อน รวมถึงกลวิธีการล่อหลอกแมลงมานำพาเกสรหรือมาช่วยผสมเกสรให้

“เรารู้ๆ กันนะครับว่า แมลงมีหน้าที่สำคัญคือผสมเกสรให้ดอกไม้ นกบางชนิดก็ทำหน้าที่นี้” ดร.ฮันน์พูด

“ดูห่างๆ มันเป็นเรื่องธรรมดาๆ เมื่อดูอย่างละเอียด ผมพบว่านี่คือเรื่องมหัศจรรย์จริงๆ”

ดร.ฮันน์ จบการพูดคุยวันนั้นด้วยประโยคสั้นๆ ว่า

“ยิ่งเรียนรู้จากสิ่งเล็กๆ ที่มองแทบไม่เห็นมากเท่าใด ผมก็ยิ่งมีความเคารพในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติมากขึ้น”

4-5 ปีที่แล้ว ผมไปร่วมงาน “สื่อสารสัตว์” ที่จัดโดยมูลนิธิโลกสีเขียว

ในงาน เราพูดคุยถึงเรื่องที่สัตว์รับรู้สิ่งที่คนพูด และหากเราฟัง เราจะเข้าใจสิ่งที่พวกมันจะบอกกับเราได้

ผมพบกับ ดร.สรณรัชฏ์ กาญจนวณิชย์ ผู้จัดงาน เธอเชิญผมมาเล่าประสบการณ์การทำงานในป่า ให้คนที่มาร่วมงานฟัง

นั่นเป็นอีกครั้งที่ผมได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ “จิตใจ” ของสัตว์มากขึ้น

นอกจากความเป็นเพื่อน ผมรู้จัก ดร.สรณรัชฏ์ ในฐานะของคนที่มุ่งมั่นเอาจริงกับการแนะนำให้คนได้รู้จักและเห็นความสำคัญของชีวิตที่มองไม่เห็น รวมทั้งสัตว์ต่างๆ หลากหลายชนิด ที่คนไม่รัก

กบ เขียด คางคก ตุ๊กแก งู และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เลื้อยคลาน เหล่านี้อยู่ในกลุ่มของสัตว์ที่คนไม่รัก

เรื่องดอกไม้ และแมลง เป็นเรื่องที่เธอสนใจศึกษา

“ดอกไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้นี่ เป็นจอมหลอกลวงเลยล่ะ”

เธอเริ่มต้นพูดถึงกล้วยไม้ ราวกับกำลังพูดถึงคนสักคน

“กล้วยไม้หลากหลายชนิด หลอกสัตว์ให้มาทำงานผสมเกสรให้ โดยไม่ให้อะไรตอบแทนเลย มีกลยุทธ์ซับซ้อน ตั้งแต่วางกับดัก ประตูกล ไปจนถึงมอมยาให้ความจำเสื่อม” นอกจากใช้กับดัก เธอสนใจเรื่องการทำเสน่ห์เคมีของกล้วยไม้ ซึ่งไม่ค่อยมีคนศึกษา

“กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตาบังคับให้แมลงเป็นนักกายกรรม บางชนิดล่อแมลงด้วยกลิ่นเหม็นๆ เมื่อแมลงเกาะบนกลีบกลาง มันจะลื่นไปตกบนห่วงชิงช้าที่แกว่งไปมาอยู่หน้าเกสร กว่าจะหลุดพ้นไปได้ แมลงก็ผสมเกสรให้กล้วยไม้เรียบร้อยแล้ว” เธอเล่าต่อ

“บางพวกใจร้ายกว่านี้อีก พวกนี้คือพวกปลอมตัว มีดอกรูปร่างหน้าตาเหมือนต่อตัวเมีย นางต่อปลอมพวกนี้ หลอกล่อนายต่อมาผสมพันธุ์ หมายความว่า นายต่อจะเข้าใจว่าได้ผสมพันธุ์ พอเสร็จธุระก็บินไปเจอนางต่อปลอมอีกตัว” ฟังดูคล้ายจะเป็นเรื่องเศร้า

หลอกลวงเพื่อเอาผลประโยชน์

เกิดขึ้นได้ทุกหนแห่ง

เราคุยกันถึงเรื่องมด

“มดแดงนี่ต้องเรียกว่าเป็นซูเปอร์มดเลยทีเดียว” ดร. สาวใหญ่ พูดต่อ

“ระบบการทำงานของชีวิตมดไม่ได้ปลีกแยกอยู่เป็นตัวเดี่ยวๆ แต่ชีวิตของมดคือสังคมมดทั้งรัง มดแต่ละตัวมีหน้าที่เสมือนอวัยวะแต่ละส่วน เช่น มีราชินีเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ มีมดงานเป็นแขนขา มดจึงต่างจากเสือ ตรงที่อวัยวะของมันไม่ต้องเชื่อมติดต่อกัน แต่สามารถกระจายออกไปได้กว้างไกล หัวใจอยู่ในรัง นิ้วยื่นไปหลายร้อยเมตร เทียบเป็นผู้ล่าด้วยกันแล้ว ไม่รู้ว่าระหว่างมดกับเสือ ใครแน่กว่ากัน”

มดเป็นสัตว์ที่ไม่ได้กินใบไม้ หรือเนื้อไม้ แต่พวกมันกินน้ำตาล กินเนื้อสัตว์ มีบางชนิดกินเมล็ดพืช

ต้นไม้ต้นไหนมีมดอาศัยอยู่ ก็เท่ากับมีกองทัพช่วยคุ้มกันป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นบุกรุก

ดูเหมือนว่ามดจะเป็นผู้ช่วยที่ดีของพืช

และพืชคงพบกับความยากลำบาก หากไม่มีมด

“แมลงและดอกไม้นั้นอยู่คู่กัน” ดร.ฮันน์ บอก

“ดอกไม้บางชนิดใช้แมลงชนิดเดียวช่วยผสมเกสร จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากว่าเมื่อมีอย่างหนึ่งอย่างใดหายไปย่อมมีผลกระทบถึงอีกอย่างหนึ่ง”

กล้วยไม้ อย่าง รองเท้านารีอินทนนท์ ที่มีอยู่ในธรรมชาติเหลือไม่มาก

เมื่อถูกนำเข้ามาอยู่ในเมือง

ความซับซ้อนอัศจรรย์ อันเป็นชีวิตจริงๆ ของกล้วยไม้ ก็ไม่จำเป็น

รูปทรงสวยงามของดอกไม้เท่านั้น

ที่คนเฝ้าชื่นชม

กับการทำงาน ผมยังคงใช้เลนส์เทเลโฟโต

พยายาม “เข้าใกล้” สัตว์ โดยบันทึกภาพพวกมันในระยะไกลๆ

แต่ผมก็หยิบเลนส์สำหรับถ่ายภาพในระยะใกล้ๆ ขึ้นมาเปลี่ยนบ่อยๆ

ดูเหมือนว่า โลกเดินทางมาถึงวันที่กิจกรรมของเราได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไปไม่พ้น

ไม่ว่าพวกมันจะอยู่ในสภาพใด พืช สัตว์ หรือแมลง

อยู่บนฟ้า ในอากาศ บนพื้นดิน ใต้ดิน รวมทั้งในทะเลลึก

บางชนิดเรามองเห็น บางชนิดไม่

พวกมันต่างล้วนอาศัยอยู่ในโลกเดียวกันกับเรา

แต่เป็น “โลก” ที่เรามองไม่เห็น…