‘น่าทึ่ง’ ห้องสมุดไทย ในประเทศ ‘พัฒนาแล้ว’ | ธงทอง จันทรางศุ

งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อยและสูญเสียเงินในกระเป๋าสตางค์ไปทั่วหน้าตามแต่ใจสมัครรักชอบของแต่ละคน

หนังสือที่ผมซื้อมารอบนี้ยังอ่านไม่หมดเลยครับ ต้องทยอยอ่านไปอีกหลายวันแน่นอน

พูดถึงหนังสือเลยนึกเรื่องที่แปลกใหม่ขึ้นมาได้เรื่องหนึ่ง

 

ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนงานหนังสือมีผู้ติดต่อผมมาว่า เขาได้รับมอบหมายจากห้องสมุดประจำรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงเป็นที่คุ้นเคยของผมว่า Library of Congress ให้มาตามหาหนังสือที่ผมเขียนเมื่อประมาณสองปีที่แล้วชื่อว่า “ธงทองของเยอะ” เพื่อจะได้นำไปเก็บไว้ในคอลเล็กชั่นของห้องสมุดแห่งนั้น

หนังสือเล่มที่ว่านี้ผมเขียนเมื่อเดือนเมษายน 2563 ตอนช่วงโรคโควิดเกิดขึ้นใหม่ๆ ตอนนั้นวัคซีนก็ยังไม่มี หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยบอกเลยทุกคนอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า ล็อกดาวน์ ผมจึงพลอยกลายเป็นหนูติดจั่นอยู่ในบ้านไปกับเขาด้วย

นั่งเหงาอยู่กับบ้านไม่รู้จะทำอะไรเลยหยิบของที่อยู่ในบ้านแต่ละชิ้น กระดาษแต่ละแผ่น มาเขียนอธิบายขยายความ นึกอะไรออกก็เขียนไปเรื่อย วันละหนึ่งชิ้นหนึ่งเรื่อง สำเร็จผลเป็นหนังสือหนึ่งเล่มชื่อดังที่ว่า แต่ไม่ได้วางขายในท้องตลาดนะครับ บอกข่าวกันแค่ผู้คุ้นเคยเพื่อช่วยค่าพิมพ์ ค่าจัดส่งและแบ่งกันอ่านเท่านั้น

Library of Congress จะไปรู้จักหนังสือเล่มนี้มาจากที่ใดก็ไม่รู้ แต่เขาเกิดอยากได้ขึ้นมา จึงสั่งให้ตัวแทนของเขาที่เมืองไทยติดต่อมา

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นผมจึงเข้าไปสืบค้นในระบบสารสนเทศของห้องสมุดดังกล่าว พบว่าเขามีหนังสือที่เป็นงานเขียนของผมหรือผมทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ เก็บรวบรวมเอาไว้แล้วกว่า 20 รายการ

เมื่อราวสองปีก่อนก็มีเรื่องคล้ายๆ อย่างนี้เกิดขึ้นเหมือนกัน ผมได้รับติดต่อจากห้องสมุดภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ตามหางานเขียนของผมไปเก็บรักษาและให้บริการไว้ในห้องสมุดของเขา ซึ่งเดาว่าคงมีงานเขียนของผมอยู่บ้างแล้วพอสมควร

ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือห้องสมุดภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยเกียวโตประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 30 ปีมาแล้วผมเคยได้ไปใช้เวลาหนึ่งปีเต็มนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่นั่น มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนอนที่มีความสุขมากเพราะมีหนังสือภาษาไทยที่น่าอ่านนับหมื่นเล่มเก็บอยู่ในห้องสมุดชั้นใต้ดินของเขา อ่านเท่าไหร่ก็ไม่รู้จบ เวลาหนึ่งปีจึงผ่านไปอย่างรวดเร็วไม่ทันรู้ตัวเลยทีเดียว

ดูเหมือนหอสมุดแห่งชาติของประเทศออสเตรเลียก็มีคอลเล็กชั่นหนังสือภาษาไทยที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครอีกเหมือนกัน

ที่เล่ามาข้างต้นนี้ไม่ได้จะอวดเก่งอวดดีว่าผมเขียนหนังสือดีล้ำเลิศจนฝรั่งต้องตามหา เพราะผมรู้ฝีมือตัวเองดีว่าเป็นคนพอเขียนหนังสือได้เท่านั้น

แต่ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพื่อทำให้เราทั้งหลายได้คิดว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วและเขามีกำลังเงินทองกำลังคนพอสมควร เขาให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้มาก

และไม่ใช่ความรู้ที่มีบ่อเกิดขึ้นในประเทศของเขาเท่านั้น แต่ยังไปเผื่อแผ่ไปถึงความรู้ที่มาจากประเทศอื่นด้วย

กล่าวถึงห้องสมุดรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ หน้าที่หลักของเขาคือการให้บริการกับสมาชิกรัฐสภาค้นหาข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ พร้อมกันนั้นก็ให้บริการกับประชาชนในฐานะที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของชาติด้วย

แน่นอนครับว่าคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาแต่ละคนต่างมีตารางชีวิตที่แน่นขนัดแสนวุ่นวาย ย่อมไม่ง่ายนักที่แต่ละคนจะมาเดินท่อมๆ หาข้อมูลต่างๆ อยู่ในห้องสมุดรัฐสภาเอง

แต่ระบบทำงานของเขาแก้ปัญหาเรื่องนี้ไว้ได้ดีพอสมควร โดยจัดให้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนมีผู้ช่วยทำงานทางวิชาการจำนวนมากพอสมควรและมีหลายระดับ ตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่อาวุโสสามารถช่วยคิดช่วยทักท้วงนโยบายต่างๆ ได้ เรื่อยไปจนถึงเด็กจบมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ แต่มีแววเป็นดาวรุ่งว่าจะช่วยทำงานต่างๆ ของสมาชิกรัฐสภาได้เป็นอย่างดี เช่น ให้ไปค้นอะไร ไปสรุปอะไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการทำงานของสมาชิกรัฐสภา

เด็กเหล่านี้ก็ฝีมือเนี้ยบมาก ทำอะไรได้ดังใจที่มอบหมายทุกครั้งไป

การทำหน้าที่นิติบัญญัติของคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าประเทศใดก็ตาม นอกจากการรับรู้และเป็นปากเสียงแทนประชาชน ต้องรับรู้และอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนแล้ว ความรู้ทางวิชาการข้อมูลที่แม่นยำถูกต้องก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

การวางระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเกื้อหนุนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญมาก

 

ในอดีตเมื่อประเทศไทยของเราเริ่มก้าวเข้าสู่วิถีประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกิดขึ้นใหม่ๆ ประเด็นการมีทีมช่วยเหลือทางวิชาการให้กับสมาชิกรัฐสภายังไม่มีใครคิดถึง

จนอีกหลายปีต่อมาจึงมีการวางระบบในเรื่องนี้ เช่น มีตำแหน่งผู้ช่วย ส.ส. ตำแหน่งนักวิชาการประจำตัว ส.ส. เกิดขึ้น แต่ละคนมีเงินเดือนซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดินจ่ายให้พอสมควรกับหน้าที่ความรับผิดชอบ

สมาชิกรัฐสภาหลายท่านได้ใช้ระบบที่วางไว้นี้ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่

แต่ในขณะเดียวกันสมาชิกรัฐสภาอีกจำนวนไม่น้อยก็ได้ใช้ระบบนี้ไปเพื่ออะไรผมก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน

บ่อยครั้งที่เราพบว่าสมาชิกรัฐสภาใช้งบประมาณจำนวนนี้ไปในระบบเรือล่มในหนองทองจะไปไหน คือ จ้างลูกจ้างเมียมาทำงาน

บางคราวยังเผื่อแผ่ไปจนถึงจ้างเมียน้อยด้วย ฮา!

และเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสังคม เพื่อให้ดูในแนบเนียน (แต่แสนจะไม่แนบเนียน) ก็จะมีการตกลงแลกเปลี่ยนกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาสองคน ฉันจ้างเมียเธอเธอจ้างเมียฉัน อะไรทำนองนี้

แน่นอนว่าทีมงานของสมาชิกรัฐสภาที่เข้ามาแบบนี้อาจจะช่วยเหลืองานของท่านสมาชิกได้ในบางมิติ เช่น ช่วยทำตารางนัดหมาย หรือเป็นหัวคะแนนให้ ช่วยขับรถให้ เรื่อยไปจนถึงช่วยเป็นเพื่อนนอนแก้เหงาเช้าวันหยุด

แต่น้อยรายมากที่อัตราตำแหน่งและเงินเดือนเหล่านี้จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในทางวิชาการเพื่อค้นหาข้อมูลสนับสนุนการกำหนดนโยบายหรือการทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ

 

ห้องสมุดประจำรัฐสภาของเราเมื่อเปรียบกับ Library of Congress แล้ว จึงแตกต่างกันสุดๆ

ผมยกประเด็นนี้มาพูดคุยกับผู้คุ้นเคยคนหนึ่ง คุณคนนั้นบอกว่า แค่ดูห้องสมุดของรัฐสภาแต่ละประเทศก็พอเห็นเป็นดัชนีชี้วัดแล้วว่า รัฐสภาของแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องของความรู้ และการทำงานโดยมีหลักวิชามากน้อยเพียงใด

เรื่องเช่นนี้มีผลโดยตรงถึงคุณภาพของงานนิติบัญญัติและกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ในประเทศเหล่านั้นด้วยเป็นธรรมดา

ฟังแล้วก็ซึมไป ผมไม่น่าไปชวนเขาคุยเลย