หลอน ศาลรัฐธรรมนูญ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

หลอน ศาลรัฐธรรมนูญ

 

คําร้องเกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยู่ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าน่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาในราวกลางเดือนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565

คำร้องแรก เป็นคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 77 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในหลายประเด็นของร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่ามีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยเน้นไปในประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสมาชิกพรรคการเมือง

ส่วนคำร้องที่สอง เป็นคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวม 105 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยใน 2 ประเด็นคือ 1) ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และ 2) ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นการทำให้การเมืองไทยเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างราบรื่น หรือจะเป็นการเปลี่ยนเกมทางการเมืองอย่างไรนั้นยังไม่ทราบ แต่ได้กลายเป็นภาพหลอนที่สำคัญของการเมืองไทยไปเสียแล้ว

 

การตัดสินในอดีต

ที่ไม่เคยเป็นคุณ

แก่ฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจ

ย้อนอดีตไปนับแต่ปี พ.ศ.2550 สิ่งที่ประชาชนจดจำเกี่ยวกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มักจะเป็นเรื่องที่เป็นโทษแก่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐราชการ อาทิ กรณีตัดสินยุบพรรคการเมือง เช่น พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่

ตัดสินให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เช่น นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ตัดสินให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อและตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

ในขณะที่หลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น กรณีวินิจฉัยว่า ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐจึงไม่ขัดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี กรณีถวายสัตย์ไม่ครบ กรณีบ้านพักหลวง หรือล่าสุดกรณีเงื่อนไขการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ทุกกรณีล้วนเป็นคุณแก่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่ยืนอยู่ฝั่งรัฐราชการทั้งสิ้น

เมื่อโค้งสุดท้ายก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเวลาไม่ถึงครึ่งปีข้างหน้า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกฎหมายที่เป็นกติกาสำคัญในการจัดการเลือกตั้งและมีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองต่างๆ จึงมีความหมายยิ่งนัก

 

ไม่ขัด ขัดเล็กน้อย

หรือขัดในสาระสำคัญ

วรรคสามและวรรคสี่ ของมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดเส้นทางเดินหลังการมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกออกไปได้เป็น 3 ทาง

ทางแรก คือ กรณีไม่มีสิ่งใดขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายในการจัดการเลือกตั้งต่อไป

ทางที่สอง ในกรณีที่วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติ มีข้อความขัดหรือแย้งแต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญ ก็ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นตกไป และให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

ทางที่สาม ในกรณีที่วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความที่ขัดดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย ก็ให้กฎหมายดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ

 

ผลกระทบในกรณีเลวร้ายสุด

การประเมินผลกระทบและความรุนแรงของการที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหากได้รับการวินิจฉัยให้ตกไปทั้งฉบับนั้น แตกต่างกันมากระหว่างร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สืบเนื่องเพราะหากร่างที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองตกไป ข้อกำหนดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองก็กลับไปใช้เหมือนกับสิ่งที่อยู่ในพระราชบัญญัติฉบับปัจจุบัน ไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้งเพียงแต่อาจสร้างความยากลำบากแก่พรรคการเมืองเพิ่มขึ้นบ้างเท่านั้น และเป็นการเพิ่มขึ้นเท่ากับสิ่งที่เคยปฏิบัติในอดีตซึ่งไม่น่านับว่าเดือดร้อน

ค่าสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแทนที่จะลดจาก 200 บาทเหลือ 20 บาทต่อปี หรือตลอดชีพลดจาก 2,000 บาท เหลือ 200 บาท ก็กลับไปใช้แบบเดิม

การกำหนดคุณสมบัติผู้มาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็กลับไปเข้มเหมือนปัจจุบัน

หรือการแก้ไขกระบวนการทำการเลือกตั้งขั้นต้นที่เรียกกันว่า Primary Vote ก็กลับไปใช้วิธีการเดิมที่เขียนไว้ในกฎหมาย ไม่ได้ใช้วิธีการง่ายๆ พอเป็นพิธีกรรมแบบในร่างแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ซึ่งหากกำหนดบังคับให้ทำ พรรคการเมืองก็คงไม่เหลือบ่าฝ่าแรงที่จะดำเนินการได้

ในขณะที่หากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับการวินิจฉัยว่าขัดในสาระสำคัญจนเป็นเหตุให้ร่างตกไปทั้งฉบับจะเท่ากับว่า ไม่มีกฎหมายลูกที่ใช้เป็นหลักในการจัดการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2564

 

ทางออก

เพื่อให้การเลือกตั้ง

สามารถดำเนินการต่อไปได้

มีทางเลือกมากมายที่เป็นไปได้เพื่อให้การเลือกตั้งยังดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทางเลือกที่หนึ่ง คือการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่เข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา โดยผู้เสนออาจเป็นคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยมีกรอบเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งสามวาระภายใน 180 วัน ซึ่งถ้าหากเร่งรัดกันและไม่มีความขัดแย้งในแนวคิดมากเกินไป ก็อาจสามารถทำได้เร็วกว่ากำหนดได้

ทางเลือกที่สอง คณะรัฐมนตรีโดยการเสนอแนะจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาจมีมติออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อใช้ในการจัดการเลือกตั้งได้ โดยเป็นไปตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าเป็นเรื่องกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ทางเลือกที่สาม คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจเป็นฝ่ายออกข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศ เพื่อใช้ในการจัดการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ และเปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 400 : 100 ทั้งนี้ โดยไม่ขัดกับสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

 

หลอน ศาลรัฐธรรมนูญ

ตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับข้างต้น ทั้งผู้สมัคร ทั้งพรรคการเมือง คงยังต้องวิตกกังวลต่อไป

ผู้สมัครที่มีทางเลือก คงคิดไม่ตกว่าจะร่วมกับพรรคการเมืองใดดีที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลในอนาคต

พรรคการเมือง ไม่สามารถวางแผน กำหนดยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในส่วนการจัดเรียงลำดับบุคคลที่จะอยู่ในบัญชีรายชื่อได้ เพราะแต่ละสูตรนั้นมีผลแตกต่างกันหลายเท่าตัว

พรรคขนาดเล็กหรือพรรคที่เกิดใหม่บางพรรคถึงขนาดเตรียมการยุบพรรค ควบรวมพรรค หากกติกาไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรมทางการเมือง

แต่พรรคที่หลอนที่สุด กลับกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ทุกฝ่ายประเมินว่า เลือกตั้งคราวหน้าจะได้รับเลือกมาอย่างถล่มทลาย

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ การเมืองไทยวันนี้กลับกลายเป็นเช่นนี้ไปแล้ว