‘บทที่หนึ่ง’ | หลังเลนส์ในดงลึก

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

‘บทที่หนึ่ง’

 

ผมเริ่มต้นทำงานในช่วงเวลาที่อุปกรณ์สำหรับการใช้ “ชีวิตกลางแจ้ง” โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังไม่ได้พัฒนามีหลากหลายให้เลือกดังเช่นทุกวันนี้

แต่ก็มีให้เลือกใช้ตามความต้องการอยู่บ้าง เช่น เตาแก๊ส ที่พกพาใส่เป้สะดวก ถุงนอน เปลนอน รวมทั้งเต็นท์

เพราะความต้องการจะหลีกเลี่ยงการก่อกองไฟ ผมเลือกแบกเตาแก๊สเข้าไปในพื้นที่ทำงาน การใช้ชีวิตบนดอยสูง ป่าลึก เฝ้ารอสัตว์ป่านานๆ หลายครั้งผมไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง บนดอยนั้น ผมมีคู่หู ในป่าก็เช่นกัน คู่หูทุกคนเกิดและใช้ชีวิตบนดอย, ในป่ามาตลอด

คู่หูเหล่านี้แหละ ทำให้ผมรู้สึกถึงความยุ่งยาก ขัดเขินเมื่อเห็นทักษะการใช้ชีวิตในป่าของพวกเขา

เตาแก๊ส ถุงนอน เต็นท์ เปรียบเสมือนสิ่งแปลกปลอมที่วางอยู่ ใช้ชีวิตในป่าร่วมกัน เหล่าคู่หูทำให้ผมรู้สึกว่า ถึงที่สุดแล้ว หากไม่เอาความเจริญเข้ามาในป่า ขึ้นดอย ผมจะทำงานและใช้ชีวิตอยู่ได้หรือไม่

ใช้ชีวิตในป่า มันต้องยุ่งยาก ต้องพึ่งพาอุปกรณ์มากมาย มันเป็นเช่นนั้น? หรือผมสร้างมันขึ้นมาเอง…

สายตาของคู่หูที่ยืนมองผมจัดสัมภาระต่างๆ ก่อนเดินทาง ขณะพวกเขาพร้อมแล้ว กับอุปกรณ์ที่มักมีแค่ผ้าขาวม้า กับมีดสักเล่ม ตอนนอนก็ใช้ใบไม้ปูรอง ผ้าขาวม้าม้วนกลมๆ หนุนหัวนอนข้างกองไฟ

หลังใช้ชีวิตร่วมกันในป่า พวกเขาทำให้อุปกรณ์ผมน้อยลง ทักษะต่างๆ ของพวกเขาทำให้ผมราวกับกลับไปเป็นเด็กอนุบาล กลับไปเริ่มต้นเรียนบทที่หนึ่ง

ผมหยุดการใช้เต็นท์และถุงนอน, เตาแก๊ส หากสภาพอากาศเย็นยะเยือก ผมลงจากเปลมานอนข้างกองไฟ กลางคืนรอบๆ มีเต่ความมืดมิด แสงสว่างจากกองไฟ น้อยเกินกว่าจะอ่านหนังสือ หรือจดบันทึก

ผมนั่งข้างกองไฟ คุย และรับฟังเรื่องราวต่างๆ จากเพื่อนร่วมทาง

หลายเรื่องราวดีๆ หลายบทเรียนเกิดขึ้นจากข้างกองไฟ

 

ส่วนประกอบของชีวิตซึ่งต้องรอนแรมตามป่าอย่างหนึ่งนั้นคือ กองไฟ

ไม่ว่าจะเข้าป่าด้วยจุดประสงค์ใด จะเข้ามาเพียงชั่วครั้งคราว พักแรมนานๆ เป็นคนจากในเมือง หรือคนที่เกิดในป่า ในแคมป์พักจะต้องมีกองไฟเป็นส่วนประกอบ

หากเป็นพวกล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กองไฟที่ใช้จะเล็ก กองไฟอยู่คนละที่กับที่พักนอน เพื่อหลีกเลี่ยงชุดลาดตระเวน

กองไฟไม่มีหน้าที่เพียงแค่ประกอบอาหาร ให้ความอบอุ่น และแสงสว่าง

แต่คนใช้ชีวิตในป่าจะรู้ดีว่า การได้นั่งข้างกองไฟ ฟังเสียงลูกไฟปะทุ เปลวไฟร่ายรำ คือความรื่นรมย์ประการหนึ่ง

นกแก๊ก- อยู่ในสถานภาพนกเงือกซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด แต่การปรับตัวได้ดีของพวกมัน จะทำให้อยู่รอดได้ดีในสภาพแวดล้อมอันเปลี่ยนแปลง

ว่าไปแล้ว ถ้าไม่คุ้นเคยอยู่บ้าง การก่อกองไฟเพื่อหุงข้าวไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ยิ่งถ้าเป็นวันฝนตก ฟืนเปียกชื้น กองไฟจะติดยากขึ้นเป็นทวีคูณ

คู่หูบนดอยผมจะใช้ไม้สนชิ้นเล็กๆ เป็นเชื้อไฟ ส่วนผมเลือกจะมีเทียนติดเป้ เทียนช่วยให้ไฟติดง่ายขึ้น ใช้มีดถากเปลือกไม้ที่เปียกออก แก่นกลางมักแห้ง เปียกไม่มาก เอาเศษไม้ชิ้นเล็กๆ วางสานไป-มา เหนือชิ้นไม้สนหรือเทียนที่จุดไฟไว้ วางโปร่งๆ ถ้าวางสุมจนแน่น นอกจากไฟไม่ติด เชื้อไฟจะดับลงอีกด้วย

น้ำตาเทียนช่วยให้เปลวไฟแรงขึ้น จากนั้นเอาฟืนท่อนโตๆ วาง เมื่อกองไฟติดดีเอาฟืนเปียกวางข้างๆ เพื่อให้แห้งสำหรับใช้ในครั้งต่อไป

เอาเข้าจริงแล้ว ก่อกองไฟไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร เป็นพื้นฐานง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้

เพียงแต่เราลืม

เนิ่นนานหลายปี ที่ผมใช้ชีวิตในป่าแบบพึ่งพาอุปกรณ์เท่าที่จำเป็น เรียนรู้บทเรียนจากเหล่าคู่หู

เหมือนกลับไปเริ่มต้นเรียนบทที่หนึ่ง

เปลวไฟร่ายรำอ่อนช้อย ลูกไฟปะทุ ส่งเสียงไพเราะ คือส่วนประกอบของการใช้ชีวิตในป่า แต่ดูคล้ายกับว่า นี่เป็นบรรยากาศอันทำให้เราลืม

และละเลยว่า เข้าป่ามาทำไม…

 

การใช้ชีวิตในป่าแบบพึ่งพาทักษะรวมทั้งอวัยวะต่างๆ ของตัวเองนั้น เป็นวิธีที่สัตว์ป่าทำ พวกมันเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิตจากบรรพบุรุษ

สำหรับผม ฝึกฝนการใช้ชีวิตในป่า คล้ายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากกล้องและเลนส์

มันควรเป็นแค่เครื่องมือที่จะนำพาเราเข้าไปทำความรู้จักกับความเป็นไป รู้จักยอมรับหน้าที่ และบทบาทที่สัตว์ป่าทำอยู่ในป่า

อีกทั้งเมื่อดำรงชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาทักษะ และอวัยวะ อย่างมือและตีน เราจะพบว่า คนไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ “เหนือ” กว่าสัตว์ป่าแต่อย่างใด

หลังจากบทที่หนึ่ง อันทำให้ “รู้” เพิ่มขึ้น ผมเริ่มใช้อุปกรณ์อีกครั้ง

ถึงเวลาที่จะเริ่มต้นเรียนบทต่อไปแล้ว

 

การทำงานในป่าทุกวันนี้ พูดได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสบาย มีอุปกรณ์เหมาะสมต่างๆ มากมายให้เลือกใช้ น้ำหนักเบาเหมาะกับสภาพอากาศ ไม่ต้องแบกน้ำหนักมากๆ

เป็นเครื่องมือที่ดี สภาพอากาศหนาวเหน็บ ชื้นแฉะ ไม่ใช่อุปสรรค มันทำให้ชีวิตในป่าดีขึ้น มีเวลา “เรียน” ได้นานยิ่งขึ้น

ถึงวันนี้ หากจะปุ๊ เพื่อนชาวมูเซอดำของผมยังอยู่ เขาคงยืนยิ้มๆ ส่ายหัว เมื่อเห็นอุปกรณ์ที่ผมเตรียม ทั้งเต็นท์, ถุงนอน, เตาแก๊ส

อยู่ในป่า ผมแทบจะไม่ก่อไฟแล้ว นั่งอยู่ในแคมป์ มองดาวระยิบระยับ ในคืนข้างแรม หรือแสงนวลของดวงจันทร์ในคืนข้างขึ้น ข้างเต็นท์มีตะเกียงดวงเล็ก บรรยากาศรื่นรมย์ ไม่ต่างจากนั่งฟังเรื่องราวดีๆ ข้างกองไฟ

ผมละเลยกองไฟ เหตุผลไม่ใช่เพราะความยุ่งยาก แต่เพราะรับรู้และเข้าใจว่า ในไม้แห้งๆ ฟืนผุๆ นั่นเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง เป็นที่ซึ่งพวกมันกำลังทำงาน

ป่าสำหรับผม ไม่ใช่ที่ “ผจญภัย” ไม่มีที่ใดให้ “พิชิต” ไม่มีที่ใดอันตราย ป่า รวมทั้งสัตว์ป่า เป็นเช่นนั้นมานานนับหมื่นปี เรียนรู้เตรียมตัวเพื่อเข้าไปพบกับสภาพที่ป่าเป็น ในเป้มีเสบียงสำรอง ที่พร้อมใช้สำหรับการพลัดหลงจากเส้นทาง แผนที่ จีพีเอส เราอยู่ในยุคสมัยที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้กับการดำรงชีพในป่า

ป่าเป็นโรงเรียน การเตรียมตัวเป็นนักเรียนที่ดี จำเป็น

ปรับตัวใช้เครื่องมือที่ดี จำเป็น

ก่อกองไฟ ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าจะทำได้ แต่ยอมรับว่า ฟืน, ไม้ผุๆ ที่นำมาเผา เป็นที่ทำงานของเหล่าแมลง นั่นสำคัญ

ผมพบว่าฝึกฝนใช้ชีวิตในป่าโดยไม่พึ่งพาอุปกรณ์ ทำตัว “กลมกลืน” เช่นไร ก็ไม่สามารถเข้าพวกกับสัตว์ป่า พวกมันเห็นเป็นคนแปลกหน้าเสมอ

 

ป่าเป็นโรงเรียน “ครู” แม้จะอยู่ในสถานภาพของสัตว์ป่า ไม่ได้ด้อยกว่าเราในฐานะมนุษย์ อีกทั้งเป็นโรงเรียนซึ่งคล้ายจะไม่มีวันเรียนจบ

ครูสอนเรื่องการปรับตัว ส่วนเรื่อง “ปรับใจ” ต้องฝึกฝนด้วยตัวเอง

เริ่มต้นเรียนจาก “บทที่หนึ่ง” จำเป็น

สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ว่าโรงเรียนนี้มีบทต่อไปให้เรียน อีกทั้งนักเรียนควรไปให้ถึง… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ