‘ศาสนาผี’ ขวัญในศาสนาผี ปนกับวิญญาณทางศาสนาพุทธ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ศาสนาผี | ขวัญในศาสนาผี ปนกับวิญญาณทางศาสนาพุทธ

 

ศาสนาผีเชื่อเรื่องขวัญ ซึ่งไม่เหมือนวิญญาณทางศาสนาพราหมณ์-พุทธ และต่างกันมาก แต่ปัจจุบันถูกใช้ปนกัน

วิญญาณ ทางศาสนาพราหมณ์-พุทธ ในมนุษย์ทุกคนมีดวงเดียว เมื่อคนตาย วิญญาณก็ออกจากร่างไปจุติทันที ไม่มีตกค้าง (ยกเว้นตกนรก)

ขวัญ ในศาสนาผีมีมากกว่าหนึ่ง (บางกลุ่มเชื่อว่าคนมีขวัญทั้งสิ้น 80) เมื่อคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่กลายเป็นผี แล้วถูกเรียกว่า “ผีขวัญ” เรียกสั้นๆ ว่า ผี

ขวัญคน บนหัวตรงกลางกระหม่อม เรียก จอมขวัญ (หรือขวัญกก) เมื่อเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดินเพื่อขอความเป็นมงคลของชีวิตต้องอ้างถึงขวัญเพื่อขอความมั่นคงด้วยถ้อยคำว่า “ปกเกล้าปกกระหม่อม”

นอกนั้นเรียกตามชื่ออวัยวะ ได้แก่ ขวัญหู, ขวัญตา, ขวัญใจ, ขวัญมือ, ขวัญแขน, ขวัญขา ฯลฯ

“ถือหัว” จอมขวัญของคนสิงในกะโหลกบนหัวกบาลตรงกลางกระหม่อม บริเวณที่โคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงเหมือนก้นหอย เชื่อว่าเป็นศูนย์รวมความมีชีวิตของคนซึ่งต้องดูแลรักษาไม่ให้ถูกกระทำรุนแรง เพราะถ้ากระทบกระเทือนจนขวัญเสียขวัญหายย่อมเป็นอันตรายถึงชีวิต เจ้าของขวัญล้มตายได้

ดังนั้น คนไทยทั้งหลาย “ถือหัว” หมายถึงยกย่องหวงแหนหัวเสมือนอวัยวะศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เป็นตัวแทนของความมีชีวิต จึงไม่ให้คนอื่นล่วงล้ำหัว เช่น เล่นหัว, ลูบหัว, ตบหัว, เขกหัว, ข้ามหัว ฯลฯ

ขวัญสัตว์ ได้แก่ ขวัญวัว, ขวัญควาย ฯลฯ

ขวัญพืช ได้แก่ ขวัญข้าว ฯลฯ

ขวัญสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ ได้แก่ ขวัญเกวียน, ขวัญล้อเลื่อน ฯลฯ

ขวัญอาคารสถานที่ ได้แก่ ขวัญลาน (นวดข้าว), ขวัญยุ้ง, ขวัญเรือน, ขวัญเมือง เป็นต้น

ขวัญสิงอยู่บริเวณโคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงเหมือนก้นหอย ตรงกลางกระหม่อมบนหัวของทุกคนหญิงชาย เห็นได้ตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดา แล้วอยู่กับตัวไปจนตาย แต่ขวัญไม่ตาย
ปุ่มนูนมีหลายแฉกเป็นรูปจอมขวัญบนกลางกระหม่อมของคน อยู่กึ่งกลางหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ใช้ตีประโคมเรียกขวัญในงานศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว

ขวัญ มีความหมายหลายอย่าง แต่เท่าที่เข้าใจขณะนี้ มีดังนี้

(1.) พลังอำนาจของชีวิต ซึ่งเป็นระบบความเชื่อทางศาสนาผีที่มีผลกว้างขวาง และเกี่ยวข้องความคิดสร้างสรรค์

(2.) ขวัญคือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของ “มิ่ง” คือ ร่างกาย, ตัวตนของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ เป็นต้น

(3.) ศาสนาผีเชื่อว่าคนตาย เพราะขวัญหายไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือไม่อยู่กับมิ่งคือร่างกายอวัยวะของคน หรือกล่าวอีกอย่างว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่หายไปไหนไม่รู้? ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนปกติ

(4.) ขวัญเคลื่อนไหวทั่วไปในทุกมิติ และเข้าสิงได้ในทุกสิ่ง เช่น หิน, ไม้ ฯลฯ วัตถุเหล่านั้นเป็น “ร่างเสมือน” ที่คนมีชีวิตต้องการให้เป็น เช่น ขวัญของหลวงพ่อที่มรณภาพ เข้าสิงรูปปั้นหรือรูปแกะสลักอย่างใดอย่างหนึ่ง รูปปั้นหรือรูปแกะสลักนั้นได้รับการยกย่องเป็น “ร่างเสมือน” ของหลวงพ่อซึ่งมีพลังอำนาจต่างๆ อย่างเดียวกับที่หลวงพ่อมีชีวิต

ลายขวัญบนหม้อบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นรูปวงกลม มีแฉก ลักษณะเดียวกับหน้ากลองทอง และ (แถวล่าง) ลายหม้อบ้านเชียงแบบตัว S อย่างเดียวกับลายตั่งหินในลาว
ขดทองสำริดเป็นรูปขวัญ อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว (จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย)

ทุกวันนี้ยังมีสู่ขวัญ

ขวัญเป็นความเชื่อทางศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว (มากกว่า 5,000) ในไทยยังเชื่อถึงปัจจุบัน มีทั้งเชื่อหนาแน่นและเบาบาง

(1.) หนาแน่น ในชุมชนท้องถิ่นห่างไกล พบมากทางอีสานและภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นๆ พบไม่มาก

(2.) เบาบาง ในสังคมเมือง โดยเฉพาะ “เมืองใหญ่” อย่างกรุงเทพฯ

ต้นแบบเฉลว หรือตาเหลว ไม้ไผ่วางขัดแตะกันเป็นรูปคล้ายขวัญ เป็นวิธีขัดแตะแรกสุดเพื่อจะให้ขึ้นรูปเป็นภาชนะต่างๆ ตามต้องการอันมีที่มาจากขวัญของคน ต่อมายกย่องเป็นลายศักดิ์สิทธิ์ใช้คุ้มครองป้องกันเหตุร้ายทั้งปวง จึงทำตาเหลวปักไว้บริเวณสำคัญๆ เช่น ทางเข้าชุมชนหมู่บ้าน

ขวัญในสังคมเมือง

แม้ความเชื่อเบาบาง แต่มีสถานะสูงส่ง (ระบบการศึกษาไทยไม่รับรู้เรื่องเหล่านี้) ได้แก่

(1.) บายศรีสู่ขวัญ พบทั่วไปทั้งทางการและไม่ทางการ

[บายศรี มีต้นตอดั้งเดิมจากข้าวขวัญเพื่อเซ่นผีฟ้า (บาย เป็นภาษาเขมร แปลว่า ข้าว) ปัจจุบันมีใบตองพับซ้อนชั้น แต่ไม่มีข้าวขวัญ]

(2.) เวียนเทียนทำขวัญ พระแก้วมรกต, ทำขวัญนาค ฯลฯ ซึ่งถูกผนวกพราหมณ์-พุทธ

(3.) เพลงปี่พาทย์ชุดทำขวัญ ขึ้นต้นด้วยเพลงนางนาค สืบเนื่องจากสมัยอยุธยา (ไม่สาธุการ) ได้รับยกย่องทุกวันนี้

(4.) “ถือหัว” ยังเคร่งครัดปัจจุบัน แต่โดยไม่รู้เรื่องจอมขวัญบนหัว

(5.) ของขวัญ หมายถึงสิ่งของดีเป็นพิเศษ สืบเนื่องจากเครื่องเซ่นผีพิธีสู่ขวัญ

(6.) “รับขวัญ” นักศึกษาใหม่ พัฒนาจากทำขวัญ-สู่ขวัญ

ต้นแบบเฉลว หรือตาเหลว ไม้ไผ่วางขัดแตะกันเป็นรูปคล้ายขวัญ เป็นวิธีขัดแตะแรกสุดเพื่อจะให้ขึ้นรูปเป็นภาชนะต่างๆ ตามต้องการอันมีที่มาจากขวัญของคน ต่อมายกย่องเป็นลายศักดิ์สิทธิ์ใช้คุ้มครองป้องกันเหตุร้ายทั้งปวง จึงทำตาเหลวปักไว้บริเวณสำคัญๆ เช่น ทางเข้าชุมชนหมู่บ้าน

รูปร่างขวัญ

ขวัญไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่คนรู้ว่าสิงสู่อยู่ตรงกลางกระหม่อมบนหัวกบาลของคนบริเวณโคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงเหมือนก้นหอย เรียกจอมขวัญ

เลยเชื่อกันว่าถ้าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มีลักษณะเป็นวงหรือขดเหมือนก้นหอย เท่ากับมีขวัญสิงสู่อยู่ตรงนั้น แล้วเฮี้ยน ย่อมบังเกิดพลังคุ้มครองให้พ้นจากสิ่งไม่ดี

ดังนั้น เครื่องมือเครื่องใช้มีขวัญสิงสู่อยู่ข้างใน ต้องทำลวดลายคล้ายวงก้นหอยจำลองขวัญในรูปลักษณ์ต่างๆ ตามความเชื่อสมัยนั้น (ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับสมัยนี้) •

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ