ศาสนาแห่งเมตตาและอหิงสา | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ศาสนาแห่งเมตตาและอหิงสา

 

ในที่สุด ศพของอดีตตำรวจที่ฆ่าเด็กในศูนย์เด็กเล็กก็ได้รับการเผา ไกลจากหมู่บ้านของตนเองและไกลจากจุดเกิดเหตุ เพราะมีวัดหนึ่งในอุดรธานี ที่ยอมให้ญาตินำศพไปฌาปนกิจในวัดได้ พร้อมประกอบพิธีกรรมอย่างที่ชาวพุทธไทยมักทำในงานศพเสร็จสรรพบริบูรณ์ หลังมีข่าวออกไป วันรุ่งขึ้นชาวบ้านที่เป็นผู้อุปถัมภ์หลักของวัดนั้น ก็พากันยกพวกไปต่อว่าสมภารว่า ปล่อยให้ศพคนร้ายที่โหดเหี้ยมเช่นนั้นเข้ามาใช้วัดได้อย่างไร

เรื่องจะลงเอยอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ในที่สุดข่าวนี้ก็เงียบไปเอง อาจเป็นเพราะสมภารอธิบายให้ชาวบ้านพอใจรับได้กระมัง

แต่ที่แน่นอนก็คือ สามวัดในตำบลซึ่งเป็นที่เกิดเหตุไม่รับศพของคนร้ายเข้าวัด เพราะชาวบ้านไม่ยอม ก็เข้าใจได้ไม่ยากนะครับ เพราะการกระทำของคนร้าย (ไม่ว่าด้วยเหตุใด) โหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนาเกินไป สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้คนในชุมชนอย่างไม่อาจยอมรับได้ เมื่อไม่ใช่พระอรหันต์ ย่อมอยากตอบโต้ แต่ก็ตอบโต้ได้แค่นี้แหละ คือไม่ให้เผาศพคนร้ายในชุมชน

แต่ที่ผมเข้าใจยากก็คือ ชาวบ้านในตำบลอื่นและอยู่คนละจังหวัด จะเดือดร้อนไม่อยากให้ใช้วัดของตนขจัดร่างคนร้ายเพราะเหตุใด ที่รู้สึกโกรธแค้นชิงชังคนร้ายก็เข้าใจล่ะครับ แต่หากคิดด้วยหลักเมตตาแบบพุทธ ก็ต้องจินตนาการถึงเหยื่ออีกรายหนึ่ง ซึ่งคงเจ็บปวดทุกข์ทรมานไม่น้อยไปกว่าเหยื่อรายอื่น นั่นคือแม่ของเขา ซึ่งอย่างไรเสียก็ต้องรับภาระขจัดซากศพของคนร้ายให้ได้

พิธีกรรมที่แวดล้อมงานศพ อาจทำให้เราลืมไปว่า การขจัดซากศพให้ไม่อุจาด, ไม่แพร่โรค และไม่สร้างมลภาวะ คือภารกิจทางสังคมนะครับ จะฝัง หรือเผา หรือโยนลงแม่น้ำ ก็ล้วนเป็นการ “ขจัด” ซากอศุภะทั้งสิ้น และมนุษย์รู้จักทำมาตั้งแต่ชุมชนล่าสัตว์เก็บของป่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ดังนั้น การเผาในที่ซึ่งมีอุปกรณ์อยู่พร้อมแล้ว ย่อมสิ้นเปลืองน้อยที่สุด

เราอ้างเสมอมาว่า สังคมพุทธ (เถรวาท) เป็นสังคมที่มีเมตตากรุณาต่อกัน เป็นสังคมที่พยายามปฏิบัติพรหมวิหารธรรม ทำให้สังคมพุทธเถรวาท เป็นสังคมสงบสุข และอหิงสา ในความหมายว่าไม่ใช้ความรุนแรง

ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้นเลย ถ้าเราคิดถึงสังคมซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือพุทธเถรวาทในโลกปัจจุบัน เพราะเราจะพบชาวพุทธใช้ความรุนแรงต่อกัน และต่อคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธอยู่เสมอ บางกรณีกลายเป็นปัญหาระดับโลกเลย

โรฮิงญานับเป็นล้านที่ต้องหนีจากบ้านเกิดและไร่นาสาโทของตน กลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ไปทั่วเอเชีย แค่ค่าจ้างในการนำเขาออกมาก็กำไรมหาศาลแล้ว ยังไม่พูดถึงราคาที่ต้องได้เมื่อขายเขาแก่นายจ้างอีกต่างหาก

เราอาจกล่าวได้ว่าชะตากรรมของโรฮิงญามาจากทหารพม่า แต่นั่นอาจถูกไม่ถึงครึ่ง เพราะคนที่รังเกียจโรฮิงญาที่สุดคือชาวพุทธยะไข่ เพื่อนบ้านของโรฮิงญาเอง แต่เป็นคะแนนเสียงก้อนใหญ่ในการเลือกตั้ง หรือเป็นพลังสนับสนุนอย่างกลุ่มก้อนแก่กองทัพพม่าซึ่งต้องเผชิญการแข็งข้อจากชนกลุ่มน้อยทั้งประเทศ ด้วยเหตุดังนั้น แม้รัฐบาลของพรรคเอ็นแอลดีซึ่งชนะเลือกตั้ง ก็มิได้เปลี่ยนนโยบายรังแกกดขี่ชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด ผู้นำพรรคเองสู้อุตส่าห์ไปปกป้องกองทัพถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ

ส่วนหนึ่งที่มากพอสมควรในหมู่ผู้ค้ามนุษย์โรฮิงญา แต่จะเป็นสัดส่วนสักเท่าไรไม่ทราบได้ คือชาวพุทธเถรวาททั้งไทย, ยะไข่ และพม่า

ยิ่งไปกว่านั้น ภิกษุพม่ายังเทศนายุยงให้ชาวพุทธพม่าเกลียดชังมุสลิม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ชาวพุทธพม่าเคยอยู่ร่วมกับมุสลิม (โดยเฉพาะในย่างกุ้ง) มาอย่างดี เมื่อเทศนาดังกล่าวกระจายเข้ามาเมืองไทย พระภิกษุไทยซึ่งหาบทบาทอะไรในสังคมไม่ได้ นอกจากบทบาททางพิธีกรรม บางส่วนก็รับเอามาเผยแพร่ต่อ เกิดการเคลื่อนไหวในหมู่ชาวพุทธในหลายจังหวัด ร่วมกันขัดขวางการสร้างศาสนสถานบ้าง ขัดขวางการเปิดโรงเรียนศาสนา ด้วยเหตุผลที่นับถือศาสนาต่างจากตนก็คงไม่ใช่ทีเดียวนัก เพราะเห็นยอมควักเงินจำนวนสูงๆ เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนคาทอลิกอยู่บ่อยๆ

ตระกูลราชปักษาซึ่งเคยเป็นที่นิยมนับถืออย่างสูงในศรีลังกานั้น คือผู้ใช้ความโหดร้ายในการลงโทษชาวทมิฬซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศอย่างป่าเถื่อน เป็นยุทธศาสตร์ในการปราบปรามกบฏอีแลมของชาวทมิฬ หมายความว่าแค่เป็นชาวทมิฬในลังกาก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏหรือไม่ก็ตาม ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ และเข้าสู่วงการเมืองจนได้ครองตำแหน่งสำคัญของประเทศทั้งหมด

ชาวสิงหลที่นับถือพุทธเถรวาท คือผู้สนับสนุนและชอบใจที่รัฐใช้วิธีนอกกฎหมายเหล่านั้นในการทำร้ายประชาชนทมิฬ ไม่ต่างจากคนที่เข้าร่วมสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ ท้องสนามหลวง รวมทั้งพอใจที่กองทัพใช้วิธีนอกกฎหมายในการต่อสู้กับ ผกค.ในป่า (เช่น เผาทั้งเป็นในถังแดง), มุสลิมในภาคใต้ตอนล่าง, ผู้ค้าและเสพยาในเมือง, ละเมิดกฎหมายอาญา ม.112 ฯลฯ ก็ล้วนนับถือพุทธเถรวาททั้งสิ้น

ในทัศนะของฝรั่งที่เริ่มศึกษาพุทธศาสนาในต้นศตวรรษที่ 20 (ศักราชสากล) พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสงบสุข, เมตตากรุณา, อหิงสา ฯลฯ จะจริงหรือไม่ก็ตาม คุณสมบัติที่นักวิชาการตะวันตกให้แก่พุทธศาสนามาเกือบ 200 ปีนี้ ก็ยังอยู่ในปัจจุบัน แต่ที่จริงข้อสรุปนี้ได้จากการศึกษาเอกสารประเภทคัมภีร์ ไม่ใช่มาจากการตรวจสอบพฤติกรรมชาวพุทธเถรวาทโดยตรง

น่าประหลาดอยู่เหมือนกันนะครับ นักปกครองอาณานิคมฝรั่งในพม่าบ้าง, กัมพูชาบ้าง และลังกาบ้าง ต่างก็มักพูดอย่างเดียวกัน ทำนองว่าชาวพื้นเมืองเหล่านั้น รักสงบ, มีน้ำใจดี และเผื่อแผ่เมตตาอารี เพราะอิทธิพลของพุทธเถรวาทที่นับถืออยู่

จะจริงหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ถึงจริงพฤติกรรมที่ค่อนข้างโหดของชาวพุทธเถรวาทในสังคมต่างๆ ก็แสดงอยู่แล้วว่า พุทธศาสนาเถรวาทนอกพระคัมภีร์ไม่ใช่ศาสนาแห่งสันติหรือกล่อมเกลาให้ศาสนิกโอบอ้อมอารีต่อกัน

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า หากกลับไปดูพุทธศาสนาตามคัมภีร์ที่เขียนกันมาแต่โบราณ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านสอนเรื่องพรหมวิหารสี่ไว้มาก อานิสงส์ของการกระทำเช่นนี้มีทั้งในระดับโลกียะและระดับโลกุตระ เป็นไปได้ในชาตินี้เลยทีเดียว และหากชาติหน้ามีจริงก็ยังส่งผลไปถึงชาติหน้าด้วย

แต่ทั้งหมดนี้ปรากฏในพฤติกรรมของชาวพุทธเถรวาทปัจจุบันไม่ชัด หรืออาจเป็นไปในทางตรงกันข้ามเลย คือเหี้ยมโหดและไร้เมตตาต่อคนที่ชาวพุทธนิยามว่าเป็น “อื่น”

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ผมคิดว่ามีคำอธิบายสองอย่าง ซึ่งจะถูกผิดอย่างไรก็ไม่ทราบ

1. เนื้อหาสาระของความเมตตากรุณาในสมัยพุทธกาลกับปัจจุบัน จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร คงเถียงกันได้ แต่ที่แน่นอนก็คือเงื่อนไขและวิธีการให้ความเมตตากรุณาในสมัยพุทธกาลกับปัจจุบันน่าจะต่างกันมาก ยิ่งเปรียบเทียบระหว่างสังคมไทยในอดีตกับปัจจุบัน ก็อาจจะยิ่งห่างกันเสียกว่าอินเดียสมัยพุทธกาลกับประเทศไทยเสียอีก เพราะสังคมไทยในอดีตคือชุมชนเกษตรขนาดเล็ก ซึ่งทุกคนหรือเกือบทุกคนสามารถนับญาติกันได้หมด ไม่ใช่ญาติจริงก็ญาติเสมือน ซ้ำยังต้องพึ่งพาอาศัยกันในการทำมาหากิน ดังนั้น เพื่อจะเอาชีวิตรอด อย่างไรเสียก็ต้องสร้างระบบความสัมพันธ์ที่มีความเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน

แต่เมืองไทยในปัจจุบันไม่ได้เป็นชุมชนเกษตรขนาดเล็กอีกแล้ว อย่าว่าแต่นับญาติระหว่างกันเลยครับ แม้แต่ชื่อเสียงหน้าตาก็ยังไม่เคยเห็น เมื่อคนอื่นโพสต์แสดงความเห็นทางการเมืองหรือสังคมที่ไม่ตรงกับเรา เขาไม่ได้เป็นคนเต็มคนในความคิดของเราไปแล้วนะครับ เพราะเขาเป็นเพียงความเห็นอันน่ารังเกียจลุ่นๆ เลย ไม่มีพ่อมีแม่ ไม่มีลูกมีเมีย ไม่มีอะไรที่จะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเราผ่านสังคมหรือผ่านความเป็นมนุษย์ ดังนั้น เราจึงสามารถลงทัวร์ “มัน” ได้เต็มที่

นี่แหละครับ ถึงเนื้อหาสาระของเมตตากรุณาจะเหมือนเก่า แต่เงื่อนไขและวิธีให้ความเมตตากรุณาแก่ผู้อื่นมันไม่เหมือนเก่าไปเสียแล้ว

อย่างเดียวกับที่มีผู้กล่าวว่า เมื่อหลวงพ่อท่านให้ศีลข้ออทินนาทาน ทั้งหลวงพ่อ ทั้งประสกต่างคิดตรงกันว่า อย่าตัดกล้วยของเพื่อนบ้านไปกินโดยไม่ได้ขอ แต่ขอโทษเถิดครับ เราอยู่ในยุคที่เขาขโมยกันโดยการควบรวมบริษัทเพื่อผูกขาดสินค้าหรือบริการ แล้วเรียกเก็บกำไรได้อย่างไม่อั้นจากตลาดที่หมดทางเลือก เนื้อหาสาระของอทินนาทานก็คงเหมือนเมื่อครั้งพุทธกาลแหละครับ แต่เงื่อนไขและวิธีการมันเป็นคนละเรื่องไปเลยเช่นนี้ ธรรมเทศนาเรื่องขโมยกล้วยจะเป็นอะไรได้มากไปกว่าพิธีกรรม ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วสบายใจ ก็เพราะเราสามารถซื้อหุ้นบริษัทที่กำลังจะได้สิทธิ์ผูกขาดเพื่อทำกำไรได้อย่างปลอดมลทินในใจ

 

2. ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเถรวาทนั้นมีลักษณะพิเศษนะครับ เพราะกลืนกลายจนแทบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปในทุกรัฐที่รับนับถือเถรวาทเลย ลักษณะเช่นนี้เปรียบไม่ได้กับศาสนาหรือนิกายใดๆ นะครับ คริสต์ศาสนาในยุคกลางเป็นองค์กรทางการเมือง (และสังคม) ที่เป็นอิสระจากรัฐ เช่นเดียวกับพราหมณ์ซึ่งอาจบำเพ็ญตบะอยู่ในป่าคนเดียวจนสาปพระราชาให้ง่อยเปลี้ยเสียขาก็ยังได้ มหายานขยายตัวไปยังดินแดนที่มีความเชื่ออื่นตั้งมั่นอยู่แล้ว นับตั้งแต่ศาสนาผีในทิเบต, ขงจื๊อในจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี-เวียดนาม เพราะฉะนั้น ราชูปถัมภ์ซึ่งได้มาจึงเป็นผลจากการแข่งขัน ซ้ำไม่ยั่งยืนอีกด้วย ผู้รู้ในศาสนาอิสลามมีฐานความศรัทธาจากประชาชนอย่างเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจทางการเมือง บทบาทของอยาตุลเลาะห์ โคไมนี ไม่ได้เป็นครั้งแรกในสังคมมุสลิม และไม่ได้จำกัดเฉพาะสังคมชีอะห์เท่านั้น

เถรวาทกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ และด้วยเหตุดังนั้นจึงออกจะเซื่องๆ ผมไม่ได้กล่าวโทษเถรวาทนะครับ เพราะเข้าใจได้ หลังพุทธปรินิพพาน เถรวาทก็สูญเสียบารมีของมหาบุรุษอย่างพระพุทธองค์ ซึ่งแม้ไม่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ แต่ก็มีอำนาจต่อรองกับผู้ปกครองรัฐอย่างเท่าเทียม (หรือเหนือกว่า) องค์กรสงฆ์เถรวาทขาดผู้คุ้มครอง จึงสมัครใจเข้าไปเป็นบริวารของรัฐ โดยเฉพาะในรัฐนอกอินเดีย ซึ่งไม่มีศาสนาใดเข้าถึงมวลชนนอกจากศาสนาผี พุทธเถรวาทจึงอาศัยอำนาจรัฐเข้าไปกลืนเอาศาสนาผีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตน ซึ่งรัฐก็ยินดี เพราะศาสนาผีไม่เอื้อต่อการรวมศูนย์อำนาจ

ทั้งตำนานพุทธเถรวาทและตำราฝรั่งมักเสนอการกำเนิดรัฐว่า เป็นเครื่องมือทางการเมือง-สังคมที่ก่อให้เกิดความสงบสุขในชุมชนสมัยหินใหม่ เมื่อรู้จักทำเกษตรกรรมแล้ว รัฐจึงเป็นพลังทางบวก ผู้คนพากันเข้าหารัฐเพื่อแลกกับความมั่นคงด้านทรัพย์สินและความปลอดภัยของตนเอง

แต่การศึกษาด้านโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ไม่ได้พบหลักฐานรับรองทฤษฎีกำเนิดรัฐแบบนั้นเลย ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ รัฐกำเนิดขึ้นจากความรุนแรงโดยกลุ่มโจรที่หาวิธีปล้นสะดมอย่างใหม่ คือไม่ต้องสังหารหรือจับเชลยไปขายเป็นทาส แต่เลี้ยงเอาไว้เพื่อเรียกเก็บส่วยสาอากรเลี้ยงดูเหล่าหัวหน้าโจร ซึ่งได้แปลงตนเองเป็น “ราชวงศ์” ไปแล้ว รัฐกำเนิดและดำรงอยู่ได้ด้วยพลังทางลบ แน่นอนพลังทางบวกก็มีและต้องใช้ด้วย (เช่น รัฐจีนพยายามประกันความเสี่ยงจากทุพภิกขภัยที่อาจเกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของจักรวรรดิ) พลังทางบวกทำให้รัฐไม่สูญเสียส่วยสาอากรจาก “เชลย” ในระยะยาว แต่พลังทางลบ (ความรุนแรงแหละครับ พูดตรงๆ) คือพื้นฐานของรัฐ

เมื่อเถรวาทกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับรัฐเช่นนี้ จะแปลกอะไรที่เถรวาทก็เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงด้วย ประเทศไทยในปัจจุบัน มีกฎหมายและข้อเสนอทางกฎหมายให้ใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องพุทธศาสนาเยอะแยะไปหมดนะครับ นับตั้งแต่แต่งกายเลียนแบบสงฆ์ (ในขณะที่อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อธิบายว่า เครื่องแต่งกายของพระภิกษุเถรวาทนั้นลอกเลียนกรีก ซึ่งคงไม่ได้จดสิทธิบัตรไว้กระมัง) ไปจนดูหมิ่นพุทธศาสนา

โทษทางอาญาทั้งนั้นนะครับ ซึ่งต้องมีอำนาจรัฐเท่านั้นจึงจะลงโทษได้

 

หลักการสำคัญของเถรวาทคือรักษาพุทโธวาทไว้ให้คงเดิมตลอดไป (ตามที่พระเถระรุ่นแรกๆ อ้างว่าคือพุทโธวาท) หลักการข้อนี้คงมีภาษีเหมือนกันในสภาพที่ต่างสำนักต้องแข่งขันกันแสวงหาผู้ศรัทธา คล้ายขายสินค้ายี่ห้ออันเป็นที่เชื่อถือแล้วย่อมหาตลาดได้ง่ายกว่า แต่ในระยะยาวก็ทำให้เถรวาทโน้มเอียงไปทาง “ล้าสมัย” ได้ง่าย เพราะถึงอย่างไร ธรรมะจะมีความหมายจริงต่อชีวิตผู้คน ก็ต่อเมื่อธรรมะนั้นช่วยอธิบายหรือช่วยประคองให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่นพอสมควรในบริบทของยุคสมัย ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องต่างจากมัธยมประเทศเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว

ปัญหาคือจะเทศน์พรหมวิหารอย่างไรจึงจะเป็นหลักคิดที่มั่นคงของชาวพุทธ? จะทำได้หรือ หากไม่ได้วางการเจริญพรหมวิหารไว้บนหลักสิทธิมนุษยชน, เสรีภาพและเสมอภาพ, ประชาธิปไตย, นิติรัฐ, ความเท่าเทียมทางเพศและชาติพันธุ์ ฯลฯ (อันล้วนเป็น “ธรรมะ” ของโลกสมัยใหม่)

ผมสงสัยว่า การศึกษาของพระสงฆ์ในประเทศเถรวาท ไม่ได้ปูพื้นที่แข็งแรงเกี่ยวกับ “ธรรมะ” ของโลกยุคใหม่ ดังนั้นจะให้ความหมายแก่พระพุทธธรรมให้เป็นหลักปฏิบัติส่วนบุคคลจึงเป็นเรื่องที่ยากมากจนเป็นไปไม่ได้เอาเลย

การปรับตัวครั้งล่าสุดของพุทธเถรวาท ทำขึ้นเพื่อตอบโต้อำนาจครอบงำของลัทธิล่าอาณานิคม มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน คือเสนอพุทธศาสนาในรูปของปรัชญาเหตุผลนิยม โดยยังเหลือพื้นที่ให้แก่ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่สังคมยึดถืออยู่ เพราะเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ที่เจ้าอาณานิคมไม่อาจครอบงำได้ (เช่น พระแก้วมรกต, พระบาง, พระเขี้ยวแก้ว, พระเกศาธาตุในพระเจดีย์ชเวดากอง) หลังจากนั้นก็ยุติลง แม้มีพระภิกษุและนักปราชญ์บางท่านสร้างแนวอธิบายพุทธธรรมในแนวหรือจุดเน้นที่ต่างจากเก่า แต่ก็ไม่สัมพันธ์กับ “ธรรมะ” ของโลกยุคใหม่อย่างจริงจัง (บางครั้งยังแย้งโดยตรงด้วย เช่น ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการโดยธรรม)

คุณสมบัติที่ได้รับการยกย่องจากตะวันตกในต้นศตวรรษที่ 20 เช่น พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติ, ความเมตตากรุณาอันไร้ขีดจำกัด และ ฯลฯ ยังมีเนื้อหาสาระในด้านปฏิบัติอีกมากน้อยเพียงไร ก็น่าสงสัยอยู่