เงาทมิฬเหนืออินส์เมาธ์ The Shadow Over Innsmouth | การ์ตูนที่รัก

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เงาทมิฬเหนืออินส์เมาธ์ The Shadow Over Innsmouth

 

หากจะเริ่มอ่านงานเขียนของ เอช พี เลิฟคราฟต์ (Howard Phillips Lovecraft 1890-1937) ผมแนะนำให้เริ่มต้นด้วยเรื่องนี้ แม้เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวแต่ไม่ยาวเกินไป บทพรรณนาอ่านง่ายกว่าเรื่องอื่นๆ อ่านแล้วเห็นภาพ ไม่ต้องใช้สมองมากมายขณะอ่าน แต่ชักนำเราไปสู่เรื่องคาดไม่ถึงในตอนจบได้อย่างน่าเลื่อมใส

อย่าแปลกใจหากว่าขณะอ่านท่านจะรู้สึกเหมือนอ่านงานของสตีเฟน คิง หรือดูหนังแดนสนธยายุคหกศูนย์ ด้วยบทบรรยายความที่ยืดยาวมากมาย อธิบายรายละเอียดของผู้คน สถานที่ และความเป็นมาอย่างละเอียดลออทุกสำนึกและท่วงท่า อันเป็นสไตล์การเขียนของคิง อีกทั้งให้บรรยายกาศอึมครึม อึดอัด กดดัน และน่าหวาดระแวง ดังมีเงาดำปกคลุมอยู่ตลอดเวลาเหมือนหนังแดนสนธยา (Rod Serling’s The Twilight Zone) ยุคหกศูนย์ซึ่งเป็นหนังขาวดำ

แต่เลิฟคราฟต์มาก่อนกาล เขาเป็นคนร่วมสมัยกับโฮเวิร์ด (Robert Ervin Howard 1906-1936) เขาสองคนรู้จักกัน เคยพบกันและสนทนากันเรื่องงานเขียนกับความเป็นไปของสรรพสิ่ง โฮเวิร์ดเขียนเรื่องเพลงดาบและเวทมนตร์ (sword and sorcery) ในขณะที่เลิฟคราฟต์เขียนนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซีและสยองขวัญ

ขอให้สังเกตว่านักเขียนสองคนนี้เสียชีวิตเมื่ออายุน้อยมากและห่างกันเพียงปีเดียว

 

โฮเวิร์ดยิงตัวตายหลังจากที่ทราบว่าแม่ป่วยหนักไม่สามารถฟื้นได้อีกแล้ว

ส่วนเลิฟคราฟต์มีบิดาและมารดาเสียจริตทั้งสองคน

งานเขียนของคนทั้งสองไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักขณะมีชีวิตอยู่ ชื่อเสียงและงานเขียนของสองหนุ่มมีมากขึ้นหลังการตายแล้วกลายเป็นงานเขียนคลาสสิคถึงวันนี้ทั้งคู่

งานเขียนและกวีนิพนธ์ของโฮเวิร์ดเป็นที่รู้จักกันน้อยกว่าของเลิฟคราฟต์ อีกทั้งน่าจะไม่เคยมีการแปลไทย แต่การ์ตูนคอมิกส์ที่สร้างจากงานเขียนของเขา ได้แก่ Conon the Barbarian, Kull the Conquerer และ Solomon Kane มีจำนวนมากมายกับเป็นที่เลื่องลือ ไม่นับว่า Red Sonja ซึ่งเป็นเพียงตัวประกอบหนึ่งในนวนิยายยุคกลางเรื่องหนึ่งของเขาก็กลายเป็นนักรบสาวผมแดงที่เซ็กซี่และอีโรติกมากที่สุดคนหนึ่งในแดนเถื่อนของโลกการ์ตูน

แต่สำหรับงานเขียนของเลิฟคราฟต์เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่า เขาได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ของคนหลายคนในยุคต่อมาโดยเฉพาะนิยายแฟนตาซีหรือสยองขวัญ

งานของเขามีแปลไทยแล้วหลายเล่ม โดยนภ ดารารัตน์ สำนักพิมพ์เวลา ซึ่งต้องขอเรียนว่าแปลได้ยอดเยี่ยม น่าอ่านอย่างยิ่ง งานเลิฟคราฟต์มิใช่จะแปลได้ง่ายนัก

หนังสือของโฮเวิร์ดถูกสร้างเป็นหนังบ่อยกว่าของเลิฟคราฟต์ด้วย หนังที่สร้างจากหนังสือของโฮเวิร์ดมักดัดแปลงแต่งเองมากมายจนแทบไม่เหลือเค้าของเดิม ไม่ว่าจะเป็น Conon the Barbarian, Kull the Conquerer, Solomon Kane และ Red Sonja แต่ไม่เป็นที่ประทับใจของนักวิจารณ์เท่าไรนักแม้จะทำเงินพอสมควร

ส่วนหนังของเลิฟคราฟต์แม้มีไม่มากเท่าแต่ออกจะได้รับคำชื่นชมแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Re-Animator ปี 1985 ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากในบ้านเราด้วยชื่อ คนเปลี่ยนหัวคน ตอนแรกๆ มีภาพลักษณ์เป็นหนังแหวะเกรดบีแต่ตอนนี้กลายเป็นหนังคัลต์คลาสสิคไปแล้ว

ยังมีหนังสเปนปี 2001 Dagon ชื่อพ้องกับเรื่องสั้นของเขาเมื่อปี 1919 แต่โครงเรื่องเป็นเรื่องเมืองอินสเมาธ์ The Call of Cthulhu เสียงเพรียกจากคธูลู หนังเงียบขาวดำ 47 นาทีที่สร้างเมื่อปี 2005 และ Color Out of Space สีสันจากห้วงอวกาศ นำโดยนิโคลาส เคจ ปี 2019 เมื่อไม่นานมานี้เอง

ดังที่ว่าเลิฟคราฟต์พรรณนายืดยาวพอๆ กับคิง ควรเขียนว่าคิงพรรณนายืดยาวพอๆ กับเลิฟคราฟต์ หลายเรื่องอาจจะต้องใช้ความอดทนอ่านกว่าจะเข้าเรื่องซึ่งงานแปลของนภ ดารารัตน์ ช่วยได้มาก เลิฟคราฟต์มีพ่อและแม่ป่วยด้วยโรคจิตทั้งสองคน ความหวาดกลัวเรื่องนี้เห็นได้ชัดในงานเขียน เงาทมิฬเหนืออินส์เมาธ์ The Shadow Over Innsmouth เรื่องนี้

หนังสือการ์ตูนที่นำมาเล่าสู่กันฟังวันนี้ดัดแปลงเป็นหนังสือการ์ตูนขาวดำโดย Steven Philip Jones ซึ่งเคยมีผลงานดัดแปลงคนเปลี่ยนหัวคนมาแล้ว วาดภาพโดย Trey Baldwin ซึ่งใช้สไตล์การเขียนรูปเป็นการ์ตูนแท้ๆ จึงลดความสยองขวัญลงไปมาก

ด้วยความที่เป็นการ์ตูนขนาดไม่ยาวนักจึงเริ่มต้นแตกต่างจากในหนังสือเพื่อให้เข้าสู่บทสรุปได้รวดเร็วกว่า

การ์ตูนไม่อ้อมค้อมที่จะเปิดตัวพระเอกว่ามีความหวาดระแวงสายเลือดของตัวเองอยู่ลึกๆ เขาออกเดินทางเพื่อหาเงื่อนงำนี้

และเมื่อเดินทางถึงเมืองชายทะเลอินส์เมาธ์ซึ่งไม่ปรากฏบนแผนที่อีกทั้งมีประชากรจำนวนน้อยนิด เขาใช้เวลาไม่นานก็พบชายขี้เมาผู้ที่จะเปิดเผยที่มาที่ไปของอินส์เมาธ์วันนี้ให้เขาฟังก่อนจะถึงฉากจบน่าสะพรึงกลัว

แตกต่างจากหนังสือมากพอควร หนังสือเริ่มต้นด้วยชายหนุ่มที่เดินทางไปอินสเมาธ์ด้วยความอยากรู้อยากเห็นมากกว่าเรื่องอื่น พรรณนาวิธีเดินทางเข้าไป หาโรงแรมที่พัก กับบรรยากาศของเมืองอย่างช้าๆ เนิบๆ บรรยายลักษณะของผู้คน ความไม่เป็นมิตร สภาวะของชาวเมืองที่ถูกโลกภายนอกรังเกียจ ด้วยบทแปลที่ดีทำให้รู้สึกได้ถึงเงาทมิฬเหนืออินส์เมาธ์จริงๆ ด้วย น่าชมเชยการตั้งชื่อเรื่องภาษาไทยมากมาย

หนังสือใช้เวลานานมากกว่าชายหนุ่มจะพบชายขี้เมา แต่หลังจากนั้นเรื่องที่ดำเนินมาอย่างเนิบนาบและเชื่องช้าก็ทวีความเร่าร้อนในใจนักอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ ความลับดำมืดเหนืออินสเมาธ์แต่โบราณกาลถูกเปิดเผย สารภาพว่าแม้จะอ่านหนังสือและดูหนังมากแต่ไม่มีเรื่องใดเทียบติดเรื่องอินสเมาธ์ของเลิฟคราฟต์นี้เลย

แน่นอนว่ามีนวนิยายหรือหนังที่เลียนแบบโครงเรื่องนี้หลายเรื่องในยุคหลังๆ แต่ความคลาสสิคของบทบรรยายและวิธีเปิดเผยความลับอย่างมีชั้นเชิงนั้นเลิฟคราฟต์กินขาด

หนังสือการ์ตูนที่เอามาแนะนำวันนี้เป็นของสำนักพิมพ์ Caliber Comics ซึ่งมีต้นฉบับ The Shadow Over Innsmouth พร้อมประวัติเลิฟคราฟต์และเบื้องหลังการดัดแปลงให้ด้วย ท่านที่อยากได้บทเรียงความขนาดยาวชั้นดีในภาคภาษาอังกฤษน่าจะชอบมาก

ยังมีการ์ตูนอีกหลายเล่มที่เขียนจากงานของเลิฟคราฟต์เรื่องอื่นๆ โดยนักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ ทั้งที่เป็นชาวตะวันตกและเป็นมังงะ

จะนำมาแนะนำกันต่อในวันหลังครับ •

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์