ออกกำลังกาย-ชะลอแก่-แน่นอน! | จักรกฤษณ์ สิริริน

ข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งซึ่งผมจำได้แม่น คือข่าวภูมิภาคของไทยพีบีเอสเมื่อราว 5 ปีก่อน “ฮือฮา! คุณยายวัย 87 ปี สุขภาพแข็งแรง เตะตะกร้อโชว์”

คุณยายท่านนี้มีชื่อว่า นางหิม กูลรมย์ ชาวชุมชนพรุชี เขตเทศบาลตำบลโคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง

ลีลาการเตะตะกร้อของคุณยายเรียกได้ว่า “ครบเครื่อง” ทั้งโหม่ง ไหล่ ศอก เข่า แป หน้าเท้า ข้างเท้า หลังเท้า ดีด ไขว้ ไม่แพ้นักตะกร้อทีมชาติ!

พูดอีกแบบก็คือ คนทั้งชุมชน รวมไปถึงโลกโซเชียล ล้วนฮือฮากับลีลาของคุณยาย ส่งผลให้สุขภาพยังแข็งแรง และที่สำคัญก็คือไม่เป็นคนเครียด

หลังจากเรื่องราวของคุณยายกระจายออกไปทั่วประเทศ ทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และกลายเป็นดาวดังประจำชุมชน

คุณยายหิม กูลรมย์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีผู้คนรู้จักมากขึ้น และได้เห็นว่าตนเองเป็นคนสุขภาพดีไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนคนสูงอายุทั่วไป

ยายไม่มีโรคประจำตัวเลยนะ ต่างกับสามีที่อายุอ่อนกว่า 4 ปี แต่สุขภาพไม่ดีนัก ต้องกินยาอยู่เป็นประจำ

แม้จะกลายเป็นคนดังมาหลายปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ คุณยายหิม กูลรมย์ ก็ยังใช้ชีวิตปกติ

ตื่นมาเช้ามืดก็กวาดเศษใบไม้หน้าบ้านเล็กๆ น้อยๆ จากนั้นก็จะหุงหาอาหาร เมนูที่ชอบจะเป็นประเภทผัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกงเลียง และไม่ค่อยชอบกินเนื้อสัตว์

ช่วงบ่ายๆ มักหลบไปงีบนิดหน่อย แต่บางวันที่มีภารกิจก็ไม่ไปงีบ จากนั้นประมาณ 5 โมงเย็น สมาชิกกลุ่มตะกร้อก็จะมารวมตัว เพื่อชวนไปเตะตะกร้อกันเป็นประจำ

เตะตะกร้อรู้สึกสนุกมาก ยิ่งได้เล่นกันเป็นทีมยิ่งทำให้เพลิดเพลินดี จึงเล่นมาอย่างต่อเนื่อง เนิ่นนานมาแล้ว และจะเล่นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเล่นไม่ไหว

แน่นอนว่า สาเหตุที่ทำให้คุณยายหิม กูลรมย์ มีสุขภาพแข็งแรงมาจนทุกวันนี้ ก็เพราะการออกกำลังกายด้วยการเตะตะกร้อ

อยากให้ผู้สูงอายุทุกคนหมั่นออกกำลังกาย และที่สำคัญอย่าเครียด คุณยายหิม กูลรมย์ สรุป

กรณีของคุณยายหิม กูลรมย์ สอดคล้องกับงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยของตะวันตก ที่ยืนยันว่า การออกกำลังกาย คือวิธีที่ดีที่สุดในการชะลอความชรา

หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่ามนุษย์เรามี “เซลล์แห่งความชราภาพ” ซึ่งร่างกายของผู้สูงอายุสร้างขึ้นมาพร้อมกับตัวเลขอายุที่มากขึ้น

หลายปีมาแล้ว ที่แวดวงวิชาการเวชศาสตร์ชะลอวัยได้เริ่มหันมาศึกษาเกี่ยวกับประเด็น “เซลล์แห่งความชราภาพ”

โดย “เซลล์แห่งความชราภาพ” เป็นสถานะของ “เซลล์ที่จะไม่มีการแบ่งตัวใดๆ” อีกต่อไปนั่นเอง

“เซลล์แห่งความชราภาพ” ที่ร่างกายของผู้สูงอายุได้สร้างขึ้นมานี้ มีความเชื่อมโยงกับสภาวะต่างๆ ของร่างกายซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวเลขอายุที่มากขึ้น อาทิ สภาวะสมองเสื่อม หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

ขณะที่วงการเวชศาสตร์ชะลอวัยกำลังเดินหน้าหาหนทางสกัด “เซลล์แห่งความชราภาพ” บรรษัทยายักษ์ใหญ่ก็เร่งมือค้นคว้าวิจัยกระบวนการสร้างตัวยาเพื่อใช้ในการรักษาอาการต่างๆ ของความชราภาพ

ขณะเดียวกัน ได้มีผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งออกมาเปิดตัว และแถลงว่า เครื่องมือที่ดีที่สุดในการต่อต้านผลกระทบเชิงลบของความชราภาพ คือ “การออกกำลังกาย”

ศาสตราจารย์ ดร. Viviana Perez Montes นักวิชาการประจำ National Institute on Aging หรือ “สถาบันเวชศาสตร์ชะลอวัย” ใน “สถาบันสุขภาพแห่งชาติ” สหรัฐอเมริกา หรือ NIH (The National Institutes of Health) บอกว่า “เซลล์แห่งความชราภาพ” เป็น “ประเด็นที่ร้อนแรงมาก”

“รายงานหลายฉบับจากฐานข้อมูลวิจัยของ NIH ระบุว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 เป็นต้นมา ได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเซลล์แห่งความชราภาพเกือบ 12,000 โครงการ รวมถึงโครงการใหม่ๆ ในปัจจุบัน” ศาสตราจารย์ ดร. Viviana Perez Montes กระชุ่น

ศาสตราจารย์ ดร. Nathan LeBrasseur ผู้อำนวยการศูนย์ผู้สูงวัยแห่ง Mayo Clinic ชี้ว่า เซลล์จะหยุดการแบ่งตัว และเข้าสู่สถานะ “ชราภาพ” เพื่อตอบสนองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ก่อนที่ร่างกายจะขับเซลล์ส่วนใหญ่เหล่านี้ออกไป

“โดยเซลล์ชราภาพอื่นๆ ที่ยังคงอยู่ในร่างกาย อาจทำร้ายเซลล์ที่ใกล้เคียง ประดุจดังผลไม้เน่าหนึ่งผล สามารถทำให้ผลไม้ทั้งตะกร้าเสียตามไปด้วย” ศาสตราจารย์ ดร. Nathan LeBrasseur กล่าว และว่า

ความสามารถในการเข้าใจในเรื่องของ “ความชราภาพ” เป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้วงเวลาทองของการปฏิรูปสุขภาพ เพราะการยืดอายุของการมีสุขภาพที่ดีจะส่งผลต่อ “คุณภาพชีวิต” และ “การสาธารณสุข” ด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าสู่สังคมสูงวัยโลก ที่มีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี ค.ศ.2050 ศาสตราจารย์ ดร. Nathan LeBrasseur กล่าว และว่า

สำหรับในเวลานี้ “การออกกำลังกาย” คงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดเครื่องมือเดียวที่มีอยู่ เพื่อสุขภาพที่ดีในช่วงบั้นปลายของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลพวงด้านบวกของ “การออกกำลังกาย” จะส่งอิทธิพลเชิงบวกไปยังเซลล์ต่างๆ ในร่างกายอีกด้วย

“ผลการวิจัยจำนวนมากบอกกับเราว่า การออกกำลังกายช่วยต่อต้านการก่อตัวของเซลล์แห่งความชราภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกำลังกาย ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันขจัดเซลล์แห่งความชราภาพออกไปจากร่างกาย”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลของ “การออกกำลังกาย” ยังเป็นการต่อสู้กับความเสียหายของโมเลกุลที่อาจส่งผลต่อกระบวนการชราภาพอีกด้วย

“ผลการวิจัยของผมก็คือ การออกกำลังกายจะช่วยลดสัญญาณในกระแสเลือดซึ่งเป็นบ่อเกิดของผลกระทบต่างๆ ของเซลล์แห่งความชราภาพในร่างกาย” ศาสตราจารย์ ดร. Nathan LeBrasseur กล่าว และว่า

เรามี “หลักสูตรการออกกำลังกายเพื่อชะลอวัย” ระยะเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งเราพบว่าผู้สูงอายุมีอาการชราภาพลดลง มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมรรถภาพทางกาย และสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“แม้ว่าขณะนี้ผลการวิจัยของเราจะยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทว่า มีผู้สูงอายุจำนวนมากเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างความอ่อนเยาว์กับการออกกำลังกายเป็นอย่างดี” ศาสตราจารย์ ดร. Nathan LeBrasseur สรุป

Richard Soller วัย 95 ปี ผู้ที่ภรรยาวัย 62 ของเขาป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ กล่าวว่า “การออกกำลังกาย” ทำให้เขามีสุขภาพที่ดี และแข็งแรงพอที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต

“เราควรออกกำลังกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะนั่นคือเป้าหมายของการมีสุขภาพที่ดี” Richard Soller ระบุ

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Wiley จาก Tufts University ได้กล่าวถึงประเด็นที่ย้อนแย้งว่า “ความชราภาพ” กลายเป็นกุญแจสำคัญของ “การมีอายุยืนยาว”

“ผมหวังว่าสักวันหนึ่ง ผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานก่อนเสียชีวิตเหมือนปู่ของผมที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีจำนวนลดน้อยลง” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Wiley กล่าว และว่า

ผมไม่ได้กำลังค้นหา “น้ำพุแห่งความเยาว์วัย” แต่กำลังมองหา “น้ำพุที่ช่วยให้ไม่ต้องเจ็บป่วยเมื่อแก่ตัวลง” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Wiley ทิ้งท้าย