ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บรรยากาศพรรคพลังประชารัฐ แม้ฉากหน้าจะยังดูนิ่ง ไม่มีการขยับเปิดตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า เหมือนกับหลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
ที่จัดอีเวนต์และเปิดหน้าว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. โชว์นโยบายพรรค รวมทั้งส่งสัญญาณย้ายพรรค ควบรวมพรรคกันอย่างคึกคัก เตรียมพร้อมหากผู้มีอำนาจนับหนึ่งให้มีการเลือกตั้ง
แต่ในฉากหลังของพรรคพลังประชารัฐ บรรดา ส.ส.เขต ต่างขยับและส่งสัญญาณมายังเบื้องหน้า หวังให้ผู้มีอำนาจนำในพรรค และผู้มีอำนาจในรัฐบาลแสดงจุดยืน ประกาศความชัดเจนทางการเมืองให้บรรดาผู้สมัครและ ส.ส.รับรู้ตรงกันได้แล้ว
เพราะด้วยไทม์มิ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในช่วงนับถอยหลังที่จะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 หากนับจากเดือนตุลาคมก็จะเหลือเพียง 5 เดือนที่รัฐบาลจะครบเทอม การสวมบทเตมีย์ใบ้ ไม่แสดงความชัดเจนทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีข้อจำกัดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ คือวันที่ 6 เมษายน 2560
แปลความทางเมืองเข้าใจกันง่ายๆ ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย จะดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 ปี คือถึงปี 2568 เนื่องจากติดเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี
เงื่อนไขและทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ หากจะไปต่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐสมัยหน้าจึงปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 2 ปี อยู่ไม่ครบวาระ 4 ปี ส่วนการทำหน้าที่นายกฯ อีก 2 ปีที่เหลือ อาจจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งอีก 2 ปี
หรืออาจจะเป็นบุคคลอื่นที่พรรคพลังประชารัฐจะเฟ้นชื่อที่เหมาะสมมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้
สัญญาณที่สอบถามถึงความชัดเจนในอนาคตทางการเมืองของทั้ง 2 ป. กับพรรคพลังประชารัฐ ถูกส่งผ่านโดย “วีระกร คำประกอบ” ส.ส.นครสวรรค์ และกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอแนะผู้มีอำนาจในพรรคพลังประชารัฐและผู้มีอำนาจในรัฐบาล คือ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์สมัครเป็นสมาชิกพรรค เพื่อถือธงนำคู่กับ พล.อ.ประวิตร เพื่อสร้างกระแสให้เป็นขั้วการเมืองยืนหนึ่งเหมือนเดิม ผ่านบันได 4 ขั้น คือ
1.เซ็นเข้าเป็นสมาชิกทันที 2.นัดประชุมและตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค 3.นัดประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เพื่อเขียนนโยบายที่โดนใจประชาชน และ 4.พล.อ.ประวิตร แถลงนโยบายดังกล่าวร่วมกัน เพื่อเตรียมพร้อมลงสนามเลือกตั้งก่อนสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ต้องยอมรับว่านักการเมืองภายในพรรคมีศักยภาพมาก แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพนั้น
ซึ่งข้อห่วงใยของ “วีระกร” ยังสะท้อนด้วยว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มาอยู่กับ พล.อ.ประวิตร ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้า 2 ลุงไม่จับมือถือบังเหียนพรรคพลังประชารัฐ การเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยากหน่อย อาจเป็นพรรคเล็กลง ให้เตรียมเป็นพรรคอันดับ 2 ร่วมรัฐบาลได้เลย
ในฐานะที่อยู่ในวงการการเมืองมา 40 ปีและเป็นตระกูลนักการเมือง หากผู้มีอำนาจยังออกอาการเฉื่อยแบบนี้ ก็มีข่าวว่าสมาชิกพรรคกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เตรียมจะออกจากพรรค สุดท้ายคงเหลืออยู่เฉพาะ ส.ส.ภาคใต้ที่ยังพอมีกระแส พล.อ.ประยุทธ์ในการหาเสียงครั้งหน้าอยู่ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่พรรคพลังประชารัฐต้องปรับกระแสและยุทธศาสตร์ใหม่
เพราะสิ่งที่เสนอไปไม่ได้เป็นการทำลายพรรค แต่เป็นข้อเสนอที่ต้องทำ ไม่เช่นนั้นพรรคพลังประชารัฐจะค่อยๆ ล่มลงไปเรื่อยๆ และถ้ายังไม่ยอมปรับตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ยังนิ่งอยู่กับที่ ขอให้มองพรรคสหประชาไทย พรรคสามัคคีธรรมล่มสลาย เพราะทหารเล่นการเมืองไม่เป็น เมื่อเรียนรู้อดีตก็ต้องฟัง ส.ส.ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองบ้าง ดังนั้น ทั้ง 2 ป. ต้องรีบปรับบทบาทให้ชัดเจน โดยใช้บทเรียนในอดีตมาเรียนรู้
การออกมาเรียกร้องให้ 2 ป. แสดงความชัดเจนทางการเมืองของ “วีระกร” ย่อมไม่ธรรมดา เพราะด้วยความที่เป็น ส.ส.เขต คลุกคลีกับประชาชนในพื้นที่ ย่อมต้องรับรู้ถึงความนิยมและกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน รวมทั้งภาคกลาง ไม่ได้มีเรตติ้งที่ดีเหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่กระแสความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ยังขายได้
อีกทั้งการออกมาของ “วีระกร” ยังแฝงไปด้วยร่างเงาของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง อย่างกลุ่มสามมิตรที่มี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ การขับเคลื่อนทางการเมืองต้องถือว่าอยู่ในระดับ “เซียน”
เพราะที่ผ่านมา การเลือกขั้ว เลือกข้าง ทางการเมืองของกลุ่มสามมิตร ล้วนอยู่ถูกที่ถูกเวลา คือ อยู่ฝ่ายรัฐบาล ได้เก้าอี้รัฐมนตรีมาขับเคลื่อนทางการเมืองอยู่เสมอ
แม้ล่าสุดแกนนำสามมิตร อย่าง “สมศักดิ์” และ “สุริยะ” จะออกมายืนยันว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้ายังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกสมัย
แต่นั่นเป็นเพียงการแสดงจุดยืนแบบฉากหน้า ที่ต้องตอบทำถามให้เป็นไปตามทรงของการเมือง เนื่องจากยังร่วมงานอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
แต่ในเบื้องหลังการออกมากระทุ้งให้ทั้ง 2 ป. แสดงความชัดเจนทางการเมืองของ “วีระกร” ย่อมได้รับสัญญาณจากแกนนำกลุ่มสามมิตร เพื่อให้ได้คำตอบและทิศทางการเมืองของ 2 ป.
ในเบื้องต้นเพื่อนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการเดินหน้าต่อทางการเมืองของกลุ่มสามมิตรว่าจะเลือกเส้นทางอย่างไร
เพราะต้องเข้าใจว่า เมื่อปัจจัยเปลี่ยน การเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา วันนี้ตัดสินใจแบบนี้ วันหน้าอาจเปลี่ยนใจเป็นอย่างอื่นได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก
อาการระส่ำภายในของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะ ส.ส.เขต ในภาคเหนือ ภาคอีสาน รวมทั้งภาคกลาง ที่ต้องเผชิญกับยุทธศาสตร์ “แลนด์สไดล์” ของพรรคเพื่อไทย ที่ประเมินจากทั้งโพลและกระแสความนิยมของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ทำเอา ส.ส.เขต พรรคพลังประชารัฐ จึงต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากระดับนำทางการเมืองของพรรค
ว่าท้ายที่สุดแล้วจะเลือกยุทธศาสตร์สู้ศึกเลือกตั้งกันแบบใด หากระดับ “หัว” มีความนิ่ง “หาง” จะได้ไม่ส่าย และเลือกตัดสินใจทางการเมืองในอนาคตได้
เพราะเป้าหมายในการเลือกตั้ง คงไม่มี ส.ส.พื้นที่ไหนอยากสอบตก และหวังว่าจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขั้วอำนาจในสถานะ “รัฐบาล” ไม่ใช่ “ฝ่ายค้าน”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022