จักรวาลวิทยาในดนตรีพิธีการ ร่องรอยอำนาจของ ‘เพศหญิง’ | On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

จักรวาลวิทยาในดนตรีพิธีการ ร่องรอยอำนาจของ ‘เพศหญิง’

 

ดร.ราเซีย สุลตาโนวา (Razia Sultanova) นักดนตรีชาติพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของเพศหญิงในงานดนตรี โดยเฉพาะดนตรีในแถบพื้นที่เอเชียกลาง ซึ่งตลอดชีวิตการทำงานของเธอได้อุทิศให้กับการศึกษาทางด้านดนตรีชาติพันธุ์ในเอเชียกลาง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับพลังของ “เพศหญิง” ในงานดนตรีพิธีการ

บทความเรื่อง Female Celebrations in Uzbekistan and Afghanistan : The Power of Cosmology in Musical Rites ที่อาจจะแปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า พิธีเฉลิมฉลองของเพศหญิงในอุซเบกิสถาน และอัฟกานิสถาน : อำนาจของจักรวาลวิทยาในดนตรีพิธีการ เป็นเหมือนงานเขียนสรุปประเด็นคิดของเธอเกี่ยวกับพลังของเพศหญิงในงานดนตรีพิธีการพื้นที่เอเชียกลาง ตีพิมพ์อยู่ใน 2008 Yearbook for Traditional Music โดยเธอได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของข้อเขียนชิ้นนี้ไว้ในตอนหนึ่งของบทความว่า

“บทความนี้ต้องการสำรวจว่า ทำไมจักรวาลวิทยาจึงมีผลต่อรูปแบบ และเนื้อหาของดนตรีพิธีการในกลุ่มผู้หญิงชาวอุซเบก ทั้งที่อยู่ในอุซเบกิสถาน และที่อื่นๆ อย่างอัฟกานิสถาน? ผลสรุปของจักรวาลวิทยาอย่างที่ว่ายังคงเห็นได้อยู่แม้กระทั่งในดนตรีป๊อปสมัยใหม่ของชาวอุซเบก ที่ภาพของผู้หญิงอย่างประเพณีนิยมยังคงเป็นสมาชิกสำคัญตามจักรวาลวิทยาแบบดั้งเดิม”

“จักรวาลวิทยา” (cosmology) ตามความหมายที่สุลตาโนวานิยามอย่างหยาบๆ หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับกำเนิด และพัฒนาการของจักรวาล (ซึ่งเธออ้างว่า สัมพันธ์อยู่กับการเคลื่อนไหวของระบบสุริยจักรวาล ทั้งพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวเคราะห์ หรือแม้กระทั่งดาวหาง?)

อย่างไรก็ตาม จักรวาลวิทยาในความหมายที่ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของคติความเชื่อมากกว่าที่จะเป็นเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ เพราะเล่าถึงการกำเนิดจักรวาลด้วย “อำนาจ” ของเทพเจ้ามากกว่าที่จะพูดถึงดาราศาสตร์ หรือการคำนวณเชิงคณิตศาสตร์ ดังนั้น สุลตาโนวาจึงเริ่มต้นบทความด้วยการอธิบายถึงทัศนะเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาในปกรณ์ดั้งเดิมที่มีมาก่อนสมัยอิสลามในเอเชียกลาง

โดยทั่วไปแล้วนักวิชาการมักจะอธิบายว่า มนุษย์ในยุคเริ่มแรกมีความเชื่อเกี่ยวกับ “พระแม่” (mother goddess) โดยถือเป็นผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิต

ในทัศนคติอย่างที่ว่ามนุษย์จึงเชื่อว่าพระเจ้าเป็น “ผู้หญิง”

 

สุลตาโนวาเองก็นำแนวคิดอย่างที่ว่านี้มาใช้ด้วยเช่นกัน เธอได้อ้างถึงความเชื่อโบราณของพื้นที่เอเชียกลางหลายอย่างที่ยังตกค้างอยู่จนถึงปัจจุบัน

ชื่อของ “อนาหิตะ” (Anahita) เทพีแห่งน้ำ ฝน ความอุดมสมบูรณ์ การรักษาพยาบาล และปัญญา ในศาสนาโซโรแอสเตอร์ที่นับถืออยู่แถบเอเชียกลาง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ทุกวันนี้ยังคงนับถือกันอยู่ในเขตพื้นที่ Khorezm ทางตะวันตกของอุซเบกิสถาน แต่เรียกเพี้ยนไปเป็น “อัมบาร์โอนา” (Ambar-Ona) เทพีผู้ได้รับพลังจากแม่น้ำ Amu-Darya คนทรงเพศหญิงยังคงกล่าวชื่อของพระนางในยามที่ดำเนินพิธีกรรมบำบัดโรคภัยไข้ป่วย และทุกเทศกาล “นาวรุซ” (อ่านว่า นา-วรุซ, Navruz) หรือประเพณีขึ้นปีใหม่แบบดั้งเดิมก่อนสมัยอิสลาม บทเพลงสรรเสริญพระนางยังคงถูกร้องขึ้นระหว่างจัดเตรียมมื้ออาหารอันศักดิ์สิทธิ์ (sumalyak)

ความเชื่อของชนเผ่าเร่ร่อนหมุนเวียน (nomad) บริเวณทุ่งหญ้าสเต็ปป์ซึ่งนับถือเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า หรือสวรรค์ ที่เรียกว่า “เทนกรี” (Tengri) ผู้สร้างสรรพสิ่งในจักรวาลจากความโกลาหล และมหาสมุทร มหาเทพเทนกรีแยกออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นชาย และส่วนที่เป็นหญิงเรียกว่า “เทนกรี อูเมย์” (Tengri Umai/Tengri Umay) ผู้สถิตย์อยู่บนยอดเขาสุเมรุ (ชื่อเดียวกับเขาศูนย์กลางจักรวาลของชมพูทวีปอย่างไม่ผิดเพี้ยน)

ถึงแม้ว่าสุลตาโนวาจะไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม แต่ในกรณีนี้พวกที่นับถือลัทธิเทนกรี (Tengriism) อย่างพวกมองโกล ซวงหนู และบางส่วนของพวกเติร์ก ฮังกาเรียน รวมไปถึงบัลการ์ พระผู้สร้างไม่ได้ระบุเพศชายเป็นการเฉพาะอย่างในศาสนาทั่วไปตามความเข้าใจในปัจจุบัน ซ้ำยังมีร่องรอยเก่าแก่ถึงความยิ่งใหญ่ของเพศหญิงปรากฏให้เห็นอยู่

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจอันใดเลยที่ “ผู้หญิง” จะกลายเป็นสื่อกลางระหว่าง “มนุษย์” กับ “เทพเจ้า” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันใดในพิธีกรรมต่างๆ

 

และโดยที่สุลตาโนวาอาจจะไม่รู้ตัว เธอได้กล่าวถึง “พระแม่อูเมย์” (Umay, น่าเชื่อว่าคงจะเป็นองค์เดียวกับพระแม่อุมา ในศาสนาของชาวฮินดู) ตามความเชื่อของพวกเติร์ก ว่าเป็นต้นแบบของ “พระแม่วันอังคาร” (Lady Tuesday/Bibi-Seshanba) ที่นับถืออยู่แพร่หลายในเขตพื้นที่ Boisun ทางตอนใต้ของอุซเบกิสถาน พระแม่อูเมย์ที่ว่านี้ก็คือความเชื่อที่แตกแขนงมาจากลัทธิเทนกรี โดยถือว่าเป็นชายา (ศักติ) ของมหาเทพเทนกรี ซึ่งก็คือความเชื่อที่ปรับเปลี่ยนมาจากเทนกรีอูเมย์ ผู้สร้างโลก

พระแม่วันอังคารที่กลายรูปมาจากพระแม่อูเมย์ ถูกนับถือในฐานะของพระแม่ผู้พิทักษ์สตรีเพศ ในการชุมนุมเฉพาะของผู้หญิงในวันอังคาร พวกเธอจะร่วมกันนั่งล้อมวงรอบผ้าคลุมโต๊ะที่ประดับไปด้วยอาหารเครื่องเซ่นสรวงบูชา เทียนจะถูกดับลง พร้อมเสียงร้องครวญถึงพระนางในห้องที่มืด และเต็มไปด้วยควัน

ในพิธีกรรมของพวกอุซเบก “ผู้หญิง” จึงเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงถึงเทพเจ้า

การประกอบพิธีของโอทินนอย

ไม่ต่างไปจากในหลายๆ วัฒนธรรม ชาวอุซเบกก็มีแม่หมอที่เรียกว่า “โอทินนอย” (Otin-Oy) เป็นผู้อาวุโสประจำชุมชน มีหน้าที่เป็นประธานสำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ ผ่านบทสวดที่มีทั้งการร้องคร่ำครวญเดี่ยวๆ และประสานเสียง โดยมีการตบมือกำกับจังหวะ

สุลตาโนวาให้ความสำคัญกับ “โอทินนอย” ในฐานะ “ตัวแทนของเพศหญิง” ตามจักรวาลวิทยาแบบดั้งเดิมของเอเชียกลางด้วยการอุทิศหน้ากระดาษจำนวนไม่น้อยให้กับข้อมูลพื้นฐานของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชะตากรรม อำนาจ การแต่งกาย ข้อปฏิบัติ ฯลฯ ด้วยข้อมูลที่มากพอใช้สำหรับบทความขนาดไม่ยาวนัก ซึ่งเราอาจทำความเข้าใจได้จากหัวข้อสรุป ตอนท้ายสุดของข้อเขียน ที่สุลตาโนวาได้อธิบายถึงผลสรุปทางความคิดของเธอไว้อย่างชัดเจนว่า

“อะไรคือจักรวาลวิทยาในงานดนตรี? (หมายถึงในกรณีศึกษานี้) นี่สามารถนิยามได้ว่าคือการสร้างเสียงดนตรีผ่านพิธีกรรมของพวกผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นการร้อง หรือการพร่ำพรรณนาถึงเรื่องราว และตำนานที่เกี่ยวข้องกับจักรวาล เทพเจ้า หรือเทพีองค์ต่างๆ พร้อมกับอ้อนวอนให้เหล่าเทพหันมาสนใจ หรือช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ภัยต่างๆ ในพื้นที่เอเชียกลาง จักรวาลวิทยาที่เก่าแก่นับพันๆ ปี ปรากฏอยู่ในระบบของงานเฉลิมฉลองที่สัมพันธ์อยู่กับปฏิทินแบบโบราณที่กำหนดอายุย้อนกลับไปได้ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์

จักรวาลวิทยาในดนตรีพิธีการของพวกผู้หญิงอุซเบกจึงสามารถจำกัดความได้ว่าคือ รูปแบบของประเพณีทางศาสนาที่เชื่อมโยง “จักรวาล” (macrocosm) กับ “จิตวิญญาณของมนุษย์” (microcosm) เข้าถึงกันผ่าน กาละ, เทศะ และองค์ประกอบเฉพาะ อย่างเช่น สีที่ใช้ในพิธี กระบวนการเหล่านี้จะชักนำเหล่าเทพ และเทพี ให้รัก, ปกป้อง หรือช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ที่เกิดกับมนุษย์ได้นั่นเอง”

 

อันที่จริงแล้ว แนวคิดอย่างที่ว่าไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตพื้นที่เอเชียกลางเท่านั้น เพราะในหลากวัฒนธรรมทั่วทั้งโลก ต่างก็มี “เพศหญิง” เป็นสื่อกลางในการเชื่อมถึงโลกในจินตภาพดังกล่าว

ตัวอย่างในวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ก็มีอยู่ อย่างการลงทรง “แม่สรี” ที่มีดนตรีกำกับจังหวะ หลายครั้งที่เห็นได้ว่าผู้รำ (เข้าทรง) จะต้องคาดผ้าปิดตาไว้ จึงมีลักษณะเชิงพิธีกรรมไม่ต่างจากดนตรีพิธีการของพวกอุซเบก

นักหนังสือพิมพ์ ควบตำแหน่งนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนอธิบายไว้ว่า “แม่” ตรงกับคำว่าว่า “เม” ในภาษาเขมรที่แปลว่า หัวหน้า หรือผู้เป็นใหญ่ ในขณะที่คำว่า “สรี” ที่ชอบเขียนเพี้ยนไปเป็น “แม่ศรี” ทั้งที่มาจากคำว่า “เสร็ย”ที่แปลว่า “ผู้หญิง” ในภาษาเขมร ในบางท้องถิ่นจึงเรียกเป็น “แม่สี” ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่าเรียก แม่ศรี ที่ความหมายผิดเพี้ยนไป

เมื่อรวมความเข้า “แม่สรี” หรือ “แม่สี” ก็หมายถึง “หญิงผู้เป็นใหญ่” หรือ “หญิงผู้เป็นหัวหน้า” การเข้าทรงแม่สรีจึงเป็นร่องรอยของการเลี้ยงผีบรรพบุรุษที่มี “ผู้หญิง” เป็นใหญ่ ตามจักรวาลวิทยาแบบดั้งเดิมของอุษาคเนย์ก่อนรับวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์จากชมพูทวีป •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ