รายงานพิเศษ : ยลงานศิลป์ “พระเมรุมาศ” ร.9 งามงดสมพระเกียรติ ส่งเสด็จสู่ฟ้าเสวยสวรรค์

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

วันที่ 26 ตุลาคม 2560 ได้เป็นวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนจะจดจำ ที่ทุกคนได้ร่วมส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่สวรรคาลัย พร้อมกับถวายความอาลัยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ปฏิบัติพระราชณียกิจในช่วงมีพระชนม์ชีพอย่างสมบูรณ์

พร้อมกับภาคภูมิใจกับสถาปัตยกรรมที่ก่อร่างสร้างขึ้นเพื่อส่งเสด็จ อย่างพระเมรุมาศ ที่ไม่เพียงประกาศความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักของปวงชนผ่านความงดงามของศิลปะเท่านั้น แต่สิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่นี้

ยังสื่อแทนเรื่องราวหลายอย่างให้กับเรา ซึ่งอาจนึกไม่ถึงมาก่อน

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่นิทรรศรัตนโกสินทร์ ในงานศิลปวัฒนธรรมเสวนา ได้จัดเสวนา “ธ เสด็จ สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” ให้ความรู้พร้อมชมภาพพัฒนาการของพระเมรุมาศ ที่จะใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนเสร็จสมบูรณ์ พร้อมด้วยความงดงามของศิลปะ จิตรกรรมและสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดออกมาอย่างสมพระเกียรติและถูกต้องตามโบราณราชประเพณี

ศ. (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ตอบสื่อต่างชาติว่าพระเมรุนั้นถูกสร้างขึ้นบนคติความเชื่ออะไร ตนกล่าวว่า ประเทศไทยมีศาสนาอยู่ 2 ศาสนาใหญ่คือ 1.ศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ เรามีคำอธิบายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในฐานะชุดความคิด ว่า พระพุทธเจ้าที่เรานับถือ ไม่ใช่องค์แรกและไม่ใช่องค์สุดท้าย ในอนาคตจะมีอีก

ตามคติเกี่ยวกับการเสวยชาติของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า “ชาดก” เราเรียกว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ในคติแบบนี้ ในภายภาคหน้าท่านจะต้องเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ที่ใดที่หนึ่ง และที่นั้นก็คือ การเป็น “พระมหากษัตริย์”

ถ้าหากดูพระราชจริยวัตรของในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็เป็นการยืนยันหนักแน่นว่า พระองค์ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ สั่งสมความดีเพื่อที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ในวันข้างหน้า การเรียกว่า “สวรรคต” แปลว่า ไปสวรรค์ พระองค์ท่านจะไปอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต รอเวลาที่จะเสวยชาติในอนาคต เป็นพระโพธิสัตว์ต่อไปหรืออาจเป็นพระพุทธเจ้าเลยก็ได้

ส่วนคติความเชื่อหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเรา แต่ตอบไม่ถูกว่าสอนอะไร อย่าง 2.พราหมณ์-ฮินดู เป็นอีกชุดความคิดเกี่ยวกับเทพเจ้าสำคัญ โดยเฉพาะ 3 องค์คือ พระพรหม พระนารายณ์และพระศิวะ แต่เราจะคุ้นกับพระนารายณ์มากที่สุด ในเรื่องอวตารปราบยุคเข็ญ ที่เรารู้จักกันอย่าง “นารายณ์สิบปาง” เมื่อสวรรคต พระองค์กลับไปเป็นหนึ่งเดียวกับพระนารายณ์ ไม่ว่าจะมองแนวคิดแบบพุทธก็ดี หรือพราหมณ์ก็ดี แต่มุ่งทางเดียวกันคือ “เสด็จสู่สรวงสวรรค์”

การสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ พลิกตำราเรียกว่าเป็นการสร้างสวรรค์ มีป่าหิมพานต์ มีเทวดา ต้องมีสรรพสิ่งทั้งปวง นี่คือสวรรค์ของคนไทย หากได้อ่านหนังสือ เราสร้างสวรรค์ด้วยความประณีตบรรจง ความตั้งอกตั้งใจ

รศ.ยุวดี ศิริ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ มีสัญลักษณ์พิเศษอยู่รอบพื้นที่ เริ่มจากที่แรกคือ พระจิตกาธาน มีประติมากรรมคุณโจโฉและคุณทองแดง ซึ่งเป็นสุนัขทรงเลี้ยง โดยในหลวง รัชกาลที่ 9 สำหรับคุณโจโฉ ปรากฏหลักฐานเป็นภาพถ่ายเพียง 8 รูปเท่านั้น ที่เอามาเป็นตัวแบบสร้างประติมากรรม

จุดที่น่าสังเกตของคุณทองแดงจะมีดอกมะลิประดับอยู่ ซึ่งแสดงถึงความภักดี หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง แม่นมของคุณทองแดงที่ชื่อ มะลิ ก็สะท้อนถึงความกตัญญูไปด้วย

ต่อด้วย ฉากบังเพลิง ซึ่งก่อนหน้านี้จะเป็นรูปเทวดา แต่คราวนี้ จะเป็นรูปพระนารายณ์อวตารในปางต่างๆ ซึ่งฉากบังเพลิงแต่ละทิศจะมีนารายณ์องค์ละ 2 ปาง รวมเป็น 8 จะมีเว้นอีก 2 ซึ่งเป็นปางที่ 5 และ 9 โดยปางที่ 5 นั้นไม่ทราบว่าคืออะไร แต่ปางที่ 9 สันนิษฐานว่า อยู่ในพระจิตกาธาน หรือก็คือ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระนารายณ์อวตารลงมา อีกทั้งฉากบังเพลิงยังมีภาพโครงการตามพระราชดำริ 4 ทิศ แบบตามธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ

นอกจากนี้ ฉากบังเพลิงทิศที่สำคัญคือ ทิศตะวันตก จะเป็นพระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะ ภาพนี้ สมเด็จพระเทพฯ ทรงแต้มสีเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ และฉากบังเพลิงด้านนี้ จะหันตรงกับพระที่นั่งทรงธรรม

ถัดมาที่ ลานอุตราวรรต จะมีไม้ดอกไม้ประดับ โดยไม้ประดับส่วนใหญ่มาจากสวนนงนุช ต้นไม้ที่สำคัญคือ ต้นหน้าวัวใบ จะออกดอกเป็นสีเหลือง ซึ่งต้นหน้าวัวใบจะอยู่ที่พระที่นั่งทรงธรรมเท่านั้น ส่วนที่อยู่ข้างนอกจะเป็นข่อย หรือดอกแก้ว ทั้งหมดนี้จะใส่ไว้ในกระถาง ซึ่งนำมาจาก 2 ที่ ที่แรกมาจากจังหวัดลำปาง จะเป็นกระถางคอกหมู ใส่ดอกดาวเรือง วางเป็นเขตรอบพระเมรุ

ส่วนกระถางอีกแบบมาจากเถ้าฮงไถ่ของจังหวัดราชบุรี และกระถางจากเถ้าฮงไถ่มี 8 รูปทรง ได้แก่ ทรงเก้าเหลี่ยม โดยแต่ละเหลี่ยมจะมีเลข ๙ แบบเดียวกับที่แปลงนาที่ออกแบบโดย อ.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิกที่ดูแล

อีกทั้งยังมีกระถางทรงกลม สลักตรา ภปร. กระถางเก้าเหลี่ยมเป็นตัววาดลายตรา ภปร. และตราจักรี ส่วนกระถางหมูสิงห์ได้จากงานครองราชย์ 60 ปี

ไม่เพียงเท่านี้ กระถางเก้าเหลี่ยมยังวาดลวดลายเป็นดอกดาวเรืองซึ่งมีกลีบทั้งหมด 90 กลีบ ต้องวาดอย่างบรรจงจนครบ นัยยะคือ การส่งต่อจากรัชกาลที่ 9 สู่รัชกาลที่ 10 และตรงกลางของดอกดาวเรืองจะมีเพียง 9 กลีบ หมายถึง รัชกาลที่ 9 อยู่กลางใจปวงชน และกระถางลายนูนและลายวาด จะมีลายกระต่าย แทนปีนักษัตรพระราชสมภพ และมีจำนวน 5 ตัวแทนวันพระราชสมภพ และมีลายคลื่นสื่อถึงความเพียรในเรื่องพระมหาชนก และลายผ้าจก

ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของราชบุรี

รศ.ยุวดี กล่าวอีกว่า มาตรงส่วนที่พระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน เพราะแต่เดิมจะเป็นอาคารทรงโปร่ง แต่ครั้งนี้เป็นอาคารปิด เนื่องจากมีพระราชอาคันตุกะและผู้แทนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดเครื่องปรับอากาศ และผนัง 3 ด้านของพระที่นั่งทรงธรรมจะปรากฏภาพพระราชกรณียกิจทั้งหมด 46 โครงการ

โดยผนังด้านหลังในส่วนโถงกลางจะเป็นโครงการในพระตำหนักสวนจิตรลดา

ส่วนด้านขวาที่เป็นส่วนของพระบรมวงศานุวงศ์ จะเป็นโครงการในภาคเหนือและอีสาน และด้านซ้ายซึ่งเป็นที่นั่งของผู้นำต่างประเทศ จะเป็นโครงการในภาคใต้และกลาง โดยโครงการที่วาดทั้งหมด อ้างอิงจากข้อมูลจริง บุคคลในภาพสามารถสืบได้ว่าเป็นใคร

จากนั้นมาส่วนที่เป็นแปลงนา โดยตรงคันดิน ซึ่งจะเป็นสีทอง ปรากฏเป็นเลข “๙” สื่อถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยคันดินจะสร้างตามแบบของบ้านดิน และมีแปลงนาอยู่ใกล้ซึ่งสื่อถึงพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กับเกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ

และที่พิเศษคือ พื้นที่บางส่วนของแปลงนาจะมีการปลูก “ดอกหน้าวัวสีชมพู” ซึ่งมาจากพระตำหนักดอยตุง โดยสมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าให้ภูมิสถาปนิกฟังและต้องเจาะจงว่าเป็นดอกไม้ชนิดนี้ เพราะเป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงตัดถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นประจำ

และดอกหน้าวัวสีชมพู จะมี 2 พันธุ์คือ ศรียาตราและจักรพรรดิ เป็นดอกไม้พันธุ์หายาก มีนัยยะว่า เป็นดอกไม้ที่ “แม่ให้ลูก”

นอกจากนี้ ส่วนที่เป็นต้นไม้ประจำพระองค์ ที่เรามักเรียกว่าเป็น “ต้นไม้ของพ่อ” คือ ต้นยางนา โดยที่มาคือ ครั้งเมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จประทับที่ไทยเป็นการถาวร ในฤดูร้อนของทุกปี พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปหัวหิน ระหว่างผ่านจังหวัดหนึ่ง เห็นต้นยางนา พร้อมกับตรัสว่า ต้นยางนาจะเป็นพืชเศรษฐกิจและควรอนุรักษ์ไว้ แต่ที่ตรงนั้นชาวบ้านจับจองแล้ว จึงสั่งให้มหาดเล็กนำเมล็ดเพื่อนำมาเพาะปลูกในพระตำหนักไกลกังวลจนโตแล้วจะมาปลูกที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2504

ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร