AFTER YANG ‘ชีวิตคือสิ่งใด’ | ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

AFTER YANG ‘ชีวิตคือสิ่งใด’

 

หนังเรื่องนี้ถามคำถามโลกแตกข้างต้นและครอบคลุมประเด็นน่าคิดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นคำถามที่มนุษยชาติพยายามขบคิดกันมาแล้วหลายพันปี แต่ก็ยังหาคำตอบที่น่าพอใจไม่ได้

After Yang เป็นหนังอินดี้เล็กๆ แต่หัวใจใหญ่โต ตั้งจุดหมายยิ่งใหญ่โดยตั้งคำถามแบบที่เรียกว่า “อภิปรัชญา” (metaphysics) หรือความรู้อันสูงสุดที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของมนุษย์

ตลอดกาลเวลาในประวัติอารยธรรมของโลก มนุษย์มองชีวิตและความเป็นไปรอบตัว และตั้งคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้อย่างถ่องแท้มาจนบัดนี้ อาทิ ปัญหาเกี่ยวกับความจริง จิตหรือวิญญาณ เจตจำนงเสรี กาลเวลา ตัวตน และอำนาจเหนือธรรมชาติ

After Yang ซึ่งนำมาจากเรื่องสั้นชื่อ Saying Goodbye to Yang โดยผู้กำกับฯ ชาวเกาหลีใต้ เป็นหนังดราม่าแบบไซไฟ ที่ใคร่ครวญครุ่นคำนึงถึงการใช้ชีวิตครอบครัวบนโลกในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าจนมนุษย์ใช้ชีวิตครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับจักรกล AI หรือหุ่นยนต์เสมือนจริง

ครอบครัวเฟลมิ่ง ประกอบด้วยพ่อชื่อ เจค (คอลิน ฟาร์เรล) แม่ชื่อไครา (โจดี้ เทอร์เนอร์-สมิธ) ลูกสาวชื่อ มิกา (มาเลีย เอมมา จันทรวิดจาจา) และหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ชื่อ หยาง (จัสติน เอช. มิน)

ครอบครัวในอนาคตนี้เป็นครอบครัวที่ผสมผสานทั้งสีผิว เชื้อชาติ และวัฒนธรรมของโลกเก่าเข้ามาอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

เจคเป็นชายผิวขาว ผู้มีความคลั่งไคล้ใหลหลงในเรื่องชา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่นับพันปีของชาวจีน เขาเปิดร้านขายชาเล็กๆ แบบโบราณ ซึ่งดูจะไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะเจคปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของสินค้า โดยไม่ยอมปรับปรุงให้ทันสมัยและเข้ากับรสนิยมการชงชาในโลกสมัยใหม่

ไคราเป็นสาวผิวดำที่ดูเหมือนจะทำงานออฟฟิศเต็มเวลา จนไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเอง

มิกาเป็นเด็กหญิงชาวจีนที่ครอบครัวเฟลมิ่งรับมาอุปการะเป็นลูกบุญธรรม

ส่วน “หยาง” ตามชื่อหนัง เป็นหุ่นยนต์มนุษย์ หรือในหนังเรียกว่า “เทคโนเซเปียน” ซึ่งครอบครัวเฟลมิ่งซื้อเป็นสินค้ามือสองต่อมาอีกที จากร้านชื่อ “พี่น้องคนที่สอง” (Second Siblings) โดยยังมีใบรับประกันคุ้มครองอยู่

ครอบครัวเฟลมิ่งซื้อหยางมาเพื่อให้เป็นจุดเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมตามกำเนิดของมิกา และเพื่อให้เป็นพี่ชายที่คอยดูแลน้องสาว ดังชื่อของบริษัทผู้ผลิตเทคโนเซเปียนที่เรียกตัวเองว่า “พี่น้อง ชายหญิง” (Brothers & Sisters)

เมื่อไม่ต้องดูแลลูกเอง ครอบครัวในอนาคตครอบครัวนี้ก็มีเวลาสำหรับอาชีพการงานมากขึ้น ซึ่งก็ใช่ว่าจะเป็นข้อดี เนื่องจากมิกาเริ่มบ่นว่าพ่อกลับบ้านช้าทุกวัน และไคราพยายามหาทางสานสัมพันธ์ในครอบครัวไว้ให้ใช้เวลาในกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น

กิจกรรมร่วมสำหรับครอบครัวอนาคต คือการเข้าแข่งขันการเต้นเข้าจังหวะอย่างพรักพร้อมในครอบครัว โดยเต้นอยู่ที่บ้านของแต่ละครอบครัวในเวลาจริง

ผู้เข้าแข่งขันจำนวนสามหมื่นครอบครัวจะถูกคัดออกตกรอบไปเรื่อยๆ จนเหลือผู้ชนะในที่สุด

ฉากนี้ตลกมากค่ะ และอยู่ตอนต้นๆ ในช่วงเครดิตเปิดเรื่อง เห็นความเอาจริงเอาจังของสมาชิกครอบครัวที่หมุนเวียนกันไปอย่างหลากหลายเชื้อชาติชนชาติ ลีลาท่าทางประหลาดๆ ชวนขัน และความพร้อมเพรียงของสมาชิกครอบครัวที่เต้นอย่างใจจดใจจ่อกับลีลาท่าทาง ก็เรียกรอยยิ้มขำขันได้โดยไม่รู้ตัวเลย

แต่นี่ก็ดูเหมือนจะเป็นมุขตลกที่มีไม่มากนักในหนัง เพราะไม่ทันไรหนังก็เริ่มเข้าไคล เข้าสู่ประเด็นหลักของเรื่องด้วยการที่ครอบครัวเฟลมิ่งถูกคัดออกจากการแข่งขันในรอบที่สาม

ปิ๋ว! ทุกคนเลิกเต้น ใจฝ่อห่อเหี่ยวอย่างยิ่ง แต่ก็มีคำปลอบใจตัวเองว่าครั้งนี้เป็นการเข้ารอบได้ลึกที่สุดเท่าที่เคยแข่งมา

แต่ท่ามกลางความรู้สึกผิดหวังของคนอื่นๆ ในครอบครัว หยางยังคงเต้นต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และไม่มีทีท่าว่าจะรับรู้หรือตอบสนองกับการตกรอบเลย

เมื่อหยางหยุดเคลื่อนไหวไปในที่สุด เขาก็แน่นิ่งไปและไม่ยอมตื่นขึ้นมารับรู้กับอะไรอีกเลย

การสูญเสียหยางก็เหมือนการสูญเสียสมาชิกคนสำคัญในครอบครัวไป มิกาเสียใจมาก แม้ว่าไคราจะคิดว่าการไม่มีหยางอาจเป็นการทำให้ครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิมก็ตาม

แต่เจคก็ไม่ยอมแพ้กับการสูญเสียครั้งนี้ไปง่ายๆ เขาแบกร่างไร้ชีวิตของมนุษย์เทคโนไปซ่อม เพียงเพื่อจะพบว่าร้านที่เขาซื้อหยางมานั้นเลิกกิจการไปแล้ว

และเขาต้องแบกหยางไปหาร้านอื่นซ่อมต่อไป

เจคได้รับคำแนะนำให้ซื้อสินค้าตัวใหม่มาแทน หรือไม่ก็เอาชิพในตัวหยางมาใช้ในรูปแบบอื่น

สรุปก็คือ แกนกลางของตัวหยางไม่สามารถซ่อมให้กลับมาใช้งานได้อีกแล้ว และร่างของหยางที่เป็นอินทรียวัตถุก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพเน่าเปื่อยไป

ความพยายามในการซ่อมหยางให้กลับมาดีเหมือนเดิมและใช้ชีวิตในฐานะส่วนหนึ่งของครอบครัวเฟลมิ่ง…เป็นทั้งพี่ชายและลูกชาย…นำเจคไปสู่การค้นพบครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการพบ “ตัวเก็บความจำ” (memory bank) ที่เก็บรักษาความจำไม่กี่วินาทีซึ่งคัดเลือกเก็บไว้ในแต่ละวันตลอดทั้งชีวิต…ซึ่งไม่ต่างจากมนุษย์กับความทรงจำที่เลือกเก็บไว้

หนังเดินเรื่องอย่างละเมียดละไมและชวนคิดมากค่ะ ความยาวราวชั่วโมงครึ่งทำให้นั่งดูต่อเนื่องได้ตลอด แม้จะเป็นหนังที่ค่อยๆ เดินเรื่องไปอย่างเชื่องช้า แต่ก็มีประเด็นที่สะกิดใจให้คิดต่ออยู่ตลอด

ไม่ว่าจะเป็นคำปลอบใจของหยางต่อหนูน้อยมิกา ซึ่งอึดอัดกับความรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของพ่อแม่ หยางใช้อุปมาของการต่อกิ่งบนต้นไม้ ซึ่งไม่นานก็จะประสานเป็นเนื้อเดียวกันและขยายพันธุ์สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้แก่โลก

ความสนใจของหยางต่ออาชีพของเจค ซึ่งนำไปสู่เหตุผลของความหลงใหลในชา และภาพสวยๆ ของใบชาที่หมุนคว้างในน้ำชาสีอำพันซึ่งเป็นความประทับใจที่หยางเลือกเก็บไว้

การพูดคุยระหว่างหยางกับไครา ในเรื่องของคอลเล็กชั่นผีเสื้อที่หยางสะสม และนักปราชญ์จีนโบราณ เล่าจื๊อ ที่ถูกนำมาตีความให้เป็นคำกล่าวอันคมคายว่า

“สิ่งที่ดักแด้เรียกว่าจุดสิ้นสุด คนทั้งโลกเรียกว่าผีเสื้อ”

การค้นพบสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของหยางยังนำไปสู่ชีวิตอื่นที่หยางเคยใช้ร่วมกับครอบครัวก่อนหน้า ซึ่งเหมือนกับชีวิตที่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด และความต่อเนื่องของบางส่วน

นับเป็นหนังที่คลอบคลุมเนื้อหากว้างขวางมากเกินพรรณนาค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเศร้าเสียใจอาลัยรักจากการสูญเสีย ความหมายของชีวิต การเกิดใหม่ของจิตวิญญาณ โลกที่พึ่งพาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การโคลนนิ่งมนุษย์ และการข้ามสายพันธุ์หรือเชื้อชาติ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ยังจาระไนได้ไม่หมดจดถี่ถ้วนหรอกค่ะ

หนังเรื่องนี้ได้รับการเสนอเข้าชิงในเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ รวมทั้งได้รับรางวัลอัลเฟรด พี. สโลน ในเทศกาลซันแดนซ์ ซึ่งให้เฉพาะหนังไซไฟหรือหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี •

AFTER YANG

กำกับการแสดง

Kogonada

นำแสดง

Colin Farrell

Jodie Turner-Smith

Justin H. Min

Malea Emma Tjandrawidjaja

Sarita Choudhury

Maley Lu Richardson

 

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์

https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024