น้ำท่วมอยุธยา | วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

น้ำท่วมอยุธยา

 

กรุงเทพฯ กับแผนการปรับตัว สัญญาณเตือนส่งมาอีกครั้ง มาจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมอยุธยา

กรุงเทพฯ มีความเชื่อมโยงและต่อเนื่องมาจากเมืองหลวงเก่า-อยุธยา ในหลายๆ มิติ

วิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่สองครั้งห่างกันหนึ่งทศวรรษ สะท้อนภาพความสัมพันธ์และบทเรียนซับซ้อนไว้

จากวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งก่อนเมื่อปี 2554 ในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ภาพโฟกัสหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ คือภาพความเป็นไปของเมืองหลวงเก่า-อยุธยา ได้รับความสนใจขึ้นอย่างมาก พร้อมๆ กับภาพที่กระจ่างชัด เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งค้นพบ

คำว่า “น้ำลดตอผุด” นั้น คงเป็นความจริง แต่กรณีน้ำท่วม บางทีมีภาพที่ไม่เคยเห็นปรากฏขึ้นด้วย

ครั้งนั้นมีภาพหนึ่งซึ่งขัดแย้ง ความอยู่รอดชุมชนเกษตรกรรมภาคกลางอยู่ใกล้เมืองหลวงมากที่สุด หลายๆ คนเคยทึกทักว่า มาจากการพึ่งพิงเมืองหลวงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่เมืองหลวง การท่องเที่ยวเชิงผนวกจากเมืองหลวงใหม่สู่เมืองหลวงเก่าแบบ one day trip รวมทั้งเป็นชุมชนดาวบริวารได้รับอิทธิพลว่าด้วยวิถีชีวิตและการบริโภค แบบสังคมเมืองอย่างมากด้วย

การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย หลังสงครามเวียดนาม และสงครามประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงไปถึงชุนชนเกษตรกรรมลุ่มเจ้าพระยา จึงเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง ด้วยปรากฏขึ้นของโรงงานญี่ปุ่นในพื้นที่อยุธยา

ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย พร้อมกับสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเมืองหลวงเก่า

ภาพที่เป็นจริงยังไม่ปรากฏชัด หากไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในครั้งก่อนหน้านั้น

 

อันที่จริงครั้งนั้น น้ำท่วมอย่างทั่วถึง แทบจะเท่าเทียมกันในอาณาบริเวณกว้างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคใกล้ ทั้งชุมชนเกษตรกรรม โบราณสถาน

แต่ภาพที่ผู้คนสนใจเป็นพิเศษ เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นชุมชนอุตสาหกรรม ในนามนิคมอุตสาหกรรมที่มีรั้วรอบขอบเขตและอาณาบริเวณชัดจน ทั้งมีระบบป้องกันไว้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกันเป็นภัยคุกคามเมืองหลวง-กรุงเทพฯ ครั้งสำคัญ ภาวะโกลาหลเกิดขึ้น ไม่ว่าการจับจ่ายสินค้าอาหารและน้ำดื่มจนเกิดภาวะขาดแคลน มีการย้ายสำนักชั่วคราวของบริษัทใหญ่ไปต่างจังหวัด ผู้คนพากันนำรถยนต์ไปจอดไว้บนทางด่วน ฯลฯ เป็นภาพซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน

สะท้อนมิติใหม่ เมืองหลวงทั้งสัมพันธ์ พึ่งพิง และอ้างอิงเมืองบริวารมากกว่าที่คิด

ความสนใจในเวลานั้นไปไกล สื่อระดับโลกนำเสนอภาพเมืองหลวงเก่า-อยุธยา ที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านรายงานของ BBC เรื่อง Ayutthaya : One Square Mile of Thailand

“…เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรยิ่งใหญ่ของพุทธและฮินดูมา 400 ปี แต่ในปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในระบบเศรษฐกิจโลก และเมื่อเผชิญน้ำท่วมครั้งร้ายแรงในปี 2554 จึงส่งผลให้ supply chain ของบริษัทใหญ่ที่สุดในโลกบางแห่งต้องหยุดชะงัก” สาระสำคัญว่าไว้

ในสารคดีชุดนั้น ภาพเมืองหลวงในอดีตถูกวาดขึ้น เรื่องราวที่เราเองอาจไม่รู้หรือลืมไปแล้ว อ้างบทสนทนาเจ้าหน้าที่ UNESCO ในประเทศไทย “เป็นเมืองที่มีความทันสมัย เต็มไปด้วยพ่อค้าชาวต่างชาติ โดยคลองรอบๆ เมืองหลวง มีความพลุกพล่านตลอดเวลา ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อยุธยาถือเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งเท่าๆ กับปารีส” ขณะตัดภาพสู่ปัจจุบัน ว่าด้วยการพัฒนาอย่างไม่สมดุล

BBC ให้ข้อมูลว่าในพื้นที่อยุธยามีโรงงานมากกว่า 2,000 แห่ง โดยมีการจ้างแรงงานท้องถิ่นประมาณ 200,000 คน โดยอ้างอิงถึงเป็นพิเศษ กรณีโรงงานผลิตรถยนต์ Honda ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 6 ของโลก ซึ่งสามารถผลิตรถยนต์ได้ปีละ 300,000 คัน ในช่วงนั้นเช่นกันสำนักข่าว AP ระบุไว้อีกด้วยว่า “มีโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ของธุรกิจญี่ปุ่นมากกว่า 300 แห่ง”

โดยมีบทสนทนาผู้บริหารโรงงานญี่ปุ่นอยู่ด้วย สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของอยุธยาไปอีกระดับ ส่วนใหญ่ ยืนยัน (ในขณะนั้น) ไม่ได้พิจารณาย้ายโรงงานออกจากพื้นที่อยุธยา ขณะกำลังติดตามการสร้างเขื่อนกันน้ำรอบๆ นิคมโรงงาน ซึ่งบางแห่งที่มีความยาวนับสิบกิโลเมตร รวมทั้งติดตามแผนงานการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลด้วย

สัญญาณเตือนอย่างจริงจังในครั้งนั้น บ่งบอกการเปลี่ยนแปลงที่ราบลุ่มเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่อยุธยา จะมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ป้องกันน้ำท่วมในเขตอุตสาหกรรม และชุมชนเมือง (ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งโบราณสถาน) ที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจ ขณะชุมชนและภาคเกษตรกรรม ถูกแยกออกมา

ภาพเช่นนั้นปรากฏอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์น้ำท่วมอยุธยาในปีนี้

 

แม้ว่าน้ำท่วมปีนี้ไม่มากเท่าครั้งก่อน (2554) แต่มีบางชุมชนชายฝั่งเจ้าพระยา ไล่มาตั้งแต่ต้นทาง เผชิญน้ำท่วมหนักหนาทีเดียว โดยเฉพาะอยุธยาบางพื้นที่ มีระดับน้ำท่วมสูงกว่าที่เป็นมา กลายเป็นเขตรับน้ำเพื่อปกป้องพื้นที่อื่น วิถีชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก และถูกแบ่งแยก เป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง

ขณะเขตเมืองและโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม มีระบบป้องกันอย่างหนาแน่น เชื่อได้ว่าจะก้าวพ้นวิกฤตไปได้ แม้ว่าระบบ Logistics กระทบกระเทือนบ้าง

ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กำแพงป้องกันริมเจ้าพระยาหนาแน่นกว่าที่เคย กับหน่วยงานบริหารน้ำที่เกี่ยวข้อง ให้คำมั่นว่าจะไม่ปล่อยน้ำลุ่มเจ้าพระยาเข้ามากล้ำกราย กรุงเทพฯ คงเป็นไปในทิศทางเดิม อ้างอิงเครือข่ายถนนและระบบราง (โปรดอ่าน “เหตุการณ์สำคัญ”) ขณะระบบระบายน้ำเปราะบาง ขณะนี้จึงอยู่ท่ามกลางภาวะระแวดระวัง และวิตกกังวล

กับสัญญาณเตือนอีกครั้ง กรุงเทพฯ-สัญลักษณ์เมืองใหญ่ เขตเศรษฐกิจสำคัญ และระบบบริหารรัฐภาพรวม จะปรับตัว ปรับยุทธศาสตร์ จัดความสัมพันธ์ใหม่กับเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง หรือไม่ อย่างไร •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com