หัวชาร์จ ‘เดียว’ ใช้ทั่วโลก | สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

หัวชาร์จ ‘เดียว’ ใช้ทั่วโลก

 

รัฐสภาสหภาพยุโรปหรืออียูลงมติร่างกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาทั้งหมดใช้หัวชาร์จยูเอสบี ไทป์ซี (USB Type-C) แบบเดียวกันเพื่อลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และความสับสนอลหม่านของผู้บริโภค

ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้โทรศัพท์สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต รวมทั้งไอโฟน ไอแพดของบริษัทแอปเปิล ต้องใช้สายชาร์จยูเอสบี ไทป์ซี ตั้งแต่ปี 2567 ส่วนผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ ประเภทแล็บท็อป ทางอียูจะให้เวลาเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตสายชาร์จไปจนถึงปี 2569

ผลการลงมติเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกรัฐสภาอียูเห็นด้วย 602 เสียง ไม่เห็นด้วย 13 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง

สมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ จะส่งร่างกฎหมายนี้ไปให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ เห็นชอบในวันที่ 24 ตุลาคม จากนั้นรัฐสภาอียูจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

 

ชาวอียูพากันยินดีปรีดากับข่าวนี้ เพราะปัญหาเรื่องสายชาร์จ หัวชาร์จ หรือแท่นชาร์จโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้ามานานแล้ว เนื่องจากแต่ละยี่ห้อใช้คนละแบบ คนละชนิด เสียบใส่ไม่ได้ หรือแม้แต่ยี่ห้อเดียวกัน แต่คนละรุ่น คนละซีรี่ส์ ก็มีปัญหาเสียบใส่ไม่ได้เช่นกัน

ผมเองก็เคยนำปัญหานี้มาวิพากษ์วิจารณ์ในคอลัมน์นี้ว่า ทำไมบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ๆ จึงไม่กำหนดการออกแบบสายชาร์จ ช่องเสียบสายหรือพอร์ต และแท่นชาร์จเป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้บริโภคจะได้รับความสะดวกไม่ต้องพกสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ ไอแพด หรือโน้ตบุ๊กหลายสายให้รุงรังกระเป๋า

ถ้าบ้านใครมีโทรศัพท์คนละยี่ห้อ มีกล้องถ่ายรูปดิจิทัล อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างแท็บเล็ต ชุดเล่นเกมวิดีโอหรือลำโพงชนิดพกพาหลายเครื่อง บ้านหลังนั้นจะมีสายชาร์จ แท่นชาร์จ เป็นกองพะเนิน

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เมื่อพังหรือล้าสมัย จะกลายเป็นปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์หากเก็บไว้ในบ้านก็รกหูรกตา ไร้ประโยชน์

ถ้าเอาไปทิ้งนอกบ้านจะกลายเป็นปัญหาทำลายสภาพแวดล้อม ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ หรือเอาไปกำจัดต้องใช้วิธีเฉพาะในการแยกวัสดุมีทั้งเป็นโลหะ พลาสติกที่รีไซเคิลได้ ไม่สามารถรีไซเคิลได้

รัฐสภาอียูมองเห็นปัญหานี้มานานแล้ว ในปี 2552 มีการหยิบยกมาหารือในชั้นคณะกรรมาธิการ มีการเชิญผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือมาพูดคุยเพื่อหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกในการใช้อุปกรณ์ชาร์จในเครื่องโทรศัพท์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ พร้อมกับตั้งทีมศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สายชาร์จประเภทเดียวกันกับอุปกรณ์พกพาทุกรุ่นทุกยี่ห้อ

ปกติแล้วชาวอียูจะมีสายชาร์จและหัวชาร์จอยู่ในมืออย่างน้อย 3 ชนิด ใช้กับไอโฟน โทรศัพท์มือถือยี่ห้ออื่น สายชาร์จสำหรับแท็บเล็ต และในผลการศึกษาพบว่าชาวอียู 78 เปอร์เซ็นต์ ไม่พอใจกับการใช้อุปกรณ์ชาร์จที่มีในปัจจุบัน

ในจำนวนนี้ 38% ประสบปัญหาไม่สามารถหาสายชาร์จหรือหัวชาร์จมาชาร์จโทรศัพท์มือถืออย่างน้อย 1 ครั้ง

ผลสำรวจยังพบอีกว่า 63% เห็นด้วยที่รัฐสภาอียูออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์การชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ และมีแค่ 6% ที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนี้เพราะถือเป็นการแทรกแซงการค้าเสรี

 

รัฐสภาสหภาพยุโรปประเมินว่า เมื่อปี 2561 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือสายชาร์จ แท่นชาร์จที่ไม่ใช้แล้ว ราว 11,000 ตัน จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี และยังมีผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศราวๆ 600 กิโลตัน (kt C02e)

ผลการศึกษายังพบว่า การนำเทคโนโลยีชาร์จไร้สายมาใช้กับอุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคม ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ยอดขายเครื่องชาร์จไร้สายเพิ่มขึ้นมาก เพียง 2 ปีหลังจากนั้น ปริมาณการขายเพิ่มเป็น 6 เท่าตัว หรือราวๆ 44 ล้านชุด

ในเดือนกันยายน 2564 คณะกรรมาธิการอียูนำร่างกฎหมายบังคับใช้หัวชาร์จเพียงแบบเดียวคือยูเอสบี ไทป์ซี มาถกกันในรัฐสภา เพราะเห็นว่าผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทคชนิดพกพาทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็กทุกยี่ห้อใช้เทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว

ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มีข้อบังคับให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ที่วางขายในยุโรป ประกอบด้วยโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-รีดเดอร์ส์ กล้องถ่ายรูปดิจิทัล หูฟังหรือเฮดโฟนและชุดหูฟัง คอนโซลวิดีโอเกมแบบพกพา เมาส์ คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ไมโครโฟน ลำโพงชนิดพกพา อุปกรณ์นำทาง (navigation devices) จะต้องใช้สายชาร์จ แท่นชาร์จ หัวชาร์จ ช่องเสียบ แบบยูเอสบี ไทป์ซีเท่านั้น

นอกจากนี้ ในกฎหมายยังเปิดทางให้ผู้บริโภคมีทางเลือกจะซื้ออุปกรณ์แยกส่วนหรือรวมทุกอย่าง แตกต่างจากปัจจุบัน ที่ผู้บริโภคโดนผู้ผลิตบังคับให้ซื้อทั้งโทรศัพท์มือถือ ไอแพด หรือโน้ตบุ๊กรวมสายชาร์จด้วย ทั้งที่ที่บ้านก็มีสายชาร์จชนิดนั้นอยู่แล้ว

บริษัทแอปเปิล ผู้ผลิตไอโฟนออกมาโวยวายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นผลเสียกับผู้บริโภค ทั้งที่แอปเปิลก็ผลิตสายชาร์จยูเอสบี ไทป์ซีในโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม รัฐสภายุโรปไม่สนเสียงทักท้วงของแอปเปิล เพราะเชื่อมั่นว่า กฎหมายฉบับนี้ หากออกมาบังคับใช้ในปี 2567 จะช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินอย่างน้อยๆ ปีละ 266 ล้านยูโร หรือราว 1 หมื่นล้านบาท ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก

อียูยังมองภาพในอนาคตว่า จะหาแนวทางกำหนดเทคโนโลยีการชาร์จไร้สาย (wireless charging technology) ตอบสนองผู้บริโภคให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น

 

ปัญหาเรื่องสายชาร์จคนละรุ่น คนละยี่ห้อใช้ด้วยกันไม่ได้นั้นเป็นปัญหาของโลกยุคดิจิทัล ก็ต้องชื่นชมรัฐสภาอียูที่เห็นปัญหาแล้วสามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว สำหรับในบ้านเรา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐสภาหยิบยกปัญหานี้มาพิจารณาบังคับใช้เป็นกฎหมายให้อุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสารทุกยี่ห้อที่วางขายในเมืองไทยใช้หัวชาร์จประเภทเดียวเหมือนที่อียูกำหนด จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไม่ต่างกับยุโรป

แต่ถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล ซัมซุง หัวเว่ย ฯลฯ เล่นเกมยื้อไม่ยอมทำตามข้อกำหนดของรัฐบาลไทย เพราะเห็นไทยเป็นแค่ประเทศเล็กๆ ผมเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปดึงพลังจากกลุ่มเอเปคมาบีบบริษัทยักษ์ใหญ่

เอเปคมีพลังไม่น้อยหน้าอียูเพราะมีสมาชิกถึง 21 เขตเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย สหรัฐ มีการค้าขายรวมกันเกือบครึ่งของการค้าโลก และประชากรมีเฉียดๆ 3 พันล้านคน

ปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็โยนปม “หัวชาร์จเดียว” ใช้ทั่วโลกมาถกบนเวทีประชุมผู้นำสุดยอด ถ้าบรรดาสมาชิกเอเปคเห็นด้วยกับแนวคิดนี้

รับรอง “ลุงตู่” ดังระเบิดและถือว่าเป็น 1 ในความสำเร็จในการแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลก •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]