ยมุนาจารย์ : คุรุผู้มีชีวิตพลิกผัน (2) | ผี พราหมณ์ พุทธ 

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ยมุนาจารย์ : คุรุผู้มีชีวิตพลิกผัน (2)

 

เด็กชายยมุนายิ้มน้อยๆ แล้วลุกยืนขึ้นพร้อมกล่าวว่า “จากข้อความ “แม่ของท่านโกลาหละ มิใช่หญิงเป็นหมัน” ข้อความนี้ย่อมถูกต้องทีเดียว เพราะหากมารดาของท่านโกลาหละเป็นหมันเสียแล้ว ไฉนจะให้กำเนิดแก่ท่านมหาบัณฑิตได้ ทว่า ในพระมนูธรรมศาสตร์ก็ระบุเช่นกันว่า “เอกปุตฺโร หฺยปุตฺร โลกวาทาตฺ หญิงใดมีบุตรคนเดียว โลกก็ว่าเป็นดุจหญิงหมันนั่นแล”

“ดังนั้น การที่มารดาของท่านมีบุตรเพียงหนึ่งคน พระธรรมศาสตร์ของเราก็ถือว่าเป็นดุจหญิงหมัน (ซึ่งน่าจะหมายถึง การมีลูกคนเดียว ก็สามารถทิ้งแม่ไปมีครอบครัวหรือไปสู่ที่อื่นได้) ข้าพเจ้าจึงสามารถปฏิเสธข้อความดังกล่าว”

“ส่วนข้อความที่ว่า ‘พระราชาแห่งปาณฑยะเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม’ พวกท่านก็ทราบดีว่า ในกลียุคนี้ ความดีถดถอยเหลือหนึ่งส่วนจากสี่ส่วน ความชั่วมีมากกว่า พระธรรมศาสตร์กล่าวว่า พระราชาผู้ป้องปรามราษฎรด้วยดี ย่อมได้รับกุศลที่ราษฎรทำถึงหกส่วน แต่หากไม่สามารถป้องปรามราษฎรมิให้กระทำชั่วได้ ก็ย่อมรับผลจากอกุศลกรรมนั้นหกส่วนเช่นกัน”

“เหตุว่ากลียุคนี้มีอธรรมมากขึ้นถึงสามเท่า แม้พระราชาจะทรงธรรมเพียงไร ก็มิอาจป้องปรามความชั่วอันแพร่ไปโดยทั่วได้ ดังนั้น พระองค์จึงต้องรับผลแห่งอกุศลถึงหกส่วน ส่วนความดีนั้นน้อยหรือแทบไม่มีเลย”

“ฉะนั้น เพราะกลียุคเป็นเหตุ แม้พระองค์จะเป็นธรรมราช แต่เราย่อมปฏิเสธความที่ว่า ‘พระราชาแห่งปาณฑยะเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม’ ได้ เพราะพระองค์รับเอาผลกรรมชั่วจากราษฎรมานั่นเอง”

ที่ประชุมตื่นตะลึงกับคำตอบของเด็กน้อย โกลาหลหน้าแดงก่ำด้วยความโกรธ ในขณะเดียวกันก็นิ่งเงียบไม่อาจโต้แย้ง เพราะสิ่งที่ยมุนากล่าวก็ตรงกับพระมนูธรรมศาสตร์ทุกประการ

 

ยมุนากล่าวต่อไป “ในประโยคสุดท้ายที่ว่า “พระราชินีแห่งปาณฑยะมิใช่หญิงมีมลทิน” ใครจะกล้ากล่าวเช่นนั้น ด้วยเหตุว่าพระนางเป็นปดิวรดา เป็นนางแก้วผู้ซื่อสัตย์ต่อสามี เพียบพร้อมด้วยกิริยาและคุณงามความดี

“ทว่า ในพระมนูธรรมศาสตร์ก็กล่าวว่า องค์พระราชานั้นคือสิริรวมคุณแห่งเทพยเจ้าทั้งหลาย อาทิ พระวรุณ, พระอัคนี, พระวายุ, พระอาทิตย์, พระจันทร์, พระกุเวร, พระยม และพระอินทร์ ดังนั้น เมื่อพระมเหสีสมรสกับองค์พระราชาแม้เพียงพระองค์เดียวไซร้ ก็เท่ากับได้เสพรสสังวาสกับเหล่าเทวดาทั้งหลาย ดุจหญิงผู้มากชู้คู่ครอง ดุจหญิงผู้มีมลทิน”

“ข้าพเจ้าจึงสามารถปฏิเสธข้อความว่า ‘พระราชินีแห่งปาณฑยะมิใช่หญิงมีมลทิน’ ได้ ด้วยเหตุนี้แล”

ที่ประชุมนั้นพากันโห่ร้องกึกก้อง มหาบัณฑิตแห่งแผ่นดินพ่ายแพ้ต่อเด็กชายอายุเพียงสิบสองปี พระมเหสีทรงร้องเรียกยมุนาว่า “อลาวันทาร์” (Alavandar) ซึ่งแปลว่าผู้มีชัย คำนี้จึงกลายเป็นชื่อใหม่ของยมุนา

โกลาหละคิดจะหนีออกจากเมืองไปด้วยความอับอาย ทว่า ยมุนาหรือบัดนี้คืออลาวันทาร์ได้ยกโทษให้ พระราชาทรงทำตามที่รับสั่งไว้ก่อน คือยกแผ่นดินให้เขาครองกึ่งหนึ่ง

แม้จะเป็นเด็ก ราชาอลาวันทาร์ก็ปกครองแว่นแคว้นด้วยความเฉลียวฉลาดจนไม่มีใครกล้ายกทัพมาต่อกร สมนามผู้มีชัย

 

วันและคืนผ่านไปช้าๆ จากเด็กน้อยในอาศรมของครูกลายมาเป็นผู้ปกครองที่มั่งคั่ง เขาเสพเสวยไอศวรรยสมบัติ เสพเสวยความสุขทางผัสสะนานาเท่าที่กษัตริย์พระองค์หนึ่งจะได้รับ ไม่ว่าทองคำในท้องพระคลัง นางบำเรอ ดนตรี กีฬา จนหลงลืมวิถีแห่งการปรนนิบัติรับใช้พระเป็นเจ้าและวิถีทางแห่งความหลุดพ้นที่เขาได้ร่ำเรียนในวัยเยาว์

นาถมุนีผู้เป็นปู่ซึ่งชราภาพและรู้ว่าเวลาของตนเหลือน้อยลงทุกที ได้แต่หวนคิดถึงหลานและห่วงใยว่าโลกธรรมกำลังหลอกลวงเขา ยมุนาได้หลงลืมทั้งพระเจ้าและปู่แก่ๆ คนนี้เสียแล้ว ก่อนที่ท่านจะจากไปจึงฝากฝังให้ “รามมิศรา” หรือมานักกัน นัมพิ (Manakkan Nambi) ศิษย์อาวุโสสูงสุดนำเขากลับมาในหนทางที่ถูกต้อง

เวลาผ่านไปจนอลาวันทาร์อายุได้สามสิบห้าปี รามมิศราจดจำได้ถึงคำสั่งเสียของคุรุ ท่านจึงไปยังพระราชวัง ทว่า การอารักขานั้นแน่นหนานัก และใครกันจะปล่อยให้ชายชราในชุดสันยาสีปอนๆ เข้าพบพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ได้ ท่านจึงคิดหาอุบายที่จะได้เข้าพบพระราชาพระองค์นั้น

รามมิศราไปที่ท้ายพระราชวัง ร้องเรียกคนครัวให้ออกมาหา พร้อมยื่นผักสมุนไพรชนิดหนึ่งให้ อธิบายว่าผักชนิดนี้มีรสอร่อย ทั้งยังเพิ่มพูนอายุและสัตวะคุณ ยังให้เกิดสติปัญญาแจ่มใส ขอให้คนครัวได้โปรดปรุงอาหารชนิดนี้ถวายพระราชาด้วยเถิด

รามมิศราหรือนัมพิสันยาสีนำเอาผักชนิดนี้มามอบให้คนครัวปรุงถวายทุกวัน พระราชาอลาวันทาร์มีพระพลานามัยที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ทรงล่วงรู้ต่อเหตุการณ์นี้เลย

 

หลายเดือนผ่านไป วันหนึ่งทรงทอดพระเนตรเห็นว่าวันนี้ไม่มีผักดังกล่าวบนโต๊ะเสวย จึงทรงเรียกให้คนครัวมาเฝ้า เขาจึงเล่าถวายว่า ที่จริงผักชนิดนี้มีสันยาสีรูปหนึ่งนำมามอบให้ทุกวัน แต่วันนี้สันยาสีรูปดังกล่าวมิได้มา พระราชาทรงซาบซึ้งพระทัยจึงตรัสว่า หากสันยาสีรูปนี้มาอีกก็ให้นำตัวมาเฝ้าพระองค์

วันถัดมา นัมพิจึงได้เข้าเฝ้าพระราชา อลาวันทาร์ประสงค์จะให้รางวัล เขาจึงทูลว่าเพียงขอกล่าวอะไรกับพระองค์อย่างลับๆ เท่านั้น พระราชาจึงโปรดให้ท่านสันยาสีเฝ้าในที่รโหฐาน

สันยาสีชราจึงกล่าวว่า ที่จริงแล้วท่านเป็นศิษย์ของนาถมุนีผู้เป็นปู่ของอลาวันทาร์ เมื่อได้ยินดังนั้น อลาวันทาร์ก็ยิ่งมีความปีติใจ นัมพิกล่าวต่อไปว่า “ก่อนที่ปู่ของพระองค์จะสิ้นใจไปสู่ไวกุณฑ์โลกนั้น ท่านได้ฝากฝังให้ข้าพเจ้านำข้อความมาแจ้ง ปู่ของพระองค์มีมหาสมบัติที่ประสงค์จะมอบให้พระองค์ผู้เป็นหลาน เป็นมหาสมบัติที่ประมาณค่ามิได้ มหาสมบัตินี้ถูกปิดผนึกซ่อนไว้ต้องใช้มนต์จึงจะแก้ได้ หากพระองค์ประสงค์จะรับมหาสมบัตินี้ ขอโปรดเตรียมตัวเดินทางตามข้าพเจ้าเพียงลำพัง ซึ่งจะได้พาพระองค์ไปยังที่ซ่อนสมบัตินั้น”

พระราชาอลาวันทาร์พระเนตรลุกวาว พระองค์เริ่มขัดสนและกำลังต้องการทรัพย์มาเติมพระคลังพอดี จึงตรัสตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ทั้งคู่ออกเดินทางในกลางดึกคืนนั้น ออกไปสู่ทางเหนือของเมืองมทุไร

ระหว่างทาง เมื่อทั้งคู่นั่งพักนัมพิสันยาสีจะขับโศลกจากคัมภีร์ภควัทคีตาด้วยน้ำเสียงไพเราะเยือกเย็น อลาวันทาร์ค่อยๆ ระลึกได้วัยเด็กที่เขาเคยท่องคีตาเช่นกัน เขาขอให้ท่านสันยาสีช่วยสอนและอธิบายความหมายให้

นัมพิจึงเสนอให้พวกเขาทั้งสองหยุดพักหลายวันหน่อยเพื่อจะได้ศึกษาภควัทคีตาด้วยกัน

ดูเหมือนอลาวันทาร์จะลืมราชัยสมบัติและกิจการบ้านเมืองไปเสียแล้ว เขาค่อยๆ ซึมซาบเอาความหมายอันลึกซึ้งของภควัทคีตา เขาเริ่มตระหนักว่า ราชสมบัติก็เป็นดุจฟองน้ำ ดุจเงา เป็นเพียงมายา มีเพียงองค์พระนารายณ์ผู้ถนอมโลกเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งแก่เขาได้

 

หลายวันผ่านไป อลาวันทาร์เข้าใจแล้วว่านัมพิสันยาสีเป็นผู้ประเสริฐอย่างแท้จริง เป็นผู้เข้าใจอรรถของภควัทคีตา ทั้งยังเป็นผู้ภักดีต่อพระเจ้า เขาจึงคิดว่า ตนเองควรทอดทิ้งราชสมบัติไว้เบื้องหลังและขอติดตามเป็นศิษย์ของนัมพิมุนีผู้นี้ตลอดไป

นัมพิมุนีรับฟังคำขอร้องด้วยน้ำตานองหน้า ท่านกล่าวว่า ตนเองเป็นเพียงศิษย์ของนาถมุนี แต่อลาวันทาร์นั้นเป็นหลานของนาถมุนีซึ่งเป็นยอดแห่งบรรดานักบวชทั้งหลาย อลาวันทาร์คือผู้อยู่ในวงศ์อันประเสริฐ แม้เพียงเห็นอลาวันทาร์ก็ทำให้นึกถึงคุรุของตนทันที กระนั้นหากอลาวันทาร์ประสงค์สิ่งใด ท่านก็ยินดีจะตอบสนอง

ยิ่งไปกว่านั้น การที่อลาวันทาร์ระลึกได้ว่าราชสมบัติที่เขาครอบครองเป็นเพียงมายาภาพ มีความปรารถนาจะสละสมบัติทางโลกเหล่านั้น ยิ่งทำให้ท่านโล่งอกว่า ภารกิจที่ท่านได้รับมอบหมายใกล้จะสิ้นสุดแล้ว

นัมพิตอบอลาวันทาร์ว่า “เราดีใจอย่างยิ่งที่พระองค์มีความปรารถนาจะสละสมบัติทางโลกและราชสมบัติไว้เบื้องหลัง ทว่า ภารกิจของเรายังไม่จบสิ้น สัญญาที่เรามีต่อคุรุคือจะต้องส่งมอบมหาสมบัติของนาถมุนีแก่พระองค์

ฉะนั้น วันนี้ขอให้พวกเรานอนหลับพักผ่อนกันอย่างเต็มที่ พรุ่งนี้เราจะเดินทางไปยังที่ซุกซ่อนมหาสมบัตินั้น”

(โปรดติดตามต่อ) •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง