E-DUANG : สภาวะ “ไม่เหมือนเดิม” ของ “คสช.”

การตั้งคำถามต่อสถานะและการดำรงอยู่ของ “คสช.” ว่าไม่เหมือนเดิมเปราะบางต่อความเข้าใจผิดเป็นอย่างสูง

จะเป็นไปได้อย่างไร

ในเมื่อ “อำนาจ” ก็ยังอยู่ในมือของคสช.ครบถ้วน ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังนั่งอยู่หัวโต๊ะ

มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ความช่วยเหลือใกล้ชิด

กระนั้น คำถามนี้ได้นำไปสู่การเปรียบเทียบอันละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง

เปรียบเทียบกับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เมื่อผ่านเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อผ่านเดือนพฤษภาคม 2559 เมื่อผ่านเดือนพฤษภาคม 2560

“สถานะ” ของคสช.จะยัง “เหมือนเดิม” อีกหรือ

 

จุดเปลี่ยนที่มี่ผลสะเทือนเป็นอย่างสูงต่อสถานะและการดำรงอยู่ของคสช.เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560

เมื่อประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ”

แน่นอน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างตามพิมพ์เขียวอันกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ครบถ้วนและอาจจะล้นเกินด้วยซ้ำ

นี่คือ หลักประกันสำคัญในทางการเมือง

กระนั้น ภายในหลักประกันจากรัฐธรรมนูญนี้เองที่ทำให้ต้องมีองค์ประกอบอื่น ปัจจัยอื่นทางการเมืองตามมา

ต้องมี “กฎหมายลูก”

ต้องนำไปสู่”การปลดล็อก”พรรคการเมือง เพื่อตระเตรียมและเคลียร์พื้นที่ก่อน “การเลือกตั้ง”

และ”การเลือกตั้ง”นั่นแหละคือปัจจัยที่ยากจะปัดปฏิเสธได้

 

นับแต่เดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา ปัจจัยใหม่ๆในทางการเมืองได้ค่อยๆก่อรูปขึ้น

บทสรุปจาก “พรรคประชาธิปัตย์”ก็คือ

การเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่กระบวนการของ”การเลือกตั้ง”แล้ว

เพียงแต่จะเป็นเมื่อใดเท่านั้น

นี่คือ ปัจจัยซึ่งดำเนินไปในลักษณะ “กดดัน”

“อำนาจ”ยังอยู่ในมือคสช.แน่นอน แต่ก็เป็นอำนาจที่มีความจำเป็นต้องคลายลงเชิงเปรียบเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อน

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นาน