E-DUANG : ภาพลักษณ์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วางเทียบ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

มหกรรมหนังสือซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม กำลังเป็น”พื้นที่” วัดคะแนนและความนิยม

เป้าหมายอาจเป็น”สำนักพิมพ์” อาจเป็น”นักเขียน”

แต่ความที่จากการเข้ามาของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 คือ การเข้ามา ของปรากฎการณ์”ใหม่”

นั่นก็คือ การสมานเอกภาพระหว่าง”การเมือง”กับ”วัฒนธรรม” เข้าด้วยกัน

จึงไม่เพียงแต่มีการตีพิมพ์งานของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หากแต่ยังมีการนำเอางานของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาเผยแพร่

ยิ่งเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2563 ทางหนึ่งเกิดพรรคก้าวไกล อีกทางหนึ่งเกิดคณะก้าวหน้า สะท้อนให้เห็นการเติบใหญ่และพัฒนา

จึงในวาระอันเหมาะสมหนึ่งก็มีการจัดตั้ง”มูลนิธิ” และมูลนิธิ

คณะก้าวหน้าก็ออกแอ็คชั่นไม่เพียงแต่ผ่าน”คอมม่อน สกูล” หากแต่ยังได้จัดตั้งเป็น”สำนักพิมพ์”ขึ้นมา

งานมหกรรม”หนังสือ”จึงถูกแปรเป็น”พื้นที่”ทางการเมือง

 

ผ่านจากยุคที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรือง เป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้าสู่ยุคที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดำรงอยู่ในสถานะแห่งหัวหน้า พรรคก้าวไกล

มีคำถามตามมามากมายว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะสร้าง ปรากฏการณ์ได้ทัดเทียมกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่

ขอแนะนำให้สัมผัสผ่านงาน”มหกรรมหนังสือ” ขณะนี้

ภาพที่ปรากฏเมื่อ นส.พรรณิการ์ วานิช นำเที่ยวงานมหกรรม หนังสือก็คือ มีผู้ไปเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อนำหนังสือ”วิถีก้าวไกล”ให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เซ็น

ความยาวเหยียดไม่แพ้ที่เคยเห็นกับ โน้ส อุดม ไม่แพ้ที่เคยเห็นกับ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ไม่แพ้ที่เคยเห็นกับ หนุ่มเมืองจันทน์

ความยาวของ”คิว”เป็นคำตอบอย่างดีต่อ ทิม พิธา

 

พรรคอนาคตใหม่สร้างปรากฏการณ์ในการ”ปักธง”ความคิดได้อย่างคึกคักนับแต่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562

ภาพของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กลายเป็น”ความหวัง”

จากเดือนมีนาคม 2563 ที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าแบกรับบทบาทเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ปรากฏการณ์จากมหกรรม หนังสือเป็นคำตอบหนึ่งในทางวัฒนธรรม ในทางการเมือง

และจะชี้ขาดอย่างแท้จริงเมื่อเข้าสู่สนาม”เลือกตั้ง”