หนุ่มเมืองจันท์ : ทัวร์งานหนังสือ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติกันหรือยังครับ?

ปีนี้คนแน่นมาก

ยอดขายแต่ละสำนักพิมพ์ก็น่าชื่นใจ

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สวนกระแสตกต่ำของวงการหนังสือ

ยอดคนเดินงานหนังสือระดับชาติทั้งสัปดาห์หนังสือและมหกรรมหนังสือลดน้อยลงมา 1-2 ปีแล้ว

ถ้าใครไปงานหนังสือเป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่ขายหนังสือจะรู้สึกได้

สมัยก่อนถ้าไปงานหนังสือวันเสาร์หรืออาทิตย์ พอเราเข้าสู่บริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เท่านั้น

เราจะไม่ต้องเดินเลยครับ

เหมือนมี “วิชาตัวเบา”

คลื่นมวลมหาประชาชนจะพาเราลอยเข้างานไปเลย

แต่ 1-2 ปีที่ผ่านมา เหมือนกำลังภายในของเราหายไป

ไม่สามารถใช้วิชาตัวเบาได้

ต้องเดินเข้างานเอง

เปลืองแรงน่าดูเลย

แต่งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งนี้ “วิชาตัวเบา” ของเรากลับมาแล้วครับ

ไม่ต้องเดิน

ลอยเข้างานไปเลย

ผมไปเซ็นชื่อครั้งแรก คือ วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม

วันที่สองของงาน

ยังไม่ต้องใช้ “วิชาตัวเบา” เพราะยังเดินงานได้ตามปกติ

คนเยอะพอสมควร แต่ไม่ชัดเจน

จนถึงวันเสาร์ที่ 21 ผมมีโปรแกรมเซ็นชื่อตอน 13.00 น.

มาถึงงาน ตกใจเลยครับ

ผู้คนมาจากไหนกัน

วิทยายุทธ์ที่หายไปนานกลับมาทันที

“ตัวเบา” เลยครับ ค่อยๆ ลอยช้าๆ เข้างาน

ตลอดทางผมต้องมองซ้าย-มองขวาเป็นระยะๆ

กลัวใครจะรู้ว่าเราเป็น “จอมยุทธ์” แอบมางานหนังสือ

วันเสาร์ว่าหนักแล้ว

วันอาทิตย์หนักกว่า

น่าจะเป็นวันที่ยอดคนเข้างานสูงสุด

จากเดิมที่ประตูทางเข้าจะให้เข้าทางประตูขวา

ออกประตูซ้าย

วันนี้เขาปรับเป็นระบบวันเวย์ ให้คนออกได้อย่างเดียว

ส่วนคนเข้าต้องเดินไปเข้าอีกประตูหนึ่ง

เพราะคนมากมายมหาศาล

นึกดีใจแทนสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่มาออกงาน

หลังจากยิ้มแห้งๆ กันมาหลายครั้งแล้ว

คราวนี้ได้ยิ้มเต็มแก้มกันเสียที

ที่บู๊ธสำนักพิมพ์มติชน เขาจัดเป็นนิทรรศการพระเมรุมาศสวยงามและยิ่งใหญ่อลังการ

มีหนังสือเล่มพิเศษที่ตั้งใจจัดทำขึ้นมา คือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์”

สวยงามมากครับ

ถ้าเทียบกับความตั้งใจทำและคุณภาพการพิมพ์แล้ว ถือว่าหนังสือเล่มนี้ราคาถูกมาก

เป็นหนังสือที่ทุกคนควรซื้อเก็บ

“สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” ขายดีมากครับ

เป็นอันดับ 1 ของสำนักพิมพ์มติชน

ส่วน “ชีวิตผิดได้” ของผม

แฮ่ม…มาเป็นอันดับที่สองครับ

 

แฟนหนังสือที่มาขอลายเซ็นยังน่ารักเหมือนเดิมครับ

คุยทักทายกันสนุกสนาน

บางคนเอาขนมมาฝาก เอาการ์ดมาให้

มีขอหอมแก้ม 2 คน แต่ผมไม่ยอม

เพราะเป็น “ผู้ชาย”

พูดเล่นครับ

เป็น “ผู้หญิง”

…เอ๊ย ไม่มี

คำถามฮิตที่เจอตลอดการลงอาคมก็คือ…

… “นิ้วบวมไหม”

ถือเป็นประโยคทักทายยอดฮิต

เขาคงอ่านในเพจของผมว่าต้องเซ็นชื่อในหนังสือ 1,200 เล่มที่ช่วยสำนักพิมพ์มติชนขายทางออนไลน์

เจอคำถามบ่อยเข้า แทนที่จะตอบด้วยคำพูดอย่างเดียว

ผมใช้วิธียกนิ้วโชว์เป็นระยะๆ เพื่อเป็นหลักฐานว่ายังไม่บวม

นิ้วที่โชว์ก็ต้องเป็นนิ้วที่ปากกากดทับเวลาเซ็นชื่อ

ใครที่มองไกลๆ ไม่ได้ยินบทสนทนาคงจะนึกว่านักเขียนคนนี้มารยาทแย่มาก

ยก “นิ้วกลาง” ให้แฟนหนังสือเกือบทุกคน

ในงานนี้มีนักเขียน 2 คนที่สร้างความปั่นป่วนให้กับงาน

คนแรก คือ “นิ้วกลม” เจ้าเก่า

วันแรกๆ ยังไม่เท่าไร มีคนต่อคิวในระดับที่ไม่กระทบกระเทือนใคร

แต่พอวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น

ปรากฏการณ์บู๊ธแตกก็เกิดขึ้น

ทีมจัดงานมหกรรมหนังสือฯ ต้องขอให้จัดระบบคนรอเซ็นชื่อใหม่

ให้แฟนหนังสือยืนรอที่บันไดเป็นแถว แล้วค่อยปล่อยมาที่หน้าบู๊ธเป็นระยะๆ

อีกคนหนึ่ง เป็นหนึ่งในพิธีกรคู่รายการ “พื้นที่ชีวิต” กับ “นิ้วกลม”

“วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล”

ตอนที่เขาออกหนังสือ “เถื่อนเจ็ด” คนมาขอลายเซ็นก็ถือว่าเยอะ

แต่ครั้งนี้เยอะมาก

ถล่มทลายเลย

เซ็นชื่อได้ไม่กี่คน ทีมจัดงานต้องมาขอให้สำนักพิมพ์ a book จัดระบบใหม่แบบเดียวกับ “นิ้วกลม”

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หนังสือของทั้งคู่เป็นเรื่องการเดินทาง

“หิมาลัยไม่มีขา” แต่หนาจริงๆ

กับ “เถื่อนแปด”

คนหนึ่งเดินทางขึ้นเทือกเขาหิมาลัย

เป็นการเดินทางทั้งภายนอกและภายในจิตใจ

อีกคนหนึ่งเป็นการเดินทางแบบดิบและโหดมาก

“สิงห์” ทำรายการ “เถื่อน Travel” ทางช่อง GMM 25

เขาลุยเข้าไปในพื้นที่ที่เราเห็นในข่าวต่างประเทศ

โซมาเลีย อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ ฯลฯ

“สิงห์” ต้องการค้นหา “ความจริง” อีกด้านหนึ่ง

ให้คนเราได้ฟังความทุกด้าน

เขาไปคนเดียว

เขียนสคริปต์ ถ่ายทำและตัดต่อคนเดียว

รายการนี้ฮิตมากในหมู่วัยรุ่น คนรุ่นใหม่

หนังสือ “เถื่อนแปด” ก็มาจากประสบการณ์การเดินทางของเขา

ส่วนนักเขียนอีกคนหนึ่ง เขาก็เขียนเรื่องการเดินทางเหมือนกัน

แต่เป็นการเดินทางย้อนไปในอดีต

เพื่อหาบทเรียนให้ปัจจุบัน

“Past : ปัญญาอดีต” ของ “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” ครับ

เป็นเล่มต่อเนื่องจาก “Future : ปัญญาอนาคต” หนังสือขายดีของเขา

“ภิญโญ” เขียนหนังสือได้ลุ่มลึกมาก

แต่อ่านง่าย

“ภิญโญ” ประจำการที่บู๊ธสำนักพิมพ์ openbooks

มีผู้คนแวะเวียนไปขอลายเซ็นอย่างต่อเนื่อง

ที่เท่มากก็คือ เขานั่งจิบน้ำชาในบู๊ธ

ใครมาลงอาคมสามารถขอลิ้มรสน้ำชาในกาเดียวกับ “ภิญโญ” ได้

ดังนั้น สำหรับคนไปงานมหกรรมหนังสือฯ เราจึงไม่ควรซื้อ “Past : ปัญญาอดีต” เป็นเล่มแรก

แต่ควรซื้อเมื่อเรากระหายน้ำ

คอแห้งเมื่อไร

ซื้อทันที