ลุงดีเด่นแห่งชาติ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

ลุงดีเด่นแห่งชาติ

 

ผมเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายและสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อปีพุทธศักราช 2516

เวลานั้นระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น เพราะจำนวนที่นั่งเรียนในระดับอุดมศึกษาบวกรวมกันแล้วทั่วทั้งประเทศมีน้อยกว่าจำนวนประชากรในแต่ละรุ่น เนื่องมาจากคนรุ่นผมจะเรียกว่าเป็นพวกเบบี้บูม

กล่าวคือ ในแต่ละปีมีคนเกิดมากมายจนกระทั่งระบบต่างๆ ไม่สามารถขยายตัวรองรับได้ทัน ในแต่ละปีจึงมีคนที่พลาดหวังจากการสอบคัดเลือกรวมทั้งประเทศแบบนี้เป็นจำนวนมาก

ผมเองเป็นคนโชคดีและมีฝีมือพอสมควร (แหะ แหะ) เลยสอบเข้ามาเรียนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตามความประสงค์

เวลาผ่านไปอีกสี่ปี แป๊บเดียวผมก็เรียนจบกลายเป็นนิติศาสตรบัณฑิตไปเสียแล้ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นในหัวใจของผมซึ่งน่าจะเป็นปัญหาเดียวกันกับบัณฑิตใหม่อีกหลายคนในทุกยุคทุกสมัยคือ แล้วต่อไปจะต้องทำอะไร

คำตอบว่าเรียนปริญญาโท หรือเตรียมสอบเนติบัณฑิต เป็นข้ออ้างบังหน้าในการประวิงเวลาของการตัดสินใจสำหรับผม

เท่านั้นจริงๆ

 

จากการพูดคุยกันในครอบครัว พ่อของผมซึ่งเป็นนายทหารพระธรรมนูญ ส่วนแม่ของผมเป็นลูกผู้พิพากษา ทั้งสองท่านลงมติกันแล้วว่า ผมควรเป็นผู้พิพากษา

ก็ด้วยเหตุผลธรรมดาที่คนทุกวันนี้ก็ยังอยากเป็นผู้พิพากษาล่ะครับ เงินเดือนดี มีเกียรติ ได้ช่วยกันผดุงดูแลความยุติธรรม ฮา!

ส่วนตัวผมเองยังไม่ปลงใจว่าจะเป็นอะไรดีในวันข้างหน้า ผมก็เลยเลือกใช้วิธีหน่วงเวลาของการตัดสินใจที่ยืดยาวออกไปก่อน โดยขอพ่อแม่ไปเรียนปริญญาโทที่เมืองนอกเสียก่อน ด้วยความที่พ่อแม่เข้าใจว่าไปเรียนปริญญาโทแบบนี้แล้วจะกลับมาสอบเป็นผู้พิพากษาในระบบสอบสนามเล็ก ซึ่งมีการแข่งขันไม่มากมายเท่ากับการสอบสนามใหญ่

จะเรียกว่าเป็นทางลัดในการเข้าสู่อาชีพผู้พิพากษาก็พอพูดได้บ้าง

ระหว่างเวลาหนึ่งปีครึ่งที่ผมเรียนหนังสืออยู่ที่นิวยอร์ก ผมมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น และอาจจะกล่าวได้ว่า ผมเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ในห้วงเวลานี้เอง ผมตัดสินใจเลือกอาชีพของผมแล้ว ว่าผมอยากเป็นอาจารย์สอนหนังสือวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย

อยากเป็นโปรเฟซเซอร์ ว่างั้นเถิด

ด้วยการสื่อสารทางไปรษณีย์ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะติดต่อครอบครัวตัวเองที่เมืองไทยได้ในราคาถูกเมื่อเทียบกับค่าโทรศัพท์ซึ่งแพงแสนแพง ผมค่อยๆ เขียนจดหมายหว่านล้อมพ่อแม่ให้เห็นประโยชน์ของการเลือกอาชีพเป็นอาจารย์ จริงบ้างไม่จริงบ้างเขียนไปเรื่อยล่ะครับ

แต่ข้อเด่นที่ยกขึ้นมาพูดนำหน้าเลย คืออาชีพอาจารย์สอนกฎหมายไม่ต้องเดินทางไปย้ายประจำอยู่ต่างจังหวัด ครอบครัวของเราซึ่งมีประชากรจำนวนน้อยจะได้พร้อมหน้ากันอยู่เสมอ ในที่สุดพ่อแม่ก็ตกลงยอมตามความเห็นของผม

จะเรียกว่าการก่อกบฏเพื่อเลือกอาชีพตามใจปรารถนาของผมใช้เวลาประมาณหนึ่งปีครึ่งเพื่อให้รัฐบาลอนุรักษนิยมอนุมัติก็เห็นจะได้

คนในยุคสมัยของผมจำนวนมากต้องทำหน้าที่เป็นผู้สร้างความฝันของพ่อแม่ให้เป็นจริง และหลายครั้งเป็นความฝันที่เราไม่เคยฝันร่วมด้วยเลย

รุ่นน้องของผมคนหนึ่งในมหาวิทยาลัย คุณพ่อเป็นผู้พิพากษาใหญ่ระดับอธิบดีศาล ท่านอยากให้ลูกสาวเป็นผู้พิพากษาบ้าง ลูกสาวก็ตามใจมาเรียนในคณะเดียวกันกับผม สี่ปีผ่านไปเธอก็เรียนจบด้วยคะแนนระดับยอดเยี่ยม ไปสอบเนติบัณฑิตก็เลยผลคะแนนเป็นที่ฮือฮา แล้วต่อไปอย่างไรครับ

เธอตัดสินใจไปกับวิชาแฟชั่นที่ต่างประเทศ นัยว่าเธอได้เรียนสนองพระคุณคุณพ่อมาพอสมควรแล้ว จากนี้ไปขอให้เธอได้ทำตามใจปรารถนาบ้าง

ป่านนี้จะทำอะไรอยู่ที่ไหนผมก็ไม่ทราบเสียแล้ว

แก้ม-ธารกนก หลานรัก

พูดมาเยิ่นเย้อยาวความอย่างนี้ เพื่อจะชวนให้ท่านคิดพิจารณาว่า การที่คุณพ่อคุณแม่คิดเลือกอาชีพให้คุณลูกเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ และบ่อยครั้งคำว่า “อย่างโน้นอย่างนี้” หมายความว่าอาชีพที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทำมาหากินมาจนประสบผลสำเร็จนั่นเอง ด้วยความรักและหวังดีกับลูก ท่านจึงอยากให้ลูกเดินตามเส้นทางที่ท่านเดินนำมาแล้ว

ขณะเดียวกันบ่อยครั้ง อาชีพของคุณลูกที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้คุณลูกได้ทำ คือความฝันของคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่มีโอกาสทำฝันให้เป็นจริงด้วยตัวเองในอดีต คุณพ่อคุณแม่จึงอยากให้ลูกทำอาชีพเหล่านั้นเพื่อแก้แค้นทดแทนให้

สังเกตไหมครับว่า ความปรารถนาดีทั้งปวงที่เราพูดมาตั้งแต่ต้น ไม่มีข้อความหรือคำไหนเลยที่พูดถึงความปรารถนาของคนเป็นลูก

จริงอยู่ ที่ลูกหลายคนเห็นคุณพ่อคุณแม่ประกอบอาชีพอย่างโน้นอย่างนี้แล้วรู้สึกว่าเป็นแบบอย่างที่ควรทำตาม แต่ก็มีลูกหลายคนในหลายครอบครัวที่มีความฝันของตัวเขาเอง และอาจเป็นความฝันที่คนเป็นพ่อเป็นแม่นึกไม่ออกเลยว่าเขาจะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร จะมีความสุขหรือไม่

ประเด็นย่อยตรงนี้ก็สำคัญเหมือนกันครับว่า เป้าหมายในชีวิตของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ความสุขของแต่ละคนไม่มีสูตรสำเร็จ

 

ไม่ต้องดูอื่นไกล จากการที่ผมไม่ยอมเป็นผู้พิพากษาตามใจพ่อแม่ แต่เลือกทางเดินของชีวิตมาสอนหนังสือ ผมก็ได้เป็นโปรเฟซเซอร์สมใจอยาก และแม้ต่อมาผมได้ทำอะไรอื่นอีกมากมาย แต่ผมก็มีความสุขอยู่เสมอทุกครั้งที่ได้สอนหนังสือ ผมบอกกับตัวเองว่าผมทำความฝันของผมให้เป็นจริงแล้ว ส่วนที่ได้ไปเป็นอะไรต่อมิอะไรภายหลังนั้นถือเป็นของแถม ได้แถมหรือไม่ได้แถมก็ไม่สำคัญเท่ากับได้เป็นครู

จากประสบการณ์ส่วนตัวข้อนี้ ทำให้ผมถือเป็นนโยบายว่าผมจะไม่เข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจเลือกอาชีพของลูกหลานเป็นอันขาด

ถ้าเขามาถาม มาหารือ ผมจะให้ความเห็นในมุมมองของผม แต่ก็เป็นเพียงแค่ความเห็น ไม่ใช่คำสั่งที่เขาต้องทำตาม

พร้อมกันนั้น ถ้าเขาต้องการความสนับสนุนหรือการส่งกำลังบำรุง ผมก็จะทำให้ในกรอบของกำลังความสามารถและสติปัญญาของผม

 

ผมไม่มีลูกของตัวเอง มีแต่เพียงหลานสองคนซึ่งเป็นลูกของน้องชาย ผมจึงอยู่ในฐานะเป็น “คุณลุงดีเด่นแห่งชาติ” มากว่ายี่สิบปีแล้ว

ตอนนี้หลานของผมทั้งสองคนเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ในฐานะคนเป็นลุง ผมเฝ้าติดตามดูอนาคตและอาชีพการงานของเขาในวันข้างหน้าด้วยความสนใจ

ถึงแม้ว่าผมเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิต บรรพบุรุษก็รับราชการมาทุกชั่วชั้นคน บางท่านนับย้อนขึ้นไปได้ถึงรัชกาลที่หนึ่งโน่น ความรู้สึกลึกๆ ในใจจึงอยากให้หลานทำราชการแบบตัวเราเองบ้าง ด้วยความรู้สึกที่อาจเขียนอธิบายเป็นหนังสือได้อีกหนึ่งเล่มต่างหาก

แต่ผมจะไม่เอาความฝันของผมไปเป็นความฝันของหลาน

หลานมีสิทธิจะฝันอะไรก็ได้ ประกอบสัมมาอาชีพอะไรก็ได้ที่เลือกทำแล้วมีความสุขและสามารถเลี้ยงตัวได้

ตัวตนของเขาไม่ใช่ตัวตนของเรา

คิดอย่างนี้แล้วตำแหน่งคุณลุงดีเด่นแห่งชาติที่มีอยู่จะไม่หลุดลอยไปไหนเลยครับ ผมเชื่อว่าผมผูกขาดเอาไว้แล้ว