ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ | บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์
เรือครุยส์ท่องเที่ยวไทย
มี ‘เกิด’ แล้วก็มี ‘ดับ’
กับกำเนิดใหม่เรือเฟอร์รี่ ‘ดิ บลู ดอลฟิน’ สู่เกาะสมุย
สื่อได้รายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ เรือของบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ลงทุนโดยนักลงทุนไทยหรือต่างชาติไม่ได้แจ้ง ชื่อ “ดิ บลู ดอลฟิน เฟอร์รี่” แปลเป็นไทยว่า “โลมาสีน้ำเงิน” หรือ “สีน้ำทะเล” ได้เข้าเทียบท่าเรือบ้านหน้าทอนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
หลังแล่นจากท่าเทียบจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จนจบบททดสอบการเตรียมเปิดเส้นทางขนผู้โดยสารและยานพาหนะเชื่อมเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ภาคตะวันออก คือ “พัทยา” กับ “เกาะสมุย” ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจาก “เกาะภูเก็ต” และ “เกาะช้าง” จ.ตราด ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยวไม่ต่างกัน…คือโตไม่รู้เรื่อง!
เรือที่ว่านี้สัญชาติเดิมญี่ปุ่นเคยแล่นตามหมู่เกาะในทะเลญี่ปุ่น ต่อมาแต่งตัวเป็นไทยให้กรมเจ้าท่าตรวจรับรองความปลอดภัยเมื่อต้นปีที่แล้ว บีโอไอหรือสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ก็ใจดียกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้
โครงสร้างเรือขนาด 7,003 ตันครอสส์ ยาว 136.6 เมตร ความเร็ว 17 น็อต หรือ 31.48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนาดใหญ่และเร็วสุดกับบ้านเราขณะนี้ แต่จิ๋วนกกระจิบเมื่อเทียบกับเรือครุยส์แถบยุโรปและอเมริกา ที่ใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มเท่าโรงแรมอย่างน้อย 10-20 ชั้นปานนั้น
เรือเล็กพริกขี้หนูคู่ทะเลไทยลำนี้ ทราบว่าเมื่อปลายปีก่อนเคยชิมลางแล่นตัดอ่าวไทยตรงท่าเรือจุกเสม็ด สัตหีบ กับท่าเรือสงขลา มีขีดความสามารถบรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 586 คน รถยนต์ 20 คัน รถบรรทุก 80 คันต่อเที่ยว มีห้องพักส่วนตัวระหว่างเดินทาง 15 ห้อง
เย็บปกว่า…เป็นเรือเตรียมส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่กำลังเป็นหัวหอกสำคัญในการกู้เศรษฐกิจประเทศ และยังเชื่อมเส้นทางอีอีซีตะวันออกไปยังปักษ์ใต้บ้านเรา ซึ่งห่างทางถนน 1,130 กิโลเมตร ถ้าใช้รถยนต์เดินทาง 23-24 ชั่วโมง…แต่ “โลมาสีน้ำทะเล” 330 ไมล์ทะ เล หรือ 661 กิโลเมตร ใช้เวลา 13 ชั่วโมง ย่อมเกิดผลดีต่ออนาคตโลจิสติกส์ไทยแน่นอน
ทราบด้วยว่า บ.ซีฮอร์สฯ เจ้าของเรือ เคยคิดจะขยายเส้นทางไปยัง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เดาว่าขอปักหมุดตรง… “หัวหิน หัวหาดแห่งหัวใจ”
แต่ผลการทดสอบที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จะ “หมู่หรือจ่า” หรือ อะแฮ่ม! “สิบตำรวจโทหญิง” ก็ช่างเถอะ…เอาเป็นว่าล่าสุดอยู่ในแผนเปิดสะพานเชื่อมพัทยาฮับท่องเที่ยวอีอีซี กับเกาะสมุยแหล่งท่องเที่ยวซอฟต์เพาเวอร์ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก่อนสิ้นปีนี้…ก็ขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับ “นิว ชาเลนจ์” รูตใหม่ในมิติท่องเที่ยวทางทะเลบ้านเรา
จึงอยากฝากให้ บ.ซีฮอร์สฯ มองตลาดลงทุน ที่ครั้งหนึ่งเราเคยฟูเฟื่องเรื่องครุยส์แล้วสูญหายไป ก่อนที่เรือเฟอร์รี่ “โลมาสีน้ำทะเล” จะเสี่ยงเข้ามาเผชิญโชคเป็นรายต่อไป
ย้อนทบทวนไปถึงการเดินเรือเชื่อมท่าเรือกรุงเทพฯ-เกาะสมุย สมัยมีมะพร้าวเป็นรายได้หลักเลี้ยงชาวเกาะกับพรรคพวก “ไข่นุ้ย” สมัยนั้นจำได้ชาวเกาะจะเข้ากรุงมาเรียนหนังสือก็อาศัยเรือบรรทุกมะพร้าวนี่แหละโดยสาร และคนเหล่านี้ได้ดิบได้ดีเป็นเจ้าคนนายคนมาก็มากโข
กระทั่งถึงเวลา…มีเรือขนส่งสินค้าชื่อ “ภาณุรังษี” ล่องอ่าวไทยแวะรับสินค้าที่เกาะสมุยกับสงขลาไปส่งสิงคโปร์ ทำให้คนสมัยนั้นนิยมใช้บริการเรือลำนี้ท่องเที่ยวพ่วงไปกับสินค้า…ถือว่าโก้เอาการในยุคนั้น
เรือที่ว่านี้มีสัญชาติเดนมาร์กสร้างเมื่อ ค.ศ.1927 หรือ พ.ศ.2470 ก่อนจะมาเป็นของ บ.เรือไฟไทย จำกัด ในเครือ บ.อีสต์เอเซียติก ส่วนชื่อได้มาจากพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ พระโอรสรัชกาลที่ 4
มีระวางขับน้ำ 685 ตัน และเป็นเรือลำเดียวกับรัฐบุรุษอาวุโสไทย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ควงแขนท่านผู้หญิงพูนสุขไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ เมื่อเมษายน ปี 2472 ซึ่งท่านผู้หญิงได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ชีวิต ๘๔ ปี เท่าที่จำได้” … “ไปเที่ยวทะเลตะวันออกกับเรือภาณุรังษี แวะระยอง จันทบุรี เข้ากัมพูชา แวะเมืองเรียม เมืองแด๊ป และซาเตียนเมืองขึ้นเวียดนาม ไปวันเสาร์กลับวันพฤหัสบดี เสียค่าโดยสาร ๖๐ บาท เป็นการท่องเที่ยวที่คุ้มค่า อาหารดีทั้งไทยและฝรั่ง”
ประมาณปี 2479 เชื่อว่าเรือภาณุรังษีแล่นลงสู่ภาคใต้สุดทางสิงคโปร์ เมื่อย้อนกลับพระนครก็ถือโอกาสรับคนหัวเมืองปักษ์ใต้มาด้วย และบางครั้งก็แล่นนำเที่ยวทะเลตะวันออกถึงทะเลเพื่อนบ้าน บางโปรแกรมก็ล่องไปทะเลสงขลาถึงเกาะปีนัง ชะรอยจะเป็นเรือโดยสารกึ่งนำเที่ยว ที่สร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวเป็นลำแรกของอ่าวไทยอีกด้วย
สนนราคาค่าโดยสารถ้าเป็นสมัยนี้ดูถู้กถูก แต่สมัยนั้นผู้มีอันจะกินต้องจ่ายหัวละ 20 บาทยังบ่นว่าแพง หรือถ้ารวมอาหารไทย-ฝรั่งบนเรือหัวละ 40-60 บาทแพงหูฉี่เลยทีเดียว
เรือภาณุรังสีปลดระวางปีใดไม่เป็นที่แจ้งชัด ทว่า เห็นกระทู้ถามตอบถึงเรือเดนมาร์กลำนี้ มีคนซื้อไปทำเรือนอาหารอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาแถวสะพานกรุงเทพ…เท็จจริงอย่างไรไม่ยืนยัน
กระทั่งเมื่อเมืองไทยเริ่มส่งเสริมท่องเที่ยวปี 2503 หลังรัฐบาลก่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ “อสท.” ขณะนี้เรียก “ททท.” รูปแบบการท่องเที่ยวทางเรือถึงอุบัติขึ้น เช่น เรือแท็กซี่เข้าคลองบางกอกน้อย เรือทัวร์ตลาดน้ำวัดไทร และเรือนำเที่ยวท้องแบนไปดูแม่ชีลอยน้ำวัดพระลอย จ.สุพรรณบุรี เป็นของนักลงทุนจากปากน้ำโพ นครสวรรค์ ในนาม “ส่งเสริมบริการ”
เมื่อเห็นว่าทัวร์ทางน้ำไปต่อได้…การลงทุนจึงเดินหน้าด้วยการต่อเรือท้อง V จากอู่นครสวรรค์ ไปโลดแล่นที่ตลาดบ้านดอนเชื่อมเกาะสมุย ซึ่งมี “เรือนอน” ออกเที่ยงคืนสว่างเช้าบนเกาะอยู่ก่อน แต่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ เป็นเรือเร็วใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง ลูกค้าจึงคนละกลุ่มไม่ต้องแย่งชิงกัน
ต่อจากนั้นองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ พัฒนาตลาดขึ้นอีกขั้น โดยนำเรือท้อง V ขนาดใหญ่ชื่อ “คิงส์ครุยเซอร์” บุกตลาดกรุงเทพฯ-เกาะสมุย-กรุงเทพฯ ซึ่งเคมีเกิดตรงกับนักท่องเที่ยวเพราะเริ่มสนใจสมุยแทนภูเก็ต ที่นี่จึงพลิกโฉมแทบทุกนาที…ชาวเกาะที่พ่อแม่วางใจให้ที่ดินติดถนนไว้ทำกินเกิดความคิดขายที่ดินให้นักลงทุน แล้วหอบเงินหลักล้านต้นๆ ไปทำไร่กาแฟแถวชุมพร จนขาดทุนต้องกลับเกาะทำงานเป็นลูกจ้างบนที่ดินหลักสิบล้าน ซึ่งเคยเป็นสมบัติของตนมาก่อน
ผิดกับลูกคนที่พ่อแม่มองว่าไม่เอาอ่าว ได้ที่ดินริมทะเล ถนนเข้าไม่ถึง ต้องสู้อุตส่าห์กัดฟันพลิกฟื้นจนกลายเป็นทำเลทองของธุรกิจขายห้องพัก จากกระท่อมฝาหลังคามุงก้านมะพร้าว แปลงเป็นรีสอร์นระดับหรู ร่ำรวยระดับ “นายหัว” ปักหลักอยู่คู่เกาะสมุยไม่ไปไหน
เวลาเดียวกัน…ตลาดเรือคิงส์ครุยเซอร์ที่ดีวันดีคืน กลับเกิดเหตุร้ายอับปางลงกลางทะเล ช่วงเดียวกับที่นักธุรกิจไทยหันมาขับเคลื่อนการลงทุน นำเรือครุยส์ขนาดใหญ่เข้ามาเปิดตลาดนำเที่ยวเริ่มจากธุรกิจของซีทรานส์นาวี ที่เคยนำเรือสินค้าไทยลำแรกชื่อ “บางละมุง” แล่นทั่วโลก “เรืออันดามันปริ๊นเซส” จากนักลงทุนค่ายบีโอไอ “เรือโอเรียนปริ๊นเซส” และเรือครุยส์เพื่อนบ้าน แวะเวียนเข้ามาใช้ทะเลไทยที่มีวัตถุดิบทางการท่องเที่ยวมากมายเป็นจุดขาย
ส่งผลให้ทะเลไทยในช่วงปี 2535 เรื่อยมา ได้ชื่อว่ายุคทองของเรือครุยส์ที่มีตารางเดินเรือท่องเที่ยวทั้งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันตลอดทั้งปี
ธุรกิจท่องเที่ยวเรือครุยส์ลำมหึมาที่บ้านเราเคยมี ซีทรานส์นาวีเป็นเจ้าแรกประเดิมชาเลนจ์ โดยซื้อเรือเก่าจากญี่ปุ่นที่เคยแล่นในทะเลญี่ปุ่นมารีโนเวตใหม่ แล้วเปิดรูตท่องเที่ยวท่าเรือกรุงเทพฯ สู่เกาะสมุย-หมู่เกาะอ่างทอง สร้างสีสันให้เกิดมิติใหม่ท่องเที่ยวทะเลไทยในยุคนั้น
ถัดมาเป็นครุยส์ขนาดยักษ์ลำที่สอง มีต้นกำเนิดจากสวีเดนที่มีชื่อเสียงด้านอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ของโลก ประวัติเป็นเรือนำเที่ยวคู่แฝดชื่อ “มูฮิบา” เคยแล่นลำแถบทะเลบอลติกทางยุโรปตอนเหนือแถบสแกนดิเนเวียน เอสโตเนีย และฟินแลนด์
ไทยซื้อมาลำเดียวแต่งตัวใหม่ใส่ชื่อ “อันดามันปริ๊นเซส” ส่วนคู่แฝดเพื่อนบ้านฝั่งมหาสมุทรอินเดียคือมาเลเซียซื้อไปแล่นเชื่อมเมืองกวนตัวทางตะวันออกรัฐปาหัง กับซาบาห์ตอนเหนือเกาะบอร์เนียว ป่านนี้คงปลดระวางขึ้นคานถาวรเป็นที่เรียบร้อยแล้วกระมัง?
เรือครุยส์อันดามันปริ๊นเซสได้การรับรองมาตรฐานจากสถาบันลอยด์จากอังกฤษ เป็นธุรกิจประกันภัยเรือประเภทนี้ที่มีชื่อเสียงกว่า 300 ปี โดยเรือทุกลำจะถูกลอยด์กำหนดอุปกรณ์ตกแต่งภายใน ต้องเซฟต่อการเป็นเชื้อเพลิงเผาผลาญอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ป้องกันชีวิตคนบนเรือก่อนจมดิ่งลงสู่ก้นทะเลอย่างรวดเร็ว
ลอยด์มีกำหนดควบคุมดูแลเป็นประจำทุกปี เรืออันดามันปริ๊นเซสจึงมีคุณสมบัติพิเศษในข้อนี้เป็นประการสำคัญ
ช่วงนั้น…ตลาดทัวร์เรือครุยส์ไทยดูเหมือนจะพีก ด้วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่น “เรือโอเรียนปริ๊นเซส” และครุยส์ต่างชาติสิงคโปร์เข้ามาผสมโรงหากิน เพราะทะเลแถบนั้นไม่มีธรรมชาติสวยงามเช่นบ้านเราจึงต้องเข้ามาอาศัยใบบุญ…กระนั้น เขามีจุดขายที่เราไม่มีคือกาสิโนบนเรือ ซึ่งเปิดตลอดขณะเรือวิ่งอยู่กลางน่านน้ำสากล และปิดทันทีที่ผ่านเข้าสู่ทะเลไทย
การขายทัวร์ที่เคยมีเฉพาะกรุงเทพฯ-เกาะสมุย-หมู่เกาะอ่างทอง ก็สยายปีกการลงทุนรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาใช้บริการซ้ำครั้งสู่จุดหมายใหม่ เช่น ทริปดำน้ำเกาะเต่า-นางญวน หรือเกาะช้าง จ.ตราด ถึงเกาะกง ทะเลกัมพูชา ซึ่งปีหนึ่งจะขายได้ช่วงทะเลปลอดมรสุม 8 เดือน
ส่วนที่เหลือ 4 เดือนเป็นฤดูมรสุมอ่าวไทย แต่ฝั่งอันดามันจะเหมาะกับการท่องเที่ยว บรรดาครุยส์ทั้งหลายจึงพากันแล่นลำผ่านช่องแคบมะละกา กลับเข้าน่านน้ำทะเลไทยฝั่งอันดามันเพื่อใช้ท่าเรืออ่าวขามภูเก็ตเป็นศูนย์กลางทัวร์ภูเก็ต-เกาะพีพี-เกาะสิมิลัน-เกาะสุรินทร์
สลับกับภูเก็ต-ทะเลตรัง-หมู่เกาะตะรุเตา-อาดังราวี-เกาะทะลุ-หินงาม-หลีเป๊ะ สุดทางเกาะลังกาวี มาเลเซีย ห่างไทย 8 ไมล์ทะเล ที่พระยาศราภัยพิพัฒน์เคยลี้ภัยไปพำนักที่นี่
เหล่านี้คือคอนเทนต์ธุรกิจเรือครุยส์ ที่เจ้าของจะเขียนแผนเสนอขายรูตท่องเที่ยวเป็นประจำในรอบปี เพราะเรือนั้นไม่ต่างกับธุรกิจการบินที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เดินแข่งเข็มนาฬิกาทุกวินาที ตั้งแต่ค่าเช่าจอดมหาโหด ค่าพนักงานประจำเรือแม้ต้องจอดเทียบลำไม่มีโปรแกรม และค่าการตลาดที่ต้องเดินหน้า
แล้วมาถึงหัวใจสำคัญ…นั่นคือการให้บริการออนบอร์ดซึ่งฟูลบอร์ดไม่ต่างโรงแรมหรู 5 ดาวลอยน้ำโต้คลื่นลมทะเล ซึ่งจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งห้องอาหาร เลาจน์ ผับ บาร์ คาราโอเกะ แดนซิ่งรูม มินิเธียเตอร์ และมินิช้อปปิ้งเป็นเอาต์เล็ตคลายเหงา
ห้องฟิตเนส สระว่ายน้ำสำหรับออกกำลังกายระหว่างท่องเที่ยวพักผ่อน ห้องนอนบนพื้นที่อันจำกัดแต่ต้องสบาย…สิ่งที่กล่าวถึงทั้งหมดแน่นอนจะต้องมีบริกรพร้อมตามจำนวนรองรับ
รวมถึงบุคลากรควบคุมการเดินเรือ ไล่มาตั้งแต่กัปตัน ต้นหน ช่างเครื่องยนต์-ไฟฟ้า พยาบาล เชฟทำอาหารและทีมงาน ไกด์เฉพาะทางทะเลเพื่อคอยแนะนำและช่วยเหลือกิจกรรมสันทนาการทางทะเล รวมๆ แล้วจะต้องมีพนักงานบนเรือทุกระดับไม่น้อยกว่าหลักร้อยขึ้นไป ถึงจะเพียงพอความต้องการ โดยทุกคนจะต้องกินอยู่หลับนอนบนเรือ ผิดกับการทำงานบนแผ่นดินที่คิดเฉพาะชั่วโมงออนดิวตี้
ดังนั้น…การคิดคอร์สลงทุนเคาะราคาขายบวกค่าดำเนินงาน และผลกำไรประกอบการธุรกิจซึ่งต้องมีติดกระเป๋า จึงเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อนยุ่งยากต่อการหยิบฉวย ยกตัวอย่างค่าพลังงานเชื้อเพลิงต่อทริปที่แพงหูฉี่ เพราะขึ้นอยู่กับกลไกของการควบคุมและรัฐบาลสมัยนั้นยังไม่มีการแทรกแซงราคาเหมือนปัจจุบัน
แล้วยังต้องเสียเบี้ยใบ้รายทางให้แก่องค์กรส่วนท้องถิ่น กรณีเรือไปจอดเทียบลำให้นัก ท่องเที่ยวขึ้นไปเหยียบแผ่นดินเกาะ เพื่อเป็นค่ากำจัดเศษสิ่งปฏิกูลที่อาจเกิดจากพฤติกรรมผู้ใช้บริการ ค่าขนถ่ายผู้โดยสารขึ้นลงจากเรือใหญ่สู่เรือหางติดเครื่อง อันนี้เหมาะสมเพราะเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
ส่วนที่น่าเห็นใจนักลงทุนในยุคนั้น ก็คืองบฯ ลงทุนหมวดโปรโมชั่นซึ่งจำเป็นต้องมีไว้ซื้อช่องทางทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจซื้อบริการ ทว่า วันนี้เมื่อโซเชียลมีเดียคือสื่อที่ใช้งบกระจิริด แต่ขอบข่ายกว้างขวางและรวดเร็วทันตาเห็น
จึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นภาวะที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างวันนั้น…กับวันนี้
กลยุทธ์การขายของเซลส์เรือครุยส์ในอดีต จึงมองทะลุแว่นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคว่านิยมเดินทางเป็นหมู่คณะผ่านบริษัทนำเที่ยว เพราะสะดวกสบายเบ็ดเสร็จในตัวทุกอย่าง ไม่เหมือนประเภทวอล์กอินที่ต้องจัดการตัวเอง ดังนั้น…การขายให้บริษัทนำเที่ยวต้องตีกรอบราคา “กรุ๊ปเรต” ต่ำกว่าราคาหน้าร้าน 10-15% ให้คู่ค้ามีรายได้แบ่งเค้กร่วมกัน
แต่ก็อีกนั่นแหละ…การกำหนดราคาขายบางทีก็ขึ้นอยู่กับบริษัทนำเที่ยวจะกดต่ำเท่าที่จะทำได้ โดยธุรกิจเรือครุยส์เองตกอยู่ในภาวะจำยอม เพื่อให้ได้กรุ๊ปมาเต็มลำเรือที่ต้องการ
ขณะเดียวกันการขายวอล์กอินก็มีอยู่บ้างประปราย แต่การท่องเที่ยวเรือสำราญยังเป็นของใหม่สำหรับบ้านเรา ถ้าแพงเกินไปตลาดก็จะไม่กล้าจับหรือเกินกำลังซื้อของคน
เห็นหรือยังว่า…ทะเลไทยนั้นถึงจะสุดแสนแฟนตาสติก แต่การลงทุนคงไม่ง่ายเสมอไปกับการเสี่ยงกับตลาดที่ไม่แน่นอน ชะตากรรมเรือครุยส์ไทยจึงมักมีปัญหาให้เห็น ดังเช่นเช้าตรู่เรือครุยส์ลำหนึ่งเกิดไฟไหม้ขณะจอดเทียบท่าเรืออ่าวขามภูเก็ตก่อนมุ่งหน้าสู่เกาะลังกาวี…อีกลำขาดสภาพคล่องจนต้องปิดตัวเอง ที่เหลือค่อยๆ หยุดกิจการไปอย่างน่าเสียดาย
คงทิ้งไว้เป็นตำนานเพียงว่า…กาลครั้งหนึ่งเราเคยมีเรือท่องเที่ยวกลางน่านน้ำไทย ก่อนจะมาถึงคิว “ดิ บลู ดอลฟิน เฟอร์รี่” เจ้าของฉายา “โลมาสีน้ำทะเล” เข้ามาเสี่ยงทายเป็นรายต่อไป และหวังว่าจะโชคดีไม่หยิบหนังม้วนเก่ามาฉายซ้ำ…เหมือนรุ่นพี่ที่บอบช้ำจากวันวานที่ผ่านๆ มา
ใต้ภาพ
เรือเฟอร์รี่ “ดิ บลู ดอลฟิน”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022