วางบิล เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ปิดหนังสือพิมพ์ไม่มีกำหนด 13 ฉบับ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ปิดหนังสือพิมพ์ไม่มีกำหนด 13 ฉบับ

คําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 สั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ข้อ 1. ให้หนังสือพิมพ์รายวัน และสิ่งตีพิมพ์ต่อประชาชนอื่นๆ ที่เสนอข่าวและข้อเขียนแสดงความคิดเห็นทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ หยุดทำการพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (6 ตุลาคม 2519) ทั้งนี้ จนกว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ข้อ 2. ให้นิตยสารรายสัปดาห์ และสิ่งตีพิมพ์ต่อประชาชนอื่นๆ ที่เสนอข้อเขียนและเรื่องประเภทสารคดีและบันเทิงคดีส่งข้อเขียนและเรื่องต่างๆ ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบข่าวสาร ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก่อนทำการพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข้อ 5. เอกสารและสิ่งพิมพ์ทุกชนิดซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียนแสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ อันจะเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ ไม่ว่าในวิถีทางใด ให้เก็บริบและทำลายให้หมดสิ้น

ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามคำสั่งนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

บัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับนี้ ให้บุคคลต่อไปนี้เป็นกรรมการตรวจสอบข่าวสารหนังสือพิมพ์

1. นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานกรรมการ

2. นางเติมสิริ บุญยสิงห์ เป็นกรรมการ

3. นางวิมล เจียมเจริญ เป็นกรรมการ

4. ร้อยตำรวจเอกอาทร บุญประสาท เป็นกรรมการ

5. พลตรีกฤษณ์ ชีเจริญ เป็นกรรมการและเลขานุการ

ขณะที่ ข้อ 3 ข้อ 4 ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกสถานี ไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือเอกชน ให้อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการที่ทางคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตั้งขึ้นโดยเฉพาะ (ตามบัญชีท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5)

ให้บุคคลต่อไปนี้เป็นกรรมการควบคุมวิทยุ โทรทัศน์

1. นายกำจัด กีพานิช เป็นประธานกรรมการ

2. นายดนัย ศรียาภัย เป็นกรรมการ

3. นายอุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นกรรมการ

4. ร้อยตำรวจเอกอาทร บุญประสาท เป็นกรรมการ

5. นายอาคม มกรานนท์ เป็นกรรมการ

6. พลตรีกฤษณ์ ชีเจริญ เป็นกรรมการและเลขานุการ

คํ่าวันที่ 6 ตุลาคม สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ยังเผยแพร่เหตุการณ์เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่ง สรรพสิริ วิริยะสิริ ออกไปถ่ายทำด้วยตัวเองตั้งแต่เช้ามานำเสนอ แต่หลังจากนั้น สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และสถานีวิทยุทุกแห่งต้องปิดตัว จากนั้นจึงเปิดเพลงสยามานุสติและเพลงปลุกใจ ทั้งสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์

ค่ำวันนั้น ผมกลับไปบ้านพี่สาวที่หมู่บ้านปูนซิเมนต์ไทย ยังทันเห็นข่าวจากโทรทัศน์ รุ่งเช้า แต่งตัวเรียบร้อย ด้วยเสื้อเชิ้ตขาวแขนยาว ไม่พับแขนเสื้อ นุ่งกางเกงสีดำ สวมรองเท้าหนัง ออกจากบ้านตรงเข้าสำนักงานที่ถนนพญาไท และทราบว่า พี่สาวอีกคนหนึ่งจัดการห่อหนังสือหลายเล่มของผมนำไปฝากไว้กับเพื่อนบ้าน ด้วยเกรงว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาค้นหาตัวผมและหนังสือเหล่านั้น ซึ่งเป็นหนังสือการเมืองทั่วไป

วันที่ 7 ตุลาคม 2519 บรรดาบรรณาธิการ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับต่างไปรอพบคณะกรรมการตรวจข่าวสารหนังสือพิมพ์ ที่อาคารสนามเสือป่า ซึ่งเป็นที่ทำการของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เพื่อรอคำสั่งให้หนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายตามปกติ ซึ่งมีเพียง 2 ฉบับที่สามารถตีพิมพ์ออกจำหน่ายได้ในวันที่ 8 ตุลาคม 2519 คือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ นอกนั้นยังไม่อนุญาตให้ออกจำหน่ายทั้งสิ้น เว้นแต่นิตยสารรายสัปดาห์และรายอี่นที่พิมพ์ออกจำหน่ายได้เช่นกัน

อีกสามวันต่อมา คือวันที่ 10 ตุลาคม 2519 ประกาศปิดหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ไม่มีกำหนด รวม 13 ฉบับ ในจำนวนนั้นมีหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติอยู่ด้วย

เป็นอันว่า พวกเราชาวประชาชาติทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกองบรรณาธิการ “ตกงาน” ส่วนจะนานเท่าไหร่ไม่มีใครคาดเดาได้

ผมกับเพื่อนร่วมงานบางคน อาทิ หาญ ทองนิ่ม ซึ่งดูแลงานช่างเรียงพิมพ์และพิสูจน์อักษรเห็นว่าไม่มีโอกาสอุทธรณ์ให้ออกหนังสือพิมพ์ได้แน่ จึงนัดกันไปเที่ยวสองสามวันจากนั้น กลับมาถูกหาว่าทิ้งงาน ทิ้งเพื่อน

ต้องยอมรับตามนั้น ทั้งที่เห็นว่า อยู่กรุงเทพฯ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเหมือนกัน

หากจะว่าไป บางคนเช่นผมไม่มีงานทำคงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะพิฆเณศการพิมพ์ไม่ได้ถูกปิด เพียงแต่ทางคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพ่งเล็ง เพราะก่อนหน้านั้น มีการพิมพ์หนังสือของบรรดานิสิตนักศึกษา และหนังสืออีกบางเล่มที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การเมือง

แม้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะยุติลงไปแล้ว แต่รายการของชมรมวิทยุเสรี ที่มีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแกนนำ ยังวิพากษ์วิจารณ์บุคคลและเหตุการณ์นั้น ทั้งยังมีผู้จัดรายการอีกหลายคนวิจารณ์บุคคลที่ตนเองเห็นว่าน่าจะฝักใฝ่หรือนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์

ไม่นานจากนั้น การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีจึงเกิดขึ้น มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มี นายดุสิต ศิริวรรณ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาปิดหนังสือพิมพ์ หรือให้หนังสือพิมพ์ออกจำหน่าย ทั้งนี้ คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 เป็นฉบับสำคัญ เป็นคำสั่งที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิมพ์สิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายให้เป็นไปโดยเรียบร้อย

คำสั่งนี้กำหนดให้ผู้ที่ต้องการดำเนินการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันและสิ่งตีพิมพ์ ยื่นเรื่องราวต่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เป็นการเฉพาะรายนั้น ให้ผู้ถูกสั่งถอนใบอนุญาตมีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ภายใน 15 วัน คำวินิจฉัยของปลัดกระทรววงมหาดไทยให้เป็นที่สุด