ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
ถึงแม้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะบังคับใช้มาแล้ว 3 ปี แต่ยังคงมีภาพความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเปล่ากลางเมือง แปลงร่างจากที่ดินรกร้างว่างเปล่า ปลูกกล้วย มะนาว มะม่วง สร้างลานจอดรถ หรือปักป้ายขาย ปล่อยเช่ากันอย่างคึกคัก เพื่อหลบอัตราภาษีแพงในปี 2565 เก็บ 100% และหากยังปล่อยร้างอีก ต้องจ่ายเพิ่ม 0.3% ในปี 2566
เริ่มเห็นภาพชัดโซนถนนเกษตร-นวมินทร์ นำที่ดินกว่า 400 ไร่ ของเจ้าสัวเมืองไทย ยกร่องปลูกต้นมะม่วงให้เข้าเกณฑ์เกษตรกรรม จ่ายภาษีในอัตราถูกลง 0.01-0.1%
ล่าสุดซอยโฉนดที่ดินเป็นแปลงย่อยปล่อยเช่าระยะสั้นสร้างรายได้ ระหว่างรอจังหวะขึ้นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสในอนาคต
ใกล้ๆ กันมีที่ดินแปลงใหญ่ 16 ไร่ เป็นของดีเวลลอปเปอร์รายหนึ่ง ซื้อไว้เตรียมจะพัฒนา แต่ด้วยจังหวะที่ยังไม่เอื้อ ประกอบกับมีภาระภาษีเพิ่ม จึงนำมาติดประกาศขาย ตั้งราคาอยู่ที่ 280,000 บาทต่อตารางวา รวม 16 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,792 ล้านบาท
อีกแปลงอยู่โซน “สุขุมวิท 101” ฟังดูเหมือนอยู่ไกลปืนเที่ยง แต่หลังมีรถไฟฟ้าและทรู ดิจิทัล พาร์ค มาจุดพลุ ทำให้ราคาที่ดินดีดขึ้นแรง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าของที่ดินประกาศขาย 3 ไร่ อยู่ฝั่งตรงข้าม กล้าตั้งราคาสูงถึง 1.5 ล้านบาทต่อตารางวา หรือไร่ละ 600 ล้านบาท รวม 3 ไร่ เป็นมูลค่า 1,800 ล้านบาท
เจ้าของที่ดินระบุเป็นที่ดินของตระกูล ถือมากว่า 50 ปี ไม่มีแผนจะนำมาพัฒนา เมื่อมีรถไฟฟ้า มีห้าง จึงรวบที่ดิน 3 แปลงย่อยเป็นแปลงเดียวกันเพื่อให้ขายได้ในราคาที่คาดหวัง หากไม่ได้ราคาที่ตั้ง ก็ยังไม่ขาย เพราะไม่ได้รีบ และไม่เกี่ยวกับภาษีที่ดินแต่อย่างใด
ขยับมาที่ทำเลฮอต “พระราม 9” มีที่ดิน 43 ไร่ อยู่ในรัศมีแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงก่อนถึงแยกทางด่วน ประกาศขายในราคา 650,000 บาทต่อตารางวา รวม 43 ไร่ อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท ซึ่งที่ดินแปลงนี้ติดป้ายขายมานานแรมปีแต่ยังไม่สามารถปิดดีลได้อย่างหวัง
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะตั้งราคาสูงลิ่ว ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เลยทำให้ขายยาก
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น “อลิวัสสา พัฒนถาบุตร” ประธานบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ บอกว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้เจ้าของที่ดินที่เป็นทั้งแลนด์ลอร์ดและผู้ที่ได้รับมรดก นำที่ดินมาจัดพอร์ตใหม่ว่าแปลงไหนจะเก็บไว้ และแปลงไหนจะขาย เพื่อลดภาระภาษีที่ดิน
โดยที่ผ่านมามีลูกค้านำที่ดินมาให้บริษัทจัดพอร์ตและแนะแนวการบริหารจัดการให้ โดยเฉพาะที่ดินในเมืองมีราคาแพง เช่น ลุมพินี สาทร เพลินจิต วิทยุ สุขุมวิท รัชาดาภิเษก พระราม 9 ที่นำมาปล่อยเช่ากันมากกว่าเดิมที่ไม่มีต้นทุนด้านภาษี ทั้งให้เช่าระยะสั้น 3+3+3 ปี ทำเป็นที่จอดรถหรือขายของ และหากลงทุนก่อสร้างอาคาร จะให้เช่า 15-20 ปี และ 30 ปี
“ก่อนมีโควิด-19 จะเห็นแลนด์ลอร์ดนำที่ดินในเมืองออกมาประกาศขายมากและเริ่มซบเซาในช่วงมีโควิด หลังรัฐออกมาตรการลดหย่อนให้ 90% ส่วนปีนี้เก็บภาษีเต็ม 100% เริ่มเห็นมากขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะภาษีอย่างเดียว เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีด้วย ขณะที่ราคาที่ดินก็ปรับขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 5-8% ซึ่งราคาซื้อขายยังไม่แพงและไม่คึกคักเหมือนช่วงตลาดคอนโนมิเนียมบูม เพราะตลาดยังไม่ฟื้นตัวดี” อลิวัสสากล่าว
อย่างไรก็ตาม เอฟเฟ็กต์ไม่ได้เกิดเฉพาะที่ดินเปล่าเท่านั้น เรื่องนี้ “สุนทร สถาพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด มองว่า ภาษีที่ดินจะเก็บรอบปี 2566 ที่จะมาถึงนี้ กระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีสต๊อกบ้าน และคอนโดมิเนียม รวมถึงที่ดินเปล่าเก็บเป็นแลนด์แบงก์ยังไม่พัฒนา ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากหมดเวลาอันนีมูนพีเรียด 3 ปีที่ผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นแล้ว
“ส่วนใครมีแลนด์แบงก์ในมือ ภาษีที่ดินจะเป็นตัวเร่งให้ต้องนำพัฒนาหรือขาย เพราะตอนนี้ราคาที่ดินไม่ได้แพงหวือหวาเหมือนช่วงเศรษฐกิจดี ปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 7-8% คนมีแลนด์แบงก์เยอะ หากขายได้ก็จะขาย เพื่อเก็บเงินสดไว้และลดภาระภาษีด้วย” สุนทรทิ้งท้าย
สอดคล้องกับแหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์วิเคราะห์ว่า มี 2 ปัจจัยทำให้เจ้าของที่ดินและบริษัทอสังหาฯ นำที่ดินออกมาขายกันมากในปัจจุบัน นั่นคือภาษีที่ดินแพงและเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ คนจึงอยากขาย หวังเก็บเงินสดไว้ ขณะที่ราคาที่ดินก็ปรับขึ้นไม่สูงมาก อย่างที่ดินในเมืองซึ่งเหลือน้อย แต่ราคาก็ขึ้นแค่ 5-8% ต่อปี คนมีกำลังจ่ายภาษีได้ จะถือไว้ เพราะหากขายไปก็ได้ราคาไม่ดี
ส่วนวิธีการบริหารจัดการ เพื่อลดภาระภาษี มีหนังตัวอย่างจาก “รุ่งรัตน์ ลิ่มทองแท่ง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซื่อตรง กรุ๊ป จำกัด เล่าว่า ได้นำแลนด์แบงก์ 300-400 ไร่ มูลค่า 2,000-3,000 ล้านบาท เช่น อ.แกลง บ้านฉาง รังสิต คลอง 6 รังสิต คลอง 12 บางบัวทอง บางศรีเมือง จ.นนทบุรี มาบริหารจัดการ หากแปลงที่ต้องถือไว้ระยะยาว จะให้เกษตรกรเช่าทำเกษตรกรรม ส่วนแปลงไหนมีแผนจะพัฒนาใน 1-2 ปี จะปลูกพืชเกษตรกรรม ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
ด้านบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกค่ายมีแลนด์แบงก์อยู่มากในช่วงที่ผ่านมา “ปิยะ ประยงค์” ซีอีโอบริษัท บอกว่า ขณะนี้มีที่ดินในมือรอพัฒนาคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท กระจายอยู่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หากแปลงไหนที่ยังไม่ขึ้นโครงการ จะให้เช่าหรือทำตลาด และมีบางแปลงนำออกมาขาย ซึ่งแปลงไหนขายได้ก็ขาย
“เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น อยากให้รัฐเก็บภาษีที่ดินแบบขั้นบันได รอให้เศรษฐกิจดีค่อยกลับมาเก็บ 100% เพราะภาษีถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง เมื่อสูงขึ้น สุดท้ายผู้ประกอบการจะผลักภาระไปยังผู้บริโภค ด้วยการขึ้นราคา” ซีอีโอพฤกษาย้ำเสียงหนัก
ฝั่งผู้ประกอบการโรงแรมก็โอดครวญไม่แพ้กัน ล่าสุด “พันธ์เลิศ ใบหยก” ประธานกรรมการเครือโรงแรมใบหยก ออกมาย้ำชัดถ้อยคำ ภาษีที่ดินที่ออกมาในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี กลายเป็นรายจ่ายถาวรของกลุ่มบริษัท มีภาระต้องจ่ายปีละ 50 ล้านบาท มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะราคาประเมินที่ดินจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566
เป็นเสียงภาคธุรกิจที่ออกมา “คอลเอาต์” ขอรัฐบาลลดหย่อนภาษีที่ดินแพงอีกครั้ง ถึงแม้ความหวังจะดูริบหรี่เต็มทีก็ตาม โดยส่วนที่คาดหวัง เขามองไปที่นโยบายพรรคการเมือง อาจมีการหยิบยกมาหาเสียงระยะแรกๆ อีกครั้ง!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022