ระเบิดเวลา 3 ป. บนถนนการเมือง แกะรอย ‘บิ๊กแดง’ ในวัน ‘บิ๊กตู่’ ต้องการกองหนุน

ระเบิดเวลา 3 ป. บนถนนการเมือง แกะรอย ‘บิ๊กแดง’ ในวัน ‘บิ๊กตู่’ ต้องการกองหนุน กับคำประกาศเป็น ‘ทหารพระราชา’ ของ ‘บิ๊กบี้’

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง กระแสการปรับคณะรัฐมนตรีก็สะพัด และกล่าวกันว่า จะเป็นโผ ครม.ที่จัดกันในกลาโหม ในช่วง 38 วันที่ พล.อ.ประยุทธ์สวมหมวก “สนามไชย 1” ไปนั่งทำงาน และมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ใช้ความคิดและวางแผนต่างๆ

บางกระแสข่าวระบุว่า มีการหารือกันทั้งในห้องทำงานชั้น 2 ที่กลาโหม และห้องอาหารโต๊ะกลม ระดมความคิดแผนการสู้ต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะคาดการณ์ล่วงหน้าในเวลานั้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจเริ่มนับวาระนายกฯ ในปี 2560 ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

ที่มีข่าวสะพัดว่าไม่มีเสียงเชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ยอมลงจากหลังเสือ ไปพักผ่อน และมีบทบาทอยู่เบื้องหลังเลย มีแต่กองเชียร์ให้สู้ต่อไป ด้วยการเดินเกมการเมืองด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ ที่เริ่มมีแนวทางการเมืองที่แตกต่างกันชัดเจนมากขึ้น

จนทำให้เป็นที่ซุบซิบกันว่า ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร มีรอยร้าวมากขึ้น นับตั้งแต่ พล.อ.ประวิตรทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์อาจไปต่อได้แค่ปี 2568

โดยเฉพาะทีมงานของ พล.อ.ประวิตร ที่พยายามทำให้ พล.อ.ประวิตรเป็นเหมือนนายกรัฐมนตรีตัวจริง ในการปรับลุค ปรับภาพลักษณ์ การทำงานที่ผ่านมาแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แถมทาง พล.อ.ประวิตรก็ทำได้ดี ทั้งเรื่องใจบันดาลแรง และบรรยากาศของความปรองดองคลี่คลาย ยิ้มแย้มแจ่มใส จนทำให้ถูกเข้าใจว่าเตรียมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต หาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไม่ไปต่อ หากไปได้แค่สองปี

จึงไม่แปลกที่บางคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อจะดูเหมือนสะกิดไปที่ พล.อ.ประวิตร หรือไม่

เช่น คำพูดในการประชุมน้ำท่วมที่มหาดไทย ที่สั่งผู้ว่าฯ และในพื้นที่

“ไม่ต้องมีป้าย ไม่ต้องเอาคนมาถือป้าย ไม่เอา เข้าใจใช่มั้ย เพราะผมจะไปทำงาน และไม่สร้างภาระให้กับใครทั้งสิ้น ไม่ต้องเรื่องมากกับผม เพราะผมสมบูรณ์แข็งแรง ดูแลตัวเองได้ ขอให้ไปดูแลประชาชนที่เดือดร้อนดีกว่า ผมไม่เป็นภาระกับใคร”

ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประวิตรลาประชุม ครม.เมื่อวันพุธที่ผ่านมาอย่างกะทันหันโดยอ้างว่า เป็นไข้หวัด เพราะตากฝน ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม

แต่เป็นที่รู้กันว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้เป็นอะไรมากนัก และอาจจะเป็นเกมการวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ในระหว่างที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีก็เป็นได้

โดยเฉพาะเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเคยออกแรงหนุนให้ พล.อ.ประวิตรนั่งควบมาแล้ว เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมปรับเพราะเกรงใจบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พี่รอง ที่นั่งครองอยู่มา 8 ปี

กล่าวกันว่า หากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยอมให้ พล.อ.ประวิตรนั่ง รมว.มหาดไทย ก็สะท้อนการตัดสินใจว่าจะเดินไปบนถนนการเมืองร่วมกับ พล.อ.ประวิตร และพรรคพลังประชารัฐ

แต่หากปรับคณะรัฐมนตรี แต่ไม่แตะเก้าอี้ มท.1 ให้ พล.อ.อนุพงษ์นั่งต่อไป

ก็อาจสะท้อนได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจเลือกที่จะเดินบนถนนการเมือง สู้ต่อโดยมี พล.อ.อนุพงษ์และทีมจันทร์โอชาเคียงข้าง

ถึงขั้นที่มีฝ่ายสนับสนุน เชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์กล้าที่จะแยกทางเดินกับ พล.อ.ประวิตรในทางการเมืองเลยทีเดียว

เมื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ยอมตอบคำถามสื่อมวลชนว่าจะเอายังไงกับอนาคตทางการเมืองของตนเอง แต่ตอบแค่เพียงว่ายังไม่ได้คิดอะไร แม้แต่การคิดหาทายาททางการเมืองก็ตาม

อีกดัชนีชี้วัดการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่ออนาคตทางการเมือง คือ การตัดสินใจของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. น้องรักบิ๊กตู่

หลังจากมีข่าวสะพัดแรงอีกครั้งว่า จะมานั่ง รมว.กลาโหม เพื่อเตรียมอุ่นเครื่องที่จะเป็นทายาททางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ในอนาคต

หลังจากที่พ้นจากการเว้นวรรคทางการเมืองมา 2 ปี นับตั้งแต่พ้นจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งแต่ย้ายโอนจาก ทบ. ไปเป็นข้าราชการในพระองค์ในตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง เมื่อ 28 กันยายน 2563

เช่นเดียวกับที่มีการจับตามองบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มาช่วยงาน พล.อ.ประวิตรในพรรคพลังประชารัฐแบบเงียบๆ ในการทำพื้นที่ภาคอีสานมาก่อนเป็นปีแล้ว ที่ก็พ้นเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีแล้ว จนมีข่าวว่า จะมีตำแแหน่งใน พปชร.

และอาจเป็นทายาททางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ที่ก็เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 20 ของ พล.อ.อภิรัชต์เช่นกัน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์อยากที่จะให้ พล.อ.อภิรัชต์มาช่วยงานการเมือง ในยามที่กองหนุนน้อยลง และในยามที่ตัดสินใจที่จะสู้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยร่มเงาบารมีพี่ใหญ่อย่าง พลอ.ประวิตร

อีกทั้งมีประเพณีรับประทานอาหารค่ำของ พล.อ.ประยุทธ์ กับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และมี พล.อ.อภิรัชต์เป็นแขกพิเศษทุกเดือน ริมเจ้าพระยา ในพื้นที่กองทัพเรือ

เนื่องจาก ผบ.เหล่าทัพชุดที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็น ตท.20 เช่น บิ๊กหน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกลาโหม บิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. บิ๊กปั๊ด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.

อีกทั้งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รุ่นน้อง ตท.21 และบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. รุ่นน้อง ตท.22 ก็ล้วนเป็นน้องรักของ พล.อ.อภิรัชต์ทั้งสิ้น จึงเป็นบทบาทในการประสานระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่รุ่นค่อยๆ ห่างกันมากขึ้นๆ นั่นเอง

แม้การอยู่ในตำแหน่งรองราชเลขาธิการนี้ ไม่น่าจะสามารถถอยออกมาสู่สนามการเมืองได้ แต่ก็มีกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์เคลียร์ทางไว้แล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

จึงทำให้เกิดกระแสข่าวสะพัดอีกครั้ง ถึงการเข้าสู่สนามการเมืองของ พล.อ.อภิรัชต์ เพื่อมาดูแลกองทัพแทน เพราะ ผบ.เหล่าทัพหลักก็ยังเป็น พล.อ.เฉลิมพล และ พล.อ.ณรงค์พันธ์

เพราะเมื่อแรกที่ตั้งรัฐบาล การที่ พล.อ.ประยุทธ์ควบ รมว.กลาโหม เคยถูกมองว่าเป็นการจองเก้าอี้ “สนามไชย 1” ตัวนี้ไว้รอ พล.อ.อภิรัชต์นั่นเอง แล้วตอนนี้เวลานั้นก็มาถึง เมื่อครบกำหนดเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี

พลโท พนา แคล้วปลอดทุกข์

มาตอนนี้ ถึงเวลาที่ พล.อ.อภิรัชต์จะต้องตัดสินใจว่าจะออกมาเป็นแม่ทัพกรำศึกการเมือง เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

ซึ่งหากย้อนดูความเคลื่อนไหวของ พล.อ.อภิรัชต์ จะพบว่า ตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกหลายตำแหน่งเป็นนายทหารสายตรงของ พล.อ.อภิรัชต์ ทั้งบิ๊กปู พล.ท.พนา แคล้วปลอดทุกข์ แม่ทัพภาคที่ 1 สายวงศ์เทวัญคอแดงคนใหม่

และ เสธ.หมี พล.ต.ไกรเทพ ไชยพันธุ์ ที่ขยับจาก ผบ.มทบ.14 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 แม้ว่าจะเป็นรุ่นพี่ ตท.24 เมื่อเทียบกับรองแม่ทัพภาคที่ 1 อีก 2 คน คือรองใหญ่ พล.ต.อมฤต บุญสุยา ที่เป็นรุ่นน้อง ตท.27 และรองไก่ พล.ต.วรยุทธ เหลืองสุวรรณ ตท.28 เพราะรู้กันดีว่าเป็นสายตรงบิ๊กแดง ถึงขั้นเบียด ผบ.ตั้ง พล.ต.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผบ.พล.ร.11 ที่ต้องไปเป็นรองแม่ทัพน้อยที่ 1 ที่ก็เป็นสายตรงบิ๊กแดงเช่นกัน และเพื่อบาลานซ์ ให้มีรองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่เป็นทหารคอเขียว

นอกจากนั้น บรรดานายทหารทีมงาน พล.อ.อภิรัชต์ หลายคนก็ได้กลับจากกลาโหมมาอยู่ บก.ทบ.

และที่สะท้อนได้ว่า พล.อ.อภิรัชต์จับมือกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในการจัดวางตัวแม่ทัพนายกอง โดยยอมให้นายทหาร ตท.28 ฐานอำนาจของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ทั้ง ผบ.แอ้ม พล.ต.ณัฐเดช จันทรางศุ ขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. คุมกองพลวงศ์เทวัญคอแดง ผบ.กอล์ฟ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ คุมกองพลบูรพาพยัคฆ์คอแดง และ ผบ. ต็อป พล.ต.วุทธยา จันทมาศ ที่จะเป็น ผบ.พล.ร.9 กองพลคอเขียว จากเดิมที่มีบิ๊กมด พล.ต.อาจิณ ปัทมจิตร เป็น ผบ.พล.ม.2 รอ. คุมกองพลทหารม้าคอแดง ที่เคยเป็นกองพลทหารม้าปฏิวัติในอดีตมาอยู่แล้ว

จากเดิมที่ พล.อ.อภิรัชต์จะคอยกลั่นกรองตำแหน่งที่เป็นทหารคอแดงของ ฉก.ทม.รอ.904 ด้วยอีกแรง

พลโท พนา แคล้วปลอดทุกข์

ไม่แค่นั้น การจัดวางกำลังนายทหารระดับผู้บังคับการกรม ที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์เพิ่งเซ็นโยกย้ายเมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมา ก็ล้วนเป็นนายทหารสายตรงของ พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.อ.ณรงค์พันธ์

ทั้ง “ผู้การด้วง” พ.อ.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ผบ.ร.31 รอ. ขึ้นเป็นรอง ผบ.พล.1 รอ. “เสธ.ย้ง” พ.อ.คทาวุธ ชัยย้ง เสธ.พล.1 รอ. เป็น ผบ.ร.31 รอ. “ผู้การเบญ” พ.อ.เบญจพล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผบ.ร.21 รอ. ทหารเสือราชินี ขึ้นเป็นรอง ผบ.พล.ร.2 รอ. พ.อ.สังกาศ สร้อยคำ ผบ.ร.112 เป็นรอง ผบ.พล.ร.11 พ.อ.กริช บุญเกิด ผบ.ร.111 เป็น ผบ.ร.112 คุมกรม Stryker พ.อ.ธีรเดช ลิ้มคุณากุล ผบ.กรม สน.พล.ร.11 เป็น ผบ.ร.111

สะท้อนว่า พล.อ.อภิรัชต์ก็ยังมีเพาเวอร์ใน ทบ. และในกองทัพ ในขณะที่กองทัพบกยังคงถูกจับตาตั้งโยกย้ายในกองทัพภาคที่ 1 ขุมกำลังรบหลัก ที่อำนาจ 3 ป.เสื่อมมนต์ขลัง

ด้วยเพราะจุดยืน พล.อ.ณรงค์พันธ์ นั้นชัดเจนคือ เว้นระยะห่างทางการเมือง จนเคยถูกมองว่า ไม่เป็นที่พอใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จนเกือบจะมีการเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ. ในโยกย้ายที่ผ่านมา แต่ทว่า พลังของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ยังแข็งแกร่ง กองหนุนมีพลัง เก้าอี้ ผบ.ทบ.จึงมั่นคง และตามมาด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายที่กระชับอำนาจตัวเองในการเป็น ผบ.ทบ.ปีที่ 3 ปีสุดท้าย

จนทำให้เกิดกระแสข่าวลือ และความหวาดระแวงจากฝ่ายรัฐบาล เรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร เกิดขึ้นเลยทีเดียว

ยิ่งเมื่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์ประกาศกลางที่ประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (ผบ.นขต.ทบ.) ครั้งแรกในปีงบประมาณ 2566 ที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังมีการแต่งตั้งโยกย้ายปรับเปลี่ยนผู้บังคับหน่วยใหม่

“ให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่เต็มกำลังความสามารถ เดินหน้าปฏิบัติภารกิจตามความรับผิดชอบในฐานะ ‘ทหารของพระราชา’ ที่ทำเพื่อประชาชนตลอดไป”

ทั้งนี้ เป็นจุดยืนที่ชัดเจนของ พล.อ.ณรงค์พันธ์มาตั้งแต่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ที่มีม็อตโต้ “พิทักษ์ราชัน ปกป้องประชา รักษาแผ่นดิน” รวมทั้งการทวีตในทวิตเตอร์ส่วนตัว ถึงบทบาทการเป็นทหารของพระราชา ของกำลังพล มาโดยตลอด

อีกทั้งที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับหน้าที่ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 จนบางครั้งอาจไม่ได้มาร่วมประชุม หรือร่วมงานของ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็สยบกระแสความขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการออกมาชื่นชมในความเป็นผู้นำชายชาติทหาร ที่เป็นสุภาพบุรุษ ในการยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฎิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ก็ตามมาด้วยการกระชับอำนาจในกองทัพ จนทำให้ในฐานสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ และ 3 ป. ไม่ได้ขึ้นคุมตำแหน่งสำคัญ ทั้งแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.พล.ร.2 รอ.

จึงไม่แปลกที่เมื่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์ไปร่วมงานพิธีเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” งานของบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี รุ่นพี่ ตท.1 จะปรากฏภาพการพูดคุยกันอย่างสนิทสนม ใกล้ชิด

เพราะจะว่าไปแล้ว พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็นรุ่นน้อง ตท.22 ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ รุ่นพี่ ตท.1 แต่เติบโตจากสายบู๊ กำลังรบมาเหมือนกัน พล.อ.สุรยุทธ์กำเนิดจากรบพิเศษ หมวกแดง ส่วน พล.อ.ณรงค์พันธ์เติบโตจาก ร.31 รอ. หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว หมวกแดง ของ พล.1 รอ.

ที่สำคัญ พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ทหารพระราชา ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์เป็นประธานองคมนตรี ที่ก็เป็นทหารของพระราชาเช่นกัน ที่มีบทบาทสำคัญในการสานต่อภารกิจจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ผู้ล่วงลับ

ตราบใดที่นายกฯ ยังเป็นอดีตทหาร คีย์แมนในรัฐบาล ก็ยังเป็นอดีตทหาร และเป็นแผงอำนาจ 3 ป. ทหารเก่า จึงยังไม่อาจที่จะแยกการเมืองออกจากการทหาร หรือแยกทหารออกจากการเมืองได้ เพราะทหารก็ไว้ใจในทหาร และมักจะดึงคนที่เป็นทหารมาช่วยงาน มาช่วยทำศึกการเมือง

จึงทำให้ทหารเก่า และกองทัพ จึงยังพันตูกันเช่นนี้