ปฏิวัติ-รัฐประหาร วงเวียนแห่ง ‘บูร์กินาฟาโซ’ | บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

ปฏิวัติ-รัฐประหาร

วงเวียนแห่ง ‘บูร์กินาฟาโซ’

 

บูร์กินาฟาโซ เป็นประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมแอฟริกาตะวันตกของฝรั่งเศส ก่อนที่จะได้รับสิทธิในการปกครองตนเองภายใต้อาณัติของฝรั่งเศส เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1958 และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1960

การเมืองในประเทศบูร์กินาฟาโซ นับตั้งแต่ได้เอกราชโดยสมบูรณ์ เรียกได้ว่า มีปัญหาความขัดแย้งมาตลอด และเกิดการทำรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไม่ค่อยมีการพัฒนาไปเท่าที่ควร

กระทั่งการปฏิวัติเมื่อปี 1987 ที่เรียกได้ว่า ทำให้การเมืองของประเทศเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น มีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

กระนั้นก็ตาม ก็ยังเกิดการรัฐประหารตามมาอีก

รวมถึงเมื่อเดือนมกราคม 2022 ต้นปีที่ผ่านมา ที่กองทัพบูร์กินาฟาโซ ยึดอำนาจจากประธานาธิบดีรอช มาร์ก คริสติยอง กาโบเร หลังความไม่พอใจในตัวประธานาธิบดีกาโบเรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความล้มเหลวในการจัดการกับกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงและกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายก่อการร้ายอัลเดค้า และกองกำลังรัฐบาลอิสลาม (ไอเอส)

โดยครั้งนั้น กองทัพได้ประกาศยุบทั้งรัฐบาลและรัฐสภา และระงับใช้รัฐธรรมนูญ พร้อมออกแถลงการณ์ ระบุว่า ประธานาธิบดีกาโบเรล้มเหลวที่จะสร้างความเป็นเอกภาพในชาติ รวมถึงล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อรากฐานจำนวนมากของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และ พ.ท.พอล-อองรี ดามีบา ผู้ก่อการรัฐประหาร ก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซ

ยังไม่ทันจะสิ้นปีเดียวกันนี้ ก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งในบูร์กินาฟาโซ เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ถนนสายหลักหลายสายในกรุงวากาดูกู ได้ถูกกองกำลังทหารปิดกั้นเอาไว้ สถานีโทรทัศน์ทางการถูกตัดสัญญาณ มีเสียงระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง

การปฏิวัติครั้งนี้ นำโดย ร.อ.อิบราฮิม ทราออเร ที่ประกาศปลด พ.ท.ดามีบาและยึดอำนาจควบคุมประเทศบูร์กินาฟาโซเอาไว้ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาสันติสุขในประเทศนี้ที่ถูกทำลายโดยกลุ่มนักรบญิฮาด

โดยระบุสาเหตุที่ปลด พ.ท.ดามีบาออกจากตำแหน่ง ว่าเนื่องจากตัว พ.ท.ดามีบาไม่สามารถจัดการกับการก่อความไม่สงบของกลุ่มนักรบญิฮาด ซึ่งเป็นเหตุผลให้ตัวเขาเองก่อรัฐประหารยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในชุดที่แล้วเช่นกัน

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ของรัฐรายงานว่า ร.อ.ทราออเรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประมุขแห่งรัฐอย่างเป็นทางการแล้ว

โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม มีรายงานจากกลุ่มผู้นำศาสนาในบูร์กินาฟาโซ ระบุว่า พ.ท.ดามีบาได้ยื่นหนังสือต่อ ร.อ.ทราออเร ขอลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน

พร้อมกับกำหนดเงื่อนไข 7 ข้อ รวมไปถึงการรับประกันความปลอดภัยของตัวเองและพันธมิตรในกองทัพ พร้อมกับขอให้ทราออเรและผู้นำรัฐบาลทหารชุดใหม่เคารพคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (อีโควาส) ที่ได้มีการบรรลุข้อตกลงว่าจะจัดการเลือกตั้งขึ้นในบูร์กินาฟาโซภายในปี 2024 ด้วย

ซึ่ง ร.อ.ทราออเรได้ยอมรับเงื่อนไขทั้งหมด และได้ยกเลิกเคอร์ฟิว พร้อมกับเปิดจุดผ่านแดนทุกแห่ง

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา มีรายงานว่า พ.ท.ดามีบา ประธานาธิบดีที่ถูกยึดอำนาจ ได้เดินทางออกนอกประเทศ ไปยังประเทศโตโกแล้ว แต่ไม่มีใครทราบว่าโตโกเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของเขาหรือไม่

ร้อยเอกอิบราฮิม ทราออเร อ่านคำประกาศปลดพันโทพอล-อองรี ดามีบา ประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซ ออกจากตำแหน่ง (RADIO TÉLÉVISION DU BURKINA)

ซึ่งการปฏิวัติยึดอำนาจครั้งที่ 2 ของบูร์กินาฟาโซในรอบปีนี้ ได้ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่า ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศอาจทำให้การให้ความสำคัญกับการจัดการกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน และทำให้ผู้คนกว่า 2 ล้านคนต้องละทิ้งบ้านเรือนของตนเอง ถูกลดความสำคัญลงไปอีก

ขณะที่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งชาติแอฟริกาตะวันตก หรืออีโควาส ประณามการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในบูร์กินาฟาโซอย่างแข็งกร้าว โดยชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในช่วงเวลาที่มีความคืบหน้ามากขึ้นในการทำให้ประเทศบูร์กินาฟาโซกลับสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้รัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ทราออเร ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เป้าหมายในการจัดเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมปี 2024 ยังคงมีความเป็นไปได้ หรือหากมีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะจัดการเลือกตั้งได้เร็วขึ้น

แม้ว่าบูร์กินาฟาโซจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตทองคำรายใหญ่ของภูมิภาค แต่การปฏิวัติ-รัฐประหาร ที่วนเวียนเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า กลายเป็นตัวกัดกร่อนการพัฒนาประเทศ

และเมื่อเกิดเหตุปฏิวัติขึ้นมาอีกครั้ง เป้าหมายการเลือกตั้งที่ตั้งไว้ ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นได้ตามคำบอกของผู้นำการปฏิวัติหรือไม่