การทูตความอาลัย (弔問外交)

บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์

 

การทูตความอาลัย (弔問外交)

 

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดรัฐพิธีศพ(国葬)อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ(安倍晋三)เมื่อวันที่ 27 กันยายนผ่านไปอย่างเรียบร้อย นอกจากผู้รับเชิญชาวญี่ปุ่นแล้ว มีผู้รับเชิญจากต่างประเทศ ผู้นำประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่นเข้าร่วมงาน กล่าวได้ว่าระหว่างวันที่ 26 – 28 กันยายน ได้เกิดเวทีทางการทูตขึ้นที่ญี่ปุ่นบนความอาลัยต่อการจากไปของ นาย อาเบะ

ท่ามกลางกลุ่มผู้ประท้วงตามที่ต่าง ๆ ทั้งหน้ารัฐสภา และใกล้สถานที่จัดพิธีมีเหตุปะทะกันเล็กน้อยระหว่างผู้มาวางดอกไม้ไว้อาลัยกับผู้ประท้วง ในอีกหลายเมือง เช่น โกเบ โอซากา เกียวโต ก็มีกลุ่มผู้ประท้วง แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใด ๆ ขณะเดียวกันก็มีผู้มาต่อแถวยาวถึง 4 ก.ม.ราว 25,000 คนเพื่อวางดอกไม้แสดงความอาลัย

พิธีเริ่มเมื่อเวลา 14.02 น. เมื่อนางอาคิเอะ อาเบะ(安倍明恵)ภรรยานาย อาเบะ นำอัฐิของนาย อาเบะ เข้ามาเพื่อวางบนแท่นพิธี จากนั้น นาย ฮิโรคาซึ มัทสึโน(松野博一)เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกล่าวเปิดงาน มีการบรรเลงเพลงชาติ ยืนนิ่งไว้อาลัย 1 นาที และฉายวิดิทัศน์เกี่ยวกับผลงานของนาย อาเบะ อาทิ นโยบายเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” นโยบายการต่างประเทศ นโยบายเกี่ยวกับความมั่นคง “Free and Open Indo-Pacific” การฟื้นฟูภูมิภาคโทโฮขุที่ประสบภัยสึนามิ ความพยายามแก้ปัญหาชาวญี่ปุ่นถูกเกาหลีเหนือลักพาตัว(拉致問題)เป็นต้น

ต่อจากนั้น นาย ฟุมิโอะ คิชิดะ(岸田文雄)นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีกล่าวคำไว้อาลัย ตามด้วย ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานตุลาการ และปิดท้ายด้วย อดีตนายกรัฐมนตรี นาย โยชิฮิเดะ สุงะ(菅義偉)ในฐานะตัวแทนเหล่ามิตรสหายของนาย อาเบะ

นาย คิชิดะ นายกรัฐมนตรี เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีนาย อาเบะ กล่าวสดุดีว่า “ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญยาวนานที่สุด แต่ผลงานและความสำเร็จของท่านจะเป็นที่จารึกและจดจำในประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า” “พื้นฐานที่ท่านได้ปูพื้นไว้ จะช่วยให้ผู้คนทั้งหลายโดยรวมญี่ปุ่น ภูมิภาค และทั้งโลกสว่างไสวอย่างยั่งยืนนานเท่านาน” เป็นการตอกย้ำความแน่วแน่ของนาย คิชิดะที่จะดำเนินนโยบายเพื่อสานต่อปณิธานของนาย อาเบะ

อดีตนายกรัฐมนตรี นาย โยชิฮิเดะ สุงะ ผู้เป็นกำลังใจให้นาย อาเบะ ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแอลดีพี และชนะการเลือกตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 นาย สุงะ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตลอดสมัยที่ 2 ของนาย อาเบะ จึงมีความสนิทสนมกับนาย อาเบะ มาก กล่าวว่า “ตลอดเวลา 7 ปี 8 เดือน เราผ่านทั้งเรื่องทุกข์และสุขมาด้วยกัน ผมมีความสุขมาก” “ท่านเป็นผู้นำที่แท้จริงของญี่ปุ่น”

นาย สุงะ ปิดท้ายด้วยบทกลอนโบราณที่อดีตนายกรัฐมนตรี นาย อาริโตโม ยามางาตะ(山県有朋)(1838-1922) เขียนถึงเพื่อน ในหนังสือที่ นาย อาเบะ ขีดเส้นใต้ด้วยปากกาสี ความว่า “โอ้ เพื่อนยากผู้รู้ใจ ด่วนจากไปเสียก่อนแล้ว ข้าฯ จะมีชีวิตที่เหลือได้อย่างไร” นาย สุงะ อ่านซ้ำถึง 2 ครั้ง เรียกความซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง มีข่าวล่าสุดว่าตอนนี้ผู้คนตามหาหนังสือเล่มนี้กันจ้าละหวั่น

ต่อจากนั้น ผู้แทนพระองค์พระจักรพรรดิ นารุฮิโตะ และพระจักรพรรดินี ผู้แทนพระองค์ของพระจักรพรรดิองค์ก่อน วางดอกไม้แสดงความอาลัย รวมทั้งมกุฎราชกุมาร ฟุมิฮิโตะ(文仁皇太子)และครอบครัว เสด็จร่วมงานด้วย

มีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวญี่ปุ่นและแขกต่างชาติราว 4,300 คน

ผู้รับเชิญในประเทศราว 3,600 คน มีผู้แทนพระองค์พระราชวงศ์และมกุฎราชกุมารฟุมิฮิโตะ อดีตนายกรัฐมนตรีหลายท่าน คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นสูง สมาชิกสภาผู้แทนฯ สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการตุลาการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนักธุรกิจสาขาต่าง ๆ อีกราว 1,000 คน

Photo by Takashi Aoyama / POOL / AFP

นอกจากหัวหน้าพรรคโคเม ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่เข้าร่วมพิธี คือ พรรคอิชิน และพรรคประชาธิปไตยประชาชน(国民民主党) ส่วนหัวหน้าพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย(立憲民主党)ที่คัดค้านรัฐพิธีมาตั้งแต่ต้น ไม่เข้าร่วมงาน

ผู้รับเชิญจากต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ 218 แห่ง ราว 700 คน ในจำนวนนี้มีระดับผู้นำประเทศ 34 คน

นาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มหามิตรของญี่ปุ่นไม่ได้มาร่วมพิธี แต่ส่ง นาง กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี มาแทน

นาย แอนโทนี แอลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม QUAD

ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ขาดนาย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ติดภารกิจรับมือภัยพิบัติ มาร่วมพิธีไม่ได้

ประเทศในเอเชีย มี นาย นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย นาย ฮัน ดัค โซ นายกรัฐมนตรีเกาหลี นาย ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นาย ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งถือโอกาสนี้กล่าวเชิญนาย คิชิดะ ให้เข้าร่วมประชุม ASEAN ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพด้วย นาย เหงียน ซวน ฟุค ประธานาธิบดีเวียดนาม รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้แทนจากไต้หวัน เป็นต้น

ประเทศแถบตะวันออกกลาง มี สมเด็จพระราชาธิบดีอัลดุลลอฮ์ ที่ 2 แห่งจอร์แดน เจ้าชายซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งบาห์เรน และนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐกาตาร์

ผู้แทนจากองค์กรความร่วมมือทางวัฒนธรรมของรัสเซีย ก็มาร่วมงานด้วย

นายฟุมิโอะ คิชิดะ ต้อนรับนางกมลา แฮร์ริส Photo by Kazuhiro NOGI / POOL / AFP

นอกจากนี้ ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมสมัยกับนายอาเบะ เช่น นาง เทรีซา เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นาย นิโกลาส์ ซาร์โกซี อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส นาย ชาร์ส มิเชล ประธานสหภาพยุโรป(EU) เป็นต้น นาย โทมัส บัค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล

นาย คิชิดะ ปฏิบัติงานด้านการทูตทันทีตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน เมื่อให้การต้อนรับผู้นำประเทศ อาทิ สนทนากับนาง แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับสถานการณ์ไต้หวัน และความร่วมมือนโยบายอินโด-แปซิฟิก เป็นต้น นาง แฮร์ริส จะไปฐานทัพเรือสหรัฐฯที่โยโกสึกะ จังหวัดคานากาวา หลังจากเสร็จรัฐพิธี แล้วไปเยือนเกาหลีเกี่ยวกับปัญหาเกาหลีเหนือ

นาย คิชิดะ แสดงความขอบคุณ นาย แอนโทนี แอลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียที่มาร่วมงาน เน้นย้ำว่าจะทำให้นโยบาย “Free and Open Indo – Pacific” เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น นาย แอลบานีส กล่าวว่า กรอบความร่วมมือ QUAD กลุ่ม 4 ประเทศ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดความเป็นผู้นำและความคิดริเริ่มของนาย อาเบะ ออสเตรเลียยินดีให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อให้ทุกอย่างสำเร็จตามความคาดหวัง

นาย คิชิดะ พบกับ นาย โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ผู้มีความสนิทสนมและเคยได้รับเชิญไปพักบ้านตากอากาศของนาย อาเบะ ที่จังหวัด ยามานาชิ ในปี 2018 กล่าวว่าจะต่อยอดผลงานอันเกิดจากความสัมพันธ์อันดีทางการทูตที่นาย โมดิ เคยร่วมมือกับนาย อาเบะ ต่อไป นาย โมดิ กล่าวว่า ไม่อาจลืมนาย อาเบะ ได้เลย และหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและญี่ปุ่นจะมีมิติใหม่ ๆเกิดขึ้นภายใต้การนำของ นาย คิชิดะ

 

ส่วน นาย โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้สนทนากับรัฐมนตรีต่างประเทศของ 11ประเทศ อาทิ กล่าวชื่นชม นาย เปกกา ฮาวิสโต รัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ ในความกล้าตัดสินใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO และพร้อมร่วมมือกันคว่ำบาตรรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน และสนทนากับ นาย เจมส์ เคลเวอร์ลีย์ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษในเดือนนี้ ให้คำมั่นร่วมกับอังกฤษในการคว่ำบาตรรัสเซีย

นอกจากนี้ ยังสนทนากับ รัฐมนตรีต่างประเทศของ ปานามา เม็กซิโก ตุรเคีย เป็นต้น

วันที่ 28 กันยายน ก่อนการเดินทางกลับ ผู้นำประเทศต่าง ๆ มีโอกาสเข้าเฝ้าพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทีละประเทศ ทรงมีพระราชปฏิสันถารด้วยอย่างใกล้ชิด

ทั้งหมดคือ “การทูตความอาลัย”(弔問外交)…

Photo by Takashi Aoyama / POOL / AFP