ข้อจำกัดของเครื่องมือทางการเงิน

AFP PHOTO/BRENDAN SMIALOWSKI

บรรดาผู้กำหนดนโยบายของกองทุนสำรองแห่งรัฐหรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้

แต่ขณะเดียวกันก็พิจารณาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่อาจจำเป็นต้องใช้ในการต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งต่อไป

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวปาฐกถาในงานประชุมสัมมนาประจำปีของเฟดที่แจ๊กสันโฮล ในรัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการประชุมด้านนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินสำคัญที่จัดขึ้นทุกปี โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการและบุคคลในแวดวงการเงินจากทั่วโลกเข้าร่วมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีเหตุผลรองรับมากเพียงพอในช่วงเดือนหลังๆ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว หลังจากที่ตลาดแรงงานของสหรัฐแข็งแกร่งมากขึ้น

โดยสมาชิกบางส่วนของเฟดระบุว่าอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมกำหนดนโยบายเดือนหน้านี้เลย หากเศรษฐกิจไปได้ดี

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เฟดที่เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคมที่ผ่านมา เปิดเผยว่า จำเป็นต้องมีการพิจารณานโยบายใหม่ในยุคที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่มีอัตราการเติบโตชะลอตัวลง อาทิ การปรับเพิ่มเป้าอัตราเงินเฟ้อ หรือการซื้อสินทรัพย์ที่เอกชนเป็นผู้ค้ำประกัน อย่างเช่นหุ้นกู้ของบริษัทต่างๆ

แนวคิดดังกล่าว จะเป็นการทดสอบข้อจำกัดเรื่องความเป็นไปได้ทางการเมือง ซึ่งมาตรการบางอย่างอาจต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ขณะที่มุมมองของเฟดเองเห็นว่า ต้องใช้ความพยายามเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนที่กังขามาโดยตลอดถึงวิธีการที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนซึ่งเฟดใช้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

บรรดาผู้กำหนดนโยบายเห็นว่าอาจจำเป็นต้องมีเครื่องมือทางการเงินเพิ่มขึ้น ในยุคที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และศูนย์กลางของการถกเถียงในเรื่องนี้คือ งบดุลบัญชีของเฟดมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มาจากโครงการซื้อพันธบัตรจำนวนมหาศาลเพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยระหว่างปี 2007-2009 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนมาก

ในขณะที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายส่วนหนึ่งยืนยันว่า เฟดควรจะค่อยๆ ลดการถือครองพันธบัตร แต่ เดนนิส ล็อกฮาร์ต ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้าระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนใกล้เคียงกับการยอมรับว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งนี้

“ผมคิดว่ามีเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่ตระหนักว่า อย่างน้อยที่สุด เป็นความจริงที่ต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่างบดุลจำนวนมหาศาลกำลังจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเงินสำคัญ” ล็อกฮาร์ตกล่าว

เจ้าหน้าที่เฟดบอกว่า จะค่อยๆ ลดงบดุลบัญชีลง ซึ่งเป็นกระบวนการที่คาดว่าต้องใช้เวลาหลายปี และจะยังไม่เริ่มต้นขึ้นจนกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่บนเส้นทางขาขึ้นอย่างมั่นคงแล้วเท่านั้น ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเวลาการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเป็นเวลานาน

 

เยลเลนกล่าวในปาฐกถาแจ๊กสันโฮลด้วยว่า งบดุลบัญชีของเฟดอาจเพิ่มขึ้นอีกหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตที่ทำให้เฟดต้องซื้อสินทรัพย์เพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในการประชุมแจ๊กสันโฮลที่ปีนี้มีประธานเฟด 15 จาก 17 สาขาเข้าร่วม รวมถึงผู้ว่าการธนาคารกลางจากทั่วโลก ยังมีการนำเสนอนโยบายทางการเงินนอกแบบแผนหลายอย่างที่ไม่เคยมีการใช้มาก่อน ทว่า ผู้กำหนดนโยบายส่วนมากรวมถึงเยลเลนระบุว่า มีแนวโน้มว่าเฟดจะใช้เครื่องมือทางการเงินเดิมๆ ที่เคยใช้ในการต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การซื้อพันธบัตร และการชักนำตลาดให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการตามการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่น่าจะเพียงพอแล้ว

ถึงอย่างนั้นก็ตาม เยลเลนระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายในอนาคตอาจต้องพิจารณาเครื่องมือทางการเงินเพิ่มเติม เหมือนอย่างที่ธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ใช้ ซึ่งรวมถึงการซื้อสินทรัพย์ในหลากหลายรูปแบบมากขึ้นหรือการปรับเพิ่มเป้าอัตราเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ในบัญชีเครื่องมือทางการเงินยาวเหยียดของเยลเลน ดูเหมือนจะไม่มีการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบรวมอยู่ด้วย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวไม่เป็นที่โปรดปรานของเจ้าหน้าที่เฟดแทบทั้งหมดเช่นเดียวกัน แม้เจ้าหน้าที่จากธนาคารกลางหลายประเทศที่ใช้นโยบายนี้อยู่ในปัจจุบัน อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน จะยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวให้ผลดี

การที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายพยายามเสาะหาหนทางใหม่ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ อาจเป็นการแสดงให้เห็นว่า

สถานการณ์หลังวิกฤตเศรษฐกิจอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป