‘โลกอีกใบ’ ในงาน ‘FEED Y Capital’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘โลกอีกใบ’

ในงาน ‘FEED Y Capital’

เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา มีโอกาสไปเดินเที่ยวงาน “FEED Y Capital เมืองหลวงซีรีส์วาย” ที่สยามสแควร์ ในฐานะคนที่มีความรู้เรื่อง “วัฒนธรรม Y” แบบผิวเผินมากๆ และเคยดู “ซีรีส์ Y” แบบผ่านๆ เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น

พอได้เดินดูผู้คนภายในงานอยู่หลายชั่วโมง ก็อยากจะทดลองตั้งข้อสังเกตสัก 3-4 ประการ ดังนี้

หนึ่ง โดยส่วนตัวเพิ่งประจักษ์ชัดเจนว่ากิจกรรมแนว “แฟนมีตติ้ง” ของผู้นิยม “ซีรีส์ Y” นั้นเป็นโลกของ “วัยรุ่นผู้หญิง” แบบล้วนๆ (ถ้าตีเป็นตัวเลข ก็คงประมาณ 99.9 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาร่วมงานทั้งหมด ซึ่งหากประเมินจากคนที่ไหลเวียนเข้า-ออกงานตลอดวัน ก็น่าจะมีร่วมๆ 2,000 คน)

นี่เป็นการพังทลายความเข้าใจ-สมมุติฐานเบื้องต้นของผม ที่เคยทึกทักคิดเองเออเองมาโดยตลอดว่า ภาวะบูมของ “ซีรีส์ Y” คือกระบวนการที่เกาะเกี่ยวใกล้ชิดกับการรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศ

ทั้งยังทำให้นึกถึงคำเตือนของ “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ซึ่งเพิ่งให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ feedforfuture.co ว่า “คอนเทนต์ Y” กับ “คอนเทนต์ LGBTQ” ถูกผลิตขึ้นด้วยโจทย์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงไม่ควรคาดหวังว่าประเด็นการต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศที่เข้มข้นจริงจังบางข้อ จะสวมทับเข้ากับ “ซีรีส์ Y” ได้อย่างแนบสนิท

ส่วนคำทักท้วงประเภท ความนิยมที่พุ่งสูงของ “ซีรีส์ Y” อาจมิได้หมายความว่าสังคมไทยเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขนาดนั้น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่กลุ่มคนผู้ผลิตและบริโภค “วัฒนธรรม Y” รู้ดีกันอยู่แล้ว

 

สอง ภาพ “วัยรุ่นผู้หญิง” เนืองแน่นงาน “FEED Y Capital” ยังกระตุ้นให้ผมย้อนนึกไปถึงคำถามข้อหนึ่งที่ติดค้างอยู่ในหัวตัวเองมาพักใหญ่

นั่นคือเวลานักวิชาการหรือสื่อมวลชนส่วนมากไล่เรียงประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของ “วัฒธรรม-อุตสาหกรรมบันเทิง Y” พวกเขามักเน้นย้ำไปยังหมุดหมายหลักสองประการ คือ “ช่วงหลุมดำ” หรือห้วงเวลาที่ “หนังสือการ์ตูน-นิยาย Y” เคยถูกกวาดล้างตอนปลายทศวรรษ 2540 (จนถึงกลางทศวรรษ 2550) และการผลักเพดานเรื่องเพศสภาพของหนัง “รักแห่งสยาม” เมื่อปี 2550

อย่างไรก็ตาม ผมกลับมองว่าถัดจากสองหมุดหมายดังกล่าว มันยังมี “ช่องว่าง” อีกประมาณหนึ่งทศวรรษ ซึ่งเราไม่ค่อยอธิบายกันว่า สังคมไทยได้มีการสั่งสมต้นทุนและสร้างแรงผลักดันอะไรอีกบ้าง ที่จะส่งผลให้ “ซีรีส์ Y” (ไม่ใช่ “ภาพยนตร์” แบบ “รักแห่งสยาม”) ทะยานเข้าสู่สภาวะเบ่งบานในทศวรรษ 2560

เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กันยายน มีโอกาสได้เจอ “ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์” หรือครูธัญ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญผู้ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นอดีตบุคลากรที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยมายาวนาน ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมชมงานเช่นกัน

ครูธัญตั้งข้อสังเกตที่เป็นการตอบคำถามได้อย่างน่าสนใจมากๆ ว่า เพราะเหตุใด (วัยรุ่น) ผู้หญิงจำนวนมากจึงนิยมดู “ซีรีส์ Y” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพลอดรักและหยอกเย้ากันของตัวละครชายสองคน (หรือตัวละครชายหลายๆ คู่)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นี้ตีความว่า หลายๆ สังคมมีกฎเกณฑ์ยิบย่อยเยอะแยะที่กำหนดกีดกันไม่ให้ผู้หญิงแสดงออกอย่างนั้นอย่างนี้โดยเปิดเผยต่อหน้าผู้ชาย ในพื้นที่สาธารณะ

แต่สังคมเหล่านั้นกลับยินยอมให้ตัวละครผู้ชาย-ผู้ชาย หรือพระเอก-นายเอก ใน “ซีรีส์ Y” สามารถมีพฤติกรรมอะไรหลายอย่าง ที่ช่วยตอบสนองจินตนาการและความปรารถนาของคนดูเพศหญิง (ทำในสิ่งที่พวกเธออยากทำ แต่ลงมือทำเองไม่ได้)

พอลองพล็อตแผนที่ที่ “ซีรีส์ Y ไทย” ได้รับความนิยม ก็จะพบว่าคำอธิบายของครูธัญนั้นฟังขึ้นและดูสมเหตุสมผลทีเดียว เพราะทั้งเมืองไทย หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ข้ามไปสู่ทวีปอเมริกาใต้ ล้วนเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงถูกควบคุมด้วยปทัสถานทางสังคมอย่างเข้มข้นในเงื่อนไขอันแตกต่างกันไป (ตั้งแต่ลัทธิขงจื๊อไปถึงความเป็นคาทอลิก)

ขณะเดียวกัน น่าสังเกตด้วยว่าในพื้นที่ที่ “ซีรีส์ Y ไทย” ยังเจาะตลาดไม่ได้มากนัก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก หรือกระทั่งเกาหลีใต้ (ซึ่งไม่ใช่ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต “ซีรีส์ Y” เจ้าใหญ่ ทั้งที่หลายฝ่ายประเมินว่ามีศักยภาพมากพอ) อุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศกลุ่มนี้จะถูกปกคลุมด้วยกระแส “Me Too” ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แฉ ได้ตอบโต้อำนาจของผู้ชายแบบตรงๆ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “ซีรีส์ Y ไทย” คือช่องทางการต่อสู้ดิ้นรนของผู้หญิงจำนวนมากในอีกบริบท-เงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งเป็นการต่อสู้ผ่านจินตนาการและการฉวยใช้เหล่าตัวละครผู้ชายให้กลายเป็น “เครื่องมือ” ช่วยปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกของพวกเธอ ที่ถูกบีบกดเอาไว้

 

สาม จากประสบการณ์ส่วนตัว ภาพน่าประทับใจมากๆ ซึ่งพบเจอระหว่างการเดินเที่ยวที่งาน “FEED Y Capital” ก็คือ ภาพความเป็นชุมชนที่มีการบริหารจัดการตนเองอย่างเป็นระบบ ของบรรดา “แฟนด้อม” และ “บ้าน” ผู้สนับสนุน “นักแสดง Y” คู่ต่างๆ

ภาพแรกที่เห็นตั้งแต่ช่วงเริ่มงานตอนสายๆ ก็คือ วิธีการจับจองพื้นที่ ซึ่ง “สาว Y” แต่ละคนแต่ละกลุ่มจะเขียนชื่อตนเองไว้บนกระดาษหรือเทปกาว แล้วนำไปแปะติดบนพื้นถนนภายในหรือรอบๆ บริเวณงาน

ใครที่มาก่อน ยึดกุมชัยภูมิดีๆ ไว้ได้ก่อน ก็จะมีโอกาสได้มองเห็นและถ่ายภาพ “ดารา Y” คนโปรดชัดเจนยิ่งขึ้น ในกรณีที่พวกเธอไม่ได้บัตรนั่งโซนด้านหน้าเวที (จากการซื้อสินค้าและการร่วมกิจกรรมชิงโชคภายในงาน)

เท่าที่สังเกตดู “คนในวัฒนธรรม Y” ทุกฝ่ายต่างรับทราบกฎกติกามารยาทข้อนี้ร่วมกันเป็นอย่างดี จึงแทบไม่มีใครที่มาจับจองพื้นที่ ทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกันเลย

ภาพที่สอง คือ “บ้าน” (กลุ่มแฟนคลับของนักแสดงคู่ใดคู่หนึ่งหรือซีรีส์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง) และ “ผู้นำบ้าน” นั้นมีศักยภาพสูงมากในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหน้างาน

เช่น เมื่อกิจกรรมบนเวทีเสร็จสิ้นลง แล้วสมาชิกบ้านใดบ้านหนึ่งไม่สามารถไปรวมพลพบปะนักแสดงคนโปรดในพื้นที่ที่มองหา-นัดแนะเอาไว้ก่อนหน้านี้ได้ “ผู้นำบ้าน” ก็จะรีบเจรจาต่อรองกับผู้จัดงานเพื่อหาพื้นที่นัดพบแห่งใหม่ และนำพาสมาชิกหลายร้อยคนให้ย้ายไปรวมตัวกันตรงพื้นที่ใหม่ได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยในเวลาอันสั้น

แถมเมื่อผู้จัดงานยื่นข้อแม้ว่าสมาชิกของบ้านดังกล่าวห้ามส่งเสียงดัง เพราะพื้นที่ใหม่ในการรวมตัวนั้นอยู่ใกล้กับจุดที่นักแสดงคนอื่นๆ กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่ คนหลายร้อยรายก็พร้อมใจกันกรี๊ดกร๊าดแบบเบาๆ อย่างน่าทึ่ง

นี่จึงเป็นภาพของ “ชุมชนจัดการตนเอง” ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

 

สี่ยิ่งมาเห็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในงาน “FEED Y Capital” ก็ยิ่งตระหนักชัดว่า วิถีการบริโภค “วัฒนธรรมป๊อป/สมัยนิยม” ของวัยรุ่น-คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน นั้นมีการแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มย่อย-เฉพาะอย่างชัดเจน

ถ้า “ซีรีส์-วัฒนธรรม Y” คือ “โลกของผู้หญิง”

“การประกวดนางงาม” ก็ดูจะยึดโยงกับ “โลกของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ” (แม้ผู้ขึ้นประกวดบนเวทีจะเป็นผู้หญิง ทว่า บุคลากรรายล้อม กองเชียร์ส่วนใหญ่ ตลอดจนผู้มีอำนาจนิยามว่าอะไรคือ “ความสวย” ล้วนเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศแทบทั้งสิ้น)

คำถามอีกข้อที่ชวนคิด (และผมยังไม่กล้าตอบ) ก็คือ แล้ว “โลกของผู้ชาย” นั้นเชื่อมร้อยกับอะไร? แน่นอนว่า “ฟุตบอล” แม้กระทั่ง “ดนตรี” ดูจะเป็นคำตอบที่ “ตกยุค” ไปแล้วเรียบร้อย ขณะที่หลายคนเพ่งความสนใจไปยัง “วัฒนธรรมเกม”

คำถามส่งท้ายที่ท้าทายไม่แพ้กัน คือ แล้วจะมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมชนิดใดบ้างที่สามารถดึงดูดคนทุกกลุ่มให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันโดยพร้อมเพรียง?

เท่าที่นึกออกอย่างเร็วๆ ปรากฏการณ์หนึ่งที่ปรากฏแว้บขึ้นมาทันที ก็ได้แก่ บรรยากาศการเชียร์ “ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย” ในการแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งมีฐานผู้ชมที่กว้างขวางมาก พิสูจน์ได้จากเรตติ้งถ่ายทอดสดระยะหลังๆ ที่สูงกว่าการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลหรือมวยไทยเสียอีก

(ถ้าใครเคยแวะไปชมการแข่งขันวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกถึงขอบสนาม ก็จะทราบดีว่าคนดูกีฬาประเภทนี้มีความหลากหลายจริงๆ ไล่ตั้งแต่กลุ่ม LGBTQ หนุ่มสาวชายหญิง และคนวัย 40-50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอาๆ ลุงๆ ผู้ชาย ที่มีเยอะจนน่าประหลาดใจ)

อีกปรากฏการณ์ที่บางคนนึกถึง ก็เห็นจะเป็นการชุมนุมทางการเมืองเมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งพิสูจน์ว่าคนรุ่นใหม่แทบทุกกลุ่มในสังคม ล้วนฝันใฝ่ถึง “ระบอบประชาธิปไตย” ที่มีคุณภาพดีกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่พวกเขาพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน •