รัฐจัดทัวร์ มหกรรมร่วมใจ ‘ละลายหนี้ครัวเรือน’ สวนทางดอกเบี้ยขาขึ้น-เงินบาทอ่อนยวบ/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

รัฐจัดทัวร์ มหกรรมร่วมใจ

‘ละลายหนี้ครัวเรือน’

สวนทางดอกเบี้ยขาขึ้น-เงินบาทอ่อนยวบ

ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เข้าสู่ปีที่ 3 และคาดว่าจะลากยาวถึงปี 2566 ทำให้แม้เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

คนส่วนใหญ่ประสบปัญหารายได้เพิ่มในอัตราน้อยกว่าการถีบตัวของค่าใช้จ่าย หนักสุดไปตกที่กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยหรือผู้มีรายได้ไม่คงที่ ซ้ำเติมภาวะเปราะบางและความไม่มั่นคงในชีวิตประจำวันมหาศาล

อีกกลุ่มที่มีระดับรายได้ปานกลาง ด้วยแรงสะสมจากผลกระทบช่วงโควิดระบาดต่อเนื่อง ย่อมได้รับผลกระทบจากโควิด ถูกเลิกจ้าง หรือถูกลดเงินเดือน ไม่น้อยต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้เพื่อนำมาใช้จ่ายและจ่ายชำระหนี้ หรือลงทุนเล็กๆ น้อยๆ

จำนวนกลุ่มแบกรับภาระหนี้ครัวเรือนและกลุ่มเปราะบางไร้งานไร้บ้านที่ต้องรอการเยียวยาจากภาครัฐพุ่งพรวด จนเห็นผู้ยากไร้นอนริมถนนหนาตา สำหรับกลุ่มที่พอไหวก็สามารถกู้เงินในระบบ ขณะที่กลุ่มไร้ทรัพย์ต้องหยิบยืมหรือจำยอมกู้เงินนอกระบบ

แม้ตัวเลขยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่วงในสถาบันการเงินประเมินว่า ขณะนี้น่าจะมีหนี้ไม่ก่อเกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เกิดจากกลุ่มหนี้ครัวเรือนสูง และหนี้ก่อใหม่จากรัฐบาลโหมเงินกู้ช่วยเหลือ 3 แสนล้าน แต่ไปไม่ไหว 2 ส่วนนี้รวมกันแล้วเกิน 3 หมื่นล้านบาท อาจเกิน 5 หมื่นล้าน หากนำหนี้นอกระบบมาทบด้วย

ซึ่งรัฐบาลเองก็ส่งสัญญาณและแสดงความห่วงใยปัญหาหนี้ท่วม ผ่านประกาศนโยบายให้ปี 2565 เป็นปีแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน เพราะยังมีคลื่นยักษ์โหมเศรษฐกิจได้อีก จากเงินบาทอ่อนเกินไป และการขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่เงินเฟ้อและราคาพลังงานทรงตัวสูง

 

ล่าสุดต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำโดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งโต๊ะแถลงข่าวหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้ แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มหนี้ที่ความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นที่ลดลง กับกลุ่มเสี่ยงกำลังกลายเป็นเอ็นพีแอลหรือหนี้สูญ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้รุนแรงขึ้นในช่วงโควิด เห็นได้จากปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ของจีดีพี ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 80% ของจีดีพีในปี 2562 และล่าสุด ไตรมาส 2/2565 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 88% ของจีดีพี ในช่วงโควิด

ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ต้องออกมาตรการทางการเงินหลากหลายเพื่อช่วยกลุ่มลูกหนี้ให้ตรงจุด รวดเร็ว และเหมาะสมกับทุกสถานการณ์ โดยภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญส่งผ่านความช่วยเหลือไปสู่ประชาชนที่เป็นลูกหนี้

จากข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 สถาบันการเงินได้ช่วยเหลือลูกหนี้สะสมสูงสุดอยู่ที่ 12.5 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 7.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 40% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ ก่อนทยอยลดลงมาตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2565 ค่าคงเหลือลูกหนี้อยู่ที่ 3.9 ล้านบัญชี ยอดหนี้เกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือ 14% ของสินเชื่อรวม

ตามข้อมูลข้างต้น สร้างความน่ากังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต ธปท.จึงจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาชำระหนี้ให้สามารถเดินต่อไปได้

ซึ่งงานมหกรรมครั้งนี้ พิเศษกว่าครั้งก่อนๆ ด้วยมีเจ้าหนี้จากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมกว่า 60 ราย และครอบคลุมประเภทหนี้มากขึ้น เน้นเปิดโอกาสให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้หันหน้ามาเจรจาบนข้อตกลงที่ผ่อนปรนและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะตรงกับความต้องการของลูกหนี้มากขึ้น เสมือนเสื้อสั่งตัด

งานมหกรรมแก้หนี้ จะจัดต่อเนื่อง 5 ครั้ง เวียนไปจัด 5 จังหวัด ได้แก่ ครั้งแรก เริ่มวันที่ 4-6 พฤศจิกายน ที่กรุงเทพฯ ตามด้วยครั้งที่ 2 วันที่ 18-20 พฤศจิกายน ที่จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 3 วันที่ 16-18 ธันวาคม ที่ จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ 4 วันที่ 20-22 มกราคม ที่ จ.ชลบุรี และครั้งที่ 5 วันที่ 27-29 มกราคม ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ผู้ว่าการ ธปท.ตบท้ายว่า “รัฐบาลเร่งเครื่องเต็มแรงเพื่อแก้ปัญหา หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นการลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย”

 

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มองปัญหาหนี้ในวันนี้ว่า “เศรษฐกิจในภาพรวมเริ่มฟื้นตัวแล้ว เหลือเพียงบางจุด บางกลุ่มประชากร ที่ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีความเปราะบางมาก เมื่อเกิดวิกฤตจากปัจจัยต่างๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือฟื้นตัวได้เอง ยิ่งวันนี้ยังไม่พ้น ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้

วิกฤตซ้อนวิกฤตครั้งนี้ ตั้งแต่เกิดโควิดระบาด นานวันมีแต่ค่าใช้จ่าย แต่รายได้ลดลง กดดันต่อจากราคาน้ำมันพุ่ง ราคาสินค้าแพง เกิดเงินเฟ้อ ค่าบาทอ่อน จนต้องขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วม ที่สุดไปตกกับเศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวอีกครั้ง

หนี้ครัวเรือนหรือการก่อหนี้ต่างๆ ต้องบอกก่อนว่าของที่ได้มาในโลกนี้ ไม่มีอะไรได้มาแบบฟรีๆ แน่นอน การที่คนก่อหนี้ขึ้นมาสักอย่างต้องแปลว่ามีความพร้อมชำระหนี้คืนด้วย ไม่สามารถผลักภาระให้คนอื่นๆ หรือนำภาษีของประชาชนส่วนรวมมาใช้คืนแทนได้ ทำให้การเข้ามาช่วยเหลือของภาครัฐไม่สามารถเข้ามาช่วยแบบตรงๆ ได้ และไม่ใช่ปัญหาที่ควรเข้ามาช่วยแบบเต็มตัวด้วย อาทิ กรณีหนี้ กยศ.ที่ไม่คิดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับ เพื่อล้างหนี้นั้น อันนี้ไม่ได้เห็นด้วย เพราะส่งผลกระทบต่อวินัยทางการเงินของบุคคล และขัดกับหลักการที่เมื่อตัวเองเป็นคนก่อหนี้ ก็ต้องเป็นคนใช้หนี้ด้วย

แต่ตอนนี้สิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย เป็นเพราะขณะนี้มีภาวะวิกฤตที่ทำให้เศรฐกิจหมุนได้อย่างฝืดเคือง ภาครัฐจึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วยไม่ให้เหตุการณ์บานปลายเกินไป ไม่ให้กลไกการปรับตัวของคนที่ไม่ได้วางแผนระยะยาวไว้ ต้องถูกกระทบจนล้มลง อาทิ เกษตรกรไม่ได้ประเมินไว้แน่นอนว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะรุนแรงมากเท่านี้ ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงเกินไป

หากเราพูดถึงปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม และต้องได้รับการแก้ไขจริงๆ มีหรือไม่ ต้องบอกว่ามีแน่นอน แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกัน และคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐจะต้องจัดการแก้ไข รวมทั้งการจัดการในเรื่องของประสิทธิภาพการคลัง เพราะหนี้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เพิ่มเฉพาะในครัวเรือน แต่เพิ่มในส่วนของหนี้ภาครัฐด้วย ซึ่งการก่อหนี้ภาครัฐก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาจัดการ ผ่านการใช้งบประมาณต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายนณริฏกล่าว

แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งมือเข้าจัดการ และเชื่อว่า “หนี้ครัวเรือน” เป็นอีกเรื่องที่จะถูกหยิบขึ้นมาพูดถึง ระหว่างการหาเสียง ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่