คุยกับทูต : ออร์นา ซากิฟ มิตรภาพที่ยั่งยืน 68 ปี ไทย-อิสราเอล ประเทศแห่งสตาร์ตอัพ และนวัตกรรม (จบ)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : ออร์นา ซากิฟ

มิตรภาพที่ยั่งยืน 68 ปี ไทย-อิสราเอล

ประเทศแห่งสตาร์ตอัพ และนวัตกรรม (จบ)

 

“มีคำถามว่า ประเทศของเรามีอะไรที่เหมือนกันบ้าง ครั้งแรก ผู้คนก็จะพูดว่า ประเทศไทยและอิสราเอลไม่มีอะไรที่เหมือนกัน เพราะเราอยู่ห่างไกลกันและมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันหลายด้าน เนื้อที่ประเทศไทยนั้นก็ใหญ่กว่าอิสราเอลมาก ประชากรทั้งประเทศอิสราเอลเกือบ 10 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนประชากรเพียงจังหวัดเดียวของประเทศไทยคือกรุงเทพฯ”

นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างไทยกับอิสราเอล

“อย่างแรก ไทยและอิสราเอลมีประวัติศาสตร์ของประเทศอันยาวนาน เราต่างมีภาษาซึ่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ดิฉันยังพบว่าวัฒนธรรมในอิสราเอลและในประเทศไทยก็เหมือนกัน คือเราเป็นวัฒนธรรมครอบครัวกันมาก”

“ครอบครัวของดิฉันอยู่ในอิสราเอล เราทุกคนใส่ใจครอบครัวกันมาก เราพักอาศัยอยู่ด้วยกัน หรืออยู่ไม่ไกลกัน ดิฉันคุยกับคุณแม่ที่อิสราเอลทุกวันทางโทรศัพท์ เพื่อถามไถ่ว่าเธอเป็นอย่างไรบ้าง”

“ลูกๆ ชาวอิสราเอลมักจะอยู่ที่บ้านจนกว่าพวกเขาจะอายุ 25 หรือมากกว่านั้น เราติดต่อกันมาก และทุกคืนวันศุกร์ เรามีการรับประทานอาหารค่ำกับครอบครัว และในประเทศไทยก็เหมือนกันมาก”

“ตัวอย่างเช่น ตอนนี้เราอยู่เมืองไทย ไม่สามารถพบกับญาติพี่น้องหรือแม้แต่ลูกๆ ได้ เพราะลูกชายสองคนยังคงอยู่ที่อิสราเอล ส่วนดิฉันมาอยู่ที่กรุงเทพฯ กับสามีและลูกสาว แต่เรามีชาวอิสราเอลหลายคนในเมืองไทยซึ่งกลายเป็นชุมชน และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราที่จะใช้เวลาในเย็นวันศุกร์ร่วมกับชุมชนเพื่อทำพิธีเล็กๆ ให้ศีลให้พรในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันพักผ่อน ซาบัต (Sabbath Day) นี่คือสิ่งที่ดิฉันเห็นในประเทศไทยเช่นกัน คนไทยห่วงใยครอบครัวกันมาก ห่วงใยผู้หลักผู้ใหญ่ ห่วงใยลูกๆ เห็นไหมว่า เราช่างมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากมาย”

“อีกอย่างหนึ่ง ดิฉันพบว่าในวัฒนธรรมไทยและอิสราเอลนั้นผู้คนมีความคิดสร้างสรรค์มาก คนรุ่นใหม่กระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมชาวอิสราเอลจำนวนมากจึงเดินทางมาประเทศไทย ทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อธุรกิจ”

นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย

ประชาธิปไตยในมุมมองของทูตออร์นา

“ในฐานะนักการทูต ดิฉันไม่มีความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับรูปแบบหรือประชาธิปไตยของประเทศอื่น เราต่างก็เป็นประชาธิปไตย นั่นคือความคล้ายคลึงกันระหว่างเรา เนื่องจากเรามีแนวทางประชาธิปไตยในแบบของตัวเอง ประชาธิปไตยของอิสราเอลและประชาธิปไตยแบบอเมริกันนั้นไม่เหมือนกันทุกประการ แต่ละประเทศมีแบบของตัวเอง”

“ในขณะที่ดิฉันอยู่ที่นี่ ในทางการเมืองดิฉันหวังว่าจะได้เห็นคณะผู้แทนมาเพิ่มขึ้น หวังว่าจะได้เห็นการค้าระหว่างประเทศของเรามากขึ้น หวังว่าจะได้ส่งเสริมในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสองประเทศของเรา และเรายังมีโครงการพิเศษบางอย่าง เช่น คิดว่าเราจำเป็นต้องทำโครงการระหว่างประชาชนต่อประชาชนให้มากขึ้น จากตัวอย่าง เมื่อปีที่แล้ว เราออกไปช่วยเหลือโดยการมอบอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ให้แก่ประชาชนเมื่อน้ำท่วมใหญ่ที่โคราช”

“ตอนนี้เรากำลังพยายามทำหลายโครงการ ได้แก่ โครงการเกษตรกรรม โครงการเพื่อคนพิการ อิสราเอลพัฒนาไปมากในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เรามาไกลมากในเรื่องของนโยบาย เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนพิการ เพื่อให้พวกเขาได้รับโอกาส ได้งาน และจะได้รับการปฏิบัติเหมือนคนที่ไม่มีความพิการ เราพยายามแบ่งปันประสบการณ์ของเรา อิสราเอลมีบริษัทมากมายที่มีโซลูชั่นขั้นสูงสำหรับผู้ทุพพลภาพ เช่น แว่นตาพิเศษจากบริษัทแห่งหนึ่งในอิสราเอลที่ให้ผู้พิการทางสายตาหรือมองไม่ชัดสามารถอ่านหนังสือได้”

“เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและการเสริมพลังสตรี (Women empowerment) เรื่องอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate change) ก็เป็นความสำคัญสำหรับเราด้วย เป็นโครงการที่เราดำเนินการในสถานทูต โดยหวังว่าเมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของดิฉันสิ้นสุดลง ดิฉันคงจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เราสร้างขึ้นบ้าง”


ร่วมแสดงแบบงานมหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลกครั้งที่ 11 เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ความประทับใจที่มีต่อประเทศไทย

“ในฐานะนักการทูต ต้องใช้เวลาหน่อย ที่จะมีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน และจนกว่าคุณจะพบเพื่อน เพราะทุกประเทศมีความแตกต่างกัน มีข้อดีและข้อเสีย ก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวนิดหน่อย ดิฉันมาที่นี่เพื่อทำงาน และการทำงานคือวิธีที่ดีที่สุดในการปรับตัว นี่คือสิ่งที่ดิฉันชอบ”

“แต่ผู้คนในประเทศไทยน่ารักมาก ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่บ้านได้อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เชื่อไหมว่า เมื่อดิฉันพร้อมด้วยสามีและลูกสาว กลับไปพักผ่อนที่อิสราเอล เพราะที่นั่นมีคุณพ่อ คุณแม่ ลูกชายอีกสองคน และเพื่อนๆ ของดิฉัน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราทุกคนต่างก็บอกว่าเราคิดถึงบ้าน และคราวนี้เมื่อเราพูดว่าเราคิดถึงบ้าน เรากลับคิดถึงประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นบ้านของเราแล้ว เป็นความผูกพันที่ดีอย่างหนึ่ง”

“เรามีลูกสามคน ลูกชายคนโตอายุเกือบ 25 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เขามาเยี่ยมเรา แต่ตอนนี้ไปอยู่ที่กระบี่ ลูกชายคนที่สองอายุ 22 ปี มาเยี่ยมเราเมื่อสามเดือนก่อน ส่วนลูกสาวอายุ 17 ปี เธออยู่กับเราที่นี่”

“ดิฉันมีความสุขและสนุกกับการอยู่ที่นี่มาก และไม่คิดถึงอดีต ในฐานะนักการทูต ต้องมองไปข้างหน้าเสมอ จะไม่หันหลังกลับ เมื่อสนุกกับปัจจุบันมาก ทำไมจะต้องไปนึกถึงอดีต”

นายนัฟทาลี เบนเน็ตต์” นายกรัฐมนตรี (ซ้าย) และนายไอแซก เฮอร์ซอก ประธานาธิบดี (ขวา)

“อิสราเอลและไทยมีมิตรภาพที่แน่นแฟ้นและมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ดิฉันจึงขอเชิญชวนผู้อ่านหาโอกาสไปเที่ยวชมความงามของอิสราเอลโดยตรง ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวอิสราเอล”

“เป็นความจริงที่ว่าอิสราเอลรักประเทศไทย เพราะก่อนเกิดโควิด แต่ละปีมีชาวอิสราเอลกว่า 200,000 คนมาที่นี่ ซึ่งถือว่ามีจำนวนสูงมากหากเทียบกับจำนวนประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน แม้กระทั่งทุกวันนี้ สายการบินของอิสราเอลก็บินมาที่นี่ทุกวัน และจะเริ่มสองเที่ยวบินต่อวัน เนื่องจากมีความต้องการสูงเพราะชาวอิสราเอลหลายคนอยากมาที่นี่”

“ดิฉันก็อยากจะเห็นคนไทยจำนวนมากไปเที่ยวที่เมืองของเรา เพราะอิสราเอลมีอะไรอีกมากมาย ที่คนไทยยังไม่ได้ค้นพบ”

“ในโอกาสครบรอบ 68 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปีนี้ ดิฉันหวังว่าความสัมพันธ์ของเราทั้งสองมิตรประเทศจะคงอยู่ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต และหวังด้วยว่า ท่านผู้อ่านจะเป็นส่วนหนึ่งของมิตรภาพนี้และเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างประชาชนกับประชาชนเช่นกัน” •

นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย

ประวัติ

นางออร์นา ซากิฟ

เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย

เกิด : 28 พฤศจิกายน 1968

ครอบครัว : สมรสกับนายซาคี ไอแซ็ก ซากิฟ มีบุตรสามคน (นาดาฟ มาตาน และราซ)

ภาษา : ฮีบรู (ภาษาแรก) อังกฤษ (ดีเลิศ) ฝรั่งเศส (ปานกลาง) จีน (ปานกลาง)

ประวัติการศึกษา :

2014 เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ปริญญาโท รัฐศาสตร์การทูต มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ อิสราเอล

1993 เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ปริญญาตรี รัฐศาสตร์และอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยบาร์-อิลาน อิสราเอล

การฝึกอบรมวิชาชีพ :

2020 หลักสูตร Wexner Senior Leaders สถาบันเคนเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

2017 การฝึกอบรมจริยธรรมองค์กร

2017 หลักสูตรการเจรจา

2014 ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการ

2008 หัวหน้าการฝึกอบรมนักการทูต

2002 และ 2008 หลักสูตรการเข้ารับตำแหน่งในต่างประเทศ

1999 หลักสูตรการจัดการขั้นสูง

การรับราชการทหาร :

1987-1989 เกียรตินิยม ผู้ฝึกสอนหลักสูตรรถถัง โรงเรียนยานเกราะ กองทัพอิสราเอล

ประวัติการรับราชการ :

30 มิถุนายน 2022-ปัจจุบัน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรกัมพูชา (มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย)

23 กุมภาพันธ์ 2022-ปัจจุบัน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย

21 พฤศจิกายน 2021-22 กุมภาพันธ์ 2022 ว่าที่เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

21 กรกฎาคม-21 พฤศจิกายน 2022 อุปทูตรักษาการ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

2016-2021 ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล

2013-2016 อธิบดีกรมแผนงานองค์กร สำนักปลัดกระทรวง

2008-2013 กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่อิสราเอลประจำนครมุมไบ อินเดีย

2006-2008 ที่ปรึกษา กรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2002-2006 รองหัวหน้าสำนักงาน สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย

(2003-2004 รักษาการเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำออสเตรเลียและนิวซีแลนด์)

1999-2002 เลขานุการเอก กรมกิจการปาเลสไตน์ และกรมเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

1996-1999 โฆษกประจำสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

1995-1996 เข้าอบรมหลักสูตรจีนศึกษา ไทเป ไต้หวัน

1993-1995 เข้าอบรมหลักสูตรนักการทูต กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล •