จากโดรนถ่ายภาพทางอากาศ สู่ ‘โดรนกามิกาเซ่’ ในสนามรบ/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

จากโดรนถ่ายภาพทางอากาศ

สู่ ‘โดรนกามิกาเซ่’ ในสนามรบ

 

ผมรู้จัก “โดรน” อย่างเป็นทางการครั้งแรกประมาณ 10 ปีก่อน

โดรนยุคแรกน่าตื่นเต้นตรงที่สามารถจะควบคุมให้มันบินเพื่อถ่ายรูปจากมุมทางอากาศได้

แรกเริ่มแค่ถ่ายภาพนิ่งได้ก็ฮือฮากันแล้ว

ต่อมาเมื่อถ่ายวิดีโอได้ด้วยก็ยิ่งสร้างความน่าสนใจมากขึ้นอีก

เพราะสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์สามารถได้ภาพและคลิปจากมุมสูงที่มีความคมชัดเป็นครั้งแรก

ทีมข่าวจึงเริ่มใช้โดรนเพื่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมุมภาพที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน

มีคำถามในตอนนั้นว่าคำว่า Drone แปลว่าอะไร

ผมอธิบายว่ามันแปลว่า “ผึ้งตัวผู้” ก็ได้

หรือแปลว่า “เสียงฮัมอย่างต่อเนื่อง” ก็ได้

ตอนออกแบบใหม่ๆ โดรนจึงมีคุณสมบัติทั้งเหมือนผึ้งบินที่ส่งเสียงฮัมๆ ไปตลอดทาง

ผ่านไปเพียงไม่กี่ปี โดรนก็ถูกพัฒนาเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ได้สารพัด

วันนี้โดรนกลายเป็น “อาวุธสมัยใหม่” ที่ใช้ไล่ล่า, สังหาร และทำศึกสงครามอย่างน่ากลัว

เพราะนอกจากจะใช้การควบคุมให้ขึ้นลงและบินไปในทิศทางต่างๆ ได้แล้ว วิวัฒนาการล่าสุดยังใช้ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI เพื่อเสริมประสิทธิภาพของโดรนอย่างน่าทึ่ง…และน่าหวาดเสียวยิ่ง

สงครามยูเครนกลายเป็นห้องทดลองเทคโนโลยีล่าสุดที่มาในรูปแบบของ “สงครามโดรน” หรือ Drone warfare ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของเผชิญหน้าในสมรภูมิของยุคดิจิทัล

เราได้ยินคำว่า “kamikaze” ของทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง

ตอนนั้น ทหารญี่ปุ่นยอมพลีชีพด้วยการขับเครื่องบินทิ้งระเบิดพุ่งเข้าหาเป้าหมายศัตรู

วันนี้เรากำลังเห็น “kamikaze” อีกรูปแบบหนึ่ง

นั่นคือการใช้โดรนแทนคน ไม่ต้องมีการพลีชีพของทหาร แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อควบคุม “ยานไร้คนขับ” ให้ทำหน้าที่แทนคนได้อย่างแม่นยำ, รวดเร็ว และประหยัด

นักวิเคราะห์ด้านสงครามบอกว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทหารยูเครนสามารถยันการรุกคืบของรัสเซียได้ก็เป็นเพราะการใช้กลยุทธ์ “สงครามโดรน” นี่แหละ

อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับ (Unmanned Combat Aerial Vehicle หรือ UCAV) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นโดรนต่อสู้ในสนามรบ

เป็นยานพาหนะทางอากาศต่อสู้ไร้คนขับที่ใช้สำหรับหน่วยข่าวกรอง การเฝ้าระวัง การเล็งหาและล็อกเป้าหมาย และการลาดตระเวน (ISTAR) และบรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์อากาศยาน เช่น ระเบิด ขีปนาวุธ

UCAV มักจะอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ตามเวลาจริง (real time) โดยมีระดับความเป็นอิสระที่แตกต่างกัน เช่น ความช่วยเหลือจากนักบินอัตโนมัติ จนถึงเครื่องบินที่ควบคุมตนเองโดยสมบูรณ์

ตลาดอากาศยานไร้คนขับทางทหารทั่วโลกถูกครอบงำโดยบริษัทต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในจีน อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิต UCAV ทางการทหารห้าอันดับแรก

ได้แก่ CASC ของจีน (บริษัท China Aerospace Science and Technology Corporation)

และ American General Atomics, Lockheed Martin, Northrop Grumman และ Boeing

โดรนซีรีส์ CASC Rainbow ในเดือนธันวาคม 2019 กำลังส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ ปากีสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

โดรนกำลังเข้าสู่มาตรฐานสากลของทำสงครามสมัยใหม่ – นั่นคือแนวปฏิบัติของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

เพนตากอนวิเคราะห์ว่ามีเพียงโดรนเท่านั้นที่เป็นอาวุธที่ตรงตามเงื่อนไขการสู้รบเกือบทุกๆ ด้านในสมรภูมิยูเครน

มันคือโดรนตัวใหม่หรืออากาศยานไร้คนขับ (UAV) ที่เรียกว่า Phoenix Ghost

มันคือ “นกฟินิกส์ล่องหน”

มันคือ “ปีศาจจากฟากฟ้า” สำหรับฝ่ายที่ถูกโจมตี

“เราเชื่อว่าระบบพิเศษนี้จะตอบสนองความต้องการของทหารยูเครนได้ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยูเครนตะวันออก” จอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอนเคยกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้

 

ความจริง อเมริกาได้เริ่มวิจัยและพัฒนา Phoenix Ghost ก่อนเกิดสงครามยูเครนด้วยซ้ำไป

แต่พอทหารรัสเซียบุกยูเครน และยูเครนขอความช่วยเหลือเร่งด่วน เจ้าโดรนตัวนี้ก็ถูกเร่งสร้างให้ตอบโจทย์ของสมรภูมิยูเครนทันที

เบื้องต้นวอชิงตันส่งมอบโดรนมากกว่า 120 ลำ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ (28,000 ล้านบาท)

ในแวดวงนักวิเคราะห์รายละเอียดของภาคสนามรบมีประเด็นที่น่าสนใจ

Phoenix Ghost มีประสิทธิภาพอย่างไร? แตกต่างจากระบบอาวุธอื่นอย่างไร?

Phoenix Ghost ได้รับการพัฒนาโดย Aevex Aerospace ผู้รับเหมาด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐ กับกองทัพอากาศสหรัฐ

ที่สำคัญคือทหารที่พร้อมจะใช้มันในแนวรบนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมมากนักและไม่ต้องเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีอะไรมากมาย

โดรนตัวใหม่นั้นมีลักษณะบางประการเหมือนรุ่นก่อนที่รู้จักกันดีในนามโดรน Switchblade ซึ่งผลิตโดยบริษัท AeroVironment ของสหรัฐ

รุ่นนั้นถูกนำไปใช้ในหน่วยรบพิเศษของสหรัฐในอัฟกานิสถานในปี 2012

และเจ้า Switchblade นี่แหละที่ได้รับสมญาว่าเป็น “โดรนกามิกาเซ่”

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันเป็นการผสมผสานระหว่างขีปนาวุธกับโดรนอย่างแนบเนียน

ทำไมจึงเรียกมันว่า “โดรนกามิกาเซ่”?

ก็เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกปล่อยให้บินโดยไม่มีเป้าหมายเฉพาะก่อน

และเมื่อมันวนรอบพื้นที่จนมีการกำหนดเป้าหมายศัตรูแล้วจะได้รับมอบหมายจากผู้ปฏิบัติงานบนพื้นดิน

และนั่นคือตอนที่ “ปีศาจลอยฟ้า” ก็จะปฏิบัติการโจมตีตามคำสั่ง

เพราะมันมี sensor (เซ็นเซอร์) ที่สามารถตรวจจับเป้าหมายที่โผล่ขึ้นมาได้ตลอดเวลา

และการทำงานจะขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของรุ่น

และสามารถอยู่ในอากาศได้ระหว่าง 15 ถึง 40 นาที โดยบินได้ระยะ 10 ถึง 40 กิโลเมตร

ข้อได้เปรียบของโดรนคือขนาดไม่ใหญ่ ไม่ต้องใช้สนามบินหรือโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก

และต่างกับขีปนาวุธตรงที่มันให้เวลา “ผู้บังคับระบบจากภาคพื้นดิน” ระบุเป้าหมาย รับทราบสถานการณ์ จากนั้นจึงขับโดรนขีปจู่โจมเป้าหมายได้ค่อนข้างแม่นยำ

 

ที่เรียก Switchblade ว่าเป็น kamikaze drone ก็เพราะมันจะทำลายตัวเองเมื่อปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จตามเป้าหมาย

ผู้รู้บอกว่าโดรนแบบ Phoenix Ghost มีความสามารถคล้ายกัน แต่ก็ไม่เหมือน Switchblade ทั้งหมดเลยทีเดียว

ข้อแรก Phoenix Ghost สามารถบินได้นานกว่า Switchblade

Phoenix Ghost เป็นโดรนแบบใช้ครั้งเดียวที่ทำงานในแนวตั้งและสามารถทำงานได้ในเวลากลางคืนด้วยเซ็นเซอร์อินฟราเรด

มีผลกับ “เป้าหมายภาคพื้นดินหุ้มเกราะขนาดกลาง” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวจากสนามรบบอกว่ากองทัพยูเครนยังใช้ “โดรนสอดแนม” จากบริษัท Quantum Systems ของเยอรมนีด้วย

“โดรนของเราอยู่ในยูเครนแล้ว” ฟลอเรียน เซเบล ซีอีโอของบริษัทในบาวาเรียให้สัมภาษณ์สื่อเยอรมันเมื่อเร็วๆ นี้

โดรน “Vector” ของเยอรมนีมีลักษณะแตกต่างไปอีกแบบ

เพราะมันไม่สามารถทิ้งระเบิดได้ แต่เล่นบทเป็นส่วนเสริมของระบบอาวุธจู่โจมได้

จึงได้รับการกล่าวขานว่าเหมาะที่สุดสำหรับความสามารถในการบินถ่ายวิดีโอเพื่อหาข่าวและเก็บข้อมูล

กองทัพยูเครนใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการเล็งเป้าหมายของปืนใหญ่

เจ้า Vector นี่สามารถเก็บภาพวิดีโอแบบเรียลไทม์ที่มีความละเอียดสูงจากจุดที่ห่างไปกว่า 15 กิโลเมตร และสามารถอยู่ในอากาศได้นานถึงสองชั่วโมง

ไม่ใช่ว่ารัสเซียไม่ใช้โดรนทำสงคราม แม้จะดูน้อยกว่ายูเครน

โดรนสงครามหลักหลักของรัสเซียคือ Orlan-10 ซึ่งเป็น UAV สอดแนมขนาดเล็กที่ทำขึ้นที่ศูนย์เทคโนโลยีพิเศษในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

โดรนรุ่นนี้ของรัสเซียมีปีกกว้าง 3.1 เมตร (10 ฟุต) สามารถบินได้ไกลถึง 100 กิโลเมตร

ว่ากันว่าระบบลาดตระเวนมีการออกแบบที่เรียบง่ายโดยใช้กล้อง Canon EOS-D ซีรีส์เชิงพาณิชย์สำหรับการถ่ายภาพทางอากาศ

เรื่อง “สงครามยุคโดรนครองท้องฟ้า” ยังไม่จบแค่นี้ ยังมีเรื่องราวที่ต้องเล่าขานกันอีกมากมาย

เพราะโลกกำลัง “บ้าสงคราม”