‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ กับ ‘วัฒนธรรมสื่อยุคใหม่’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’

กับ ‘วัฒนธรรมสื่อยุคใหม่’

“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” แห่งสหราชอาณาจักร ทรงขึ้นครองราชย์พร้อมๆ อิทธิพลที่เริ่มก่อตัวขึ้นของสื่อสมัยใหม่ เช่น “โทรทัศน์” พอดี

ดังนั้น นั่นจึงเป็นครั้งแรกสุดที่มีการถ่ายทอดสดพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษผ่านทางสื่อทีวี

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะมีความสบายใจกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

หนึ่งในคนที่รู้สึกถึงภาวะผิดที่ผิดทาง คือ “วินสตัน เชอร์ชิล” นายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชสมัย ซึ่งได้แสดงความวิตกกังวลว่า “การจัดการด้วยเครื่องจักรกลสมัยใหม่” จะทำให้มนตราของพิธีราชาภิเษกมีมลทินเสียหาย อีกทั้ง “แง่มุมทางด้านจิตวิญญาณและศาสนาไม่ควรถูกนำเสนอประหนึ่งการแสดงมหรสพ”

แต่ในที่สุด การเผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวของพระราชพิธีครั้งนั้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามและล้นหลาม ทั้งในแง่จำนวนผู้ชม การเป็นภาพที่ติดอยู่ในความทรงจำของผู้คนร่วมยุคสมัย

และการเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวเข้าหาสื่อและวัฒนธรรมประชานิยมสมัยใหม่ของราชวงศ์อังกฤษ

 

รัชสมัยของ “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” ดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมหาศาลของสื่อ (ทั้งในแง่เทคโนโลยีและวัฒนธรรม) ไม่เพียงแต่การผงาดขึ้นมาทรงอิทธิพลของโทรทัศน์ แต่ยังรวมถึงการแพร่กระจายของหนังสือพิมพ์แนวซุบซิบแท็บลอยด์ (ผนวกด้วยสื่อมวลชนสายปาปารัสซี) ตลอดจนการถือกำเนิดของสื่อสังคมออนไลน์ และนักข่าวพลเมือง

ด้วยเหตุนี้ คนรุ่นหลัง (ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก) จึงมีโอกาส “เข้าถึง” ราชวงศ์อังกฤษมากขึ้น อย่างไม่เคยมีมาก่อน

มีผู้เสนอว่าราชวงศ์อังกฤษนั้นพยายามบริหารจัดการภาพลักษณ์-ผลิตซ้ำอำนาจของตนเองผ่านสื่อสมัยใหม่ ด้วยการรักษาจุดสมดุลระหว่าง “การถูกมองเห็น” และ “การไม่ปรากฏให้เห็น”

อธิบายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ก็คือ สาธารณชนมักได้พบเห็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษปรากฏกายในพระราชพิธีของรัฐอันน่าตื่นตาตื่นใจ และพิธีกรรมที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ครอบครัวของราชวงศ์ เช่น งานอภิเษกสมรส

ทว่า สิ่งที่ถูกเก็บงำเอาไว้เป็นความลับสุดยอด ก็ได้แก่ กระบวนการทำงานต่างๆ (ไม่ว่าจะสอดประสานหรือขัดแย้งกัน) ภายในสถาบัน

อย่างไรก็ดี ตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ดูเหมือนจุดสมดุลข้างต้นจะถูกท้าทายมากขึ้นตามลำดับ ทั้งจากกรณีการให้สัมภาษณ์สื่อของ “เจ้าหญิงไดอานา” ในปี 1995 จนถึงกรณีการเปิดใจออกรายการทีวีของ “เจ้าชายแฮร์รี” และ “เมแกน มาร์เคิล” เมื่อไม่นานนี้

ซึ่งการออกมาวิพากษ์สถาบันและเปิดเผยว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตที่ย่ำแย่จากการเป็นสมาชิกราชวงศ์ ล้วนทำให้ “สิ่งที่ไม่เคยถูกมองเห็น” ได้ปรากฏขึ้นในความรับรู้ของประชาชน

นอกจากนั้น ภาพยนตร์และซีรีส์หลังสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา เช่น “The Queen” และ “The Crown” ก็ครุ่นคิดถึงประเด็นปัญหาคล้ายๆ กันอย่างจริงจังเข้มข้น

ดังกรณีของ “The Queen” (2006) ที่วางโจทย์สำคัญไว้ตรงเรื่องเส้นแบ่งระหว่าง “ชีวิตส่วนตัว” กับ “ชีวิตสาธารณะ” ของ “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” ผ่านคำถามสำคัญๆ อาทิ

“ควีน” จะรื้อฟื้นสายสัมพันธ์ระหว่างพระองค์เองกับประชาชนและสังคม หรือจะสามารถกอบกู้คะแนนนิยมในหมู่มหาชนคืนมาได้อย่างไร? หลังเผชิญหน้าวิกฤตศรัทธาบางประการ

และพระองค์ควรแสดงบทบาท-ภาพลักษณ์ทางสาธารณะเช่นใด? ในพิธีกรรมรำลึก “เจ้าหญิงไดอานา” ผู้ล่วงลับ

พูดอีกแบบ คือ กษัตริย์อังกฤษต้องคลี่เผยแง่มุมชีวิตส่วนตัวมากน้อยเพียงใดในพื้นที่สาธารณะ? และควรแสดงอารมณ์ความรู้สึกของพระองค์ให้สาธารณชนได้รับทราบมากน้อยแค่ไหน?

พลวัตของความสัมพันธ์ระหว่าง “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” กับสื่อสมัยใหม่ ดูจะก้าวไปถึงขีดสุดในพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2012 ณ กรุงลอนดอน

เมื่อ “ควีน” มิได้ทรงมีสถานภาพเป็นเพียง “บุคคลในสารคดี-ข่าว” หรือเป็นแค่ “ภาพแทนในสื่อบันเทิง” (โดยมีนักแสดงดังมาสวมบทเป็นบุคคลจริงในราชวงศ์อังกฤษ)

ทว่า “ควีนเอลิซาเบธ” ได้ทรงยินยอมที่จะเข้ามาร่วมเล่น/แสดงในภาพยนตร์สั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดโอลิมปิกคราวนั้น

ในหนังเรื่องดังกล่าว ซึ่งกำกับฯ โดย “แดนนี บอยล์” “ควีน” ทรงรับบทเป็นพระองค์เอง โดยมี “แดเนียล เคร็ก” ในบท “เจมส์ บอนด์” มารับพระราชินีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

นี่คือตัวอย่างของการปรับประสานเชื่อมร้อยเข้าหากันระหว่าง “สื่อภาพยนตร์” กับ “ราชสำนัก” จนนำไปสู่การสร้าง “ซอฟต์เพาเวอร์” อีกรูปแบบหนึ่ง

ขณะเดียวกัน เส้นแบ่งระหว่าง “ชีวิตส่วนตัว” และ “ชีวิตสาธารณะ” หรือ “ความศักดิ์สิทธิ์” กับ “วัฒนธรรมประชานิยมอันสาธารณ์” ก็ดูจะทวีความพร่าเลือนยิ่งขึ้น หรืออาจกลืนกลายผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว

 

ดังที่เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตแฝงอารมณ์ขันเอาไว้ทำนองว่า ในหนังเปิดโอลิมปิก 2012 “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” (ตัวจริง) ได้เข้าไปแทนที่ “เฮเลน เมียร์เรน” (ซึ่งสวมบทเป็นพระองค์ในภาพยนตร์เรื่อง “The Queen”)

ขณะเดียวกัน หลายคนต่างรู้สึกไม่ต่างกันเมื่อได้รับชมภาพยนตร์สั้นของ “แดนนี บอยล์” ว่า “ควีน” กำลังเล่นบท “เอ็ม” ผู้บังคับบัญชาของ “สายลับ 007”

แม้นักแสดงผู้มารับบท “เอ็ม” ส่วนใหญ่มักจะเป็นดาราชาย แต่ระหว่างปี 1995-2012 กลับมีดาราหญิงรุ่นอาวุโสรายหนึ่งที่ได้สวมบทเป็น “หัวหน้าของเจมส์ บอนด์” นั่นก็คือ “จูดี้ เดนช์”

นับเป็นเรื่องบังเอิญไม่น้อย ที่เดนช์เคยแสดงเป็น “ควีนเอลิซาเบธที่ 1” ในหนังเรื่อง “Shakespeare in Love” และแสดงเป็น “ควีนวิกตอเรีย” ในหนังเรื่อง “Mrs. Brown”

ในทางกลับกัน เมื่อภาพยนตร์ “เจมส์ บอนด์” ตอน “Skyfall” ออกฉายเมื่อเดือนตุลาคม 2012 (ราวสองเดือนหลังโอลิมปิกที่ลอนดอนปิดฉากลง) ก็มีนักวิจารณ์รายหนึ่งตีความว่า “เอ็ม” ได้กลายเป็นรหัสลับของคำว่า “majesty” ซึ่งหมายถึง “ควีน” ไปแล้วเรียบร้อย •

ข้อมูลจาก

https://theconversation.com/queen-elizabeth-ii-the-end-of-the-new-elizabethan-age-157897

บทนำหนังสือ The British Monarchy on Screen โดย Mandy Merck

และบทความ “From Political Power to the Power of the Image : Contemporary ‘British’ Cinema and the Nation’s Monarchs โดย Andrew Higson ในหนังสือเล่มเดียวกัน