ร่องรอยประวัติศาสตร์ธุรกิจสยาม ในห้างอับดุลราฮิม (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ร่องรอยประวัติศาสตร์ธุรกิจสยาม

ในห้างอับดุลราฮิม (จบ)

 

ภายหลังงานแต่งบุตรชายคนโตผ่านไปราว 6 ปี สมเด็จฯ กรมพระจักรพรรดิพงษ์ เจ้านายซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์หลักของห้างอับดุลราฮิมมาโดยตลอด (ทรงซื้อของจากห้าง ในแต่ละปีเป็นเงินมากถึงราว 200 ชั่ง) ได้สิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ.2443

และในเวลาไล่เลี่ยกัน คือเพียงราว 1 ปีถัดมา นายซรัฟอาลี นายห้างอับดุลราฮิมรุ่นบุกเบิกก็เสียชีวิตลง ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับครอบครัวอับดุลราฮิมเป็นอย่างมาก

นายฮาซันอาลี บุตรชายคนโตที่ต้องก้าวขึ้นมาดูแลกิจการทั้งหมดแทน กังวลว่าการเสียชีวิตของทั้งสองคนจะส่งผลต่อการดำเนินกิจการของห้าง จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลถึงรัชกาลที่ 5 เพื่อขอรับความช่วยเหลือ ความตอนหนึ่งว่า

“…ด้วยเอชอับดุลราฮิม บิดาข้าพระพุทธเจ้าได้ละประเทศบ้านเกิดเมืองนอนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งร้านจำหน่ายขายสินค้าอยู่ในพระนครนี้ ก็มีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา…ครั้นมาเมื่อต้นปีนี้ บิดาข้าพระพุทธเจ้าถึงแก่กรรมลง…มาบัดนี้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ ซึ่งหวังด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นที่พึ่งต่อไป ก็มาล่วงลับไปเสียแล้วเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่แลเห็นพระองค์ใดจะเป็นที่พึ่งพำนักต่อไป…เพราะฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมเป็นที่พึ่ง…”

น่าสนใจว่า หลังจากนั้นไม่นาน ห้างอับดุลราฮิมก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่งตั้งเป็น “ร้านหลวง” ในกรุงสยาม เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 ซึ่งทำให้ห้างเปลี่ยนสถานะกลายมาเป็น “ห้างในพระบรมราชูปถัมภ์”

และสามารถใช้ “ตราอาร์มแผ่นดิน” มาติดตั้งที่หน้าร้านได้ รวมถึงนำไปประทับลงในสินค้าและสิ่งของต่างๆ ของห้างได้อีกด้วย

ตราอาร์มแผ่นดินที่ติดอยู่เหนือประตูทางเข้าห้างอับดุลราฮิม (ที่มาภาพ : หนังสือ อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม)

และแน่นอน เมื่อได้รับการแต่งตั้ง งานฉลองอย่างยิ่งใหญ่จึงถูกจัดขึ้น ทั้งเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะว่าห้างได้เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นร้านหลวงเรียบร้อยแล้ว

งานฉลองถูกจัดขึ้น ณ ห้างอับดุลราฮิม 4 เดือนหลังจากที่ได้รับพระบรมราชานุญาต โดยมีการเชิญเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มาร่วมงานหลายพระองค์เหมือนเช่นเคย

พิธีสำคัญภายในงาน คือ สมเด็จฯ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ประธานในงาน ทรงทำการเจิมตราตั้ง (ตราอาร์มแผ่นดิน) และพิธียกตราขึ้นติดตั้งเหนือประตูทางเข้าหลักของห้าง โดยระหว่างการยกขึ้นติดตั้ง มีการประโคมเพลงสรรเสริญพระบารมีไปพร้อมกัน

ไม่เพียงแค่นั้น ห้างอับดุลราฮิมยังได้รับพระราชทานตราตั้งเพิ่มอีกครั้งหนึ่งด้วย จากรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร โดยตราตั้งชิ้นที่สองมีลักษณะเป็น “ตราพระลัญจกรจุลมงกุฎขนนก” ซึ่งทางห้างก็ได้ทำการติดตั้งตรานี้ที่ด้านหน้าของห้างคู่กับ “ตราอาร์มแผ่นดิน” ที่ได้รับมาก่อนหน้านี้

หากพูดตามแนวคิดของ Pierre Bourdieu นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส การได้รับสถานะเป็น “ร้านหลวง” ที่มีการติดตั้ง “ตราอาร์มแผ่นดิน” (และ “ตราจุลมงกุฎขนนก” เพิ่มอีกในเวลาต่อมา) ได้กลายเป็น “ทุนทางสังคม” (social capital) ที่สำคัญมากให้แก่ห้างอับดุลราฮิม เป็นดั่งเครื่องหมายการันตีความน่าเชื่อถือและคุณภาพของสินค้า

ยิ่งไปกว่านั้น นัยยะของ “ตราอาร์มแผ่นดิน” ที่ติดอยู่เหนือประตูทางเข้าห้าง คือสัญลักษณ์ที่เข้ามาสื่อสารความหมายต่อสาธารณชนชาวสยาม ณ ขณะนั้น ให้เห็นถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างพระมหากษัตริย์ (ตลอดจนเจ้านายระดับสูงในราชวงศ์) กับห้างอับดุลราฮิม ซึ่งย่อมส่งผลทางบวกอย่างมหาศาลทั้งทางตรงและอ้อมต่อการประกอบธุรกิจของห้างอย่างไม่ต้องสงสัย

โฆษณาห้างอับดุลราฮิม ปรากฏการใช้ “ตราอาร์มแผ่นดิน” และ “ตราจุลมงกุฎขนนก” มุมบนด้านซ้ายและขวาภาพโฆษณา เพื่อแสดงสถานภาพการเป็น “ร้านหลวง” (ที่มาภาพ : หนังสือ อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม)

ในหนังสือ “อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม” ได้แสดงหลักฐานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง คือ โฆษณาห้างอับดุลราฮิมที่ตีพิมพ์อยู่หลังหนังสือบทละครสมัยรัชกาลที่ 5 โดยอ้างถึงการเป็นร้านในพระบรมราชูปถัมภ์ในตอนต้นของโฆษณาอย่างชัดเจน ก่อนที่จะพูดถึงสินค้าภายในร้าน ข้อความดังกล่าวเขียนไว้ว่า

“…ห้างนี้ได้ตั้งขึ้น โดยได้รับพระบรมราชานุญาตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเดี๋ยวนี้ เปนห้างที่ตั้งมาแต่ดึกดำบรรพ์ ประมาณ 40 ปีเศษ แต่ของที่ขายนั้นมีของใหม่ๆ เข้ามาเสมอ หาใช่ขายของเก่าๆ เช่นห้างเก่าไม่ การที่ห้างได้ตั้งมานานถึงเช่นนี้ ก็โดยได้ค้าขายเจริญมาเปนลำดับ มีของต่างๆ แปลกๆ ขาย เช่น เครื่องแก้ว, เครื่องแต่งตัว, เครื่องภาชนะใช้สรอย แลของเบ็ดเตล็ดต่างๆ อีกอเนกประการ ถ้าท่านทั้งหลายจะต้องประสงค์สิ่งของดังกล่าวมานี้รดมายัง ห้างอับดุลราฮิม…”

การบรรจุข้อความเช่นนี้ลงไปในโฆษณา คงไม่เกินไปนักหากจะกล่าวว่า คือเครื่องมือทางธุรกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำการค้าของห้างอับดุลราฮิมในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งประวัติศาสตร์ก็ได้บอกแก่เราแล้วด้วยว่า วิธีการนี้ (ซึ่งคงต้องประกอบเข้ากับเครื่องมือทางธุรกิจแบบอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพด้วยนะครับ) ได้ผลเป็นอย่างดี

ห้างอับดุลราฮิมได้สร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นไม่เพียงแต่ในทางธุรกิจแต่ยังแนบแน่นในทางส่วนตัวกับรัชกาลที่ 5 และเจ้านายพระองค์ต่างๆ (ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในสัปดาห์ก่อน) จนทำให้ห้างกลายมาเป็นตัวแทนจำหน่ายและผลิตสินค้าหรูหรามากมาย ส่งให้กับเจ้านายในราชวงศ์จักรี

ตัวอย่างเช่น สมเด็จฯ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ได้มอบหมายให้ห้างอับดุลราฮิมเป็นตัวแทนในการสั่งทำเครื่องใช้ประเภทถาด กระโถน และถ้วยชาม ที่มีลวดลายเป็นรูปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททั้งชุด เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายให้กับรัชกาลที่ 5 ทรงใช้สอย

หรืออีกคราวหนึ่ง คือเมื่อตอนรัชกาลที่ 6 ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.2447 โดยในวันสมโภช ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายได้รับคำสั่งจากเสนาบดีกระทรวงวังให้จัดหาดอกไม้ ธูป เทียน พาน แจกัน เชิงเทียน มาถวายประกอบในงาน

ซึ่งในเวลานั้นความนิยมใช้เครื่องใช้เหล่านี้จะเน้นไปที่เครื่องแก้วเจียระไน ซึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ที่ห้างอับดุลราฮิมซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการจัดหาสินค้าประเภทเครื่องแก้วเจียระไนและยังเป็น “ร้านหลวง” ที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะเข้ามาเป็นร้านค้าหลักให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ในครั้งนั้น

เมื่อสินค้าของห้างกลายเป็นสินค้าที่นิยมใช้กันในราชสำนักและวังเจ้านายพระองค์ต่างๆ ย่อมส่งผลต่อเนื่องมายังผู้ดี ข้าราชการ และคนชั้นกลาง ที่ต่างต้องการที่จะเลียนแบบรสนิยมและการดำเนินชีวิตของเจ้านาย

คนกลุ่มนี้แม้จะมีพลังการซื้อไม่มากเท่ากลุ่มเจ้านาย แต่เป็นกลุ่มที่มีปริมาณมากกว่า ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญมากเช่นกัน ซึ่งภาพลักษณ์ของการเป็น “ร้านหลวง” ย่อมส่งผลเชิงบวกต่อการดำเนินกิจการของห้างอับดุลราฮิม

สินค้าเซรามิกของห้างอับดุลราฮิม ลายพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อจำหน่ายให้ราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 (ที่มาภาพ : หนังสือ อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม)

จากที่อธิบายมาทั้งหมด ผมอยากจะเรียกรูปแบบการดำเนินกิจการของห้างอับดุลราฮิม (จากหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้) ว่าเป็นตัวแบบที่ดีของ “การประกอบธุรกิจแบบพึ่งพระบรมโพธิสมภาร” ซึ่งเป็นรูปแบบความสัมพันธ์เชิงการค้าประเภทหนึ่งที่สำคัญมากในการก่อร่างสร้างธุรกิจในประเทศสยาม สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะในหมู่พ่อค้าชาวต่างชาติ

ในความเป็นจริง รูปแบบนี้มิได้มีเพียงห้างอับดุลราฮิมเท่านั้นที่ใช้ มีห้างร้านอีกหลายแห่งในสยาม ณ เวลานั้น ที่ได้รับสิทธิพิเศษเช่นนี้ และสามารถนำ “ตราอาร์มแผ่นดิน” มาประดับที่หน้าร้านและสินค้าของตัวเองได้

ดังนั้น หากนักวิชาการที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ธุรกิจในมิตินี้ และสามารถค้นเอกสารการดำเนินกิจการต่างๆ เช่นเดียวกับที่ อ.กรรณิการ์ชี้ให้เราเห็นในหนังสือ “อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม” ก็น่าเชื่อว่า เราจะสามารถพัฒนาโมเดลความคิดว่าด้วย “การประกอบธุรกิจแบบพึ่งพระบรมโพธิสมภาร” ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทยได้ชัดเจนและลึกซึ้งขึ้น

และอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้ามาช่วยเติมเต็มประเด็นการศึกษาทางประวัติศาสตร์ธุรกิจของไทยต่อไปในอนาคต