จับตานายกฯ ‘ลิซ ทรัสส์’ เผชิญทั้งศึกในศึกนอก/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

จับตานายกฯ ‘ลิซ ทรัสส์’

เผชิญทั้งศึกในศึกนอก

 

เมื่อวันที่ 6 กันยายน เอลิซาเบธ ทรัสส์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ลิซ ทรัสส์” ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 56 ของสหราชอาณาจักร (ยูเค) อย่างเป็นทางการ สืบต่อจากบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้

1 วันก่อนหน้านั้น ทรัสส์ผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแทนที่จอห์นสัน หลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งภายในพรรค (รวมทั้งเสียงโหวตจากสมาชิกพรรค) ในวัยเพียง 47 ปี

การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศดังกล่าว ทำให้ทรัสส์กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาก่อน อดีตนายกรัฐมนตรีอย่างบอริส จอห์นสัน เองก็เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในขนบการเมืองยูเคนั้น ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ มักถูกยึดถือว่าเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติที่สุด และอาวุโสสูงสุด รองจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

เช่นเดียวกับการที่มีการเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรโดยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะดำรงตำแหน่งไปจนครบวาระที่หลงเหลืออยู่และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้น

ลิซ ทรัสส์ จึงมีเวลาหลงเหลือในตำแหน่งสั้นมากๆ ไม่เกินเดือนธันวาคม 2024 นี้เท่านั้น ในขณะที่มีปัญหาท้าทายขนาดใหญ่โตระดับโลกให้ต้องแก้ไขอยู่เต็มไปหมด

ตั้งแต่ปัญหาเบร็กซิทที่ยังคงคาราคาซังมาจนถึงขณะนี้, ปัญหาโควิด-19, วิกฤตค่าครองชีพหลังจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงไม่หยุดหย่อน เรื่อยไปจนถึงวิกฤตด้านพลังงานที่ไม่เพียงแพงแค่ราคาแพงเท่านั้น ยังมีปัญหาในเรื่องการจัดหา หลังจากสหราชอาณาจักรร่วมแซงก์ชั่นรัสเซียจากกรณีส่งกองทัพบุกยูเครนเมื่อต้นปี

ในขณะที่แรงสนับสนุนภายในพรรคเองก็มีอยู่จำกัดจำเขี่ยเท่านั้น

ปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนปมที่ทำให้นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์สัน กระเด็นจากตำแหน่ง ร่วงจากเวทีการเมืองมาแล้ว นักสังเกตการณ์ทั่วไปเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างลิซ ทรัสส์ ก็คงเผชิญหน้ากับปัญหาต่างเหล่านี้เช่นเดียวกัน

ทั้งยังเชื่อว่า ทรัสส์ก็คงต้องพานพบกับดราม่าทางการเมืองในแบบเดียวกันกับที่จอห์นสันอดีตนายกรัฐมนตรีเผชิญมา

 

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ตัวลิซ ทรัสส์ เองไม่ได้เป็นที่นิยมชมชอบกันมากมายนักในบรรดา ส.ส.คอนเซอร์เวทีฟทั้งหลาย

เห็นได้ชัดในการเลือกตั้งภายในพรรครอบแรก ที่มี ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟ เพียง 50 คน จากทั้งหมด 358 คนเท่านั้นที่ลงคะแนนเลือกเธอเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แม้แต่ในการชิงชัยรอบสุดท้าย ทรัสส์ก็มีคะแนนในส่วนของ ส.ส. ตามหลังคู่แข่งสำคัญอย่างริชี ซูแนค แม้ว่าในที่สุดก็กลายเป็น 2 คนสุดท้ายที่ได้คะแนนสูงสุด สำหรับนำไปตัดสินชี้ขาดกันโดยการลงคะแนนเลือกของสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟทั่วประเทศ จนได้รับชัยชนะคว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคซึ่งเท่ากับการันตีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วยโดยอัตโนมัติ

ผู้สันทัดกรณีเกี่ยวกับการเมืองในยูเคชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์แวดล้อมแบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นกับบอริส จอห์นสัน ก่อนหน้านี้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ การจัดตั้งรัฐบาลจากบรรดาพรรคพวกเพื่อนฝูงที่คิดเห็นไปในทางเดียวกัน และให้การสนับสนุนเกื้อกูลกันมาเท่านั้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกันในทีระหว่างรัฐบาลกับ ส.ส.พรรคเดียวกันในสภาผู้แทนราษฎร ท่าทีหรือจุดยืนของพรรคในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น ปรับเปลี่ยนไปมา ในสภาลงมติไว้อย่างหนึ่ง กลับถูกพลิกไปอีกอย่างหนึ่งเมื่อถึงตอนปฏิบัติ เช่นเดียวกับที่ ส.ส.ในสภาที่เป็นสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟเองก็ลงคะแนนคัดค้านแนวทางที่รัฐบาลกำหนดอยู่บ่อยครั้งเช่นเดียวกัน

ในเวลาเดียวกัน ลิซ ทรัสส์ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายสำคัญๆ ได้มากมายนัก เพราะต้องดำเนินการให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับคำแถลงนโยบาย ซึ่งบอริส จอห์นสัน ให้ไว้ต่อรัฐสภาเมื่อปี 2019 ซึ่งถือเป็นกรอบหรือพันธกรณีที่พรรคจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแม้ตัวนายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

หากแหวกแนวนโยบายมากไป ก็มีโอกาสไม่น้อยที่ร่างกฎหมายหรือแนวปฏิบัติดังกล่าวจะถูกสภาขุนนาง หรือสภาสูงแขวนค้างเติ่งเอาไว้ เพราะไม่เห็นชอบหรือไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายที่พรรคเคยให้ไว้

 

ดังนั้น ลิซ ทรัสส์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีที่มาจากกระบวนการคัดกรองภายในพรรค จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จหรือสร้างความประทับใจทางการเมืองใดๆ ภายในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ภายในเดือนธันวาคม 2024

นายกรัฐมนตรีทรัสส์จึงตกที่นั่งลำบากไม่น้อย ด้วยความจำกัดของเวลาในการดำรงตำแหน่ง บริบทแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความท้าทาย การเร่งสร้างความสำเร็จทางการเมืองขึ้นเพื่อหวังผลในการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งในอนาคต จึงไม่น่าจะรุดหน้าเป็นมรรคเป็นผลใดๆ ขึ้นตามมา

แต่มีโอกาสเป็นไปได้ไม่น้อยที่ลิซ ทรัสส์ อาจนำพรรคคอนเซอร์เวทีฟไปสู่ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นดังกล่าว เหมือนอย่างที่โพลบางสำนักคาดการณ์เอาไว้แล้วตั้งแต่ตอนนี้

นับตั้งแต่การลงประชามติ “เบร็กซิท” เรื่อยมา รวมระยะเวลา 6 ปีเศษ ยูเคเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมา 4 คนแล้วรวมทั้งทรัสส์

นายกรัฐมนตรียุคเบร็กซิทคนที่ 5 อาจมาถึงอีกครั้งในอีกปีสองปีข้างหน้านี้ก็เป็นได้