ความขัดแย้ง / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ความขัดแย้ง

 

ช่วงนี้มีข่าวคราวของความขัดแย้งก่อตัวขึ้นในหลายพื้นที่ของโลกใบนี้ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ หรือเพราะแย่งชิงผลประโยชน์กัน

หนึ่งในนั้นคือประเทศอิรัก ที่มีการชุมนุมประท้วงอันเกิดขึ้นหลังจาก “มุกตาดา อัล-ซาเดอร์” ผู้นำมุสลิมนิกายชีอะห์ ประกาศถอนตัวจากการทำงานการเมือง เป็นเหตุให้สาวกและผู้สนับสนุนจำนวนมากไม่พอใจ เพราะผู้นำที่เป็นความหวังครั้งใหญ่ของประเทศยกธงขาวเอาดื้อๆ จึงเกิดการลุกฮือบุกอาคารรัฐสภาอิรักดังที่เป็นข่าวไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

ประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ของอิรักแบ่งออกเป็น 2 นิกาย คือ ชีอะห์ และซุนนี (สุหนี่) ภายใต้การปกครองของอดีตผู้นำที่ชื่อซัดดัม ฮุสเซน ในช่วงปี 2000 ชาวชีอะห์ถูกกดขี่อย่างมากจนกระทั่งสหรัฐอเมริกาได้รุกรานอิรักในปี 2003 และโค่นซัดดัมลง

อัล-ซาเดอร์ได้รับความนิยมในอิรักหลังจากรัฐบาลซัดดัมถูกโค่นล้ม เขามีภาพลักษณ์เป็นผู้ที่ต้องการ “ปฏิรูป” อิรัก โดยเขาต้องการสร้าง “ประชาธิปไตยแบบอิสลาม” ขึ้นมา จึงทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวมุสลิมชีอะห์กลุ่มยากจนที่ถูกกดขี่จากระบบการเมืองในอดีต

เมื่อผู้นำทางความคิดถอนตัวไปอย่างนี้ ความโกลาหลและความวุ่นวายสับสนจึงเกิดขึ้น จนเกิดการปะทะกับกองกำลังของรัฐบาล มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายสิบคน

เป็นการเติมความหวาดหวั่นให้กับโลก ในขณะที่เพลิงที่ยังไม่ดับลงไปจากกรณีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นลูกโซ่ รวมทั้งกรณีจีนและไต้หวัน ที่มีอเมริกาคอยหนุนหลัง

 

ความขัดแย้งบนโลกใบนี้มีมานานแล้ว ไม่นับเฉพาะความขัดแย้งในระดับโลก ก็มีความขัดแย้งภายในประเทศ และที่เป็นปัญหาเชิงสังคมที่นับวันจะทวีความน่ากังวลมากขึ้น นั้นคือ “ปัญหาความแตกต่างระหว่างวัย”

เรามักจะได้ยินคนรุ่นก่อนบ่นถึงคนรุ่นใหม่ทั้งในแง่ความคิด และการแสดงออก

และเราก็เคยได้ฟังคนรุ่นใหม่ดูถูกและไม่ให้ค่าคนรุ่นเก่ามาแล้ว

โดยเฉพาะกับสังคมไทยในช่วง 10 ปีมานี้ เราได้เห็นรอยปริแยกของคนต่างวัยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับประเทศชาติ การเมือง การปกครอง รวมทั้งกับสถาบันหลักอย่างสถาบันกษัตริย์

ซึ่งช่องว่างระหว่างวัยนี้ไม่ได้เพิ่งมีมา หากได้เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมมาทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่เนื้อหาและรายละเอียดจะแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือ “ความไม่เข้าใจกันและกัน”

ในหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” นิพนธ์โดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ของสำนักพิมพ์มติชน ได้บันทึกถึงแง่มุมในประเด็นนี้หลายบทหลายตอน เหตุการณ์ที่นิพนธ์นี้อยู่ในแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เป็นหลัก ซึ่งก็มีประเด็นความขัดแย้งและความแตกแยกในเรื่องของระบอบการปกครองของไทยเป็นพื้นอยู่แล้วดังที่ทราบๆ กัน

ขอยกความบางตอนมาถ่ายทอดให้ฟังดังนี้

“ถึงเด็กรุ่นน้องชั้นเล็กหรือหลานๆ ข้าพเจ้า การเลี้ยงดูเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งทีเดียว เพราะเป็นสมัยที่มีโรงเรียนเต็มไปแล้ว เด็กไปเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า กลับมาถึงบ้านเวลาบ่าย 4 โมงเศษ มีการบ้านติดมือมาทำที่บ้านอีกด้วย การคลุกคลีกับพ่อแม่ก็ตั้งต้นห่างออกไป คงเหลือแต่การเบิกรายจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าแต่งตัว ค่ากิน ค่าเรี่ยไรพิเศษในหมู่คณะของนักเรียนที่พ่อแม่ต้องเสียสละให้ ถ้าพ่อแม่มีความเห็นผิดกับกฎทางโรงเรียน ก็เป็นฝ่ายแพ้เพราะเถียงไม่ขึ้น เป็นอันว่าเด็กก็ตั้งต้นดูถูกผู้ใหญ่ว่าไม่รู้เท่าตัวมาแต่นั้น”

ไม่น่าเชื่อว่า ภาพของระบบการศึกษาในโรงเรียนที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมีในยุคหลังๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นการร่ำเรียนอย่างเอาเป็นเอาตาย การต้องใช้ “เงิน” เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ความไม่เข้ากันของโรงเรียนและบ้าน

และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กๆ ได้

“สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” นิพนธ์โดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล สำนักพิมพ์มติชน

อีกตอนหนึ่งที่แสดงถึงวิธีคิดและพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ในยุคนั้น ที่ท่านผู้หญิงได้นิพนธ์ไว้ว่า

“การเล่นก็มีแต่แสดงละครเป็นสิ่งที่ชอบมาก เพราะได้แต่งตัวสวยงามและมีคนชมเชย แม้เด็กเพียง 5-6 ขวบก็ตั้งต้นใส่ปากใส่แก้มสีแดง พออายุไม่ถึง 12 ก็ตั้งต้นมี Love affair ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะดูหนังฉายเป็นบทเรียนด้วย เพราะการดูหนังฉายของเด็กสมัยนี้ไม่ใช่ดูเพื่อสนุกอย่างเราดูโขนดูละครกันในสมัยก่อน เขาดูเรียนเป็นครูเอาจริงจังจนบางครั้งเคลิ้มไปว่าตัวเองเป็นคนนั้นคนนี้ ถ้าใครได้ชมว่าเหมือนพระเอกนางเอกในเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เป็นที่พอใจแล้ว ในส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ในตระกูล ก็ไม่มีอะไรนอกจากเรื่องเงินเท่านั้น การที่สมัยเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ เป็นเหตุให้คนรุ่นหลังกับรุ่นใหม่เข้าใจกันไม่ได้เลย”

หากผู้ใหญ่ในยุคสมัยนี้จะรู้สึกขัดหูขัดตา แกมขัดอกขัดใจกับอาการ “แก่แดด” หรือ “โตเกินวัย” ของเด็กๆ ก็พึงรู้เถิดว่าเรื่องอย่างนี้มีมานานแล้ว ซึ่งจะว่าไปก็ต้องดูที่พ่อแม่ด้วย เพราะหลายครอบครัวนิยมและส่งเสริมให้บุตรหลานของตน “โตเกินวัย” ดังว่าจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ว่า อิทธิพลของสื่อที่มีต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นมีมานานแล้วคือ การรับเอาความเจริญและสิ่งใหม่ๆ ของชาติตะวันตกเข้ามาโดยไม่ได้กลั่นกรองและรู้เท่าทัน เป็นดาบสองคมที่ส่งผลให้สังคมไทยเปลี่ยนไปโดยไม่ทันระวังตัว

 

เรื่องของชาติตะวันตกนี้ ได้เริ่มมีอิทธิพลเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางการค้าขายเป็นหลัก ต่อเมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ชาติตะวันตกก็เริ่มรุกรานสยามเพื่อต้องการล่าอาณานิคม หวังเอาทรัพยากรและฉกฉวยผลประโยชน์จากประเทศที่เขามองว่าด้อยพัฒนากว่าอย่างสยามเป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ของไทยเห็นว่าจะเป็นอาวุธต่อสู้กับภัยจากฝรั่งมังค่าได้ก็คือ “ความรู้” ที่จะทำให้สยาม “รู้เขารู้เรา” ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป เพื่อเรียนรู้ว่าประเทศตะวันตกเป็นอย่างไร จะได้นำความรู้มาปรับใช้กับการพัฒนาประเทศของเรา และเท่าทันต่อการรับมือการรุกรานของชาติตะวันตกเหล่านั้น

พระองค์ทรงตักเตือนนักเรียนไทยในต่างประเทศว่า

“ให้พึงนึกในใจไว้ว่าเราไม่ได้มาเรียนจะเปนฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเปนคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง”

ซึ่งในรัชสมัยต่อๆ มา การส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศเป็นที่นิยมในหมู่คนชั้นสูงและมีฐานะที่จะดำเนินการได้ จนถึงระดับ “เป็นหน้าเป็นตา” กันทีเดียว แต่จุดประสงค์นั้นดูบิดเบือนไป เพราะหนักไปทางหน้าตากว่าการนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ความในบทนิพนธ์ตอนหนึ่งของ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” กล่าวว่า

“พระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงส่งนักเรียนไปเรียนในยุโรปเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมืองนั้น กลับเกิดผลตรงกันข้าม เพราะนักเรียนส่วนมากเห็นด้วยความสุจริตใจจริงๆ ว่า เราจะต้องเจริญอย่างฝรั่งทุกอย่างไป ไม่มีใครนึกถึงคำว่า personality of the Nation เลย ทั้งนี้ เป็นเพราะเมื่อเวลายังเด็กไม่มีเวลาจะทันได้รู้จักบ้านเมืองและใจคนของตนเอง ส่วนในทางศาสนาก็ไม่มีเวลาจะทันได้เรียนรู้เช่นเดียวกัน และไปอยู่เมืองนอกก็ไม่ต้องเรียนเพราะไม่ใช่ศาสนาของเรา และไม่เห็นประโยชน์ปัจจุบันของศาสนา ถ้าเชื่อก็เชื่ออย่างอิทธิฤทธิ์ ฉะนั้น นักเรียนนอกส่วนมากจึงได้โอกาสเป็นคนไม่มีศาสนา และไม่รู้เรื่องบ้านเมืองของตัวกลับมาอย่างดีเยี่ยม”

นี่เองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นไม่สัมฤทธิผลอย่างที่ควรจะเป็น เพราะความไม่พร้อมของประชาชนคนไทย ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยอยู่มาก

 

สําหรับเรื่อง “นักเรียนนอก” นี้ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ได้นิพนธ์ไว้ว่า

“มีบางคนถูกส่งออกไปทำงานตามหัวเมืองหลายๆ ปี เช่น ไปทำทางรถไฟ เป็นต้น ได้ไปปะปนอยู่กับราษฎรของ Siam ไม่ใช่ Bangkok ถึงเวลากลับเข้ามาในพระนคร ได้รับสารภาพกับข้าพเจ้าเองว่า “ความคิดที่มีอยู่เมืองนอกผิดหมด ใช้ไม่ได้เลย”

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ Bangkok ไม่ใช่ Siam คนอาศัยในพระนครย่อมคิด เห็นและมองโลก มองชีวิตแตกต่างจากคนในหัวเมืองและชนบท ดังที่เกิดเป็นทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ขึ้นมา เพราะกรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย นั่นเอง

จริงๆ แล้วความขัดแย้งนั้นไม่ได้เกิดจาก “วัยที่ต่างกัน” อย่างเดียว แม้คนวัยเดียวกัน ใกล้เคียงกัน ก็เกิดความขัดแย้งได้ อยู่ที่ความเชื่อของแต่ละคนมากกว่า

หากแต่เมื่อมีเรื่อง “วัย” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็เท่ากับมีตัวแปรที่ทำให้แก้โจทย์ได้ยากขึ้นไปอีกเท่านั้น

องค์ความรู้หลายแหล่งบอกถึงวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่าการ “เปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน” และ “ประนีประนอม” กัน เพื่อร่วมกันหาวิถีทางที่ลงตัวที่สุด ดีที่สุด

ต้องยอมรับว่าสถาบันการเมืองเป็นสถาบันที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุดในประเทศ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดให้ “เปิดใจ” กันได้มากกว่านี้ ก็คงจะเป็นข่าวดีของประเทศชาติได้

ช่วยกันหน่อยนะ ไม่ว่าจะถูกลดบทบาทลง หรือสุดท้ายได้กลับมายืนที่เดิมก็ตามที •