จดหมาย ประจำวันที่ 2-8 กันยายน 2565 ฉบับที่ 2194

จดหมาย

ประจำวันที่ 2-8 กันยายน 2565 ฉบับที่ 2194

 

จดหมาย

 

• สหรัฐ

พล.ร.อ.ซามูเอล ปาปาโร ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา (PACFLT) เดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 18-21 สิงหาคม 2565

เข้าพบผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเรือไทย

การเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนราชอาณาจักรไทยครั้งแรกของ พล.ร.อ.ปาปาโร นับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่ง ผบ.กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐ

ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านความมั่นคงอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

เพื่อยกระดับสัมพันธไมตรีระหว่างสหรัฐกับไทย ตลอดจนเสริมสร้างอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

พล.ร.อ.ปาปาโรเกิดที่เมืองมอร์ตัน รัฐเพนซิลเวเนีย ในครอบครัวของอดีตนาวิกโยธินชั้นประทวน และเป็นหลานชายของนายทหารเรือชั้นประทวนในสงครามโลกครั้งที่ 2

พล.ร.อ.ปาปาโรเข้าประจำการในฐานะทหารชั้นสัญญาบัตรของกองทัพเรือสหรัฐ เมื่อปี 2530

เป็นนักบินของกองทัพเรือสหรัฐ โดยสำเร็จหลักสูตร TOPGUN และมีชั่วโมงบินกว่า 6,000 ชั่วโมง รวมถึงลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินแล้ว 1,100 ครั้ง

พล.ร.อ.ปาปาโรจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Villanova University

อีกทั้งยังจบการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานานาชาติศึกษา จากมหาวิทยาลัย Old Dominion University และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการวิเคราะห์ระบบ จากสถาบัน Naval Postgraduate School

ในฐานะ ผบ.กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐ ซึ่งเป็นกองเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก พล.ร.อ.ปาปาโร บังคับการเรือและเรือดำน้ำกว่า 200 ลำ อากาศยาน 1,200 ลำ ตลอดจนทหารเรือและเจ้าหน้าที่พลเรือนกว่า 130,000 ชีวิต

ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม

สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

 

ผบ.ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา

เข้าพบ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ

และได้เข้าเยี่ยมชมการสาธิตระบบอากาศยานไร้คนขับ (RQ-21 Blackjack)

ที่กองบัญชาการกองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม

ที่น่าสนใจ และควรเอาใจใส่

นอกจาก พล.ร.อ.ปาปาโรจะคุมกองเรือใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว

ยังดูแลภาคพื้นแปซิฟิก

ตอนนี้สถานการณ์สหรัฐ-ไต้หวัน-จีน กำลังร้อน

และอาจกระทบถึงไทยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

บทบาทนายพลคนนี้จึงสำคัญ

ควรต้องรู้จักและจับตามอง

• จีน

ผลสำรวจชี้เศรษฐกิจจีนกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

การสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยซีจีทีเอ็น ธิงก์แทงก์ (CGTN Think Tank) และสถาบันความคิดเห็นสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน

ผู้ตอบแบบสำรวจ 78.34% จาก 22 ประเทศ เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

การสำรวจได้สัมภาษณ์ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุเฉลี่ย 38.64 ปี จากประเทศพัฒนาแล้ว

เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอฟริกาใต้

กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจมีการศึกษาระดับอุดมศึกษา

โดย 54.71% มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และ 15.22% มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 91.46% ของผู้ตอบแบบสำรวจจากแอฟริกาต่างชื่นชมความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก โดยเชื่อว่าจีนได้กลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

ส่วนผู้ตอบแบบสำรวจจากยุโรปตามมาไม่ห่างที่ 81.6%

ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจจากอเมริกาเหนืออยู่ในอันดับสามที่ 78.09%

ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า 84.13% ของผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ต่างชื่นชมความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก

ขณะเดียวกัน 84.02% ของผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศกำลังพัฒนามีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีน

ในแง่ของความคาดหวังในอนาคตนั้น 76.23% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดหวังว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโลก

มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 6.31% ที่เชื่อว่าโลกจะเป็นขั้วเดียวในอนาคตและถูกครอบงำโดยสหรัฐอเมริกา ขณะที่ 34.55% ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คิดว่าโลกแบบหลายขั้วมีแนวโน้มเกิดขึ้นมากที่สุด

ผู้ตอบแบบสำรวจ 56% จากทั้งประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจเกิดใหม่เชื่อว่า เหตุผลที่แท้จริงที่นักการเมืองในโลกตะวันตกส่งเสริมแนวคิด “ภัยคุกคามจากจีน” เป็นเพราะ “ความกดดันและความวิตกกังวล” ที่มีต่อการผงาดขึ้นมาของจีน

พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด

 

เมื่อรับรู้ข้อมูลสหรัฐแล้ว

ก็ควรรับรู้ข้อมูลจากจีนด้วย

การสำรวจนี้ มีมหาวิทยาลัยจีนร่วมด้วย

แม้จะเป็นความเห็นนานาชาติ

แต่ผลก็ดูจะเอนไปทางฝ่ายจีนไม่น้อย

กระนั้นผลสำรวจที่ว่า 56% มองว่า “ภัยคุกคามจากจีน” ของประเทศโลกตะวันตก

เป็นเพราะ “ความกดดันและความวิตกกังวล” ที่มีต่อการผงาดขึ้นมาของจีน

ก็เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ

ว่าทำไมฝ่ายทหารและความมั่นคงของสหรัฐและตะวันตกจึงมาป้วนเปี้ยนบริเวณแถวนี้ รวมถึงไทยถี่ยิบ •