ประยุทธ์ ลงแล้ว ไปลับ ประวิตรขยับแทนนายกฯ 4- 6 เดือน อาจจะเรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ก็ได้/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ประยุทธ์ ลงแล้ว ไปลับ

ประวิตรขยับแทนนายกฯ 4- 6 เดือน

อาจจะเรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ก็ได้

 

มีหลายคน รวมทั้งทีมวิเคราะห์เรา ประเมินว่าประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ เพราะครบ 8 ปีตามกฎหมายและเมื่อไม่มีผลงานจึงไม่มีแรงสนับสนุนใดๆ มาช่วยยับยั้งไว้ ส่วนความเสียหายที่เกิดจากการบริหาร เป็นสิ่งที่จะนำมาพูดกันภายหลังการหมดอำนาจแล้ว ว่ามากน้อยแค่ไหน

ฝ่าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอคอยอย่างใจเย็นเหมือนอย่างที่ทีมวิเคราะห์เคยบอกไว้ว่า ฝ่ายที่ต้องการโค่นนายกฯ ประยุทธ์ก็ไม่ต้องออกแรงมาก ไม่ต้องลงทุนเยอะเพราะเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งพวก คสช.เป็นคนร่างเอง เรื่องการเป็นนายกฯ ได้แค่ 8 ปีให้นับตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลกระทบกับนายกฯ ชวน หลีกภัย ทันที ส่วนนายกฯ ทักษิณ ชันวัตร ไม่กระทบเพราะยังอยู่เมืองนอก แต่คนที่จะกระทบเต็มๆ อีกคนคือนายกฯ ประยุทธ์

ทีมวิเคราะห์มองว่า เมื่อศาลให้ยุติหน้าที่นายกฯ การกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นเรื่องยากแล้ว เพราะจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ บวกกับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะลุกลามกระทบกับอำนาจทุกส่วน และจะสะเทือนหนักคืออำนาจตุลาการ

และคำถามจากทุกวงการคือ… ทำไมไม่หาคนอื่นที่เหมาะสมมาเป็นนายกฯ แทน?

ดังนั้น เราจึงไม่วิเคราะห์เรื่องการกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์เพราะเป็นไปไม่ได้

นี่จะเป็นตุลาการภิวัฒน์ ที่จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ต้องทำไปตามกฎหมายและเวลาที่ผันแปรไป และก็เป็นโอกาสทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ที่รอคอยช่องว่างของอำนาจนี้

 

พี่ใหญ่อยากเป็นนายกฯ มาแต่ต้น

สุดท้ายถูกจับขึ้นหิ้ง

1.หลังการรัฐประหาร 2557 ก็มีข่าวลือว่าผู้ที่จะได้ขึ้นเป็นนายกฯ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของกลุ่ม 3 ป. แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ 3 วันก็หมดโอกาส เพราะมีคนไปยุให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ เอง แต่ประวิตรก็ยังได้รับส่วนแบ่ง ได้คุมความมั่นคงทั้งกลาโหมและตำรวจ สามารถแผ่บารมีและเลี้ยงดูลูกน้องต่างๆ ได้ต่อไป

2. เมื่อต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ดีไซน์เพื่อตัวเอง พล.อ.ประวิตรปรับตัวมาอยู่กับนักการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับลอยตัว ทั้งที่อยากเป็นนายกฯ ซึ่งประวิตรก็ช่วยส่งเสริมจนสำเร็จได้เป็นนายกฯ โดยใช้มือของ 250 ส.ว. ซึ่ง คสช.แต่งตั้ง และนักการเมือง รวมทั้งองค์กรอิสระช่วยกันผลักดันอย่างเต็มที่

แต่สิ่งที่ พล.อ.ประวิตรได้รับการตอบแทนอย่างน่าเจ็บปวดก็คือการลดอำนาจ ได้เป็นแค่รองนายกฯ ลอยๆ ไม่ได้คุมทั้งตำรวจและทหาร พล.อ.ประยุทธ์เอาไปคุมหมด ส่วนมหาดไทยก็ยังคงตกเป็นของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เหมือนเดิม

3. แต่มีความจำเป็นที่ทั้ง 3 ป.จะต้องอยู่ร่วมกันเพื่อประคองอำนาจเพราะมีกรรมร่วมกัน และแต่ละคนล้วนมีจุดอ่อนจุดแข็งที่ยังจะต้องพึ่งพาคนอื่น ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองก็ค่อยๆ ทวีมากขึ้นเพราะทุกคนคนต่างก็มีลูกน้องที่จะต้องเลี้ยงดูและจะต้องแบ่งสรรอำนาจ ในที่สุดลูกน้องหลายคนก็ทนไม่ได้เพราะรู้สึกว่า…พี่ป้อมจะต้องเสียสละเยอะเกินไปแล้ว…

เมื่อมาถึงจุดนี้ การเคลื่อนไหวเพื่อการต่อรองทางอำนาจจึงเกิดขึ้น

 

ขัดแย้งหนักต้องแยกพรรค แต่ประยุทธ์ช้าไป

ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เกิดสงครามตัวแทน ผลก็คือ มีลูกน้องประวิตรต้องกระเด็นออกมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องออกมาทั้งจากตำแหน่งรัฐมนตรีและออกมาจากพรรค แต่การปะทะกันครั้งนี้มีผลให้อำนาจของประยุทธ์สั่นคลอนและอาจกล่าวได้ว่า ทำให้ประยุทธ์กระเด็นออกจากพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน

การฝ่าด่านอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด รัฐบาลต้องใช้พลังการช่วยเหลือ ยากอย่างมากมาย ถ้าแพ้จะเกิดผลเสียหายแก่กลุ่ม 3 ป. และพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งหวังจะบริหารงานและทำประโยชน์ได้ ไปจนครบวาระ 4 ปี ดังนั้น จึงต้องรวมกำลังให้ผ่าน แต่เมื่อเห็นคะแนนโหวตการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ พล.อ.ประวิตรมีคะแนนนำที่สุด ห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์… ก็รู้ว่าพี่ป้อมแยกวงแล้ว

แต่การสูญเสียค่าตอบแทนเพื่อให้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกือบไม่มีความหมายเลยสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี เพราะเพียงไม่กี่วัน ดาบที่สองคือการครบ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็มาจ่อคอหอย

ประยุทธ์ตั้งพรรค เดินสายหาเสียง ช้าไป

แม้มีการส่งแรมโบ้ไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม เพราะ พล.อ.ประยุทธ์รู้แล้วว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่ใช่ฐานที่มั่นของตนเองแล้วเนื่องจากถูก พล.อ.ประวิตรยึดครองเรียบร้อยแล้ว แต่แรมโบ้ไม่มีเครดิตที่จะไปสร้างพรรคให้ใหญ่โตมารองรับนักการเมืองที่มาจากหลายแหล่งเพื่อเป็นฐานให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ อีกรอบได้ ดังนั้น จึงต้องมีมือโปรทางการเมืองเข้ามารับไม้ต่อ

พรรครวมไทยสร้างชาติได้นัดประชุมใหญ่ในวันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2565 เริ่มเผยโฉม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะมาเป็นหัวหน้าพรรค นอกจากนี้ ยังมีชื่อของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายวิทยา แก้วภราดัย

การแยกกันเดินได้เกิดขึ้นแล้ว และต่างก็ต้องสร้างฐานที่มั่นของตนเองเพื่อเตรียมรับศึกเลือกตั้ง แต่อาจไร้ประโยชน์ เพราะประยุทธ์ไม่สามารถขยับตัวได้ ที่มาจ่อคอไม่ใช่ดาบธรรมดา แต่คือหอกเล่มใหญ่

 

พล.อ.ประวิตรจะต้องเป็นนายกฯ รักษาการ

อีก 4-6 เดือน

แม้หลายคนอาจจะมองว่า พล.อ.ประวิตรสุขภาพไม่แข็งแรง และดูเหมือนไม่ค่อยรู้อะไรทางการเมืองเลย เพราะชอบตอบว่า…ไม่รู้…ไม่รู้ แต่ในความเป็นจริงคนที่ไต่เต้าขึ้นมายืนอยู่บนอำนาจจนถึงอายุเกิน 70 และรู้วิธีโยกย้ายเปลี่ยนข้าง สร้างบารมี มาตลอด 30 ปี ต้องมีความฉลาดและมีความสามารถพอตัว

ดังนั้น คนหลายกลุ่มจึงยินดีจะให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ ชั่วคราว เพื่อประคองสถานการณ์ต่อไป

กลุ่ม 3 ป.และ คสช. ก็เห็นว่าอย่างน้อยเมื่อประวิตรเป็นนายกฯ กลุ่มตนเองก็ยังปลอดภัย

คนในรัฐบาลผสมจากพรรคต่างๆ ก็เห็นว่า ประวิตรยังมีเวลายืดอายุรัฐบาลออกไปได้อีกหลายเดือน ให้บริหารงบประมาณได้

ทุกพรรคการเมืองที่ไม่พร้อมเลือกตั้งและต้องการให้กฎหมายเลือกตั้งใหม่ผ่านสภาก็คิดว่า ประวิตรน่าจะประคองจนทำได้สำเร็จ ในทางกลับกันกฎหมายฉบับนี้ก็จะเป็นตัวยืดอายุให้ประวิตรรักษาการนายกฯ ไปได้

คนในพรรค พปชร.เองต้องการการฟื้นตัวของพรรคโดยอาศัยบารมีประวิตรที่อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกฯ เสริมสร้างพรรคให้กลับมาแข็งแกร่ง

ขณะนี้มีผู้ประเมินว่า ประวิตรอาจจะรักษาการนายกฯ ไปเรื่อยๆ กว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยังยืดได้ถึงเดือนกว่า… (ยกเว้นมีคนไปเร่งให้สะเด็ดน้ำโดยเร็ว… และเมื่อศาลตัดสินแล้ว ถ้าประยุทธ์หลุดจากตำแหน่งนายกฯ ประวิตรก็จำเป็นต้องรักษาการต่อ

โดยมีข้ออ้างว่า การออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่เสร็จและอาจจะมีการส่งเรื่องไปที่ศาล แม้จะมีผู้เสนอให้ยุบสภาก็จะยังไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญหลายพรรคการเมืองก็ยังไม่พร้อม

 

เลือกนายกฯ คนใหม่

ทำไม่ง่าย สุดท้ายต้องยุบสภา

ถ้าหากการรักษาการนายกฯ ของ พล.อ.ประวิตร ถูกบีบจนจำเป็นต้องหานายกฯ คนใหม่เข้ามาแทน ซึ่งสถานการณ์นั้นจะเป็นจริงน่าจะหลังเดือนตุลาคม หมายความว่า มีการใช้งบประมาณใหม่แล้ว และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเสร็จสิ้นแล้ว

ทางเลือกในการให้รัฐสภาเลือกนายกฯ คนใหม่ ไม่ใช่ของง่าย รัฐสภาจะต้องหนุนผู้ได้รับเลือกประมาณ 370 เสียง ถ้า ส.ว.ไม่ชอบคนที่เสนอมาเป็นนายกฯ ตามรายชื่อเดิมทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ก็เลือกนายกฯ คนใหม่ไม่ได้

ถ้าจะให้คนนอกจะได้รับการเสนอชื่อ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ก็ต้องมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (เกือบ 500 คน) จึงจะเอาคนนอกบัญชีรายชื่อ เช่น พล.อ.ประวิตร หรือคนอื่นมาเสนอเป็นนายกฯ ได้

การหาเสียงรับรองเกือบ 500 เสียงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้มี ส.ว. 250 คน แต่ครั้งนี้อาจจะมีคนรับรองให้ไม่ถึงครึ่งก็ได้ การหา ส.ส.จะมาสนับสนุนอีก 350 คน เป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้น การเลือกนายกฯ นอกบัญชี จึงอาจทำไม่ได้เช่นกัน และจะเสียเวลาไปอีก 1-2 เดือน

นี่จะเป็นการบีบให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นายกฯ รักษาการ ประวิตรมีอำนาจทำได้อย่างเหมาะสม หลังศาลตัดสินคดีประยุทธ์ครบ 8 ปีแล้ว และหานายกฯ ใหม่โดยรัฐสภาไม่ได้

ทีมวิเคราะห์จึงประเมินว่า พล.อ.ประวิตรน่าจะรักษาการนายกฯ จนถึงปลายปี จึงจะยุบสภาและอาจจะรักษาการต่อจนเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในการแข่งขันครั้งหน้าจะไม่มีอดีตนายกฯ ประยุทธ์มาลงแข่งด้วย

สรุปแล้ว พล.อ.ประวิตรจะได้เป็นนายกฯ สมใจ 4-6 เดือน และการดำรงตำแหน่งระยะสั้น เพื่อการเลือกตั้งใหม่ คงไม่ยากที่จะฝ่ากระแสการเมืองต่อไป แต่การจะได้เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งก็ไม่ง่าย