สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประเพณี 12 เดือน แข่งเรือ เดือน 11 เสี่ยงทายร้ายหรือดี?

เดือน 11 เป็นช่วงเวลาปลายพรรษา น้ำนองหลากทั่วไป รวงข้าวเริ่มเปลี่ยนสีจากเหลืองอ่อนๆ เป็นเหลืองเข้ม และเมล็ดอวบอ้วนอุดมสมบูรณ์

แต่ยังวางใจไม่ได้ว่าธรรมชาติจะอำนวยให้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ชาวบ้านต้องร่วมทำพิธีเสี่ยงทายเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ เรียกพิธีแข่งเรือ แต่ในประเพณีพราหมณ์เรียกอาสยุชพิธี มีในกฎมณเฑียรบาล ยุคต้นอยุธยา ดังนี้


แข่งเรือ (เพื่อ) เสี่ยงทาย

พิธีแข่งเรือเสี่ยงทาย เป็นของชุมชนชาวบ้านยุคดึกดำบรรพ์มาก่อน เมื่อราชสำนักมีขึ้นในสุวรรณภูมิก็ยกพิธีพราหมณ์จากชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) เข้ามาผสมเพิ่มให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอีก แล้วเรียกอย่างขลังๆ ว่า อาสยุชพิธี (อาสยุช แปลว่า เดือนสิบเอ็ด)

ข้อความในกฎมณเฑียรบาลพรรณนาไว้สั้นๆ ห้วนๆ โดยสรุปสาระสำคัญว่า

สมรรถไชยเป็นเรือพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนไกรสรมุกข์ป็นเรือพระอัครมเหสี เรือทั้งสองลำ “เป็นเรือเสี่ยงทาย” ให้ฝีพายแข่งกัน

มีคำทำนายเป็นจารีตที่รู้กันก่อนแล้วว่า ถ้าเรือสมรรถไชยของพระเจ้าแผ่นดินพ่ายแพ้เรือไกรสรมุกข์ของพระอัครมเหสี บ้านเมืองจะเป็นสุขเกษมเปรมประชา มี “ข้าวเหลือ เกลืออิ่ม” แต่ตรงข้ามถ้าเรือสมรรถไชยของพระเจ้าแผ่นดินชนะ บ้านเมือง “จะมียุค” หมายความว่าเกิดยากแค้นแสนสาหัส ข้าวไม่เหลือ เกลือไม่อิ่ม อดอยากปากแห้งเป็นกลียุค

 

แข่งเรือ ในกฎมณเฑียรบาล

เดือน 11 การอาสยุชพิทธี มีหม่งครุ่มซ้ายขวาระบำหรทึกอินทเภรีดนตรี เช้าธรงพระมหามงกุฎราชาประโภก กลางวันธรงพระสุพรรณมาลา เอย็นธรงพระมาลาสุกหร่ำสภักชมภู สมเดจ์พระอรรคมเหษีพระภรรยาธรงพระสุวรรณมาลา นุ่งแพรลายทองธรงเสื้อ พระอรรคชายาธรงพระมาลาราบนุ่งแพรดารากรธรงเสื้อ ลูกเธอหลานเธอธรงศิรเพศมวยธรงเสื้อ พระสนมใส่สนองเกล้าสภักสองบ่า สมรรถไชยเรือต้น สรมุกขเรือสมเดจ์พระอรรคมเหษี สมรรถไชยไกรสรมุกขนั้นเปนเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซ้ เข้าเหลีอเกลีออี่มศุกขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชำนะไซ้จะมียุข

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)


แข่งเรือในทวาทศมาส

ทวาทศมาสโคลงดั้น แต่งในยุคไล่เลี่ยกับกฎมณเฑียรบาล พรรณนาไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยประสบการณ์จริงของกวีผู้แต่งที่เห็นอาสยุชพิธี หรือแข่งเรือเสี่ยงทาย ไม่มีในเอกสารอื่นว่า “นาเวศประภาไสว ขับแข่ง กันนา” ฝีพายล้วนเป็นพวกไพร่ “หมึกสักหลัง” เพราะไม่ใส่เสื้อ เลยมองเห็นลายที่สักไว้แผ่นหลังทุกตัวคน ดังนี้

๏ สรมุขไมยมาศแต้ม       ตรูตรัส
ศรีสมรรถไชยตรู             เตรียบฟ้า
พายคำจำรัสแครง           ใสส่อง
หมึกสักหลังรั้งหน้า          ฮึดฮือ ฯ

๏ ฝีพายพลไปล่น้ำ          ปลิวใบ แบ่งนา
ฉายฉากพายพลปือ         ปั่นคว้าง
ชำงือชำงายไนย             นองเนตร แล้วแฮ
นึกรำฦกครั้งสร้าง           แรกสม ฯ

๏ ไกรกรายฉายฉากน้ำ    ปึงปลิว ปรี่นา
คิดพิมานไชยชม            บ่เว้น
แลเลาหลั่งลองลิว          ลมล่อง มาฤๅ
อ่อนลำเภาพายเต้น        ตากหัว ฯ

๏ วรหงส์ไพโรจน์เพี้ยง    เรือนาง แน่งนา
กลบันจงเกลากลัว         ดุจขว้ำ
เกลียวกลมรันทวยกลาง  โอนอ่อน มานา
เรือหากรู้น้ำน้ำ             หากเห็น ฯ

พิธีแข่งเรือเพื่อเสี่ยงทาย หรืออาสยุชพิธี ยังมีสืบเนื่องถึงยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ดังมีพรรณนาไว้ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ว่า

๏ เดือนสิบเบ็ดเสร็จสำแดง  เรือกิ่งแข่งตามพิธี
พายงามตามชลธี              พี่แลเจ้าเปล่าเปนดาย ฯ

๏ อาสุชดลมาศแคว้น        กรุงไกร
เรือกิ่งกระพรหมไชย         ชื่นสู้
กิ่งไกรสรจักรไคล             เทียบท่า
ทองอร่ามงามแข่งขู้          พี่นี้คนเดียว ฯ