รัฐบาลควักเงินกู้ก้อนสุดท้าย เรียกคะแนนนิยม… ‘บิ๊กตู่’ ไหวมั้ย…โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

รัฐบาลควักเงินกู้ก้อนสุดท้าย

เรียกคะแนนนิยม… ‘บิ๊กตู่’

ไหวมั้ย…โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

 

เกมการเมืองในตอนนี้ เรื่องที่ร้อนแรงและเป็นที่น่าจับตาคือการตีความเรื่องวาระการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะครบ 8 ปีตามกฎหมายในปีไหน ซึ่งต้องรอการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้อยู่ต่อ หรือต้องจัดการเลือกตั้ง สรรหานายกฯ คนใหม่

ในเวลานี้จึงเห็นพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ต่างลงพื้นที่ถี่ๆ หาเสียงและเปิดตัวผู้สมัครในแต่ละจังหวัดอย่างคึกคัก

วกกลับมาดูรัฐบาลในห้วงเวลานี้ก็ต่อนโยบายและมาตรการต่างๆ อย่างโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลพูดเป็นนัยว่าจบแล้วตั้งแต่เฟส 4 ไม่มีต่อเฟส 5 แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจ เปิดโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ใช้วงเงินอีก 2.12 หมื่นล้านบาท พร้อมด้วยโครงการเติมเงินในบัตรคนจนและกลุ่มเปราะบางอีก 6.2 พันล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ทำให้ล่าสุดมีงบฯ คงเหลือราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ระบุว่า จะนำไปใช้ชดเชยการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากโรคโควิด-19 คาดว่าในวงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านก็จะเหลือเพียงไม่กี่พันล้านบาท

กระทรวงการคลังคาดว่า การออกมาตรการชุดนี้ จะช่วยดูแลประชาชนจำนวน 42 ล้านคน ในการรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 กว่า 4.8 หมื่นล้านบาท และจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้น 0.13% ต่อปี

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดวันลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ซึ่งจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังผันผวน ก็มีแนวโน้มที่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการอาจจจะเพิ่มจำนวนหรือใกล้เคียงเดิมที่ 13.3 ล้านคน และรัฐบาลเองก็ไม่ได้ตัดสวัสดิการคนเดิม จนกว่าจะขอยุติการถือบัตร หรือมีผลตรวจสอบว่าไม่ใช่คนที่อยู่ในเกณฑ์จริง

 

ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 ประเทศต่างๆ พากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยเอง รัฐบาลก็ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อมาตรการการคลัง และสาธารณสุข สองฉบับ รวมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในปีงบประมาณ 2565 หรือ 30 กันยายนนี้

ย้อนกลับไปดูมาตรการต่างๆ ที่งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ได้แก่ มาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” แจกเงินให้ประชาชน ช่วงกลางปี 2563 หัวละ 1.5 หมื่นบาท ใช้งบประมาณ 2.97 แสนล้านบาท, โครงการ “เราชนะ” ใช้วงเงิน 2.1 แสนล้านบาท

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกตามมา ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ดำเนินการต่อเนื่องจนถึงเฟส 4 รวมวงเงิน 1.96 แสนล้านบาท, มาตรการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) รวมแล้วรัฐบาลใช้เงินไปกับการเยียวยาและฟื้นฟู ในรูปแบบการแจกเงินค่อนข้างเยอะมาก

และแม้ว่าโควิดจะคลี่คลายแล้ว แต่รัฐบาลยังมีภาระที่หนักหน่วง เพราะช่วงต้นปี 2565 ต้องเผชิญกับภาวะราคาพลังงานพุ่งสูง ผนวกกับราคาอาหารที่สูงขึ้น ทำให้ประชาชนใช้จ่ายน้อยลงไป ซึ่งรัฐบาลออกมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ก็ต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก โดยออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 แสนล้านบาทให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่เป็นรายได้หลักของกรมสรรพสามิต เข้ามาช่วยด้วย ทำให้ดูเหมือนว่ารายจ่ายของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก สวนทางก็รายรับที่หดหาย

และเรื่องของมาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ที่มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นในเร็วๆ นี้ ก็มีกระแสข่าวจากทางกระทรวงพลังงาน ว่าจะขอใช้งบฯ กลาง ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่มีกรอบวงเงิน 8.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าเหลือเท่าใด แต่ก็มีการอนุมัติงบอยู่เรื่อยๆ ของรัฐบาล ทั้งในการช่วยด้านภัยพิบัติ ชดเชยรายได้ท้องถิ่น

แต่มีความเสี่ยงว่า งบฯ กลางปี 2565 นั้น จะเหลืออยู่เพียงน้อยนิด และจะหวังนำมาใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ อีกก็อาจจะเป็นไปได้ยากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเองก็มีนโยบายสำคัญในการหารายได้เพิ่มให้รัฐบาล ไม่ว่าจะการออกมาตรการทางภาษี อย่างภาษีอี-เซอร์วิส ที่ประสบความสำเร็จไป สร้างรายได้ 10 เดือน (กันยายน 2564-กรกฎาคม 2565) 5.9 พันล้าน และเคยมีแผนที่จะเก็บภาษีขายหุ้น ที่ยังไม่ชัดเจน และภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ยังมีการผ่อนปรน และแผนการออกภาษีใหม่ก็ยังต้องพับไว้ก่อน เนื่องจากจะไปขัดการฟื้นตัวของเศรฐกิจ และซ้ำเติมในช่วงเงินเฟ้อ

ส่วนรายได้ของรัฐบาลเอง ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564-กรกฎาคม 2565) จัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 2,037,459 ล้านบาท ยังคงสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 105,908 ล้านบาท หรือ 5.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8% โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 1,670,271ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 15.1% และสูงกว่าประมาณการ 14.1% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจการบริโภคและมูลค่าการนำเข้าซึ่งส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าประมาณการ

ขณะที่การจัดเก็บรายไดข้องกรมสรรพสามิต จัดเก็บได้ 428,556 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.2% และต่ำกว่าประมาณการ 13.9% เนื่องจากมีการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ด้านสถานการณ์สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 61.06% ต่อจีดีพี ส่วนการคาดการณ์สัดส่วนของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 (กันยายน 2565) อยู่ที่ 61.30% ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ปรับขึ้นไปที่ 70% จากเดิม 60% ในปี 2564 ลดลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อต้นปี 2565 ที่คาดว่าอยู่ 62.69% เนื่องจากขณะนี้จีดีพีไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งการกรองและปรับปรุงแผนหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

และจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังแห่งรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน มีความตั้งใจจะปรับลดเพดานก่อหนี้ ตามพระราชบัญญัญ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ซึ่งจะสิ้นสุดเวลาการขยายกรอบ 1 ปี เป็น 35% ในเดือนกันยายน 2565 นี้กลับสู่กรอบปกติที่ 30%

จะทำได้จริงหรือไม่ ยังต้องดูกันอีกครั้ง เพราะมีโครงการที่เป็นก้างชิ้นโตขวางคอ นั่นคือ โครงการประกันรายได้เกษตรกร โครงการที่เป็นความภาคภูมิใจของพรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคประชาธิปัตย์

ล่าสุดหัวพรรคประชาธิปตย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เตรียมชง ครม. ของบฯ 1,669 ล้านบาท ต่อโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นปี 4 นอกเหนือจากที่เห็นชอบมาตรการสนับสนุนเกษตรผู้ปลูกข้าวฤดูกาลปี 2565/2566 ไปแล้วในการประชุมคณะอนุกรรมนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่นายจุรินทร์นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานเช่นกัน จำนวน 5 โครงการ ใช้วงเงินรวม 150,127 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมการออกมาตรการคู่ขนานที่ใช้เงินงบประมาณอีกร่วมหลักหมื่นล้านบาท!

แม้สถานการณ์การเงินของรัฐบาลจะไม่สู้ดี แต่ก็ต้องงัดไม้เด็ด เพื่อเรียกคะแนนนิยมช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่ใกล้เข้ามาแล้ว