บะหมี่ฯ ทนไม่ไหวผนึกกำลัง ขอปรับราคาขึ้นซองละ 2 บาท หากไม่ได้…เบนเข็มส่งออก/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

บะหมี่ฯ ทนไม่ไหวผนึกกำลัง

ขอปรับราคาขึ้นซองละ 2 บาท

หากไม่ได้…เบนเข็มส่งออก

อาจจะเรียกว่า น้องๆ มหากาพย์เลยก็ว่าได้ สำหรับการขอปรับขึ้นราคาบะหมี่สำเร็จรูปของบรรดาผู้ผลิตรายที่มีมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

และเริ่มซีเรียสมากขึ้น หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้น และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาวัตถุดิบต่างๆ พุ่งอย่างไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ทั้งราคาน้ำมัน แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม แพ็กเกจจิ้ง

ขณะที่สินค้าจำเป็นหลายๆ รายได้รับการอนุญาตให้ขึ้นไปแล้ว แต่สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ไฟเขียว และเน้นการขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตช่วยตรึงราคาไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก็ยังมีความหวังลึกๆ ว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมผ่านพ้นไป กระทรวงพาณิชย์อาจนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา

แต่ถึงวันนี้เรื่องที่แต่ละค่ายยื่นขอไปกลับไม่มีความคืบหน้า จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันครั้งแรกในรอบ 50 ปี ของผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ 5 ค่าย “มาม่า ไวไว ยำยำ นิชชิน และซื่อสัตย์” ที่ร่วมลงนามในจดหมายและส่งตัวแทนยื่นหนังสือต่อนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ขอให้พิจารณาเร่งรัดการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา จากก่อนหน้านี้แต่ละรายได้เคยยื่นขอเข้าไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรรูป ตรามาม่า ในฐานะตัวแทนผู้ผลิตทั้ง 5 ค่าย ชี้แจงว่า ปัจจุบันผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกราย ไม่ว่าจะเป็นมาม่า ไวไว ยำยำ นิชชิน และซื่อสัตย์ ต่างเผชิญสถานการณ์ใกล้จะขาดทุน และบางรายเริ่มขาดทุนแล้ว

สถานการณ์นี้ไม่เพียงกระทบผู้ผลิตเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้นแม้ราคาฐานจะยังคงเดิมก็ตาม เนื่องจากแต่ละค่ายต้องลดการทำโปรโมชั่นลง

นอกจากนี้ สินค้าในตลาดอาจลดลงทำให้หาซื้อได้ยากหรือเกิดสินค้าขาดได้ เนื่องจากหลายๆ รายต้องหันไปเพิ่มปริมาณการส่งออก เพราะในตลาดต่างประเทศสามารถปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนได้ และสินค้าบางรายการราคาสูงกว่าไทยถึง 1-2 เท่า จึงสามารถมีกำไรมาชดเชยการขาดทุนในประเทศได้บางส่วน และเป็นผลจากการไม่สามารถปรับราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ หลังช่วงที่ผ่านมาต้นทุนวัตถุดิบหลายๆ อย่างเพิ่มขึ้นในลักษณะของการปรับฐานระยะยาว แตกต่างจากในอดีตที่ราคาพุ่งขึ้นเพียงชั่วคราว เช่น ช่วงน้ำท่วมปี 2554 หรือวิกฤตแป้งสาลีปี 2557

ขณะนี้ต้นทุนแป้งสาลีเพิ่มขึ้น 20-30% น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเท่าตัว รวมถึงยังมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้น 12-15% ซึ่งเฉพาะเพียงต้นทุนแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม ทำให้ต้นทุนของมาม่าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 บาทต่อซองแล้ว โดยยังไม่รวมบรรจุภัณฑ์และสินค้าเกษตรสำหรับผลิตเครื่องปรุงรส รวมถึงค่าแรงที่อาจมีการปรับขึ้นในอนาคต

เมื่อรวมกับเพดานราคา 6 บาทที่ไม่ได้ปรับมานานกว่า 15 ปี ทำให้ปัจจุบันผู้ผลิตบางราย เช่น บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด หรือไวไว และบริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด หรือยำยำ ขาดทุนในบางเดือน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาขายปลีก

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒนฯ เคยพูดถึงการของปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า

“…เอฟเฟ็กต์จากสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ กระทบราคาวัตถุดิบกลุ่มสินค้าบะหมี่สำเร็จรูป แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ต้องขอความความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา ซึ่งการปรับขึ้นราคา 1 บาทต่อซอง อาจไม่พอ เพราะการขึ้น 1 บาทนั้นเป็นสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้ภาวะต้นทุนรุนแรงขึ้นมาก”

 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวในเรื่องนี้ว่า ได้ติดตามสถานการณ์ต้นทุนราคาวัตถุดิบการผลิตบะหมี่มาตลอด และยอมรับว่าปัจจัยการผลิตหลายตัวมีการปรับขึ้นราคา ปัจจุบันยังไม่ได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด ยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ดูว่าความสมดุลอยู่ตรงไหน ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ ผู้บริโภคต้องได้รับผลกระทบไม่มากเกินไป ตามหลักการวินวินโมเดล ซึ่งยอมรับว่าต้นทุนแป้งสาลีและพลังงานปรับเพิ่มขึ้น แต่ต้องดูว่าต้นทุนที่เพิ่มมีสาระสำคัญขนาดต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายหรือไม่

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ขอขึ้นราคามาเกือบ 2 ปี แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาตเพราะต้องดูผลกระทบกับภาระของผู้บริโภคด้วย ตอนนี้ขอปรับจากซองละ 6 บาท ขึ้นเป็นซองละ 8 บาท โดยส่วนตัวคิดว่าอาจจะมากเกินไป ถ้าสูงขนาดนี้จะกระทบผู้บริโภค ผู้มีรายได้น้อยมากเกินสมควร

แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายในที่จะต้องไปดูต้นทุน เข้าใจว่าวิเคราะห์ต้นทุนทั้งหมดเสร็จแล้ว ซึ่งให้นโยบายไปว่าถ้าจะต้องปรับราคาขึ้นต้องเป็นตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริงและให้เดือดร้อนกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ ไม่ต้องถึงภาวะขาดทุนและหยุดการผลิตหรือส่งออกอย่างเดียว เพราะตลาดต่างประเทศราคาดีกว่า

สิ่งนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า กรมการค้าภายในยึดในหลักการว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพ และเป็น 1 ในสินค้าควบคุม 51 รายการ ตามมติ คณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “การขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ได้คุยกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ไปแล้ว อะไรที่จำเป็นก็ต้องไปพิจารณาหารือร่วมกัน หากจำเป็นต้องขึ้น ขึ้นเพราะอะไร ขึ้นเท่าไหร่ เมื่อราคาต้นทุนลดลงก็ต้องลดลงตามนั้น ทำนองนี้ กำลังหารือกันอยู่

“เรื่องมาม่าจริงๆ เขาขอขึ้นมา 2 ปีแล้ว ก็ไม่ได้ขึ้นให้เขา ฉะนั้น ต้องไปดูว่าต้นทุนการผลิตเป็นอย่างไรในตรงนั้น หลายอย่างบอกว่าไอ้นี่ลด ไอ้นี่ไม่ให้ขึ้น ผมไม่ได้เข้าข้างใคร ผมต้องทำให้ทั้งสองส่วน ประชาชนต้องไม่เดือดร้อน ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นจะเจ๊งไปทั้งคู่ เขาผลิตไม่ได้ก็ปิดโรงงาน มันก็จบแค่นั้นเอง ง่ายๆ ผมไม่ได้เข้าข้างใครอยู่แล้ว ขอให้เห็นใจซึ่งกันและกัน” นายกฯ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองของผู้ประกอบการ ในระยะยาวหากสถานการณ์ต้นทุนไม่คลี่คลายและไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ อาจทำให้ทุกรายจำเป็นต้องเพิ่มการส่งออกสินค้าจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพยุงธุรกิจ

หรือหากกรมการค้าภายในไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา หรือให้ขึ้นเพียง 1 บาท เป็น 7 บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับต้นทุน ผู้ประกอบการก็จะรวมตัวยื่นคำขอขึ้นราคาเข้าไปอีกครั้ง เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่จำกัดเพียงผู้ผลิต แต่ยังรวมถึงร้านค้าที่มีกำไรลดลง และหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้อีก ราคาขายที่ขอไปซองละ 8 บาท อาจไม่เพียงพอเช่นกัน อย่างน้อยที่สุด ผู้ประกอบการดังกล่าวยังต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจ จึงไม่สามารถปล่อยให้บริษัทมีการขาดทุนต่อเนื่องได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตบะหมี่ฯ 5 ค่ายนี้ก็ยืนยันว่า จะยังเดินหน้าผลิตสินค้าต่อเนื่อง และพยายามให้มีสินค้าขายในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้