‘อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง’ ในสายตานักวิจารณ์หนังต่างชาติ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง’

ในสายตานักวิจารณ์หนังต่างชาติ

 

“อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง” (Arnold Is A Model Student) ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ “สรยศ ประภาพันธ์” ได้เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังโลการ์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย

หลังการเปิดตัว มีนักวิจารณ์ต่างชาติจำนวนหนึ่งได้เขียนบทความถึงหนังไทยเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

 

เริ่มต้นด้วย “รอรี โอคอนเนอร์” แห่ง “เดอะฟิล์มสเตจ” ที่มองว่า “อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง” คือหนึ่งในหนังที่แปลกแตกต่างไม่เหมือนใคร ของเทศกาลโลการ์โนประจำปีนี้

เขามองว่าหนังเรื่องนี้จัดวางตัวเองอย่างกำกวมอยู่ตรงเส้นแบ่งระหว่างการล้อเลียนเสียดสีกับความจริงใจตรงไปตรงมาในการเล่าเรื่องราวของตัวละครหลัก ซึ่งเป็นเด็กหนุ่ม ม.ปลาย ที่เข้าไปทำงานข้องเกี่ยวกับการทุจริตในสนามสอบ โดยมีบริบทรายล้อมเป็นการก่อตัวขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการในโลกความจริง

โอคอนเนอร์ชื่นชมนักแสดงนำของเรื่อง คือ “กรดนัย มาร์ค เด๊าท์เซนเบิร์ก” ผู้สวมบทบาทเป็น “อานน” ได้อย่างมีชีวิตชีวา

โดยด้านหนึ่ง ตัวละครรายนี้ดูคล้ายเป็นคนฉลาดกว่าเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งครูในโรงเรียน แต่อีกด้าน เขาก็เป็นตัวละครที่มีความบกพร่องและมีความปกติธรรมดาเฉกเช่นคนทั่วไป

เห็นชัดจากการที่หนังกำหนดให้ “อานน” เข้าไปพัวพันกับ “โลกสีเทา” ของระบบการศึกษา

รวมทั้งฉากหนึ่งที่สรยศให้ตัวละครนักเรียนคนอื่นๆ ตอบคำถามหน้ากล้องว่า หลังจบการศึกษาแล้ว พวกเขาอยากเป็นอะไร?

ครั้นพอถึงคราวอานนต้องตอบคำถามบ้าง นักเรียนผู้ปราดเปรื่องและคว้ารางวัลทางวิชาการมาแล้ว กลับพูดอะไรไม่ออก

อานนยังมีสถานะประหนึ่ง “กระดานหกทางจริยธรรม” ที่พาคนดูไปเผชิญหน้ากับทางแพร่งของถนนสองสาย เส้นหนึ่งน่าจะเดินทางได้สะดวกสบาย อีกเส้นคล้ายจะมีอุปสรรคยากลำบากมากกว่า แต่เรากลับไม่แน่ใจว่าควรเลือกเดินบนทางสายใดดี

 

ฉากหลังสำคัญของ “อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง” คือการถือกำเนิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวเยาวชนในนาม “กลุ่มนักเรียนเลว” (หนังมีเนื้อหาส่วนที่เป็นแอนิเมชั่น ซึ่งนำเสนอสาระจากหนังสือ “คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน” ที่จัดพิมพ์โดยขบวนการนี้)

บางแง่มุม สรยศเลือกถ่ายทอดความขุ่นข้องไม่พอใจของเหล่าเยาวชนผ่านปฏิกิริยาโกรธเกรี้ยวในระดับจุลภาค อาทิ ฉากที่บรรดานักเรียนหญิงในหนังมองว่า การลงโทษเด็กด้วยการกล้อนผมของครูเป็นพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล เช่นเดียวกับความผิดปกติอื่นๆ อีกหลายประการในระบบการศึกษาไทย

โอคอนเนอร์ชี้ว่าแนวทางการกำกับภาพยนตร์ของสรยศนั้นมีเล่ห์เหลี่ยมอยู่พอสมควร กล่าวคือ แม้ในแง่หนึ่ง หนังจะแสดงท่าทีล้อเลียนกลุ่มผู้ประท้วงอยู่บ้าง แต่หนังทั้งเรื่องก็ไม่ปิดบังว่าตนเองเลือกยืนอยู่ข้างผู้ชุมนุม

เพราะนอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวว่าด้วยขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ผ่านเนื้อหาที่เป็น “เรื่องแต่ง” แล้ว ผู้กำกับฯ ยังใส่ภาพเหตุการณ์จริง (ถ่ายจากสมาร์ตโฟน) ที่ม็อบเยาวชนถูกปราบด้วยแก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำแรงดันสูง ลงไปในภาพยนตร์ของเขาด้วย

 

ทางด้าน “จอห์น บลีสเดล” นักวิจารณ์จาก “ไซท์แอนด์ซาวด์” ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ “อานน” จะมีพฤติกรรมหลายเรื่องที่สวนทางกับภาพลักษณ์ “นักเรียนตัวอย่าง” กระนั้นก็ตาม มโนธรรมของเขากลับถูกปลุกฟื้นขึ้น โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ “พ่อของอานน” ต้องถูกเนรเทศออกนอกประเทศ เพราะเป็น “นักเสียดสี”

ผู้วิจารณ์รายนี้มองว่าหนังเลือกจะอยู่ข้าง “จุดยืนของอานน (และม็อบคนรุ่นใหม่)” แม้ไม่ได้มีการประกาศสารดังกล่าวแบบแข็งกร้าว

ทว่า ความโกรธแค้นกลับพลุ่งพล่านอยู่ภายใต้ความขบขันกึ่งเหน็บแนม หรือการยั่วโมโหด้วยอารมณ์ขันตรงพื้นผิวฉากหน้าของภาพยนตร์

ใน “อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง” บรรดาผู้ใหญ่ถูกทำให้งุนงงสับสนจากการก่อกบฏของเด็กๆ ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า คนรุ่นเก่ายังหวังที่จะได้รับความเคารพอยู่ได้อย่างไร? เมื่อมีเหตุปรากฏชัดแจ้งว่าพวกเขาปฏิบัติตัวไม่น่าเคารพ

ก่อนที่อารมณ์ร่าเริงของหนังจะพลิกกลับด้านด้วยภาพเหตุการณ์จริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามเหล่าเยาวชนบนท้องถนน

ถึงที่สุดแล้ว บลีสเดลวิเคราะห์ว่า สารแห่ง “การต่อต้าน” (ซึ่งมักแสดงออกผ่านตัวละครนักเรียนหญิงเป็นหลัก) ที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและความหนักแน่น

ดังที่ตัวละคร “นักเรียน/นักประท้วง” คนหนึ่งได้กล่าวกับผู้อำนวยการโรงเรียนว่า “ครูไล่พวกเราทั้งหมดออกไปจากโรงเรียนไม่ได้หรอก” •

ข้อมูลจาก

https://www.bfi.org.uk/sight-and-sound/reviews/arnold-model-student-wry-thai-protest

ภาพประกอบจาก

https://www.facebook.com/arnoldisamodelstudent/